“ครูพายุ” ผู้สอนเด็กพิการให้ว่ายน้ำ

“ครูพายุ” ผู้สอนเด็กพิการให้ว่ายน้ำ

“ครูพายุ” ผู้สอนเด็กพิการให้ว่ายน้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ว่ายน้ำ” ไม่ใช่แค่การออกกำลังกายหรือกีฬา แต่มันคือวิธีเอาตัวรอด

สำหรับคนทั่วไปที่ว่ายน้ำไม่เป็น อาจตะโกนขอความช่วยเหลือได้ตามสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าคนที่พูดไม่ได้ต้องตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน มันคือโศกนาฏกรรมที่หนึ่งชีวิตต้องสังเวย

นั่นคือสิ่งที่ “ณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม” หรือ “ครูพายุ” ครุ่นคิดมาตลอด มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการสอนว่ายน้ำสำหรับคนหูหนวก

เพราะพวกเขาพูดไม่ได้ ส่งเสียงตะโกนไม่ได้ “ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการจมน้ำตายมากที่สุดในโลก คนอื่นจะคิดยังไงไม่รู้นะ แต่ผมเป็นห่วงคนกลุ่มนี้”

เช่นเดียวกันกับคนตาบอด พวกเขาจะหวาดกลัวขนาดไหนหากจมลงไปในน้ำ เมื่อมองไม่เห็น พวกเขาจะเอาตัวรอดได้อย่างไร?

ต้องยอมรับว่ามันคือมุมมองที่คนส่วนใหญ่คิดไม่ถึง หรืออาจจะพอนึกถึงอยู่บ้าง แต่คิดว่ามันไม่ใช่ภาระหน้าที่ของคนตัวเล็กๆ อย่างเรา จึงไม่แปลกที่ครูพายุมักจะถูกคนรอบข้างถามอยู่เสมอว่าทำไมต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดหากต้องเผชิญกับการจมน้ำ

เขาตอบง่ายๆ ว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 1,500 คน อาจจะฟังดูไม่เยอะ แต่ถ้าเอามาคิดให้ดี จะพบว่ามันเท่ากับวันละ 4 คน

“เหมือนเวลาที่เห็นคนถูกรถชนข้างทาง เราก็มีทางเลือกที่จะช่วยหรือไม่ช่วย ถ้าเราไปช่วย เขาอาจจะมีโอกาสรอดชีวิต พอเป็นเรื่องเด็กจมน้ำ ผมรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของผม เพราะว่ายน้ำเป็นเรื่องเดียวที่ผมทำได้ดีที่สุด” ครูพายุเล่า
ย้อนกลับไปเกือบ 10 ปีที่แล้ว เขายังเป็นแค่ครูสอนว่ายน้ำให้กับเด็กทั่วๆ ไปเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน เพราะอยากช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว

“ผมทำอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากว่ายน้ำ ผมได้เรียนต่อก็เพราะเป็นนักกีฬา ตั้งแต่ตอนขึ้น ม.4 เกรดเฉลี่ยหนึ่งกว่าๆ เข้ามหาลัยได้ก็เพราะโควตานักกีฬา ผมเรียนไม่เก่งเลย การว่ายน้ำมันให้อะไรกับชีวิตผมเยอะมาก”

มันเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะในวัยเด็ก เขาต้องทุกข์ทรมานจากโรคลมชักที่จะกำเริบขึ้นมาแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ บ่อยครั้งที่หมดสติ ล้มหัวฟาดพื้นไปแบบไม่รู้ตัว นอกจากนี้ เขายังเป็นโรค “สมาธิสั้น” ซึ่งเป็นอาการของ “เด็กพิเศษ” แบบหนึ่ง

ครูพายุเป็นคนคนไฮเปอร์ อยู่ไม่นิ่ง สนใจอะไรได้ไม่นาน พูดเร็ว ลิ้นรัว มีพลังงานล้นกว่าปกติ แต่ที่อยู่ร่วมกับคนอื่นได้เพราะพ่อพาไปว่ายน้ำตามคำแนะนำของหมอตั้งแต่ยังเป็นเด็ก สิ่งที่ได้กลับมาคือมีพัฒนาการทางกายที่ดีขึ้น และตัวเขาเองก็ได้ค้นพบกีฬาที่ชอบ
เขาสนุกกับการว่ายน้ำจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติในระดับเยาวชน
และที่สำคัญไปกว่านั้น มันทำให้เขาคิดว่า “ถ้าการว่ายน้ำมันช่วยให้ผมดีขึ้นได้ มันก็น่าจะช่วยเด็กพิเศษคนอื่นได้เหมือนกัน”

ในต่างประเทศ การว่ายน้ำถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบำบัดเด็กพิเศษมานานกว่า 50 ปีแล้ว มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความเชื่อของครูพายุ ประโยชน์ของการว่ายน้ำไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย แต่ยังเป็นการฝึกสมาธิและช่วยให้มีปฏิสัมสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดีขึ้น
“ผมไม่ได้สอนให้พวกเขาว่ายได้เร็ว แต่ผมสอนให้พวกเขารู้วิธีเอาตัวรอดจากการจมน้ำ มันจะทำให้พวกเขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น” ครูพายุเล่า

สอนว่ายน้ำด้วยภาษามือ

ในตอนแรก มันยังเป็นแค่ความคิด เขาไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นได้อย่างไร เพราะการสอนคนหูหนวกต้องใช้ภาษามือ และตัวเขาเองเคยพยายามขอเข้าไปเรียนในโรงเรียนสอนคนหูหนวกแล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ เพราะเขาไม่ใช่คนหูหนวก

เขาจึงพยายามเรียนรู้ภาษามือด้วยตัวเอง แต่มันก็ไม่ง่าย เพราะหนังสือที่นำมาใช้ฝึกช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เนื่องจากมันเป็นภาพวาดที่มีแค่ลูกศรชี้ นอกจากคำพื้นๆ อย่าง “สวัสดี” “ขอบคุณ” แล้ว ก็แทบจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เขาต้องมองหาครูสอนภาษามือ

“วันนั้นผมไปเดินถนนคนเดิน เจอสามีภรรยาคู่หนึ่งนั่งขายของกันอยู่ เห็นเขาคุยกันด้วยภาษามือ เลยรู้ว่าเขาเป็นใบ้ ผมไปขอเรียนกับเขา แลกกับการที่ผมจะช่วยเขาขายของให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะผมพูดภาษาอังกฤษได้ ก็เรียนกับพี่เขามา 6 เดือน จนมั่นใจว่าภาษามือเราใช้ได้แล้ว ก็เลยยื่นเอกสารขอทำโครงการสอนว่ายน้ำที่โรงเรียนสอนคนหูหนวก”

โครงการแรกของครูพายุเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะถึงแม้ว่าผู้อำนวยการโรงเรียนจะเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่เขาอยากทำ แต่ปัญหาคือไม่มีเงินซื้อชุดสำหรับว่ายน้ำให้เด็กๆ ยังไม่รวมค่าลงสระ และค่าขนม ที่เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น

“เพราะมันเป็นโครงการแรก ผมทำเองคนเดียว ไม่ได้ทำในนามองค์กรอะไร เวลาไปขอทุนจากที่อื่นก็จะถูกปฏิเสธ เห็นภาพซองถูกตีกลับจนชิน เพราะมันคงดูไม่น่าเชื่อถือ แต่ผมเชื่อเสมอว่ามีคนที่พร้อมจะช่วยเรา”

สิ่งที่เขาทำในเวลานั้นคือ ขอรับบริจาคเงินจากผู้ปกครองของเด็กๆ ที่เขาสอนว่ายน้ำ จนสามารถรวบรวมเงินมาได้ 30,000 บาท และในที่สุด โครงการสอนว่ายน้ำสำหรับเด็กหูหนวกก็เกิดขึ้น

“ผมทำโครงการนี้อยู่ 1 ปีเต็ม มีเด็กร้อยกว่าคนที่ผ่านโครงการนี้ไป พวกเขาเอาตัวรอดได้แน่นอนถ้าจมน้ำ ถึงจะส่งเสียงขอความช่วยเหลือไม่ได้ก็ตาม” ครูพายุพูดอย่างภาคภูมิใจ

บทเรียนจากโครงการแรก เขาเรียนรู้ว่า “เงิน” ช่วยให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ ถึงมันจะซื้อไม่ได้ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างที่ต้องการล้วนใช้เงิน ตัวเขาเองจึงเริ่มทำธุรกิจเล็กๆ เพื่อจะได้มีเงินมาดำเนินโครงการสอนว่ายน้ำครั้งต่อไป

“ที่เชียงใหม่จะมีคูเมือง ผมเคยฟังเรื่องตลกร้ายจากเพื่อนคนหนึ่ง คือมีเด็กตาบอดเลือนลางจูงมือเพื่อนที่ตาบอดสนิทเดินข้ามคูเมือง แต่ปรากฏว่าตกลงไปทั้งคู่ ผมไม่รู้ว่ามันเรื่องแต่งหรือเรื่องจริง แต่ฟังแล้วมันเศร้าจัง”

ครูพายุเล่าว่าคนตาบอดจะกลัวน้ำเป็นพิเศษ เพราะพวกเขามองไม่เห็น มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มทำโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อคนตาบอด โดยในครั้งนี้เขาใช้เงินจากธุรกิจของตัวเองเป็นหลัก

เมื่อก่อนเขาหารายได้เพื่อตัวเอง ในวันนี้เขาหารายได้เพื่อคนอื่น ธุรกิจของเขาคือ การสร้างครูสอนว่ายน้ำเพื่อส่งไปสอนตามสระว่ายน้ำต่างๆ ในเชียงใหม่

สระว่ายน้ำเดินได้

จากโครงการสอนคนว่ายน้ำการกุศลเล็กๆ 2 โครงการที่เขาทำในจังหวัดบ้านเกิด เริ่มขยายออกไปสู่ที่อื่นๆ เช่น ขอนแก่น ภูเก็ต แต่มันก็ยังไปไม่ถึงจุดที่เขาต้องการ ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ยิ่งกันดารมากเท่าไรก็ยิ่งไม่มีสระว่ายน้ำให้เรียน ทั้งที่มันเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสูงสุดของครูพายุ มันจึงเป็นอีกหนึ่งที่มาของโครงการสำคัญ

“ไปได้แต่ที่ที่ค่อนข้างเจริญ เพราะจะมีสระว่ายน้ำให้เรียน ผมเลยคิดว่าเราจะเอาสระว่ายน้ำไปหาเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลได้ยังไงบ้าง ก็มาลงตัวที่ “สระเดินได้” คือมันเป็นสระว่ายน้ำแบบถอดประกอบ เราก็เอาไปติดตั้งแล้วก็สอนได้เลย”

ปัญหาเพียงอย่างเดียวของสระว่ายน้ำเดินได้คือ “ราคา” แม้เจ้าของร้านจะยินดีขายในราคาที่ต่ำกว่าปกติ มันก็ยังเป็นจำนวนเงินที่มากเหลือเกินสำหรับเขา

“ผมตามหาสระแบบนี้มานานมากแล้ว พอจะมีคนรู้จักผมบ้างในเชียงใหม่ ผมประกาศออกไปว่าอยากได้สระแบบนี้ เจ้าของร้านก็ส่งรูปสระเดินได้มาให้ผมดู มันใช่เลย แบบนี้แหละ โดยที่เขาจะไปรับของจากโรงงานที่จีนมาให้ แล้วขอคิดราคาหน้าโรงงานเลย คือ 200,000 บาท มันไม่แพงหรอกครับ ถ้าเทียบกับวัสดุ อายุการใช้งาน ประโยชน์ที่จะได้รับ แต่ผมไม่มีเงินมากขนาดนั้น เลยบอกพี่เขาไปว่าขอเวลาหาเงินก่อน”

ครูพายุใช้เวลาขอทุนจากอยู่ราวๆ 1 ปี แต่การดำเนินงานติดขัดหลายอย่าง จนต้องคืนเงินให้กับเจ้าของทุนไปจนหมด เงินจากธุรกิจส่วนตัวก็ยังไม่พอ เขาเกือบถอดใจกับเรื่องนี้ไปแล้ว ถ้าไม่เจอเหตุการณ์ที่เขาประทับใจที่สุดในชีวิตอีกเหตุการณ์หนึ่ง

3 เดือนก่อน ครูพายุได้รับการติดต่อจากชาวต่างชาติคนหนึ่งที่มาพักอาศัยอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขามีความตั้งใจที่จะเปิดสระว่ายน้ำในบ้านพักส่วนตัวให้เป็นที่เรียนว่ายน้ำสำหรับเด็กๆ ในละแวกนั้น

สระว่ายน้ำมีแล้ว คนอยากเรียนก็มีแล้ว ขาดแต่คนที่สอนเป็นเท่านั้น เขาจึงติดต่อมาเพื่อให้ไปฝึกเด็กๆ ที่อาสามาเป็นครูสอนว่ายน้ำ

“ผมเลยตอบว่าการสร้างครูสอนว่ายน้ำเป็นงานถนัดของผมอยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะให้ผมไปสอน ผมไม่คิดค่าตัว ขอแค่ค่าเดินทางก็พอแล้ว เพราะผมถือว่าเขาเป็นชาวต่างชาติที่จะมาทำประโยชน์ให้คนไทย ผมไม่มีทางคิดเงินเขาแน่นอน”

หลักสูตรสร้างครูสอนว่ายน้ำภายใน 5 วันของครูพายุผ่านไปด้วยดี ก่อนจะลากลับ เขามีโอกาสได้พูดคุยกับชาวต่างชาติคนนั้น สารพัดเรื่องราวที่นำมาเล่าสู่กันฟัง จนกระทั่งถูกถามว่า “ครูพายุมีความฝันอะไร”

เขาจึงตัดสินใจเล่าเรื่องสระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารให้ฟังไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แล้วทั้งคู่ก็พูดเรื่องอื่นต่อไป โดยที่เขาไม่คิดด้วยซ้ำว่าเรื่องนี้มันจะอยู่ในความจดจำของอีกฝ่าย

เมื่อกลับมาถึงเชียงใหม่ ครูพายุได้รับอีเมลจากชาวต่างชาติคนนั้น ใจความในจดหมายอิเลกทรอนิกส์ระบุว่า ความฝันของเขาจะไม่เป็นแค่ความฝันอีกต่อไป เพราะเขาจะช่วยออกค่าสระว่ายน้ำ แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินมาให้ เมื่อไปเช็คในบัญชีธนาคาร จึงพบว่ามีเงินเข้ามา 200,000 บาท

“คนรวยมีเยอะมากครับในโลกนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนรวยรึเปล่า เงินสองแสนจะมากหรือน้อยสำหรับเขาผมก็ไม่รู้ แต่ผมเชื่อว่าเขามีน้ำใจ เพราะสำหรับคนไม่รู้จักการแบ่งปัน ต่อให้มีเงินพันล้าน จะแบ่งให้คนอื่น 500 ก็ยังยาก แต่สำหรับคนมีน้ำใจ ถึงเขาจะมีแค่ล้านเดียวแล้วแบ่งมาให้ผมสองแสน มันก็ถือว่าไม่มากสำหรับเขา”

ตลอดเส้นทางนี้ของครูพายุ เขาได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ คน มันยิ่งทำให้เขาเชื่อว่าพลังแห่งความดีจะพาคนที่ดีให้มาเจอกัน กรณีของชาวต่างชาติคนนี้คือข้อพิสูจน์ “ผมคงต้องใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งกับการขอบคุณคนอื่น เพราะผมทำไม่ได้จริงๆ ถ้าไม่มีคนเหล่านั้น”

ยิ่งมารู้ทีหลังว่าชาวต่างชาติคนนั้นคือ “แชลล์ เบอร์กสควิส์ท” อดีตนักแสดงชื่อดังจากสวีเดน มันยิ่งทำให้เขารู้สึกประทับใจมากยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นชาวต่างชาติ แต่ยังเลือกที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับคนไทยโดยไม่หวังอะไรตอบแทน

จนถึงตอนนี้ โครงการหาทุนเพื่อสอนว่ายน้ำสำหรับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลยังคงดำเนินต่อไป เมื่อไม่ต้องจ่ายค่าสระว่ายน้ำ ภาระในการหาเงินทุนจึงเบาลง และเร็วๆ นี้ เด็กๆ บนด่อยอ่างขางจะได้เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ หลังจากที่มีเด็กหลายๆ คนต้องเสียชีวิตเพราะจมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่นั่น

ครูพายุได้รวบรวมเอาอดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติมาเป็นครูสอนว่ายน้ำให้กับเด็กๆ ในโครงการนี้ด้วย ได้แก่ วิชา รัตนโชติ ชลธร วรธำรง และ วรวุฒิ อำไพวรรณ ทุกคนมีจุดยืนเดียวกันคือ การช่วยเหลือทำให้มีความสุข มันเป็นความสุขที่เงินซื้อไม่ได้อย่างแท้จริง

ยังมีเด็กด้อยโอกาสในอีกหลายๆ พื้นที่ที่ครูพายุอยากเข้าไปช่วยเหลือ ทุกครั้งที่โครงการเริ่มต้น เขาได้แต่ภาวนาว่ามันคงไม่ใช่โครงการสุดท้าย

การว่ายน้ำเป็นมากกว่ากีฬา มันคือการเอาตัวรอด และในตอนนี้ มันคงเป็นมากกว่าการเอาตัวรอด เพราะมันสร้างสิ่งดีๆ ให้งอกงามขึ้นในใจของใครหลายคน แม้จะเป็นเรื่องราวในมุมเล็กๆ ของสังคมนี้ก็ตาม

ขอขอบคุรภาพประกอบจาก : ครูพายุ สอนว่ายน้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook