รวิศ หาญอุตสาหะ HOW THAINESS BECOMES COOL

รวิศ หาญอุตสาหะ HOW THAINESS BECOMES COOL

รวิศ หาญอุตสาหะ HOW THAINESS BECOMES COOL
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง ณัฐพล ศรีเมือง
ภาพ อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์


จู่ๆ แบรนด์เครื่องสำอางที่เราเคยรู้สึกว่าโบร่ำโบรานเหลือเกิน กลับกลายเป็นที่โจษจันไปทั่วโซเชียลมีเดีย และเราพบเห็นวางขายทั่วไปในทุกโมเดิร์นเทรด

สินค้าอายุกว่า 60 ปีอย่าง “ผงหอมศรีจันทร์” กลายเป็น “ความคูล” แบบใหม่ โดยฝีมือของ รวิศ หาญอุตสาหะ ในฐานะที่เป็นทายาทรุ่นที่สามของศรีจันทร์สหโอสถ

เมื่อ 8 ปีก่อน เขาลาออกจากงานที่ซิตี้แบงก์ เพื่อกลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว และก็เพิ่งกดปุ่มสตาร์ทการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง จนเป็นอย่างที่เห็นกัน คือมันฮือฮาไปทั้งแวดวงการตลาด

การรีแบรนด์ 'ผงหอมศรีจันทร์' จะประสบผลสำเร็จทางธุรกิจดีขนาดไหนคงต้องวัดกันยาวๆ – รวิศกล่าวอย่างถ่อมตัวไว้ก่อน กับ GM ที่วันนี้เราขอนัดหมายเขา เพื่อสืบเสาะหาต้นธารของแนวคิดการตลาดเจ๋งๆ ของเขา ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
รวิศบอกเพิ่มเติม ว่าที่เราเห็นๆ กันนี่เพิ่งเป็นแค่สเตจแรกเท่านั้น และที่แน่ๆ โดยตัวมันเองก็ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และสร้างการรับรู้ไปอย่างกว้างขวางแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือเมื่อตัวผู้บริหารอย่างรวิศเอง ยังสวมหมวกอีกใบในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ ออกหนังสือเชิงธุรกิจการตลาดมาแล้วขายดี แถมด้วยการเป็นนักพูดงานชุก ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เรื่องราวของรวิศและการทำธุรกิจของเขาย่อมถูกพูดถึงซ้ำอยู่เสมอ

สิ่งเหล่านี้เกิดจากการใช้มันสมองของรวิศ เขาศึกษา ค้นคว้า ลองผิดลองถูก จนค้นพบหนทางที่จะนำความคิดของตัวเองมาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
และนั่นคือสิ่งที่นำพาเราให้ไปพูดคุยกับเขา

OLD SCHOOL IS THE NEW COOL
GM: ทำไมเราต้องรีแบรนด์สินค้าเก่าแก่ขนาดนี้ด้วย?

รวิศ: ตอนกลับเข้ามาทำงานที่นี่ เข้ามาด้วยความรู้สึกว่า ผงหอมศรีจันทร์ ของเรา แทบไม่มีใครรู้จัก บริษัทก็โบราณมาก ผมเพียงแค่คิดว่านี่เป็นธุรกิจของคุณปู่ ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณพ่อผมก็มีธุรกิจอื่นไปแล้ว ซึ่งใหญ่กว่าธุรกิจของศรีจันทร์เยอะ แต่ผมคิดว่าธุรกิจนี้คุณปู่สร้างขึ้นมา ถึงจะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ว่าก็เลี้ยงดูคนรุ่นก่อนมาหลายชีวิต จึงไม่อยากให้มันหายไป อยากเห็นการเจริญเติบโตขึ้นไปในอนาคต จริงๆ คิดแค่นั้นเอง ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่านี้ เราเลยอยากเข้ามาสานต่อ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนั้นจะมาทำอะไร และจะทำอะไรได้บ้าง รู้แต่ว่าต้องมีคนมาทำจริงๆ จังๆ

การรีแบรนดิ้งผงหอมศรีจันทร์ครั้งใหญ่ เริ่มต้นมาจากการลงไปคุยกับลูกค้ามา การทำมาร์เก็ตรีเสิร์ชถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำงานมาร์เก็ตติ้ง เราพบว่าลูกค้ายังชอบสินค้าเราอยู่ เขาชอบในแง่เพอร์ฟอร์แมนซ์ของมัน คือความสามารถในการทำงานของมัน แต่ลูกค้ากลับไม่ชอบหน้าตา ไม่ชอบแพคเกจจิ้ง และไม่ชอบความรู้สึกที่แบรนด์เราไปกระทบกับความเป็นตัวตนของเขา นั่นหมายถึงว่า ผงหอมศรีจันทร์กับตัวเขากำลังจะไม่ไปด้วยกันอีกต่อไปแล้ว

เราก็ต้องกลับมานั่งตีโจทย์กัน และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องรีแบรนด์ใหม่ครั้งใหญ่ การรีแบรนด์ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแพคเกจ ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนชื่อ ถึงแม้ว่าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดก็ตาม แต่จริงๆ แล้วจุดสำคัญของการรีแบรนด์ คือการทำอย่างไร ให้ผู้บริโภคมองเห็นเราต่างไปจากเดิม นี่สิที่ยากมาก และไม่ได้ทำกันได้เสร็จภายใน 1-2เดือน แต่เป็นโครงการระยะยาว

คำว่ามองต่างไปจากเดิม ยกตัวอย่างเช่น ซัมซุง แบรนด์เกาหลี ในอดีตที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก นั่นคือเมื่อ 10-20 ที่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว ซัมซุงก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ราคาเทียบเท่ากับแบรนด์ระดับโลก นี่คือเรื่องของความรู้สึก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าเลย

เราตัดคำว่า ‘ผงหอม’ ทิ้งไป แล้วเหลือคำว่า ‘ศรีจันทร์’ เฉยๆ เพื่อที่จะกลายมาเป็น umbrella brand สำหรับสินค้าที่จะออกตามมาอีกในอนาคต หลังจากนี้ เราจะมีสินค้าออกมาใหม่ทุกไตรมาส เพื่อที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ศรีจันทร์ โดยจุดใหญ่ใจความของมัน อยู่ที่ว่าผู้บริโภคหยิบของเราขึ้นมา แล้วรู้สึกเท่ 'ทำแบรนด์ไทยให้เท่' นี่เป็นคีย์ของการทำงานทั้งหมด

SELF-KNOWLEDGES IS A LIFE LONG PROCESS
GM: คุณเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แล้่วไปต่อด้านการเงินการธนาคาร คุณเอาความคิดเชิงการตลาดมาจากไหน?

รวิศ: ไม่มีมาก่อนเลย (หัวเราะ) จริงๆ ครับ ตอนเข้ามาทำใหม่ๆ ก็รู้ตัวอยู่แล้ว ว่างานนี้ต้องใช้การตลาดเยอะแน่ๆ นอกจากการลองผิดลองถูก แบบงูๆ ปลาๆ ในช่วงแรกแล้ว ผมก็ใช้วิธีการอ่านหนังสือ ผมไม่เคยเรียนมาร์เก็ตติ้งเลย และเป็นเด็กที่เรียนสายวิทย์ ชอบตัวเลข ตอนเรียนปริญญาโทก็เรียนเลขเรียนไฟแนนซ์ ตอนทำงานก็ทำงานแบงค์ แล้วเป็นเทรดเดอร์ซึ่งทำงานแต่กับตัวเลขล้วนๆ วันๆ อ่านแต่กราฟ อ่านแต่ชาร์ต จึงมองว่างานมาร์เก็ตติ้งเป็นอะไรที่จับต้องยาก ถ้าพูดภาษาเนิร์ดๆ หน่อย ก็คือผมถูกฝึกใช้สมองด้านซ้ายมาตลอด คือการใช้ตรรกะและเหตุผล ส่วนสมองฝั่งขวาซึ่งเป็นฝั่งความคิดสร้างสรรค์ ผมไม่ค่อยถูกฝึกใช้ เพราะ

ผมอ่านหนังสืออย่างบ้าคลั่ง ใช้คำนี้ได้เลย ผมอ่านหมดทุกอย่างที่เกี่ยวกับมาร์เก็ตติ้ง หนังสือมาร์เก็ตติ้งเล่มไหน ใครว่าดี ผมไปซื้อมาอ่านหมด ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ อ่านทุกอย่าง จนค่อยๆ เข้าใจว่า อ๋อ คำว่ามาร์เก็ตติ้งคืออะไร แบรนดิ้งคืออะไร ค่อยๆ ทำความเข้าใจด้วยตัวเองระดับหนึ่ง ประกอบกับการทำงาน ก็มีโอกาสได้คุยกับเอเยนซีบ้าง มีเดียแพลนเนอร์บ้าง เขาก็ให้ความรู้ผมมา ค่อยๆ สะสมความรู้ขึ้นมาเรื่อยๆ

ตอนแรกนำความรู้มาใช้แบบมั่วมาก เพราะเข้าใจว่ามาร์เก็ตติ้งคือโฆษณา ซึ่งนี่เป็นความคิดที่ผิดมหันต์ ผมเริ่มต้นด้วยการทำหนังโฆษณาเล็กๆ ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แล้วนำไปออกทีวี ทีวีก็เลือกช่องเล็กๆ ปรากฏว่ายอดขายเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย แต่พอหยุดโฆษณาปุ๊ป ยอดก็ดร็อปไปเท่าเดิมเลย ผมก็แปลกใจ เฮ้ย ทำไมเป็นอย่างนี้ หลังจากนั้นจึงรู้ว่า อ๋อ การโฆษณาเป็นเพียงปลายสุดของกระบวนการทั้งหมดของมาร์เก็ตติ้ง ของการทำแบรนด์ จริงๆ มันมีอย่างอื่นอีกเยอะมากเลย จึงต้องก็ค่อยๆ ถอยมาดูตัวเองอีกครั้ง ถามตัวเองว่ามาร์เก็ตรีเสิร์ชทำหรือยัง บลูปรินท์ทำหรือยัง วางกลยุทธ์หรือยัง คอมมิวนิเคชั่นแพลนล่ะ

สำหรับผม คำถามที่สำคัญที่สุด คือเรื่องมาร์เก็ตรีเสิร์ช เป็นการไปคุยกับลูกค้า ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราก็พยายามทำให้เยอะขึ้น ทั้งแบบเท่ๆ หน่อยคือไปจ้างเขาทำ หรือแบบบ้านๆ คือเราทำกันเอง เช่น ผมชอบไปนั่งอยู่ในร้านขายของชำหรือร้านขายยา ไปขอเจ้าของร้านเขานั่งเฝ้าร้านให้ ไม่ได้ไปนั่งเฉยๆ ผมนั่งดูคน ว่าคนที่เดินเข้ามามีพฤติกรรมในการซื้อของยังไง คนกรุงเทพฯ นักศึกษาซื้อของยังไง สาวออฟฟิศซื้อของยังไง แม่บ้านซื้อของยังไง ต่างจังหวัดล่ะ ไม่เหมือนกันเลย พฤติกรรมแตกต่างกันอย่างมาก พวกนี้เราเอามาวิเคราะห์ได้ ว่าเราควรจะออกสินค้ายังไงสำหรับเขา

THE LEFT AND RIGHT HALVES OF THE BRAIN
GM: สมองซีกซ้ายและซีกขวาของคุณ ในตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

รวิศ: โอ เปลี่ยนไปเยอะมาก มันเป็นไปตามกระบวนการการทำงาน การได้เจอกับคนเก่งๆ ที่เราทำงานด้วย หรือการได้เขียนหนังสือ 2 เล่มที่เพิ่งออกวางตลาดไป และผมกำลังจะออกอีก 2 เล่ม มันช่วยให้ได้ไปขยับสมองส่วนขวาให้ทำงานมากขึ้น เพราะว่ากว่าจะเขียนหนังสือออกมาได้แต่ละเล่ม ต้องใช้ creativity สูงมากในการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ออกมา

การได้มีโอกาสได้ทำงานกับคนเก่งๆ ในยุคนี้หลายคน เช่น คุณต่อ ธนญชัย ศรศรีวิชัย ก็ทำให้ได้เรียนรู้มุมที่น่าสนใจมากในการดำเนินชีวิต ในการคิด วิธีคิดของพี่ต่อ ไม่เหมือนวิธีคิดของชาวบ้านเขา มันถึงทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม หรือคนอย่าง เอ๋ นิ้วกลม เราก็เคยทำงานด้วยกัน ก็มีวิธีคิดที่แปลก เท่ ก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จ หลายๆ คนที่ผมเคยร่วมงานด้วย ค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นตัวตนของผม ให้เริ่มเห็นด้านความเป็นครีเอทีฟ จนทุกวันนี้เวลาไปบรรยาย ผมบรรยายเรื่อง creative business เป็นหลัก จากที่เคยใช้แต่สมองซีกซ้ายทุกวัน ตอนนี้ก็ใช้ผสมผสานกัน

ความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ มันทำให้เรามองเห็นอะไรที่ ... จะพูดว่าคนอื่นมองไม่เห็นก็ไม่เชิง แต่ว่าคนอื่นอาจจะมองเห็นได้ยากกว่า ผมขอยกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจด้วยความคิดสร้างสรรค์ คือการใช้ชื่อศรีจันทร์ ก่อนหน้าที่จะรีแบรนด์รอบนี้ มีเอเยนซีมากมายเลย บอกว่าพี่เปลี่ยนชื่อเถอะ ชื่อมันโบราณ แต่ผมก็ไม่เปลี่ยน ผมบอกว่าจะทำแบรนด์นี้ให้เท่ให้ได้ จนถึงวันนี้ มันเริ่มพิสูจน์แล้ว ว่าการที่ชื่อโบราณๆ ชื่อเป็นภาษาไทย ฟอนต์ภาษาไทย กลับดูน่าสนใจเมื่อเราไปอยู่ในร้านค้าต่างๆ กลายเป็นความเท่ แตกต่างอย่างโดดเด่นออกมา ถ้าเราทำเป็นแบรนด์เกาหลี ญี่ปุ่น หรือฝรั่ง ก็คงเหมือนชาวบ้านเขาหมด

ขอยกตัวอย่างการทำโฆษณา มีแต่คนบอกว่าคุณไปใช้พี่ต่อ ธนญชัย ทำหนังได้ไง แพง มีแต่บริษัทใหญ่ๆ เขาใช้กันทั้งนั้น ผมก็บอกว่า คุณคิดอย่างนี้นะ คุณซื้อมีเดียทีหนึ่ง 30 ล้าน คุณไปจ้างเอเยนซีธรรมดาทำหนัง สมมุติล้านกว่าบาท จ้างพี่ต่ออาจจะสัก 4 ล้าน ต่างกัน 2 ล้าน แต่คุณเสียค่ามีเดียเท่ากัน 30 ล้าน ตรงนี้ต่างกัน 2 ล้าน เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินที่ใช้ทั้งก้อน มันแค่นิดเดียวเอง แต่คุณภาพของงานต่างกันเยอะ เพราะฉะนั้นทำไมถึงไม่ลงทุนใช้คนฝีมือดีที่สุด ในเมื่อเราก็รู้อยู่แล้วว่างานมันออกมาต่างกันจริงๆ

นี่คือกระบวนการทางความคิดด้วยเหตุผลและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผมคิดว่าเราทุกคนสามารถขัดเกลาได้ เมื่อมีโอกาสได้คุย ได้เสวนา กับผู้คนที่มาจากหลากหลายวงการ เราควรจะค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ จูน ตัวเองไป วิธีคิดของเราคงเปลี่ยนในวันเดียวไม่ได้

IT'S TIME TO DISRUPT!!
GM: ในฐานะเจ้าของธุรกิจ เป็นไปได้ไหมที่เราจะปล่อยให้ธุรกิจดำเนินตัวเองไป ตามสภาพตลาด สภาพสังคม และตามทีมงานในบริษัท

รวิศ: เป็นไปไม่ได้เลย!! เพราะเมื่อถึงวันหนึ่ง จะมีเด็กที่ไหนไม่รู้ มาจากไหนไม่รู้ มา Disrupt โมเดลธุรกิจของเรา จนเราหัวทิ่มแล้วก็เจ๊งไปเลย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรายอมสละเวลาส่วนหนึ่ง มาคิดเรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา ทดลองอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ก็จะไม่มีใครมา Disrupt เราได้ เพราะอะไร? ก็เพราะเรา Disrupt ตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้วไง

อย่างผมเอง ในการทำงานแบบวันต่อวัน ผมจะเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมากแล้วในตอนนี้ หน้าที่หลักของผมคือ คิดว่าในอนาคตเราจะไปทางไหน จะทำอะไร จะขายอะไร จะเข้าไปสู่ธุรกิจอื่นอีกไหม มันอาจจะไม่ใช่แค่นี้แล้ว คือถ้าเกิดเราทำอยู่อย่างนี้ วนไปวนมา วันต่อวัน เดือนต่อเดือน ก็ไม่มีทางจะเติบโตขึ้น นับวันมีแต่จะเล็กลง เพราะการแข่งขันสูงขึ้น เราไม่สามารถจะต้านทานการแข่งขันที่เข้ามาได้ เราต้องออกไปรบ ก่อนที่ศึกจะมาชิดกำแพง

