รีวิว The Prom มิวสิคัลเฮฮา ชูประเด็น LGBTQ

รีวิว The Prom มิวสิคัลเฮฮา ชูประเด็น LGBTQ

รีวิว The Prom มิวสิคัลเฮฮา ชูประเด็น LGBTQ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สตรีมมิ่ง Netflix ที่ดัดแปลงมาจากละครบรอดเวย์มิวสิคัลในชื่อเดียวกัน ผลงานการกำกับของไรอัน เมอร์ฟีย์ ขาประจำคอนเทนท์หนังและซีรีส์ LGBTQ ที่ขนเอาดาราระดับตัวแม่มาประชันฝีมือการร้องเพลงกันอย่างคับคั่ง

The Prom บอกเล่าเหตุการณ์ของไฮสคูลแห่งหนึ่งในรัฐอินเดียน่าเมื่อสมาคมผู้ปกครองมีมติจะยกเลิกการจัดงานพรอม เพราะไม่เห็นด้วยเมื่อเอ็มม่า (โจ เอลเลน พีลแมน) ได้ประกาศตัวเองว่าเป็นเลสเบี้ยนและจะพาแฟนของตัวเองควงคู่มาเปิดตัวในงาน  เหตุการณ์ดังกล่าวดังกล่าวลุกลามบานปลายจนกลายเป็นแฮชแท็กติดเทรนด์บนโลกทวิตเตอร์

ขณะเดียวกันในวงการละครเวทีอย่างบรอดเวย์ เมื่อดาราที่กำลังจะถูกลืมทั้งสี่คนอันประกอบไปด้วย ดีดี้ อัลเลน (เมอรีล สตรีป) แบร์รี่ (เจมส์ คอร์เดน) แองจี้ (นิโคล คิดแมน) และเทรนซ์ โอลิเวอร์ (แอนดริว แรนเนลล์) ที่ทราบข่าวดังกล่าว พวกเขามองเห็นว่านี่อาจจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ตัวเองได้รับความสนใจจากสื่อฯ อีกครั้ง พวกเขาเลยตัดสินใจเดินทางไปยังรัฐอินเดียน่าเพื่อประท้วงต่อสู้เรียกร้องสิทธิของเอ็มม่าให้ได้กลับไปร่วมงานพรอมดังเดิม

แน่นอนว่าเมื่อเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากละครบรอดเวย์มิวสิคัล เหตุการณ์ในเรื่องจึงต้องมีลักษณะกึ่งจริงกึ่งฝัน เพราะอยู่ๆตัวละครจะต้องร้องเพลงขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยนั้นถือเป็นสถานการณ์ปกติธรรมดา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าตัวผู้กำกับไรอัน เมอร์ฟีย์เองก็มีจริตในการกำกับฉากแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร (ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยซีรีส์มิวสิคัลอย่าง Glee เลยก็ได้ นั่นคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด) ทำให้ฉากร้องรำทำเพลงในเรื่องดูลื่นไหล สมูท ไม่ขัดหูขัดตา

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการเรียกร้องสิทธิ LGBTQ ในหนังเรื่องนี้อาจจะจัดได้ว่าเรียบง่ายตามสูตรสำเร็จที่แทบจะปูทางไปสู่ตอนจบที่ดูไม่น่าจะเหนือความคาดเดา เพราะโทนของหนัง (และตัวมิวสิคัลเอง) ก็ดูเป็นเรื่องราวแบบตลกขบขัน อารมณ์ดี แฮปปี้ โลกสวย) จึงทำให้สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายไปอย่างง่ายดาย แม้ว่าตัวละครในเรื่องอย่างเอ็มม่าจะต้องเผชิญหน้ากับการที่คนรอบข้างยังไม่เข้าใจในการเป็นเพศสภาพแบบเธอ แต่มันจะพีคกว่านี้แน่นอนถ้าหากหนังเลือกจะขยี้ปมที่พ่อแม่ของเอ็มม่า เลือกจะตัดขาดจากลูกสาวตัวเองมาเล่าต่อ

เพื่อทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ปลอมประโลมใจของชาว LGBTQ ด้วยการสร้างฉากไคลแมกซ์อันเป็นงานพรอมในฝันที่ใครก็ตามสามารถจูงมือ “คู่ครอง” ของตัวเองมาร่วมงานได้ แต่โลกแห่งเป็นจริงบรรดาเกย์ทั่วโลกยังต้องต่อสู้อยู่กับความไม่เข้าใจเหล่านี้ทุกวี่วัน ดังนั้นหนัง (หรือละครเพลง) จึงไม่ต่างอะไรจากคำกล่าวของตัวละครครูใหญ่ทอม ฮอว์กินส์ (คีแกน ไมเคิล คีย์) ที่พูดเอาไว้ว่า “อย่างน้อยโรงละครก็คือพื้นที่ที่พาผมหลุดลอยจากความจริงอันแสนโหดร้ายไปสักสองสามชั่วโมงก็ยังดี”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook