ครูอ๊อด ครูข้างถนน ชีวิตนี้อุทิศเพื่อเด็กเร่ร่อน
เด็กเร่ร่อน เป็นปัญหาที่แก้ยังไงก็ดูเหมือนจะไม่สำเร็จสักที แม้ว่าหลายภาคส่วนจะพยายามร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหานี้แล้วก็ตาม ด้วยความที่ปัญหาเกิดจากหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม คือ สถาบันครอบครัว การแก้ปัญหาจึงต้องใช้เวลาและอาศัยความรักความเข้าใจอย่างสูงสุด
ครูอ๊อด สุรชัย สุขเขียวอ่อน อีกหนึ่งบุคคลที่ทุ่มเทกายใจ เพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนมายาวนานกว่า 30 ปี จากครูจิตอาสา เมื่อครั้งอดีต ปัจจุบันครูอ๊อดรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ด้วยจุดมุ่งหมายอยากช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น ครูอ๊อดจึงทำงานหนักเพื่อเด็กเร่ร่อนตลอดมาและสัญญาว่าจะทำแบบนี้ไปตลอดไป
จุดเริ่มต้นของมูลนิธิบ้านนกขมิ้น
ครูอ๊อด เล่าว่า มิชชันนารี เออร์วิน กรอบลี่ (Mr.Erwin Groebli ) เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านนกขมิ้น โดย มิชชันนารี เออร์วิน เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วพบกับเด็กเร่รอน ด้วยความเมตตา เห็นว่าเด็กๆ ไม่มีบ้าน ไม่มีอาหารการกินที่ดี เนื้อตัวสกปรกมอมแมม มิชชันนารี เออร์วิน จึงให้ไปอาบน้ำ และกินข้าวที่อพาร์ทเม้นท์ แต่เมื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนมากขึ้น เจ้าของอพาร์ทเม้นท์ก็ไม่ค่อยสบายใจนัก มิชชันนารี เออร์วิน จึงสร้างบ้านนกขมิ้นขึ้นและจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อปี พ.ศ. 2536
เมื่อจุดหมายเหมือนกัน โลกจึงหมุนให้เจอกัน
ตอนนั้น มิชชันนารี เออร์วิน ไม่รู้ว่าจะหาเด็กเร่รอน ได้ที่ไหน คือรู้ว่ามีเด็กเร่ร่อนอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะประสานงานหรือช่วยเหลือได้อย่างไร ครูอ๊อดที่ขณะนั้นเป็นครูข้างถนน และดูแลเด็กเร่ร่อนกว่า 20 คน ครูอ๊อดเข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับจิตอาสาบ่อยครั้ง วันหนึ่งจึงมีโอกาสได้รู้จักกับ มิชชันนารี เออร์วิน การพบกันครั้งนั้นถือเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกันก็ว่าได้ เพราะมิชชันนารี เออร์วิน มีที่พักแต่มีเด็กไม่มากนัก ส่วนครูอ๊อดมีเด็กเร่ร่อนที่รอการช่วยเหลือมากมาย
ครูอ๊อด บอกต่อว่า เด็กเร่ร่อนแต่ละคนมีปัญหาแตกต่างกัน บางคนดูแลแค่ช่วงกลางวัน เพราะพ่อแม่มีที่หลับนอนให้ แต่เด็กอีกหลายคนพ่อแม่ไม่สนใจเลย คือจะเอาไปไหนก็ไป เหมือนเป็นส่วนเกินที่ไม่มีใครต้องการ เมื่อปัญหาของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ครูอ๊อดจึงจำเป็นต้องทำความรู้จักกับเด็กๆ ทุกคน เพราะเมื่อทราบปัญหา จะได้หาทางช่วยเหลือ ตามความต้องการของแต่ละคนได้ เช่น ถ้าหนีออกจากบ้านก็อาจจะหาทางช่วยเหลือให้เขาได้กลับบ้าน หรือถ้าเด็กโตหน่อย ก็หางานให้ทำ เช่น งานแจกใบปลิว พนักงานเสิร์ฟ พนักงานล้างรถ เป็นต้น
เพราะครอบครัวเคยมีปัญหาจึงเข้าใจความรู้สึก
ตนเองเติบโตมากับครอบครัวที่มีปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน ครูอ๊อดจึงเข้าใจหัวอกเด็กเร่ร่อน ได้เป็นอย่างดี ช่วงหนึ่งเคยทุกข์มาก จนหนีออกจากบ้านมาอยู่ที่ตลาดคลองเตย ไปอยู่ศาลเจ้า 3 เดือน ขอข้าวที่ศาลเจ้า และร้านอาหารประทั้งชีวิต
เมื่อออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อน ครูอ๊อดบอกว่า เห็นสภาพเด็กติดยา และชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง จึงกลับมาครุ่นคิด ถ้าปล่อยชีวิตเป็นแบบนี้ คงไม่มีอะไรดีขึ้นแน่ๆ ครูอ๊อด จึงขอไปอาศัยอยู่กับย่า เพราะตอนนั้นพ่อมีครอบครัวใหม่แล้ว ครูอ๊อดจึงไม่ได้กลับไปอยู่บ้านพ่อตามเดิม
จากชีวิตเด็กเร่ร่อน ครูอ๊อด เริ่มต้นเรียนหนังสือโดยเก็บขยะขาย ส่งเสียตัวเองเรื่อยมา จนในที่สุดครูอ๊อดได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเคยผ่านช่วงเวลาที่อยากลำบาก พอเห็นชีวิตเด็กเร่ร่อน จึงอยากช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ เริ่มจากจัดงานในมหาวิทยาลัยเพื่อหาทุนให้เด็กๆ ขายน้ำเอากำไรไปบริจาค เอาเงินมาสร้างซุ้มเพื่อสร้างกลุ่มช่วยเหลือสังคม ในมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเป็นครูจิตอาสาเต็มตัวในเวลาต่อมา
เด็กเร่ร่อนคือพื้นฐานของหลายปัญหา
ครูอ๊อดอธิบายว่า เด็กเร่ร่อนเหล่านี้ถ้าไม่ช่วยเหลือ อนาคตเขามีโอกาสเป็นอาชญากรแล้วกลับมาทำร้ายสังคมของเรา แต่หากช่วยเหลือปัญหาสังคมก็จะลดลง บ้านเมืองเราก็จะน่าอยู่ขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนถือเป็นการช่วยครอบครัวของเรานั่นเอง
เมื่อก่อนมูลนิธิจะรับแต่เด็กเร่รอน จนเมื่อได้คุยกับคนคนหนึ่งเขาบอกว่าครูอ๊อดว่า ต้องรอให้เป็นเด็กเร่ร่อนก่อนหรือ ถึงจะช่วยเด็กเหล่านั้นได้ เมื่อครูอ๊อด นำคำพูดนี้มานั่งคิดและทบทวน ในที่สุดจึงตัดสินใจช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาต่างๆ ไม่เพียงแต่เด็กเร่ร่อน แต่เด็กกำพร้า หรือพ่อแม่ติดคุก มูลนิธิบ้านนกขมิ้นช่วยเหลือทั้งหมด
การดูแลเด็กๆ ในบ้านนกขมิ้นในปัจจุบันเป็นอย่างไร
การดูแลเด็กในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ครูอ๊อดบอกว่า ที่นี่ดูแลในรูปแบบของครอบครัว โดยจำลองครอบครัวใหม่ให้กับเด็ก มีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ ที่เป็นคู่สามี-ภรรยากันจริงๆ ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ให้กับเด็ก ซึ่งในแต่ละครอบครัว จะมีสมาชิกที่เป็นลูกประมาณ 10 คน เพื่อการดูแล เด็กๆ ได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญเด็กๆ ทุกคนในบ้านนกขมิ้นจะได้รับโอกาสทางการศึกษาซึ่งถือเป็นการติดอาวุธทางปัญหาให้กับเด็กๆ
สำหรับมูลนิธิบ้านนกขมิ้นปัจจุบันมีเด็กอยู่ในอุปการะประมาณ 40 คนในกรุงเทพฯ และกว่าอีก 200 คน ใน 6 สาขาในต่างจังหวัด มีเด็กอายุตั้งแต่ 2 ถึง 20 ปี นอกจากนี้มูลนิธิบ้านนกขมิ้นยังเปิดศูนย์เด็กเล็กสำหรับเด็กอายุ 2 ถึง 6 ปีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในชุมชนที่ตั้งของมูลนิธิและใกล้เคียง ในการช่วยดูแลเด็ก โดยมีเด็กเล็กที่รับดูแลอยู่ประมาณ 30 คน ในขณะนี้
ความยากของการทำงานเพื่อสังคม
สำหรับความยากของการช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นช่วยเหลือทางด้านไหนก็ตาม ครูอ๊อดมองว่า การจะทำยังไงให้คนในสังคมยอมรับและร่วมสนับสนุนเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะการทำสิ่งใหม่บางอย่างสังคมอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร อย่างเช่นครูอ๊อดเอง ที่ต้องตอบคำถามจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ไปทำไม? เพราะ ดูแล้วไม่มีประโยชน์
บางคนพูดตรงๆ กับครูอ๊อดว่า เรียนก็จบสูง มาทำงานแบบนี้ทำไม ดูแล้วไม่ได้เรื่องได้ราว แต่ทุกคำถามที่กล่าวมา ปัจจุบัน ครูอ๊อด สามารถตอบถามเหล่านั้นได้แล้ว ถึงแม้จะใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปี เพราะด้วยความสำเร็จของเด็กๆ ที่หลายคน มีอนาคตที่ดี จากเด็กไร้อนาคตในวันนั้นเขาสามารถเปลี่ยนไปได้ ที่สำคัญเด็กๆ ยังกลับมาช่วยเหลือน้องๆ ที่ยังรอคอยโอกาสต่อไป
สำหรับคนที่อยากทำงานจิตอาสา
ครูอ๊อดให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเริ่มทำงานจิตอาสาว่า อย่างแรกขอให้ตั้งใจทำอย่างจริงจัง พยายามไม่ต้องขอบริจาค ในช่วงแรกเนื่องจากหลายคนอาจจะตั้งคำถาม เพราะเรายังไม่มีผลงานที่เป็นสิ่งยื่นยันว่าเรารักที่จะทำสิ่งนั้นจริงๆ แต่ถ้าเราตั้งใจจริง ครูอ๊อดมั่นใจว่ามีคนร่วมช่วยเหลือมากมาย เพียงแค่เราต้องสร้างความมั่นใจและศรัทราให้เขาเสียก่อน เมื่อวันนั้นมาถึงฝันที่อยากช่วยสังคมก็จะเป็นจริง
เมื่อตั้งใจลงมือทำอะไรสักอย่างขอแค่ตั้งใจจริง เชื่อว่าสักวันต้องประสบความสำเร็จแน่นอน เหมือนการปลูกต้นไม้ที่ต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน เพื่อสักวันต้นไม้จะเติบใหญ่และงอกงาม
สุดท้ายหากมีโอกาสลองช่วยเหลือสังคมเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะความสุขของการให้นั้น อิ่มเอม เหลือเกิน
อัลบั้มภาพ 19 ภาพ