ตัวอย่างของการ Disrupt ตัวเราเอง ก็เช่น เรากำลังจะออกสินค้าใหม่ ชื่อ 'ศศิ' ถือเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ของเมืองไทย เกิดจากความคิดแว้บหนึ่ง ตอนที่ผมไปเดินกับภรรยาที่ห้างสรรพสินค้า แล้วผมก็ตั้งคำถามว่า ทำไมผู้หญิงต้องซื้อเครื่องสำอางที่เขาผลิตมาให้สำเร็จรูปแล้ว ทุกคนใช้ครีมเหมือนกันหมด ผู้หญิงคนนี้เป็นแอร์โฮสเตส นอนไม่เป็นเวลา กินน้ำน้อย เล่นกีฬาน้อย ผู้หญิงคนนี้เล่นกีฬาทุกวัน นอนเยอะ ผิวแห้ง ผู้หญิงคนนี้ผิวมัน มีปัญหาเรื่องตีนกา กินเหล้า สูบบุหรี่ ชอบปาร์ตี้ ทำไมผู้หญิงสามคนนี้ ถึงจะต้องใช้ครีมที่ถูกผลิตมาจากโรงงานเดียวกัน สูตรเหมือนกัน ผมตั้งโจทย์แค่นี้แล้วโยนไปให้ทีมงานลองเบรนสตรอมกันซิ ว่าเราจะทำธุรกิจอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง

เราก็เลยไป Disrupt หมดเลย โดยอาศัยเรื่องโนฮาวในการทำครีม ที่เรามีเยอะกว่าคนอื่นอยู่แล้ว อีกทั้งตามปกติ เราเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบมาขายให้ผู้ผลิตเครื่องสำอางรายอื่นอยู่แล้ว อย่ากระนั้นเลย เราผลิตครีมเฉพาะสำหรับแต่ละคนเลยได้มั้ย เปรียบเหมือนกับเชฟทำอาหารให้เราแต่ละคน คนละหนึ่งจาน ทำสดเดี๋ยวนั้น ก็เลยเป็นที่มาของเครื่องสำอางที่เป็น Personalized คือ ผู้หญิงเข้ามาตรวจผิวกับเรา แล้วบอกมาเลยว่าคุณมีกิจวัตรอย่างไร มีปัญหาอย่างไร กินเหล้าสูบบุหรี่มั้ย ออกกำลังกายหรือเปล่า กินผักหรือเปล่า ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำมาทำเป็นสูตรเพื่อคุณโดยเฉพาะ ทำเสร็จแล้วค่อยส่งตามไปให้คุณที่บ้าน แต่ธุรกิจนี้จะเวิร์กหรือไม่เวิร์กยังไม่รู้นะครับ แค่ยกเป็นตัวอย่างของวิธีคิดแบบของเรา

FROM CREATIVITY TO IMPLEMENTATION
GM: เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าความคิดสร้างสรรค์มากมายในหัวของเรานั้น ถูกต้องและนำไปใช้ได้จริง

รวิศ: ผมคิดว่ามีอยู่ 3 ประการ เริ่มต้นประการที่หนึ่ง คือต้องอ่านหนังสือเยอะไว้ก่อนเลย อันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าไม่มีวิธีการหาความรู้ไหนที่เวิร์คเท่ากับการอ่านหนังสืออีกแล้ว เพราะกว่าคนหนึ่งจะเขียนหนังสือขึ้นมาให้เราอ่านได้ เขาแทบรากเลือด เขาใช้เวลาเขียนอย่างน้อย 6 เดือน หาข้อมูล เราอ่าน 3 ชั่วโมงจบ เสียเงิน 2-3 ร้อยบาท ยังไม่ค่อยยอมจะอ่านกันเลย มันเป็นความรู้ที่ราคาถูกที่สุด และเป็นการอ่านทะลุสมองของคนคนหนึ่งในระยะเวลาอันสั้นที่สุด ที่นี่เรามีโครงการให้ทุกคนซื้อหนังสือแล้วมาเบิกบริษัทได้ฟรี หรือจะมาอ่านหนังสือที่เราวางไว้เต็มออฟฟิศไปหมดก็ได้ เพราะว่าการอ่านนั้นไม่ใช่เพียงแค่เติมความรู้เข้าไปอย่างเดียว แต่ยังไปช่วยให้ความรู้เก่าที่ฝังอยู่ลึกๆ ในสมองของคุณกลับขึ้นมาใหม่ แล้วการเอาของสองอย่างนี้มารวมกัน แล้วเกิดอย่างที่สามขึ้นมา อันนี้แหละคือ creativity

ประการต่อมา เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้วยังไม่พอ ต้องเป็นคนช่างสังเกตด้วย เราเดินไปตามถนน เคยสังเกตมั้ยว่าต้นไม้ที่ กทม. ปลูก ทำไมเขาต้องตัดเป็นรูปนี้ เพราะอะไร ทำไมรถที่มารดน้ำต้นไม้ต้องวิ่งเวลานี้ เป็นต้น ตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถามกับตัวเอง บางทีมันไม่มีคำตอบ แต่อันนี้เป็นการฝึกนิสัย พอเราฝึกนิสัยอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เจออะไร เราจะตั้งคำถามทันทีเลย เมื่อรู้จักตั้งคำถาม ความรู้เก่าๆ ที่อยู่ในหัวเรามันจะมาจับกับคำถามใหม่ แล้วปิ๊ง creativity ก็เกิดขึ้นมาได้

ประการสุดท้าย คือต้องคุยกับคนให้เยอะๆ คนใหม่ๆ ด้วยนะ ไม่ใช่คนเดิมๆ คุยกับคนเดิมๆ ก็ได้แต่เรื่องเดิมๆ คำว่าคุยกับคนเยอะๆ ต้องมีความกล้านิดนึง ผมนี่เจอใครก็คุยกับเขาไปทั่ว ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีภูมิความรู้ ใครก็แล้วแต่ ลองไปคุยกับเขาดู แล้วเราจะพบว่า จริงๆ แล้วคนเหล่านี้มีสิ่งที่เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันเยอะมาก เช่น ลองไปคุยกับแม่ค้าขายข้าวมันไก่แล้วถามเขาว่า ทำไมการเลาะเนื้อไก่ทั้งตัวออกจากกระดูกแล้วยังให้เป็นไก่อยู่โดยที่ไม่เสียทรงเลยมันถึงยากนัก แต่เขาทำได้โดยง่ายมาก แล้วเขาก็ตอบเราได้ด้วย พวกนี้มันเก็บเป็นอินฟอร์เมชั่นไว้ในสมองได้ มันอาจจะดูเหมือนเรื่องไร้สาระในตอนนั้น แต่เชื่อผม บางทีผ่านไป 5 ปี เรื่องนี้อาจจะมาตัดสินความสำเร็จอะไรบางอย่างของเราก็ได้

ผมมีความเชื่อว่า ชีวิตคนเราเกิดมาครั้งเดียว คือจะเกิดอีกหรือเปล่านี่ยังไม่รู้ จะเกิดเป็นอะไรก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้สุดๆ คือสุดๆ ในทุกๆ ด้านที่เราทำได้ อย่างผมเล่นบทบาทเป็นนักธุรกิจ เราก็ต้องนำพาองค์กรของเราไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ เราก็มีความหวังว่าจะเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นในเร็วๆ นี้ พลังผลักดันมันอยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่ว่าคุณเกิดมาครั้งเดียว คุณอยากจะผ่านชีวิตนี้ไปให้คนจดจำ ทิ้งอะไรไว้ให้กับโลก หรือจะผ่านไปเหมือนตอนที่มา คือไม่มีใครจำอะไรได้เลย แล้วก็ผ่านไปแบบไม่มีใครจำอะไรได้เลย มันก็มีแค่สองช้อยส์ เพราะฉะนั้นในความเป็นผม ผมเลือกทางที่ยากที่สุด คือผมต้องการผ่านไปแล้วให้มีคนจดจำว่าเราทิ้งอะไรให้กับโลกนี้ไว้บ้าง มันเป็นแรงผลักดัน เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตื่นเช้ามาทุกวันแล้วบอกว่า วันนี้เราต้องทำให้ดีกว่าเมื่อวานนี้ พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ เราต้องสร้างอะไรไว้กับโลกนี้ให้ได้ เริ่มต้นที่บริษัทของเราก่อน

WHAT I THINK
สิ่งที่รวิศบอกเล่าในหนังสือทุกเล่มของเขา รวมทั้งในเนื้อหาสาระเวลาไปบรรยาย อาจสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า การทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นธุรกิจ หากจะไปให้ถึงความฝันนั้นเป็นไปได้ แต่จะยากมากและเหนื่อยมาก กรุณาอย่าเพิ่งท้อไปซะก่อน ขอให้มีความตั้งใจจริง ขอให้มีความมุมานะ มีวินัย มีความขยัน สักวันหนึ่งสิ่งที่อยากได้ต้องได้แน่
“คนไทยชอบทางลัด ผมพยายามจะบอกว่าไม่มีหรอกทางลัด มีแต่ทางนี้แหละ ที่ต้องเหนื่อย ต้องสู้ แต่ว่ามันมีวิธีการที่จะช่วยให้คุณไปได้ง่ายขึ้น คือศึกษาจากวิธีคิดหรือเทคนิคของคนอื่นที่ผ่านมาก่อน”

ที่สำคัญที่สุด อย่าได้มุ่งหน้าหาความสำเร็จจนละทิ้งความสุขในชีวิตอันแสนสั้นของเรา
“ชีวิตมนุษย์นั้นสั้น ระหว่างเส้นทางที่คุณเดินไปตามความฝันหรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้เก็บเกี่ยวความสุขไปตลอดทางด้วย อย่าไปแบบทรมาน เพราะฉะนั้นการเลือกงานที่ตัวเองรัก การจัดสรรเวลาให้ดีเป็นสิ่งสำคัญ ผมไม่เห็นด้วยกับการนั่งทำงานวันละ 14 ชั่วโมง แล้วละทิ้งลูกเต้าครอบครัว หรือพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูง ผมคิดว่ามันไม่ใช่วิถีของมนุษย์ที่ถูกต้อง”
รวิศเล่าว่ามันเป็นความฝันตั้งแต่เด็ก อยากเป็นนักเขียน รู้สึกว่าเท่ดี สมัยก่อนจินตนาการภาพนักเขียนเป็นเหมือนพี่เอ๊าะในการ์ตูนขายหัวเราะ ต้องใส่หมวก แล้วก็มี บ.ก. วิธิต เร่งต้นฉบับตลอด (หัวเราะ) แต่โตขึ้นมาก็เหมือนความฝันของหลายๆ คน ฝันอยากเป็นนักดนตรี แต่ก็กลายไปเป็นนักบัญชีแทน เป็นต้น

จนกระทั่งตุลาคม ปี 2013 จู่ๆ เขาก็คิดขึ้นมา ว่าจะต้องเริ่มเขียนอะไรสักอย่างแล้ว แล่้วก็ลงมือเขียน … แค่นั้นเอง

บทความชิ้นแรกถูกโพสต์ไปในเฟซบุ๊ค มีคนมากดไลค์อยู่ 3 คน รวิศเล่าไปพร้อมเสียงหัวเราะ

“เพื่อนผมก็มาบอกว่า มึงเขียนหนังสือไม่รู้เรื่องเลย มันวนไปวนมา ผมก็เลยบอกงั้นมึงช่วยแก้ให้กูหน่อยสิ เพื่อนผมคนนี้ก็เลยแก้ให้ แล้วหลังจากนั้น ผมก็เขียนลงเฟซบุ๊คอย่างบ้าคลั่ง มีคนไลค์ 5 คนบ้าง 10 คนบ้าง โดยมีไอ้เพื่อนคนนี้คอยแก้ให้ตลอด”
จนกระทั่งวันหนึ่งบรรณาธิการสำนักพิมพ์มาพบเห็น แล้วก็ชักชวนให้รวิศมาออกหนังสือ ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่มีพลาดที่จะคว้าโอกาสไว้อยู่แล้ว เลยเป็นที่มาของหนังสือเล่มแรก ซึ่งตอนนั้นพิมพ์รอบแรกไป 3 พันเล่มก็ดีใจแล้ว ปรากฏว่ามันดันขายดี จนพิมพ์ไปหลายรอบแล้วตอนนี้
เมื่อเล่มแรกวางแผงไป สำนักพิมพ์แห่งใหม่ก็สนใจ เลยติดต่อมาขอต้นฉบับจากเขาอีกเล่ม ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่ขายดีกว่ามากขึ้นไปอีก

“ทุกวันนี้ก็แทบเขียนหนังสือจะเป็นอาชีพหลักไปแล้ว (หัวเราะ) ต้องส่งต้นฉบับกันแทบทุกเดือน เผอิญโชคดีว่าผมเขียนหนังสือกึ่งๆ เรื่องธุรกิจหน่อยๆ เลยค่อนข้างจะอินไลน์กับสิ่งที่ทำ พูดง่ายๆ ว่าสิ่งที่ผมเขียน และอ่านเพื่อจะไปเขียน มันเป็นสิ่งที่ผมควรจะต้องอ่านอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่อ่านผมก็จะตกยุค ทีนี้พอได้เขียน มันมีข้อดีเหมือนกันคือสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเรา เวลาไปคุยกับซัพพลายเออร์คุยกับลูกค้า เขาก็จำเราได้ เคยเห็น ก็ช่วยให้เราคุยงานคุยอะไรได้ง่ายขึ้น”
หลังจากหนังสือประสบความสำเร็จ รวิศก็จับพลัดจับผลู ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในเรื่องการตลาดและความคิดสร้างสรรค์เป็นประจำ

“พูดไปพูดมาก็มีการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ เลยได้เชิญไปพูดตลอด อาทิตย์หนึ่งนี่มีอย่างน้อย 2-3 งาน ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นอีกบทบาทหนึ่ง เหนื่อยเหมือนกันนะครับ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็ยังตื่นเต้นอยู่เวลาขึ้นเวที แต่ก็น้อยลง มันก็ฝึกเรา ฝึกพรีเซนเตชั่นสกิล ฝึกบุคลิก”

ABOUT MY THINKER
เมื่อให้พูดถึงนักคิดที่ชอบ รวิศพูดถึง3 หนุ่มนี้


ธนญชัย ศรศรีวิชัย
“เขาเป็นคนที่ไม่ธรรมดาจริงๆ ไปทำงานด้วยกันวันสองวันก็เห็นแล้ว ผมชื่นชมในความมีพลัง มีวินัย และมีความเอาจริงเอาจังของพี่ต่อ ผมเคยไปนั่งทำงานกับแกในกองถ่าย โอ้โห ไม่เคยนั่งในกองถ่ายไหนที่รู้สึกถึงเอนเนอร์ยี่ที่มันวิ่งตลอดเวลาขนาดนั้น คือคนจริงๆ ในกองก็วิ่งตลอด มันมีพลังออกมาตลอดเวลา แล้วพี่ต่อเวลาถ่ายงาน รายละเอียดที่เล็กที่สุดซึ่งไม่มีใครเห็นเลย แม้แต่พวกเราเองซึ่งนั่งอยู่หลังมอร์นิเตอร์ เป็นภาพช้าๆ ก็ยังไม่เห็นเลย ลูกค้าที่ดูทีวีนี่ไม่มีทางเห็นแน่นอน แต่พี่ต่อเขาไม่ปล่อยให้ดีเทลพวกนี้หลุดไปเลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพของเขา จึงไม่แปลกใจเลยที่เขาได้รับรางวัลมากมายจากทั่วโลก”

ประภาส ชลศรานนท์

“ผมอ่านหนังสือคุณประภาสทุกเล่ม เล่มละหลายๆ รอบ คุณประภาสเป็นคนเล่าเรื่องเก่ง ซึ่งความสามารถในการเล่าเรื่องมันตรงกับเรื่องของแบรนดิ้งเลย แบรนด์ที่ดีต้องเล่าเรื่องเก่ง ผมพยายามศึกษาวิธีการเล่าเรื่องของคุณประภาส เพื่อที่จะเอามาประยุกต์ใช้กับการตลาดด้วย”

ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

“คุณประเสิรฐเป็นคนที่มีความคิดที่ไม่เหมือนชาวบ้านจริงๆ เขาถึงชื่อ 'แกะดำทำธุรกิจ' คือจะคิดสวนทาง คนอื่นคิดยังไงก็คิดตรงกันข้าม ทำให้ไปกระตุ้นมุมมองที่บางทีเรานึกไม่ถึง”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook