"ฟ้าใหม่" ข้ามผ่านผลัดแผ่นดินกรุงธนบุรี

"ฟ้าใหม่" ข้ามผ่านผลัดแผ่นดินกรุงธนบุรี

"ฟ้าใหม่" ข้ามผ่านผลัดแผ่นดินกรุงธนบุรี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในวาระที่เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแผ่นดินนะคะคุณกิตติ ในเชิงบทประพันธ์หรือละครโทรทัศน์ก็มีการกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวออกมาเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็โศกดราม่า บางก็หักหลังชิงบัลลังก์กันน่าดู ตามประสาละครพีเรียดแนวๆ กษัตริย์ใดใดก็ว่าไป แต่ในมุมของคนไทย เราก็คงเคยชินกับการเห็นละครแนวนี้วางอยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์อย่างกรุงศรีอยุธยาใช่ไหมล่ะคะ ตะนี้ถ้าจะให้เทยสโคปมันลงมาเอาเฉพาะการเปลี่ยนผ่านแผ่นดินที่เป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่เอามากๆ ตราตรึงคอละครคนไทยมาเนิ่นาน ก็คงหนีไม่พ้นสมัยกรุงแตกครั้งที่ 2 ซึ่งก่อกำเนิดบทประพันธ์เอาไว้มากมายอยู่ 

แต่เรื่องที่เทยรู้สึกว่าน่าเอามาตะมอยกันคือละครฟอร์มยักษ์ ฟ้าใหม่ ค่ะ

“ฟ้าใหม่” บทประพันธ์ของ ศุภร บุนนาค มีเนื้อหาของเหตุการณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเราก็คงทราบกันดีว่าเป็นช่วงที่กรุงศรีอยุธยาโดนข้าศึกมาราวี มีเรื่องเล่าเป็นตำนานมากมายที่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองภายในราชสำนัก มีคนไทยแปรพักตร์เพราะหวังเป็นใหญ่ในภายหน้า เจ้าเหนือหัวฝักใฝ่อยู่แต่อิสตรี ทำให้บ้านเมืองถึงกลียุค ผู้กล้าของไทยแม้เพียงน้อยนิดหรือจะทัดทานข้าศึกที่ยกมาเป็นพันเป็นหมื่น อู้ยยย เรื่องเล่าที่คงจะได้ยินกันมาก็ประมาณนี้แหละจ้าค่ะ 

โดยบทประพันธ์ ฟ้าใหม่ นั้นถูกนำมาผลิตเป็นละครโทรทัศน์ไปแค่ครั้งเดียวเท่านั้นในจำนวนตอนทั้งสิ้นเพียง 9 ตอนจบ ถือเป็นโปรเจกต์พิเศษของทางสถานีในตอนนั้นเลยก็ว่าได้ ซึ่งโดยต้นฉบับละครฟ้าใหม่ มีการตีขยายไปคาบเกี่ยวเหตุการณ์ในหลายสถานที่ ทำให้ละครเรื่องนี้มีตัวละครเบียดเสียดแน่นเอี๊ยดจนชนิดว่าคับคั่งล้นจอเลยค่ะคุณขา ซึ่งมีตัวหลักที่ปรากฎว่ามีบทเบียดเสียดอยู่ใน 9 ตอนนี้ถึง 70 ชีวิตค่ะคุณ ย้ำอีกครั้ง 70!!! แน่นอนว่าคลาคล่ำไปด้วยนักแสดงคุณภาพจากทางช่องเค้าครบทุกเบอร์เลย

ด้านเนื้อเรื่องนั้นไปตามประวัติศาสตร์ไทย กรุงศรีอยุธยาก็ล่มสลาย แม่ทัพนายกองที่มีฝีมือก็ถูกส่งไปประจำหัวเมืองต่างๆ ไม่มีผู้ใดกอบกู้อยุธยา พวกหัวเมืองพากันแต่งตั้งตัวเองเป็นเจ้าเมือง เมืองสำคัญอย่างเมืองพิษณุโลกถูกข้าศึกแย่งชิงไป ทำให้ตัวละครหลักต้องส่งยอดฝีมือขึ้นไปปราบจนข้าศึกให้ไม่กล้ามาตีสยามประเทศอีก จบกระบวนความตามสเต็ปหน้าประวัติศาสตร์ที่ทุกคนรู้ทั่วกัน

ตามเนื้อบทประพันธ์ของ คุณศุภร บุนนาคนั้น ทำให้ ฟ้าใหม่ มีความพิเศษก็คือ เค้าโครงที่ได้มาจากประวัติของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ต้นสกุลบุนนาคที่คุณศุภรเป็นสะใภ้คนหนึ่งของตระกูลนี้ อย่างที่เทยได้กล่าวไปว่าเรื่องนี้มีเส้นเรื่องที่ตีขยายไปคาบเกี่ยวเหตุการณ์ในวงกว้าง ผ่านตัวละครหลักที่ใช้ชีวิตมาตั้งแต่ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนมาขึ้นเหตุการณ์รัชกาลที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุการณ์ในช่วงนั้นจึงเป็นไปตามสภาพการสิ้นสลายของอาณาจักร เต็มไปด้วยแคว้น หัวเมืองที่ตั้งตัวเป็นอิสระ ไม่มีศูนย์กลางการปกครองอีกต่อไป เพราะฉะนั้นตัวละครจึงเยอะ และ ฟ้าใหม่ ก็ดันเก็บเหตุการณ์รายทางได้ครบเสียด้วย จึงทำให้ต้นฉบับบทประพันธ์ในรูปหนังสือเล่มมีความหนาเอาการ หากแต่บทโทรทัศน์ก็ปรับให้เหลือเพียง 9 ตอนเท่านั้น และนักแสดงก็แบ่งๆ ซีนพูดกันไปพอกรุบ

ตัวละครหลัก เล่าผ่านชีวิตของ "แสน" นายทหารมหาดเล็กเชื้อสายผู้ดีแขกเทศ มาเป็นเพื่อนร่วมสาบานรุ่นของคุณคนใหญ่ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช), คุณคนกลาง (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) และคุณคนเล็ก (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ซึ่งในช่วงแรกของเรื่อง ก็ได้สะท้อนว่ากรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่อำนาจราชการมีหลายภาคส่วน มีหลายเจ้าหลายนาย อำมาตย์ก็เยอะแยะมากมายยังกะไข่ปูนา คนโน้นก็ต้องเคารพ คนนั้นก็ต้องไหว้ คนนี้ก็นั่งกินตำแหน่งไป มิวายจะมีเรื่องราชบัลลังก์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงจะตกไปอยู่กับใคร ขุนหลวงคนนึงก็หาวัด เจ้านายอีกพระองค์ก็ระส่ำระสาย ทำให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ พ่อมีข้าศึกมาตีเค้า กระบวนการรับมือจึงถอยรวนไม่เป็นท่า นำมาซึ่งการแตกของกรุงศรี สามพี่น้องและแสน จึงได้แต่ปฏิญาณตนกันไว้ ว่าจะรักษาอุดมการณ์ในการรวมชาติขึ้นมาใหม่ให้ได้ แม้ว่าเราจะเป็นเพียงแค่ข้าราชการชั้นผู้น้อยก็ตามที 

การเดินทางของ แสน ในฐานะนักรบผู้น้อยที่ติดตามทหารผู้ใหญ่กว่าทั้งสาม ลากยาวรวมไปถึงการไปปราบชุมนุมต่างๆ เพื่อรวมศูนย์อำนาจกลับมาอีกครั้งก่อนที่จะมีการผลัดแผ่นดินครั้งสุดท้าย เมื่อทราบว่าคุณคนกลางหรือพระเจ้าตากทรงมีพระสติผันแปรจนเจ้าพระยาสองพี่น้องต้องกลับมาจัดการกับพระองค์ และย้ายกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพอย่างในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการตระเวนเดินทางไปไกลแสนไกลเอามากๆ สำหรับบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์ซักหนึ่งเรื่อง

อีกสิ่งที่เทยคิดว่าน่าสนใจและอยากจะเมาท์ คือตัวละครนางเอกอย่าง เรณูนวล ซึ่งตัวคาแรกเตอร์นี้นับว่าเป็นหญิงที่มีความดุเด็ดเผ็ชมันอยู่มาก เรณูนวลเป็นสาวที่ไม่ค่อยจะลงรอยกับขนบความไทยโบราณ จับดาบเอาตัวรอดในช่วงกรุงแตกได้อย่างน่าสนใจ แถมต่อปากต่อคำกับชายหนุ่มอย่างแสนได้จนเทยคิดว่า แม่นี่หลุดจากยุคปัจจุบันเข้าไปเลยเชียว เฟมินิสต์ต้องปรบมือเลยนะคะ

ซึ่งจะถือว่าเป็นความแปลกประหลาดหรือไม่อย่างไรก็พูดยาก เพราะหากกลับไปดูพล็อตของเรื่องนั้น การเดินทางของ แสน ก็มีความคล้ายคลึงกับ D'Artagnan และ Athos-Aramis-Porthos ในเรื่อง The Three Musketeers หรือสามทหารเสือที่เป็นวรรณกรรมต่างประเทศอยู่มากอยู่ กับเด็กฝึกหนุ่มที่ติดตามทหารมีชื่อในยุคสงครามปารีส ซึ่งก็มีความอิงประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน

วรรณกรรมเรื่อง The Three Musketeers

แต่ความน่าสนใจของฟ้าใหม่ นอกจากจะเป็นการนำพล็อตดังกล่าวมาปรับให้ลงกับประวัติศาสตร์ไทยแล้ว มันคือเป็นครั้งแรกที่ละครไทยกล้าที่จะนำเสนอเหตุการณ์ที่สะท้อนรายละเอียดหลายอย่างที่ละครที่อิงเหตุการณ์ช่วงเดียวกันไม่ได้พูด หนึ่งในนั้นก็คือข้อเท็จจริงของความแตกกระจายของกรุงศรี ซึ่งหากเรากลับไปที่ความคุ้นเคยเดิมอย่างละครเรื่อง สายโลหิต ที่เรารู้จักกันนั้น ก็จะเห็นว่าตัวละครมีระบบความคิดแบบ “รักชาติ” ชัดเจน คือ มองว่ากรุงศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นชาติหรือเป็นประเทศ การที่มีข้าศึกมารุกรานแล้วทำให้ชาติมันสลายไป จึงเป็นสิ่งที่ชาวกรุงศรี จะไม่ยอมให้เกิดขึ้น แม้กรุงจะแตกไป เราก็ต้องกู้มันคืนมาให้ได้ ซึ่งนอกจาก ขุนไกร ในเรื่อง สายโลหิต ที่คิดแบบนั้นแล้ว ก็จะมี แสน แห่ง ฟ้าใหม่ นี่แหละ ที่คิดแบบเดียวกัน

หล่อมากค่ะคุณพระเอกขา แต่ช้าแต่…

ตามโครงสร้างของลักษณะองค์รวมที่เกิดขึ้น นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ก็มีการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่า เอ… สำนึกความเป็นชาติที่ถูกตีจนสิ้นนั้น มันเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ เพราะหนึ่ง สำนึกควาเมป็น “ชาวสยาม” นั้นมาทีหลังในช่วงรัชกาลที่ 5 จึงเป็นไปได้ยากที่ผู้คนในสมัยนั้นจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของความเป็นชาติเดียวกัน และสอง “สำนึกความเป็นคนกรุงศรี” นั้น มีความเป็นไปได้มากว่ามันจะผูกแต่กับคนในรั้วกรุงชั้นในเท่านั้น คนที่อยู่หัวเมืองชั้นรองลงมา เป็นไปได้ยากที่จะมีความเป็นปึกแผ่นร่วมกัน ตามสภาพสังคมที่มันห่างไกลจริงๆ ในยุคนั้นอ่ะโนะ สิ่งที่ยกมาได้ก็พอจะมีตัวละครที่แทรกอยู่ในฟ้าใหม่อย่าง “นายทองเหม็น” ที่เรารู้กันดีว่ามาจากเหตุการณ์ชาวบ้านบางระจัน ในเรื่องฟ้าใหม่ นายทองเหม็นเข้ามาในกรุงศรี เพื่อรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนให้ทางวังหลวงฟัง หากไปส่องตามหลายๆ บทประพันธ์ที่กล่าวถึงชาวบ้านบางระจันและนายทองเหม็น ก็มักจะเชิดชูชาวบ้านบางระจันว่าเป็นตัวแทนของชุมชนที่กู้ชาติ ปกป้องชาติจนตัวตาย และทางกรุงศรีที่เสื่อมแสนเสื่อม ก็ใจไม้ไส้ระกำจริงจริ๊ง ที่ไม่ส่งปืนใหญ่มาให้ 

อ่า… ดูรวมแรงร่วมใจ แต่หากเราถอยกลับมาก่อน และมองใหม่

ชาวบ้านบางระจันนั้นมีข้อมูลระบุไว้ชัดเจนว่า หน่วยรบบางระจันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเองและทรัพย์สินในชุมชนก่อน ซึ่งนั่นเป็นการยืนยันว่าลำพังตัวชาวบ้านนั้นกระทำเพื่อชุมชนก่อนเป็นตัวตั้ง และผลพลอยได้ก็คือช่วยประวิงเวลาข้าศึกจะประชิดกรุงศรีได้ด้วย ฉะนั้นการจะไปตีเจตจำนงของชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลในยุคนั้น ว่าเป็นชุมชนรักชาติ มีความอยากจะปกป้องกรุงศรีเป็นตัวตั้งคงเป็นเรื่องที่ละครปรุงแต่งเพิ่มเติมไปหน่อย แต่แน่นอน ชาวกรุงศรีก็ไม่ได้ดูดาย ก็มีการส่งขุนนางผู้ใหญ่มาควบคุมการรบ เพื่อให้รู้ว่านี่นะ หมู่บ้านบางระจัน ก็ยังอยู่ในการดูแลของกรุงศรี แต่เรื่องจะขนอาวุธทุกอย่างมาลงที่นี่ มันก็สุ่มเสี่ยงนะแม่ เพราะคิดแบบ Battle Field เกมรบ ถ้าหมู่บ้านพลาดพลั้งขึ้นมา ไอ้อาวุธเหล่านั้นนี่ก็จะกลายเป็นของฝ่ายตรงข้าม เอามาใช้กับกรุงศรีเสียเองนะแม่

ซึ่งในละคร ฟ้าใหม่ ก็มีการพูดถึงสิ่งนี้ไว้เช่นกันตามเส้นทางการเดินทางของ แสน แต่ด้วยจำนวนตอนที่ก็บีบเค้นเสียเหลือเกิน ก็มีการพูดถึงแบบผ่านๆ ไป แต่ก็พอจะทำให้เห็นได้ว่า ในสถานการณ์ช่วงกรุงแตกเป็นอย่างไร รวมถึง ฟ้าใหม่ ก็ยังได้ล้างค่าความเชื่อที่ว่าเจ้าปกครองนั้นไร้ประสิทธิภาพจนรักษากรุงไว้ไม่ได้ เพราะละครก็ถ่ายทอดชัดเจนว่าเพดานของการกันกรุงศรีนั้นเลยฤดูน้ำหลาก แต่ก่อนพม่าก็เหมือนมด มาล้อมๆ จนรอน้ำหลาก พวกนางก็ถอยร่นกลับไป แต่คราวนี้นางอึด นางอยู่นาน ล้อมกรุงเลยน้ำหลาก ทางนี่ก็กรุงศรีมันก็ก็ต้องมีพ่ายไปตามระเบียบบ้าง ไอ้เรื่องระบบบริหารภายในกรุงห่วย ฟ้าใหม่ก็ได้ช่วยแสดงข้อเท็จจริงทางการรบให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้น มีรายละเอียดอื่นประกอบนะเธอ

หลังจากกรุงแตก บ้านเมืองถูกเผา อาณาประชาราษฎร์เดือดร้อน เจ้าผู้ปกครองก็ไม่มี เหลือแค่สุกี้นายกองคอยเก็บกวาดของเก่าส่งกลับไปพม่า ฉะนั้นระบบทุกอย่างในรูปแบบอาณาจักรก็ล่มสลาย คนแตกกระสานซ่านเซ็นไป ดังนั้นหัวเมืองต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมาขึ้นกับกรุงศรีอีก ก็มันไม่มีศูนย์กลางแล้วนี่นา ละคร ฟ้าใหม่ ได้การสะท้อนให้เห็นว่าสำนึกความเป็นคนกรุง มันไม่ได้ถูกกระจายไปยังทุกพื้นที่ตามนั้นจริงๆ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงมีชุมนุม และหัวเมืองตั้งตัวเป็นอิสระเกิดขึ้นมากมาย จนตัวละครสามพี่น้องต้องแยกย้ายกันไปปราบชุมนุมนั่นเอง

คุณคนกลาง หรือพระเจ้าตากตามเนื้อเรื่อง นับว่ามีอุดมการณ์ที่อยากจะรวมศูนย์กลางและสร้างระบบประเทศขึ้นมาใหม่ตามสำนึกของการเป็นคนกรุง ที่ว่ามันก็ต้องมีศูนย์กลาง แต่ชุมนุมอื่นๆ เขาก็ถือว่าเขาตั้งตัวเป็นอิสระไปแล้ว จะให้ฉันไปขึ้นกับหล่อนอีกมันก็ไม่เวิร์กป้ะ ก็อ่ะ เกิดการรบเพื่อรวมศูนย์กันไป ตีเมืองจันทร์เมืองอะไรก็ตามที่ทุกคนจะรับรู้กันมา จนกระทั่งคุณคนกลางรวมหัวเมืองทุกเมืองไว้ได้ กลับสู่การรวมศูนย์อำนาจไว้ได้อีกครั้งในรูปแบบกรุงธนบุรี 

นับเป็นละครไม่กี่เรื่องที่พยายามสะท้อนข้อเท็จจริงว่า “การรวมศูนย์อำนาจใหม่” กับการ “กู้ชาติจากพม่า” นี่เป็นคนละเรื่องกันเลยนะคะเนี่ย เพราะตัวคุณคนกลางในเรื่อง ก็ไม่ได้กลับไปสร้างกรุงที่เดิม ทำได้แค่ไล่สุกี้ออกไป แถมยังต้องไล่ปราบชุมนุมในที่ต่างๆ ซึ่งก็ไม่ได้ทำได้โดยง่าย หากแต่ต้องอาศัยการต่อรอง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือการยกลูกสาวตามหัวเมืองมาบรรณาการแลกเปลี่ยนกัน เพื่อรวมศูนย์อำนาจกันใหม่ เพราะอย่างที่เทยได้บอกไปว่าสำนึกของควาเมป็นคนกรุงศรีมันไม่ได้มีอยู่ทุกที่แต่เดิม

ตามเส้นเรื่อง เมื่อแสนกำลังทำภารกิจอยู่ที่หัวเมืองมลายูแดนใต้ ข่าวการสวรรคตของคุณคนกลางก็มาถึง และคุณใหญ่ ก็ย้ายศูนย์กลางอำนาจไปอยู่ฝั่งบางกอก และตั้งเป็นกรุงเทพในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลในส่วนการย้ายแผ่นดินธนบุรีมารัตนโกสินทร์ ในตัวละครก็ไม่ได้กล่าวชี้ขัดลงไป หากแต่ใช้คำว่า “คุณคนกลางหรือพระเจ้าตากทรงมีพระสติผันแปร” ซึ่งก็มีข้อเท็จจริงทางวิชาการที่แตกต่างกันออกไปมากมาย แต่เหตุการณ์นี้ในละคร ฟ้าใหม่ ก็กล่าวแค่ว่า การสวรรคตของคุณคนกลาง ก็ทำให้แสนได้กลับมาเจอกับ เรณูนวล สาวแซ่บนางเอกของเรื่องอีกครั้ง ทั้งคู่ช่วยกันรบแบบกองโจรจนสามารถตีข้าศึกแตกกระเจิง หลังจากนั้นบ้านเมืองก็เข้าสู่ความสงบสุขไร้ศึกจากข้าศึกมารบกวนอีกเลยตลอดรัชกาล เป็นคู่รักคู่รบรสชาติใหม่ของละครไทยเลยค่ะคุณ 

คำว่า “ฟ้าใหม่” จึงเป็นการตีความประวัติศาสตร์ให้เห็นชัดๆ ว่า การผลัดแผ่นดินมีหลายรูปแบบ และหลายครั้งมันก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่กรอบความคิดเรื่อง “ชาตินิยม” เท่านั้น การจะเข้าใจประวัติศาสตร์ จึงไม่สามารถมองผ่านการเดินทางแค่เส้นเดียว ตัวละครแสนในเรื่องฟ้าใหม่ ได้พาเราไปเจอมุมมองความคิดที่หลากหลายของชุมนุมที่แยกตัวเป็นอิสระไปแล้วอีก เป็นการทำให้เราเห็น Battle Scene องค์รวมของรูปแบบการรบ และโครงสร้างของเมืองหลังกรุงแตก ในแง่มุมที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิม

ก็เป็นหมุดหมายที่น่าสนใจ แม้ว่าจะมีหลายส่วนที่เก็บมาให้เราดูไม่ครบอ่ะโนะ

เห็นไหมคะว่าการเปลี่ยนแปลงมันมาอยู่เรื่อยๆ แผ่นดินกรุงศรียังผลัดเปลี่ยนได้อะไรได้ ฉะนั้นคนเสพย์ละครประวัติศาสตร์ เราต้องคิดตามให้หนักๆ นะคะคุณกิตติขา

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ "ฟ้าใหม่" ข้ามผ่านผลัดแผ่นดินกรุงธนบุรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook