พลอย พริ้ง สองแม่สองมิติแห่งแผ่นดินละคร

พลอย พริ้ง สองแม่สองมิติแห่งแผ่นดินละคร

พลอย พริ้ง สองแม่สองมิติแห่งแผ่นดินละคร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันแม่ทั้งที เทยก็พาลนึกถึงคำว่า “แม่” ในยุคโซเชี่ยล สมัยนี่นะคะคุณขา ตำแหน่ง “แม่” ที่ว่า มันถูกใช้เพื่อการันตีความแกรนด์ ความเบอร์ใหญ่ ยืนหนึ่งของคาแรกเตอร์ผู้หญิง ที่โดดเด่นเป็นสง่า เป็นแบบอย่างให้น่าติดตาม ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นบุคคลมีชื่อเสียง มีตัวตนอยู่จริงๆ หรือจะเป็นคาแรกเตอร์ที่ปรากฏในหน้าสื่อให้เห็น ทั้งหนังทั้งละครก็ตามที

แล้วพอมานั่งนึกๆ ดูในโลกหนังโลกละคร “ตัวแม่” ที่เขาว่าเป็นคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นเป็นสง่า เป็นที่พูดถึง ยืนหนึ่งจนเป็นตำนานด้วยแล้ว เทยเห็นว่ามันคงจะไม่พ้นสองแม่ที่ใครได้ยินชื่อก็คงต้องร้องอ๋อ เพราะทั้งสองนางคือต้นตำรับแบบอย่างหญิงไทยที่ขนานกันไปในรูปแบบที่ต่างกันสุดขั้ว

แม่พลอย สี่แผ่นดิน กับ อีพริ้ง คนเริงเมือง นั่นเอง

ในละครไทย สิ่งหนึ่งที่มักจะชูโรงชูใจ เหนี่ยวรั้งคนดูเอาไว้ไม่ให้ไปไหน ส่วนใหญ่มักจะเป็นละคร ที่ใช้ตัวละครหญิงเป็นตัวละครเอก และเส้นเรื่องที่จะครองใจได้รับความนิยมอยู่หมัด ก็มักจะเป็นเส้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม่บ้าน เมีย หรืออะไรก็ตามที่วนเวียนอยู่กับเรื่องในบ้าน ครอบครัว ลูก ผัว ตั่งต่าง เนื้อหาแบบนี้ ย่อมเป็นที่ครองใจชาวละครกันมาเนิ่นนาน ด้วยหลักคิดที่ว่า คนดูละครคือคนที่เป็นแม่บ้าน อยู่บ้าน ซึ่งเป็นฐานคนดูกลุ่มใหญ่มาแต่ก่อน แต่ถึงแม้ในยุคนี้ ละครนั้นจะหาดูที่ไหนก็ได้ ย้อนหลังออนไลน์ผ่านมือถืออยู่ตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้วก็ตาม เนื้อหาของละคร ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องในครอบครัวเป็นหลัก และมักจะเป็นเรื่องราวที่ได้รับความนิยมอยู่ไม่เสื่อม

แม่พลอย เป็นตัวละครจากนวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ที่ประพันธ์โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ โดยเรื่องราวกล่าวถึงหญิงสาวที่ใช้ชีวิตผ่านความเปลี่ยนแปลงยาวนานถึงสี่รัชสมัยของกษัตริย์ไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 เอกลักษณ์ของแม่พลอยในสี่แผ่นดินนั้นเป็นที่นิยมมากๆ ตั้งแต่ฉบับวรรณกรรมถูกตีพิมพ์สยามรัฐ ในปี 2494-2495 ความฮิตของแม่แตะจุดสูงสุดถึงขนาดที่ว่า เมื่อแม่พลอยในเรื่องตั้งท้อง แฟนๆ นักอ่านถึงขั้นส่งมะม่วงเปรี้ยวมาที่สำนักพิมพ์เลยทีเดียว

แม่พลอย เวอร์ชั่น อุ้ม สิริยากร

เมื่อนางโด่งดังโดนใจแม่บ้านเสียขนาดนี้แล้วจึงไม่แปลกใจเลยที่โทรทัศน์จะหยิบวรรณกรรมชิ้นนี้มาขึ้นจอแก้วอยู่หลายต่อหลายครั้ง ด้วยความที่แม่พลอย เป็นสาวชาวรั้วชาววัง และเรื่องราวของแม่ก็วิ่งผ่านยุคผ่านสมัย จนอาจเรียกได้ว่าเป็นละครประวัติศาสตร์ ที่ถึงแม้จำกัดอยู่ในมุมมองที่แม่พลอยรับรู้เรื่องราวจึงอยู่ในแวดวงกลุ่มชนชั้นนำในสมัยนั้นเท่านั้น และโดยเฉพาะช่วงสองแผ่นดินสุดท้ายของเรื่อง ที่สถานการณ์บ้านเมืองเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงที่แทบจะฉีกอกหญิงสูงวัยอันแสนสงบที่เคยอยู่ในวังให้แตกเป็นเสี่ยงๆ แม่พลอยจึงเป็นตัวแทนของหญิงไทยแท้ดั้งเดิม ตามจารีตประเพณีที่เขาว่าดีงามพระรามเก้านั่นเองเจ้าค่ะ

แน่นอนว่าอีกแม่นึงนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง หากแม่พลอยมีมุมมองผ่านประวัติศาสตร์ที่จำกัดวงอยู่แต่เพียงชาวรั้ววังและชนชั้นนำแล้ว เมืองรองเมืองล่างร้านตลาดลงมา ก็ยังมีอีกหนึ่งแม่ที่ “เริงเมือง” และวิ่งผ่านประวัติศาสตร์อย่างหนักหน่วงไม่แพ้กันเลย

แม่พริ้ง เป็นตัวละครจากนวนิยายเรื่อง “คนเริงเมือง” ที่ประพันธ์โดย สุวรรณี สุคนธา โดยเรื่องราวกล่าวถึงหญิงสาวที่ใช้ชีวิตด้วยกิเลสตัณหา และวิ่งผ่านเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงเวลาเดียวกับแม่พลอยถึงสองแผ่นดินด้วยกัน เอกลักษณ์ของแม่พริ้งในคนเริงเมืองนั้น เผ็ช สะเด็ดสะเด่า ถึงขั้นถูกนำผลิตเป็นภาพยนตร์และละครในจำนวนเวอร์ชั่นที่สูสีกับแม่พลอยชนิดปริ่มน้ำเช่นกัน

อีพริ้ง เวอร์ชั่นแซ่บลืม จาก จั๊กจั่น อคัมย์สิริ

ความน่าขมวดคิ้วก็คือ ทำไมกันน้า แม่สองแม่สองเส้นทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถึงได้รับความนิยมไม่ต่างกันเลย มันมีอะไรอยู่เบื้องหลังแม่ทั้งสองนี้กันนะ

มาเริ่มจากแม่คนแรก แม่เพชรน้ำหนึ่งอย่างคุณหญิงบทมาลย์บำรุง หรือแม่พลอยกันก่อน ตามคำวิจารณ์จากหลายๆ กูรูก็พูดเป็นเสียงตรงกันว่า แม่พลอย เป็นตัวแทนของหญิงอ่อนน้อมถ่อมตน นักอ่านนักดูละครคนไทยจำนวนมากจึงชอบแม่พลอย เธอเป็นผู้หญิงไม่หือไม่อือ ไม่มีมีสิทธิในตัวเอง ขนาด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ผู้ประพันธ์เองยังเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารถนนหนังสือไว้ว่า "แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียก ไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่เป็นคนที่เชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้าๆ บอๆ ถึงขนาดนั้น" และ "ที่นี่คนอ่านคนไทย ปลื้มอกปลื้มใจ เห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอย ก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้นอ่อนน้อมถ่อมตน คนอ่านส่วนมากอยากเป็นแม่พลอย เป็นคนไทยมีใจรักชาติและสะท้อนให้เห็นแง่คิดในสังคมไทย นี่คือสาเหตุที่ สี่แผ่นดินถึงได้มีชื่อเสียง"

ตามเนื้อเรื่องในช่วงแผ่นดินที่สามและสี่ แม่พลอยเผชิญเหตุการณ์ที่ใกล้ตัวกับหน้ากับตาอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย และเผชิญลูกระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศ ในฐานะผู้หญิงที่โดนคลุมถุงชนแล้วก็ยังสามารถเป็นแม่อันประเสริฐของบ้านได้แล้วนั้น การถกเถียงกันในบ้านของลูกชายที่มีความเห็นต่างทางการเมืองลุกลามไปถึงสงครามนอกบ้านที่เป็นการทำลายล้างอย่างสนั่นหวั่นไหว แม่พลอยนั้นรู้สึกเจ็บปวดใจและพยายามยึดเหนี่ยวกับสิ่งที่มั่นคงเอาไว้ เช่นสถาบันครอบครัวที่แม่พยายามรักษา และสถาบันกษัตริย์ที่เธอเติบโตมาอย่างจงรักและศรัทธา

สินจัย เปล่งพานิช ก็เคยรับบท แม่พลอย เช่นกัน

การเป็นผู้หญิงอย่างแม่พลอยจึงเป็นตัวแทนของผู้หญิงรักสงบและรักขนบ ตามจริตวิสัยของชนชั้นนำในรั้วในวังสมัยนั้น เธอไม่หือไม่อือตามคำกล่าวของผู้ประพันธ์อย่างว่า เธอไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเคาะประตูในบ้าน เธอเชื่อว่าหากมีจิตใจดีงามเสียแล้ว ทุกคนย่อมเห็นคล้อยตามกันได้หมด แม่พลอยจึงเป็นแม่ ที่เหมือนเป็นหลักเป็นเสาของคนในเรื่อง เหตุการณ์ต่างๆ วนเวียนอยู่รอบตัวเธอ ทั้งเป็นมิตรกับเธอบ้างเป็นมิตรกับเธอบ้างก็เถอะ แต่สิ่งที่แม่พลอยจะไม่มีวันล่มสลาย ก็คือฐานันดรศักดิ์และชีวิตของเธอ แม่พลอยไม่เผชิญความเสี่ยงใดใดของประเด็นสังคม แม้แต่การรอดตายจากระเบิดสงคราม ก็ไม่ได้ทำให้แม่อดตาย

เป็นผู้หญิงทิพย์ สมัยนิยม ตามตำรับเอามากๆ เลยค่ะคุณ

แต่อีกแม่นึงนั้นไม่ใช่เลย พริ้งเป็นผู้หญิงที่เทยลองเทียบอายุก็น่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับประไพ ลูกสาวคนสุดท้องของแม่พลอย เธอเกิดมาในยุคสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองและสร้างชาติไปแล้ว พริ้งจึงเป็นหญิงสาวที่หัวสมัยใหม่มากเอาการ ถึงแม้วัยเด็กเธอจะถูกเปรียบเทียบกับพี่สาวอย่างช้อยอยู่เสมอ ถึงความแตกต่างว่าคนพี่นั้นเรียบร้อยดุจผ้าพับไว้ แต่คนน้องกลับไม่สงวนกิริยาอาการใดใด กลับกันเธอกล้าที่จะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมาทันทีเสียด้วย

แม่พริ้ง

เหตุการณ์ที่ทั้งพลอยและพริ้งได้เจอร่วมกัน คือสงครามโลกครั้งสอง แต่ผลกระทบที่ได้รับและการตอบสนองต่อเหตุการณ์ของทั้งคู่แตกต่างกันลิบลับเลยค่ะ แม่พลอยมีหลุมหลบภัยส่วนตัวที่ขุดเอาไว้ในพื้นที่ของบ้าน จากทรัพย์สินของของคุณเปรมที่เป็นสามี เมื่อบ้านพังทลายลง แม่พลอยก็มีบ้านคลองบางหลวงที่เป็นบ้านของพระน้ำพระยาเจ้าคุณพ่อเป็นที่พักพิงอีกแห่ง เธอบอบช้ำก็เพียงแต่จิตใจเท่านั้น แต่ยังไม่ถึงขั้นสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปจากสงคราม

แต่กลับพริ้ง เธอสูญเสียเป็นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว คลินิกของหมดพินิจสามีคนแรกของเธอ หายวับไปกับตากับลูกระเบิด ทรัพย์สินเดียวที่เธอจะหาไว้ให้ลูกหมดสิ้น จนเธอต้องลี้ภัยไปอยู่อยุธยากับคุณหญิงแม่สามีของเธอ แต่ความบอบช้ำของจิตใจของเธอก็ได้รีบการเยียวยาโดยใช้เวลาไม่นานนัก ไม่ทันจะได้คลอดที เธอถึงขั้นมีความคิดที่ว่า "รู้สึกเปล่าเปลี่ยวจนอดคิดถึงเสียงระเบิดที่​มันดังตูมตามในกรุงเทพฯ​ไม่ได้" ถึงขั้นกระโจนขึ้นรถไฟมาจากอยุธยา​เพื่อดับความเปลี่ยวเหงาเสียเลยทีเดียว

ใหม่ เจริญปุระ กับการรับบท พริ้ง

ในแง่ของความรักความสัมพั​นธ์ของทั้งสองแม่ก็ต่างกันลิบลับ​ แม่พลอยนั้น​ถูกจับคลุมถุงชนกับคุณ​เปรม​แม้ว่าแม่พลอย​จะไม่ได้ชอบพอ​ แต่แม่ก็จำยอมตบแต่งออกเรือนไปแต่ง่ายดาย​ แถมยังโอบอุ้มลูกติดของคุณเปรม​ที่ได้กับบ่าวไพร่มาเลี้ยงดูอย่างไม่รังเกียจ​รังงอน​ ถือเป็นต้นตำรับความแม่พระแม่พลอยที่​แท้​ ผิดกับแม่พริ้งลิบลับที่เธอออกปากด่าทองแผหมอประสานที่ฉวยโอกาสเธอขณะเธอเมาว่า​ "ถ้าใจฉันไม่ให้​ ก็คือไม่ให้​ แต่ถ้าฉันจะให้​ ก็ไม่ต้องร้องขอด้วยซ้ำ" 

เอาซิ๊

แม่พลอยเสียชีวิต​ก่อนพริ้ง​ แต่พริ้งยังต้องเผชิญ​กับเหตุการณ์​สำคัญ​ต่อไปอีกหน่อย​ทั้งพิษเศรษฐกิจ​หลังสงครามโลกรวมถึงกบฏแมนฮัตตัน​ที่เธอถึงขั้นเสียดสีประชดประชัน​เลยว่า​ "ดี​ ฆ่ากันให้ตายไปเสียให้หมดๆ​ จะได้ไม่ต้องแย่งกันกินกันใช้​" ซึ่งเหตุการณ์​เหล่านี้​มันหล่อหลอม​ให้แม่พริ้งมองทุกอย่าง​แบบสู้ยิบตา​ ถึงขั้นใช้ร่างกายเป็นทุนจนเขาตราหน้าว่าเป็น​ "อีช็อคการี" ก็ตาม​ ยิ่งกว่า​นั้น​ พริ้งบริหารความสัมพั​นธ์กับผู้ชายรอบตัวเหมือนพวกเขาเป็นทรัพย์สิน​ และหาประโยชน์​จากเขาได้ทั้งด้านความรัก​ การงาน​และเรื่องบนเตียง

สี่แผ่นดิน ในเวอร์ชั่น ละครเวทีมิวสิคัล

เอาเป็นว่าถ้าแม่พลอยเจอพริ้ง​ แม่คงได้ลมจับเป็นแน่แท้

ความน่าสนใจของมิติที่แตกต่าง​จาก​ทั้งสองแม่​ ทำให้เราเรียนรู้​ว่าในสังคมไทยช่วงเวลา​ที่ไม่ได้ห่างกันมาก​ มีผู้หญิง​ที่แตกต่างสองคนวิ่งผ่านเหตุการณ์​และมีจุดจบคนละแบบกัน​ และทั้งสองเป็นจดจำและถูกตีตราบนคุณ​ค่าที่แตกต่าง​ แต่เห็นได้ชัดว่า​ สังคมที่ขับเคลื่อน​โดยแนวคิดของผู้ชาย​ ที่มองผู้หญิง​เป็นทรัพย์สิน​นั้นมีอำนาจครอบงำพวกเธอในยุคนั้น​ ความเป็นแม่ จึงถูกเชิดชู​มากกว่าความเป็นหญิงที่เชื่อมั่น​ในตนเอง​ 

เราถึงจดจำพลอยนำหน้าด้วยคำว่าแม่​ แต่จดจำพริ้งนำหน้าด้วยคำว่าอี​ ทั้งๆ ที่ทั้งคู่​ต่างก็ทำเพื่อลูกเหมือนกัน​ มันก็น่าตลกอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ

ความเป็นแม่แบบไทยในละคร​ ก็ยังผลิตภาพจำเมียหลวงเมียน้อยผ่านสองคาแรกเตอร์​นี้ต่อมาอีกมากนะคะ​ เมียหลวงต้องดีจนสูงส่ง​ ส่วนเมียน้อย​ต้องรักไม่จริง​ ร่านสวาท​ และมีจุดจบที่สลดใจอยู่เสมอ​ 

แล้วคุณ​กิตติ​ล่ะคะ​ คิดว่าภาพจำแบบแม่ๆ ในละครไทย​ มันเป็นยังไง​ เทยก็ขอฝากให้ไปติดตามกันต่อด้วยนะคะ

 

เหยี่ยว​เทย​ รายงาน​

อัลบั้มภาพ 31 ภาพ

อัลบั้มภาพ 31 ภาพ ของ พลอย พริ้ง สองแม่สองมิติแห่งแผ่นดินละคร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook