3 เหตุผลที่ทำให้ Single's inferno เป็นหนังรักฉบับติดเกาะแบบเทียมๆ

3 เหตุผลที่ทำให้ Single's inferno เป็นหนังรักฉบับติดเกาะแบบเทียมๆ

3 เหตุผลที่ทำให้ Single's inferno เป็นหนังรักฉบับติดเกาะแบบเทียมๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

รายการเรียลลิตี้ประเภท “ออกเดท” ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่แต่อย่างใดในโลกของรายการทีวี ในทุกๆปี รายการประเภทนี้มีการสร้างขึ้นอยู่เสมอๆ ในแทบทุกประเทศที่ผลิตรายการโทรทัศน์เลยก็ว่าได้ แต่ Single's inferno กลายเป็นรายการที่คนดู Netflix ต่างกดสตรีมมิ่งกันและติดหนึบหนับ เพราะอะไรกันนะ

 

1.เดินเรื่องตามพล็อตหนังโรแมนติก

จริงอยู่ที่รายการเดท ต้องชูจุดขายเรื่องของความรักของหนุ่มสาวเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อ Single's inferno กำหนดโจทย์ของรายการ ด้วยกติกาในช่วงต้นรายการว่า ชายหนุ่ม 5 คนและสาวสวยอีก 4 คนจะต้องมาติดอยู่บนเกาะนรก ที่ปราศจากอุปกรณ์อำนวยความสะดวก แต่มีอีกทางเลือกหนึ่งคือถ้าพวกเขาสามารถเลือกคนที่ใช่ได้ถูกต้องตามเวลาที่กำหนดก็อาจจะได้ไปมีความสุขร่วมกันที่เกาะสวรรค์อันเป็นรีสอร์ทหรู ก่อนที่ตอนท้ายของรายการพวกเขาจะต้องเลือก “คู่” ของตัวเองเพื่อจูงมือกันออกไปจากเกาะนรกแห่งนี้

อันที่จริงสภาพของเกาะนรกนั้นจัดได้ว่า “ห่างไกล” คำว่าลำบากอยู่โข เพราะถ้าเรานึกภาพรายการประเภทเรียลลิตี้ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องทนอยู่ในสภาพความแร้นแค้นจนต้องกระเสือกกระสนเอาตัวรอด เพื่อไขว่คว้าปัจจัยที่สบายกว่า เราจะนึกถึงรายการอย่าง Survivor ที่เอาผู้เข้าแข่งขันมาปล่อยเกาะกันจริงๆ แต่ด้วยความที่ Single's inferno เป็นรายการออกเดท “ความลำบาก” ในนิยามของรายการนี้จึงถูกปรุงแต่งด้วยบริบทของโครงสร้างสคริปต์และการถ่ายทำโดยเฉพาะการเน้นย้ำในช่วง EP แรกของรายการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแดดจัดอากาศร้อนจนต้องปาดเหงื่อของผู้เข้าร่วมรายการ การพูดถึงแมลงเป็นครั้งคราว วัตถุดิบในการประกอบอาหารที่ “โปรตีน” น้อยกว่าที่ร่างกายหนุ่มกล้ามล่ำ สาวเอวบางจะต้องการในแต่ละวันก็ตาม หรือแม้กระทั่งภารกิจในรอบวันที่ชายหนุ่มต้องเดินไปหาบน้ำมาเติมยังเพิงครัวกลาง เหล่านี้คือการให้นิยามความลำบาก ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับความไม่สะดวกสบายของผู้เข้าร่วมรายการมากกว่าทำให้เรารู้สึกว่ามันคือ “เกาะนรก” จริงๆ ยิ่งไปกว่านั้นเกาะนรกที่สาวๆยังหน้าแน่นด้วยเครื่องสำอางและหนุ่มหล่อที่เหมือนหลุดออกมาจากรายการค้นฟ้าคว้าไอดอลนั้น มีหรือที่พวกเขาจะลืมแต่งองค์ทรงเครื่องให้ดู “น่าหลงใหล” กันอยู่ตลอดเวลา Netflix จึงนิยามว่ามันเป็นนรกที่ร้อนแรงที่สุดด้วยเหตุผลประการฉะนี้

 

2.ตัวละครที่ถูกเลือกนำเสนออย่างจงใจ

ตามที่เราได้กล่าวไปในข้างต้นว่าจริงอยู่ที่มันเป็นรายการประเภทเรียลลิตี้ แต่สุดท้ายความเรียลหรือความจริงที่เราถูกทำให้เชื่อว่ามันเป็นความจริงนั้น ได้รับการปรุงแต่งองค์ประกอบให้เรื่องราวมีความน่าสนใจและชวนติดตามอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าหากจะปล่อยให้ผู้เข้าแข่งขันเปลือยหน้าสดกันจริงๆ มันคงกลายเป็นรายการ Survivor มากกว่ารายการหาคู่เดท

ดังนั้นการที่ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดจะแต่งตัวแทบไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวัน ยิ่งสะท้อนให้ผู้ชมเห็นว่า Single's inferno ตั้งใจวางเรื่องราวให้ผู้เข้าแข่งขันกลายเป็นตัวละครที่พร้อมจะเกิดการเปลี่ยนแปลง พลิกเรื่องราวกันอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ มุนเซฮุน หนุ่มที่ความมั่นใจเต็มเปี่ยม มีร้อยใส่ร้อยทุ่มเทเกินอัตรา แต่เมื่อคนที่เขาหมายตาอย่างชินจียอน ดันมีใจให้คนอื่นในช่วงแรก ทำให้เขาเกิดอาการเคว้ง จัดการอารมณ์ตัวเองไม่ถูกอยู่หลายวัน หรือสาวฮ็อตอย่างซงจีอา ที่ฟาดเรียบตั้งแต่วินาทีแรกที่เธอเปิดตัวบนเกาะนี้ และทำให้หนุ่มๆหลายคนจ้องกันตาเป็นมัน จนกลายเป็นว่าจีอาคือเฮเลนแห่งเมืองทรอยที่หนุ่มๆหลายคนพยายามฟาดฟันเอาชนะใจสาวคนนี้ เพื่อจะได้กลายเป็น “ตัวจริง” ในตอนบทสรุปของเรื่อง

จะเห็นได้ว่า Single's inferno เองมีลักษณะการกำกับเรื่องราวให้กลายเป็นหนังรักที่อุดมไปด้วยปมขัดแย้ง ดังนั้นผู้เข้าแข่งขัน (หรือตัวละคร) ที่ดูเรียบๆอย่างคิมจุนซิก หนุ่มตาหวานที่แมทช์กับสาวอันเยวอน ชนิดไม่ต้องมีคู่แข่งทางหัวใจ ไปตั้งแต่ครึ่งแรกของรายการจึงได้รับแอร์ไทม์ในการเล่าเรื่องราวในเส้นเรื่องของทั้งสองคนนี้น้อยจนแทบคนดูจะลืมไปด้วยซ้ำ ว่าเขายังอยู่ในรายการด้วยซ้ำไป

 

3.ทีมชง

สิ่งที่น่าสนใจคือ Single's inferno เลือกจะใช้คอมเมนเตเตอร์ 4 คนอันประกอบไปด้วย ฮงจินคยอง, อีดาฮี, คยูฮยอน จากวง Super Junior และ จองฮันแฮ ซึ่งพวกเขาทำหน้าที่เป็นเหมือนเพื่อนที่นั่งชมรายการนี้ร่วมกันกับคนดู แต่จริงๆแล้วหน้าที่ของพวกเขาไม่ต่างอะไรจากบรรดายูทูปเบอร์ที่นั่งทำคลิปรีแอคชั่นต่างๆ เพื่อเปิดมุมมองความคิดเห็นของตัวเองต่อผู้เข้าแข่งขันรายการ ความเป็นจริงแล้วพวกเขาเป็นมากกว่าเพื่อนร่วมจอของผู้ชม แต่เป็นบุคคลที่พยายามโน้มน้าวใจและชี้ทางให้คนดูโอนเอียงไปในทิศทางที่ผู้กำกับรายการนี้อยากจะให้คนดูรู้สึกตาม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอาการตกใจเมื่อผู้เข้าแข่งขันบางคน “เปลี่ยนใจ” จากคู่เดตคนก่อนไปเป็นอีกคน หรือการให้ความเห็นว่า ทำไมผู้เข้าแข่งขันคนนี้ถึงดูมีความเจ้าชู้ ซึ่งในหลายๆครั้งเมื่อเรื่องราวดำเนินผ่านไป เราก็จะพบว่าสิ่งที่ผู้เข้าแข่งขันแสดงออกมา ผ่านการตัดต่อและเล่าเรื่องราวในแบบที่รายการนำเสนอ ถูกส่งผ่านคอมเมนเตเตอร์ทั้ง 4 เพื่อแสดงความคิดเห็น ก่อนจะถูกบอกเล่าเป็นเรื่องราวสุดท้ายมาสู่ผู้ชมจริงๆ จะเห็นได้ว่า มันถูกคัดเลือก กลั่นกรอง หลายชั้นหลายหน จนกลายเป็นเส้นเรื่องที่ดูเปี่ยมรสชาติมากที่สุด จนคนดูต้องเกิดอารมณ์ร่วมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ภายใต้องค์ประกอบเหล่านี้คือสิ่งที่ “ชูรส” ให้ Single's inferno กลายเป็นรายการเดทที่ออกรสมากเป็นพิเศษ จนคนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง และทำให้รายการในแนวทางที่ถูกผลิตขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลายเป็นความบันเทิงความยาว 8 ตอนที่ดูได้อย่างไม่น่าเบื่อและน่าสนใจไปพร้อมๆกัน

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ 3 เหตุผลที่ทำให้ Single's inferno เป็นหนังรักฉบับติดเกาะแบบเทียมๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook