กินตาม "แอล" Death Note หวานเพื่อสมอง?

กินตาม "แอล" Death Note หวานเพื่อสมอง?

กินตาม "แอล" Death Note หวานเพื่อสมอง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เข้าสู่เดือนแห่งความหวานวาเลนไทน์ทั้งที แก้มแดงเลยมาพร้อมกับข้อสงสัยเกี่ยวกับอานิเมะเรื่องโปรดอย่าง Death Note (2006-2007) ที่มีตัวละครอัจฉริยะชอบกินของหวานเป็นชีวิตจิตใจ แต่การกินของหวานมันดีต่อสมองให้แล่นฉิวอย่างในเรื่องจริงเหรอ?

Death Note เป็นการ์ตูนแนวลึกลับที่นำเสนอการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่วออกมาได้แฟนตาซีและน่าสนใจ ด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มมัธยมปลายระดับหัวกะทิของประเทศ ยางามิ ไลท์ ที่ได้พบกับ "เดธโน้ต" หรือบันทึกมรณะซึ่งทำให้เขาสามารถฆ่าคนได้เพียงแค่เห็นหน้าแล้วเขียนชื่อลงในสมุดบันทึก ไลท์จึงตัดสินใจใช้อำนาจที่มีเปลี่ยนแปลงโลกด้วยการใช้เดธโน้ตฆ่าอาชญากรในนาม “คิระ” แต่เหตุการณ์ก็เริ่มบานปลายเมื่อมีเหยื่อทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรตำรวจโลกจึงเข้ามาแก้ไขปัญหาพร้อมกับส่ง แอล นักสืบผู้ที่เคยแก้ไขคดีปริศนามาช่วยกันค้นหาตัวคิระ และหยุดยั้งการกระทำอันโหดร้าย

นอกจากความฉลาด (และชั่ว) เป็นกรดของคิระจะทำให้คาแรกเตอร์ดังกล่าวเป็นที่น่าจดจำแล้ว คู่ปรับของเขาอย่างแอลเองกลับยิ่งน่าจดจำยิ่งกว่า เมื่อนักสืบระดับโลกเป็นแค่เด็กมัธยมปลายตัวผอมบางขอบตาดำ (เพราะไม่ค่อยได้นอน) และที่สำคัญเขายังเลือกกินแต่ของหวาน ไม่ว่าจะเป็นโดนัท เค้ก ไอศกรีม ไปจนถึงน้ำตาลก้อนที่เอาไว้ใส่ชาและกาแฟ ทำให้คาแรกเตอร์ดูมีความย้อนแย้งอยู่ในตัวพอสมควร เพราะในฐานะนักสืบที่มีความเก่งกาจแต่กลับชอบกินของหวานและขนมเหมือนเด็กน้อย แถมยังทำให้อานิเมะเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในการ์ตูนที่เต็มไปด้วยฉากน่าอร่อยมากที่สุด

จากในเรื่อง "แอล" ได้ให้เหตุผลในการกินขนมของเขาในตอนหนึ่งว่า เพราะว่าเขาไม่ได้นอน ของหวานจะทำให้เขาตื่นและสามารถโฟกัสกับการทำคดี อีกทั้งเขาไม่กลัวด้วยว่าขนมจะทำให้เขาอ้วนหรือเสียสุขภาพ เพราะร่างกายเขาได้เผาผลาญพลังงานทั้งหมดจากการใช้สมองในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งใช้มากกว่าการออกกำลังกายเสียอีก (คนจริงเขากินขนมหวานกัน)

ด้วยเหตุนี้แก้มแดงเลยไปหาข้อมูลมาอภิปรายเกี่ยวกับความหวานมาเล็กน้อย ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นเราคงต้องบอกว่ารสชาติหวานๆ เป็นรสชาติที่มนุษย์ชื่นชอบมาช้านาน เพราะเป็นรสชาติที่บ่งบอกว่าสิ่งนี้ปลอดภัยและกินได้มากกว่ารสอื่นๆ สมองเราจึงเป็นมิตรกับของหวานมาโดยตลอด จนอาจถึงขั้นเสพติด เพราะเชื่อว่านี่คือแหล่งของสารอาหาร (แคลอรี) และสร้างความพึงพอใจให้กับร่างกาย ช่วยลดความตึงเครียด เนื่องจากอาหารหวานจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้หลั่งสารเอ็นโดรฟินจึงช่วยให้เราอารมณ์ดีแบบที่หาอาหารอื่นมาทดแทนก็ไม่ได้

ซึ่งนั่นก็สอดคล้องกับงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) เมื่อ 2 ปีก่อนที่บอกว่าสมองมักให้การตอบสนองกับรสชาติหวานก่อนใครเพื่อน แต่ถ้าถึงเวลาต้องเลือกระหว่างอาหารรสหวานที่ไม่มีแคลอรี (น้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล) กับของไม่อร่อยแต่มีแคลอรี สมองก็จะเลือกตอบสนองไปที่มีแคลอรีเพื่อความอยู่รอด เนื่องจากสมองรู้ด้วยว่ารสหวานที่กินเข้าไปนี่ไม่ใช่ของหวานที่แท้จริง ทำให้การเลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพจะเป็นผลดี แต่ก็อย่าลืมว่าข้อดีของความหวานก็คือการลดอาการเครียดได้อย่างชะงัก

ได้ยินแบบนี้คงต้องบอกว่าที่แอลกินของหวานอาจจะเป็นวิธีลดความเครียดของการสืบสวนคดีได้ดีอีกวิธีหนึ่ง แต่อาจจะหักโหมไปหน่อย เพราะเราควรเลือกแหล่งที่มาของน้ำตาลที่ดีอย่างโยเกิร์ต น้ำผลไม้ หรือช็อกโกแลตสักนิด แต่ถึงกระนั้นปริมาณน้ำตาลที่เหมาะกับการกินในแต่ละวันนับว่าน้อยมาก เพียงวันละ 6 ช้อนชาเท่านั้น ไม่ขาดไม่เกิน!

เรื่อง : แก้มแดง

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ กินตาม "แอล" Death Note หวานเพื่อสมอง?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook