คุยกับ อุ๋ย นนทรีย์ และ ‘มนต์รักนักพากย์’ ในวันที่กลับมาทำสิ่งที่ฝันด้วยความรัก

คุยกับ อุ๋ย นนทรีย์ และ ‘มนต์รักนักพากย์’ ในวันที่กลับมาทำสิ่งที่ฝันด้วยความรัก

คุยกับ อุ๋ย นนทรีย์ และ ‘มนต์รักนักพากย์’ ในวันที่กลับมาทำสิ่งที่ฝันด้วยความรัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักเขียน : a day

‘มนต์รักนักพากย์’ คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์กับ a day ว่าเป็นงานที่มาถูกที่ ถูกเวลา ที่สุด 

เหตุผลเพราะว่า นี่คือภาพยนตร์ในฝันที่เขารอคอยให้มันเป็นความจริงมานานแสนนาน และถ้านับจากภาพยนตร์เรื่องล่าสุดเมื่อปี 2557 อย่าง Timeline จดหมาย ความทรงจำ ด้วยแล้ว ต้องถือเป็นการกลับมากำกับภาพยนตร์ในรอบ 6 ปี และเป็นภาพยนตร์ที่ฉายกับสตรีมมิงค่ายดังอย่าง Netflix อีกด้วย 

เขานิยาม ‘มนต์รักนักพากย์’ ว่าเป็นจดหมายรักถึงภาพยนตร์ไทย 

ถ้าพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไปกว่านั้น เขากำลังหมายถึงหนังไทยในช่วงปี 2513 ซึ่งเป็นยุคที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู ไม่เพียงแต่หนังไทยในโรงหนังเท่านั้น แต่หนังกลางแปลง หนังเร่ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของหนังขายยา หรือหนังล้อมผ้า ก็พาเหรดกันมาเป็นความบันเทิงหลักของคนไทยในสมัยนั้น 

ไม่ใช่แค่เรื่องราวบนจอเท่านั้นที่บันเทิง แต่ส่วนสำคัญที่ช่วยเติมรสชาติในการรับชมที่จะขาดเสียไม่ได้เลยก็คือ บรรดาทีมงานนักพากย์สด ที่แต่ละคนก็ล้วนมีลีลาแพรวพราวกินกันไม่ลง แม้จะแทรกด้วยการพักโฆษณาขายยากันเป็นพักๆ แต่เมื่อไหร่ที่พากย์จนเรื่องพลิ้ว ก็ต้องนับเป็น Magic Moment ที่ทำให้คนดูพร้อมใจกันนั่งดูแบบตาไม่กะพริบ ตัวไม่ขยับ โดยเฉพาะถ้าหนังเรื่องนั้นมี มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจคนดูในยุคนั้นแล้วละก็ แทบจะการันตีได้เลยว่าเรียกคนดูได้เนืองแน่นเต็มลานหนังกลางแปลง 

แต่ก็เป็นปี 2513 นั่นเอง ที่ มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต ในวันที่ 8 ตุลาคม จากอุบัติเหตุพลัดหล่นจากบันไดเฮลิคอปเตอร์ ระหว่างขึ้นบินถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘อินทรีย์ทอง’ ที่เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในชีวิตที่เขาฝากไว้ในวงการภาพยนตร์ไทย

นักพากย์-มิตร ชัยบัญชา-จดหมายรักถึงหนังไทย ทั้งหมดนี้ คนดูสามารถดูได้อย่างเต็มอิ่มใน ‘มนต์รักนักพากย์’ ที่จะฉายพร้อมกันครั้งแรกในวันที่ 11 ตุลาคม ทาง Netflix 


แต่สำหรับบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ นี่คือเรื่องราวของผู้กำกับภาพยนตร์ที่เชื่อว่า ‘เราควรค้นหาสิ่งที่เรารัก ก่อนที่เราจะเริ่มต้นฝัน’ 

นี่คือคนที่ทุ่มชีวิตจิตใจให้หนังไทย ชนิดที่ว่าหายใจเข้าออกเป็นหนังไทย ขี่จักรยานไปไหนก็คอยแต่จะคิดว่า ซีนนี้น่าเอาไปใส่ในหนังสักเรื่อง  

คนที่เขียนบทหนังเก็บไว้ตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเขาจะได้ทำหนังเรื่องนั้น “เราต้องทำตัวให้พร้อม เพราะไม่รู้ว่าโอกาสของเราจะมาถึงเมื่อไหร่” และ 

“ผมเชื่อเรื่อง Timing แต่ที่เชื่อที่สุดคือการลงมือทำในสิ่งที่เรารัก” 

คนที่มักจะยอมเอาค่าตัวของตัวเองเทลงไปในหนัง เพียงเพราะอยากจะเห็นหนังเรื่องนั้นออกมาในแบบที่เขาต้องการ 

ไม่รักกันจริง เราก็ว่ายากที่ใครสักคนจะทุ่มเททำอะไรแบบนี้… 

หนังที่อุทิศ ให้มิตร ชัยบัญชา
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าผมทำ ‘มนต์รักนักพากย์’ อุทิศให้ คุณมิตร ชัยบัญชา และตั้งใจฉายหนังเรื่องนี้ใกล้ๆ กับวันครบรอบวันเสียชีวิตของคุณมิตร คือผมโตมากับหนังของคุณมิตร เพราะตอนที่เขาเสียตอนปี 2513 ผมอายุประมาณ 10 ปีเอง

การตายของคุณมิตรในตอนนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับประเทศไทย ทุกคนต้องพูดถึงเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ลงข่าวอยู่เป็นเดือนๆ ถ้าใครเคยดูคลิปวีดีโอเก่าๆ เกี่ยวกับงานศพคุณมิตร จะรู้ว่าตอนนั้นคนไม่เชื่อว่าเขาเสียชีวิตจริงๆ เพราะเป็นยุคที่การรับรู้ข่าวสารจำกัดมาก ไม่มีโซเชียลมีเดียที่ออกข่าวไวอย่างสมัยนี้ แฟนๆ แห่กันไปวัดแค นางเลิ้ง ที่เขานำศพคุณมิตรไปไว้ที่นั่น แล้วความที่คนไม่เชื่อว่าเขาตาย เจ้าหน้าที่เลยต้องยกร่างเขาขึ้นมาให้คนเห็นน่ะ จำได้ว่าตอนที่เราไปคุยกับคุณต้น ลูกชายคุณมิตร (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)​ เขาบอกเลยว่าสิ่งที่เขารู้สึกแย่ที่สุดก็คือตอนที่เขาเห็นร่างพ่อเขาถูกยกขึ้นมาให้คนดู ตอนนั้นเขากับแม่ร้องไห้กันหนักมาก เพราะมันเป็นภาพที่ไม่เคยมีที่ไหนในโลกเขาทำกันน่ะ แต่ก็เข้าใจว่าตอนนั้นแฟนๆ ก็ยอมรับความจริงไม่ได้และอยากเห็นคุณมิตรอีกสักครั้ง” 

นั่นน่าจะเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพลังความรักที่แฟนๆ มีให้กับนักแสดงในดวงใจอย่าง มิตร ชัยบัญชา ที่จะว่าไปแล้ว แม้เวลาจะผ่านมายาวนานถึง 53 ปีแล้ว แต่ความรักนั้นก็ยังฝังแน่นไม่เสื่อมคลาย  


“ภาพของคุณมิตรและเรื่องราวของเขาตลอดเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ มันเป็นภาพบวกตลอดเวลา เพราะเขาเป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้ให้กับคนอื่นตลอดเวลา ปีใหม่ก็ทำ สคส. แจก ตอบจดหมายด้วยตัวเองทุกวัน คือความที่เขาเป็นคนแบบนั้น คนก็เลยรักเขามากๆ อีกอย่าง พระเอกบ้านเรามีน้อย ยุคนั้นใครๆ ก็ต้องดูหนังคุณมิตร หนังเรื่องไหนไม่มีคุณมิตร ก็เจ๊งน่ะ ว่าง่ายๆ เขาเป็นขวัญใจคนดูจริงๆ เขายอมเล่นหนังวันละ 3-4 เรื่อง ไม่ได้หลับไม่ได้นอน ก็ถือเป็นความเสียสละให้กับวงการ แล้วเขาเป็นคนแรกที่ได้รางวัลดาราทองจาก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่เคยมีใครได้อีกเลย มีรางวัลเดียวและเป็นคนเดียวที่ได้ 

ผมว่าเขาเกิดมาเป็นไอคอนของวงการ และแม้กระทั่งวันนี้ก็ยังมีชมรมคนรักคุณมิตรอยู่ในเพจเต็มไปหมด ความนิยมในตัวเขายังไม่ได้หายไปไหน เราเลยรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ๆ ที่อายุ 40 ลงไปก็แทบจะไม่รู้จักคุณมิตรแล้ว เลยคิดว่าอยากทำหนังเรื่องนี้ อยากเห็นเขากลับมามีชีวิตอีกครั้ง อยากให้เขาเป็นตัวละครในหนังของเรา”

นักพากย์สด คือคนที่สร้างชีวิตชีวาให้ตัวละคร
“พอเราคิดจะทำหนังที่เกี่ยวกับคุณมิตร สิ่งที่จะตามมาในประวัติศาสตร์หนังไทยช่วงนั้นก็คือการพากย์หนังแบบสดๆ  เพราะยุคนั้นมันเป็นยุคของการมีหนังเร่ หนังขายยา เราก็เลยไปค้นคว้าหาข้อมูล ไปพูดคุยกับนักพากย์เก่าๆ ที่รู้จักเรื่องราวในตอนนั้น ซึ่งก็แก่กันมากแล้ว คุยไปคุยมา เราก็อินกับเรื่องนี้หนักขึ้นเรื่อยๆ พอเราอยากนำชีวิตคุณมิตรย้อนกลับมาในหนัง ก็เลยคิดว่าน่าจะเอาหนังไทยในยุคนั้นทั้งระบบ ย้อนกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับพูดถึงความล่มสลายของมันไปด้วยในคราวเดียวกัน 

ผมว่าเสน่ห์ที่มันไม่มีอีกแล้วของหนังยุคนั้นคือการพากย์สดนี่แหละ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีในทุกประเทศ นอกจากไทยก็มีอินเดียนี่แหละที่เป็นหลัก เมื่อก่อนเขาพากย์กันสดๆ กลางแปลงเลย แต่พอหนังขายยาล่มสลายไป ก็มาพากย์กันสดๆ ในโรงหนัง นักพากย์เด่นๆ ในยุคนั้นก็เช่น คุณรุจิรา มารศรี อะไรพวกนี้ แล้วนักพากย์นี่ถือว่าเป็นจุดขายพอๆ กับนักแสดงเลย บางทีหนังต่างประเทศ คนดูไม่รู้จักนักแสดงหรอก แต่เขารู้จักนักพากย์ ถ้าชื่อนักพากย์สดคนนี้มา ถือว่าเรียกคนดูได้เลย 

ซึ่งสกิลที่ผมทึ่งที่สุดก็คืออะไรรู้ไหม คือการพากย์ห้าเสียง (หัวเราะ)​ คือ ผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ เด็ก ผู้ร้าย พระเอก เขาพากย์ได้หมด ผมว่าสกิลนี้มันไม่ธรรมดา แล้วคนพวกนี้ไม่มีบทพากย์ด้วยนะ เพราะพากย์กันมาหลายรอบจนท่องได้หมด ยิ่งวันไหนนักพากย์อารมณ์ดี หนังก็จะตลกขึ้นกว่าเดิม สนุกขึ้นกว่าเดิม มีแซวคนดูคนนั้นคนนี้ สกิลนี้ผมว่ามันมาจากการชอบเล่าเรื่อง ชอบประดิษฐ์คำ ชอบคิดมุกสดๆ เล่นกับคนดู ความสนุกของมันอยู่ตรงนี้แหละ ตรงที่มันสด คนพากย์เขาเล่าให้ฟังว่า บางทีเขาเจอวันที่ญาติเสีย เขาก็ต้องทำให้มันสนุกทั้งที่ข้างในเขาขื่นมากเลยก็มี 

จริงๆ ผมว่าหนังคือ Magic Moment โดยเฉพาะเวลาที่คนได้ดูหนังเร่ หนังกลางแปลง เพราะตอนนั้นมันไม่ค่อยมีสื่ออย่างอื่น ทีวีก็แทบจะยังไปไม่ถึง ดังนั้นหนังกลางแปลงเลยเป็นสิ่งที่คนดูโหยหา แล้วหนังจะไปถึงชาวบ้านได้ก็เพราะหนังขายยาพวกนี้นี่แหละ เพราะจะไปฉายที่ไหนก็ได้ แล้วดูฟรีด้วย จริงๆ รถเร่ขายยานี่เป้าประสงค์ของเขาคือการโฆษณาประชาสัมพันธ์เลยนะ เทียบกับสมัยนี้ก็คือโซเชียลมีเดีย แล้วตอนนั้นมันเป็นสื่อที่ไปถึงตัวคนได้เลย อำเภอเล็กๆ ที่ไหนเขาก็ไป” 


‘มนต์รักนักพากย์’ มนต์รักของการทำภาพยนตร์
อุ๋ย นนทรีย์ เล่าให้เราฟังว่า เขาเขียนบทเรื่อง ‘มนต์รักนักพากย์’ เก็บไว้นานแล้ว ถือเป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เขาเขียนบทเพื่อรอเวลาที่เหมาะสมในการเปลี่ยนภาพฝันให้กลายเป็นจริง 

จะว่าไปก็คงไม่ต่างอะไรจากการต้องมนต์สะกดของการทำภาพยนตร์ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน มนต์รักนี้ก็ไม่เคยเสื่อมคลาย 

“หนังเรื่องนี้ห่างจากเรื่องที่แล้ว (Timeline จดหมาย ความทรงจำ)​ ของผมนานพอสมควร แต่ระหว่างนั้นผมก็เขียนบทเก็บๆ ไว้อยู่แล้ว เขียนไว้หลายเรื่อง คิดอะไรออกก็เขียนบทสะสมไว้ โดยยังไม่ได้คิดว่าจะทำหนังกับใคร เมื่อไหร่  

แต่ที่ผ่านมาคิดว่าวงการภาพยนตร์ยังไม่พร้อมสำหรับเรา ไม่ใช่เราไม่พร้อมนะ เพราะตัวเราก็พร้อมตลอดเวลานั่นแหละ เพียงแต่ในวงการเขามีงบทำหนังกันสิบกว่าล้าน ถ่ายสิบวันเสร็จ ซึ่งเราทำไม่เป็น เราทำไม่ได้ ถ้าต้องทำแบบนั้นก็อย่าเพิ่งทำดีกว่า เพราะหนังเกือบทุกเรื่องที่เขียนบทไว้ มันต้องลงทุนเยอะ แล้วเราก็รู้สึกว่าบางเรื่องสตูดิโอในเมืองไทยยังไม่น่าทำได้ เพราะเขาก็อาจจะมองว่าหนังมันไม่น่าทำเงิน โดยเฉพาะหนังแบบ ‘มนต์รักนักพากย์’ 


แต่เขาไม่ได้คิดเหมือนเราว่า หนังมันมีเสน่ห์ของมัน อย่างเรื่องนี้ มันทำให้คนระลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ของวงการหนังไทย ทำให้คนที่ไม่เคยเห็น ได้เห็น ส่วนคนที่เคยเห็นก็จะระลึกถึงได้  แล้วอย่างที่บอกว่า ผมเขียนบทเก็บไว้เยอะ ตอนนำเสนอเน็ตฟลิกซ์นี่เป็นบทหนังเรียบร้อยแล้ว เพราะเชื่อว่าหนังแต่ละเรื่องมันต้องมีเวลาของมัน เดี๋ยวถึงเวลาก็จะได้ทำเอง ผมเชื่อเรื่อง Timing มากๆ เพราะหนังแบบนี้ต้องลงทุนเยอะ ทั้งค่าตัวนักแสดง แล้วไหนจะเอาบรรยากาศของปี 2513 กลับมาอีก เราทำพร็อพหลายๆ อย่างในหนังขึ้นมาเองหมด รถขายยาเก่าๆ ในหนัง ก็ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งคัน ราคารถอย่างเดียวก็เป็นล้านแล้ว มันเลยเป็นเรื่องยากที่สตูดิโอในเมืองไทยจะทำได้ 

แต่ก็คิดในใจว่าไม่เป็นไร ถึงเวลาของมันก็คงได้ทำ เหมือนสิ่งที่ผมบอกในหนังเกี่ยวกับความรักกับความฝันนั่นแหละ บางคนอาจจะคิดว่า ชอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ อยากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เขาอาจจะไม่แน่ใจว่ารักมันจริงหรือเปล่า คนเราฝันได้ แต่เราอาจจะไม่รู้ว่าชอบและอยากทำมันจริงไหม ดังนั้นสิ่งที่แยกระหว่างความรักกับความฝันก็คือการลงมือทำ อย่างตัวผมเองผมรู้ว่ารักการทำหนัง เพราะฉะนั้นความฝันของผมคือการได้ทำหนังไปตลอด ผมก็จะสนุกกับการได้เขียนบทหนัง คิดพล็อตไปเรื่อยๆ ตอนนี้มีบทหนังเต็มลิ้นชักเพราะผมฝันอยากเห็นมันเป็นหนังจริงๆ บางเรื่องรู้นะว่ามันยาก แต่ก็เขียนเก็บไว้ ไม่รู้หรอกว่าเมื่อไหร่จะได้ทำ แต่ประเด็นคือเราต้องทำตัวให้พร้อมตลอดเวลา เพราะถ้าจังหวะมาแล้วเราไม่พร้อม ก็ต้องมานั่งคิดบทเสนอกันใหม่อีก ดังนั้นการเขียนบทสะสมไว้ ก็แปลว่าเราได้ทำตามความฝันของเราทุกวัน 

ผมเชื่อว่าถ้าอยากพิสูจน์ว่าเรารักที่จะทำอะไรจริงๆ ก็ต้องทุ่มเทกับมัน เหมือนคนที่อยากเป็นนักเขียน แล้วชอบไปถามนักเขียนว่า ทำยังไงจะได้เป็นนักเขียน เขาก็จะตอบว่า อยากเขียนก็ต้องเขียน มันไม่มีทางอื่น คุณต้องเขียนออกมาเท่านั้น” 

ใช้ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสารตั้งต้น
เราถามเขาต่อไปว่า แล้ว Magic Moment ที่คิดว่าต้องเขียนบทเรื่องนี้แล้วคือตอนไหน?​ 

“มันไม่ได้อยู่ๆ โผล่มา แต่เพราะเราได้ไปคุยกับนักพากย์หนังสด ขับรถไปนั่งคุยกับเขาที่ต่างจังหวัดกันคนละ 3-4 วัน เพราะอยากรู้ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะเขียนไปทำอะไรด้วยซ้ำ คือจะบอกว่า หนังทุกเรื่องเกิดจากความอยากรู้ทั้งนั้น เช่น ตอนทำ นางนาก (2542)  เราก็อยากรู้ว่าถ้านางนากไม่ใช่แบบนี้ จะออกมาเป็นแบบไหน อยากรู้ว่าถ้าทำนางนากเป็นหนังรัก จะเป็นยังไง พอเราเริ่มต้นจากความอยากรู้ปั๊บ กระบวนการต่อมาของเราก็คือการหาข้อมูล เช่น เราอยากรู้เรื่องราวของวงการหนังไทยในยุคคุณมิตร เราก็ไปหาคนพากย์หนัง คุยไปคุยมา ก็รู้สึกว่า เฮ้ย ข้อมูลแม่งดีว่ะ มันเป็นหนังได้


หนังเรื่องนี้มันเลยมาจากประสบการณ์ที่เราไปสัมภาษณ์มาทั้งนั้น ชื่อตัวละครในหนัง คุณมานิตย์ คุณเรืองแข นี่ก็คือชื่อจริง มีตัวตนอยู่จริง เราเอาชื่อมาไว้ในหนังเพื่อขอบคุณที่เขาให้ข้อมูล

พอได้ข้อมูลมาทั้งหมด เราก็มานั่งดูว่าเราจะร้อยเรียงมันยังไง จะว่าผมบ้าก็ได้นะ แต่ผมว่าความบ้ามันจำเป็นในกระบวนการทำงาน ความบ้า ความอยากรู้ ความสงสัย มันเป็นเชื้อที่ดีมากๆ ในการทำงาน เพราะเราเป็นคนที่ถ้าสงสัยแล้วไม่รู้ไม่ได้ สงสัยแล้วต้องรู้ แค่ไปนั่งคุยกัน มันไม่มีอะไรเสียหายนี่ กลับมาไม่ได้อะไรเลยก็ไม่เป็นไร ถือว่าได้รู้ ได้คุย อย่างน้อยมันก็ตอบข้อสงสัยของเราไปได้ หลายอย่าง” 

ไม่ยึดติดกับแพลตฟอร์ม ทำตัวเป็นน้ำที่อยู่ได้ในทุกภาชนะ
ความเปลี่ยนแปลงในวงการภาพยนตร์ไทย น่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบรุนแรงและเห็นภาพชัดเจนไม่แพ้วงการอื่นเช่นกัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องรสนิยมของคนดู ไปจนถึงแพลตฟอร์มในการดูภาพยนตร์

“ผมเฝ้ามองวงการหนังไทยมาโดยตลอด ทั้งเป็นผู้เล่นเองและเป็นผู้ดูด้วย ในฐานะผู้เล่นเราก็ลงไปทำทุกอย่างเต็มที่ที่สุด ผมว่าผมไม่เคยได้ค่าตัวในการทำงานเลยสักครั้ง พูดแบบนั้นดีกว่า ไม่ใช่เขาไม่ให้นะ เขาให้ค่ากำกับ แต่มันจะกลับไปอยู่ในหนังเสมอแทบจะทุกเรื่อง เราอยากเห็นอะไรในหนัง เราก็ใช้เงินตัวเองเพิ่มเข้าไป เงินไม่พอ เราก็ไปเอาเงินเก็บมาใช้ เพราะเรารู้สึกรักหนังเหมือนลูกน่ะ เราต้องคิดว่าทำยังไงเราจะเลี้ยงลูกของเราให้ดีที่สุด ด้วยวิธีอะไร 


เราอยากเห็นสิ่งที่มันดีที่สุด ถ้ามันต้องใช้เงินใส่ลงไป ก็ได้สิ ไม่เป็นไร เงินมันหาใหม่ได้ แต่ประเด็นคือ ถ้าหนังมันไม่ได้อย่างที่คิด คุณกล้าให้มันฉายในโรงหนังเหรอ เพราะบางคนทำเสร็จแล้วไม่กล้าบอกว่านี่หนังกูด้วยซ้ำ แต่เราต้องทำเต็มที่แบบที่กล้าเอาหนังไปฉายในโรงได้ทุกเรื่อง เพราะเรารักมันจริงๆ ดังนั้นเวลาหนังโดนเซนเซอร์แต่ละที มันเลยเหมือนใครมาตัดแขนตัดขาลูกเราเลย นี่พูดในฐานะคนทำนะ 

แต่ในฐานะคนดู เราก็รู้สึกว่าวงการหนังไทย มันก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด เพราะคนที่เป็นผู้สร้างหนังไทยมันน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แล้วยังมาถูกตัดสินด้วยคนแค่ห้าคนหกคนในประเทศ ที่จะบอกว่าเราจะได้ดูหนังเรื่องอะไร และไม่ได้ดูเรื่องอะไร หนังมีน้อยแล้ว คนทำหนังยังไม่รวมตัวกันอีก คือเราไม่รักกันน่ะ พูดง่ายๆ ทำให้อุตสาหกรรมนี้ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ พอเรื่องไหนสำเร็จ ก็ทำตามๆ กันไป มันไม่มีความหลากหลาย” 

คุณคิดว่าสตรีมมิงมาถูกเวลาไหม?
“โป๊ะเชะเลยครับ ถูกที่ถูกทางมาก อาจจะมีคนบอกว่าผมไม่ทำหนังโรงแล้ว ผมไม่รักหนังไทยแล้ว มันไม่เกี่ยวนะ นี่ก็หนังไทยร้อยเปอร์เซ็นต์เลยนะครับ โคตรจะไทยเลย แต่การมีสตรีมมิงเข้ามา ผมกลับมองว่านี่คือโอกาสที่หนังไทยในอีกรสชาติหนึ่งมันจะไปได้ทั่วโลก ผมไม่เคยยึดติดกับแพลตฟอร์ม ใครจะบอกว่าผมทำหนังมือถืออะไรก็พูดไปเถอะ ผมไม่ได้มองแบบนั้น ผมมองว่าทำยังไงถึงจะส่งเสริมให้หนังไทยมันไปไกลที่สุดได้ 

อีกอย่างสตรีมมิงมันทำให้เราไม่มีความกดดันในการทำหนัง เพราะเราไม่ต้องลุ้นตัวเลขในโรงหนัง ไม่ต้องลุ้นว่าจะเจ๊งไม่เจ๊ง ผมมองว่ามันเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตเลยก็ว่าได้ ผมไม่ถือว่ามันเป็นการ Disrupt นะ เพราะเราจะทำหนังฉายในโรงไปได้ยังไง ถ้ามีเงินทุนให้เราแค่สิบห้าล้าน ยี่สิบล้าน มันทำไม่ได้ สิ่งที่เราเขียนไว้ทั้งหมดมันทำไม่ได้ ดังนั้นเราก็จะไม่ไปเรียกร้อง ไม่ไปต่อว่าอะไรใคร เพราะเราเล่นใหญ่เอง เราก็ต้องรอเวลาที่เหมาะสมและเป็นไปได้ จะดันทุรังไปยังไง ถ้ายอมทำในงบที่ไม่เหมาะสม หนังมันจะออกมาเป็นยังไง ดังนั้น เราต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่เรารักสิ่งที่เราฝันไว้ก่อน แล้วเราก็ต้องรอเวลา ซึ่งเรารอได้ เพราะเดี๋ยวมันก็จะถึงเวลาของมันเอง

การกลับมาทำหนังอีกครั้ง มันทำให้ผมมีชีวิตชีวา เหมือนได้สานต่อในสิ่งที่ฝันไว้ แล้วเราก็ได้ทำงานบนงบประมาณที่สมน้ำสมเนื้อ ทำบนกติกาที่เป็นสากล มีเวลาหยุดพัก มีเวลาทำงานที่สมบูรณ์แบบ สำคัญที่สุดคือไร้ความกดดันใดๆ ไม่ต้องลุ้นรายได้ ไม่ต้องห่วงว่าคนจะดูหรือไม่ดู จะดูเต็มโรงไหม เราแค่อยากเห็นหนังเป็นในแบบที่เราฝัน เมื่อเราได้ทำ มันก็สมบูรณ์แบบในตัวมันอยู่แล้ว มันจะไปทำหน้าที่ต่อยังไงก็เป็นเรื่องของหนังเรื่องนั้น  

ถ้าถามว่า หนังแบบสตรีมมิงมาเปลี่ยนชีวิต หรือต่อชีวิต ผมว่ามาต่อชีวิตแต่เปลี่ยนวิธีมากกว่า แล้วก็เปลี่ยนความรู้สึกด้วย อย่างผมทำหนังมาจะสามสิบปีแล้ว แต่นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่รู้สึกว่าสมบูรณ์แบบที่สุดในการทำงาน อยากได้อะไรก็ได้แบบมีเหตุมีผล สมน้ำสมเนื้อนะ มีเวลาทำงานที่แน่นอน มีเวลาพักผ่อน มีเวลาพุดคุยกับนักแสดง มีการทำการบ้านตลอดเวลา 

และที่บอกว่ามาต่อชีวิต เพราะอย่างที่บอก การหายไปของดีวีดี การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย มันมีผลทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ล้มหายตายจาก พอรายได้จากการขายดีวีดีลดลง งบในการทำหนังมันก็ลดลง หลายๆ คนก็อาจจะรู้ตัวว่าทำหนังในงบแค่นั้นไม่ได้หรอก ก็เหมือนเขายึดติดในแพลตฟอร์มด้วย ว่าจะทำในแบบเดิม 


เอาจริงๆ ผมว่าถ้าเราจะอยู่ในโลกใบนี้อย่างไม่ต้องกระเสือกกระสนอะไรมาก เราก็ต้องทำตัวเป็นน้ำ ที่จะไปอยู่ในภาชนะอะไรก็ได้ รูปทรงไหนก็ได้ ปรับเปลี่ยนไปตามภาชนะนั้น ขณะเดียวกัน บางทีเราก็อาจปรับลดความต้องการของเราลงบ้าง เอาเวลาไปดูแลตัวเองให้ดี ออกกำลังกาย เพื่อให้ตัวเองมีแรงไปทำงานที่เรารัก ขณะเดียวกัน นอกจากเป็นน้ำที่อยู่ในทุกภาชนะแล้ว เราก็ต้องเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา อย่างที่บอกว่า ผมนี่ตื่นขึ้นมาก็คิดเรื่องหนังจนกระทั่งหลับไป เรื่องหนังมันวนอยู่ในตัวเราตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำไปแล้ว หรือเรื่องที่กำลังเขียนอยู่ ทั้งวันมันอยู่แต่กับหนังน่ะ จนเรารู้สึกว่านี่คือความสุขของเรา 

ทุกเช้าผมจะขี่จักรยานออกกำลัง เห็นอะไรรอบตัวก็รู้สึกว่า เออ 

ช็อตนี้น่าเอาไปอยู่ในหนัง คิดแบบนี้ตลอด ผมว่าการได้ทำในสิ่งที่เรารักทุกวัน มันก็โอเคมากๆ แล้ว” 

หมายเหตุ ติดตามชม ‘มนต์รักนักพากย์’ พร้อมกันวันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. บน Netflix กว่า 190 ประเทศทั่วโลก 


สัมภาษณ์: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook