คิดบวกจนเป็นพิษกับลูก : เมื่อ Toxic Positivity การคิดบวกมากไปจนกลายเป็นผลเสียกับลูกที่บ้าน

คิดบวกจนเป็นพิษกับลูก : เมื่อ Toxic Positivity การคิดบวกมากไปจนกลายเป็นผลเสียกับลูกที่บ้าน

คิดบวกจนเป็นพิษกับลูก : เมื่อ Toxic Positivity การคิดบวกมากไปจนกลายเป็นผลเสียกับลูกที่บ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อยากให้คุณพ่อคุณแม่หลับตาแล้วลองจินตนาการตามผมนิดหนึ่งครับ ตอนนี้คุณอายุ 8 ขวบ วันนี้ไปโรงเรียนแล้วลืมเอาการบ้านไปส่งครู โดนเพื่อน ๆ ล้อเพราะกางเกงมีรอยขาด วิชาพละวันนี้วิ่งแล้วล้มหัวเข่าถลอก ถือว่าเป็นวันที่แย่พอสมควรเลยทีเดียว พอพ่อแม่มารับกลับบ้าน คุณพยายามจะเล่าเรื่องนี้ให้พวกเขาฟัง คำตอบที่ได้กลับมาคือ “เอาหน่า อย่าไปคิดมาก เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้นเอง มองโลกในแง่ดีเข้าไว้ลูก”

คุณจะรู้สึกยังไง?

นี่คือตัวอย่างของการคิดบวกที่เป็นพิษ ซึ่งแปลมาจากคำว่า “Toxic Positivity” ที่ดูย้อนแย้งในตัวของมันเองพอสมควรเพราะ การคิดบวกจะส่งผลร้ายได้ยังไงกันหล่ะ แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏในงานวิจัยเชิงวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการรับมือกับความเครียดบ่งบอกว่าการคิดเชิงบวกที่มากเกินพอดีนั้นไม่ส่งผลดีต่อทั้งเด็กและวัยรุ่นเลย

Toxic Positivity คืออะไรกันหล่ะ? ที่จริงแล้วมันก็คือ “การมองทุกสถานการณ์ ทุกอย่างในแง่บวก โดยการพยายามระงับอารมณ์หรือความคิดในแง่ลบของตัวเองเอาไว้” ซึ่งการพยายามโฟกัสทุกอย่างในเชิงบวกตลอดเวลาไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็เหมือนการปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับความรู้สึกในทางลบ กดขี่อารมณ์เศร้า เสียใจ ผิดหวัง หรือโกรธไว้ข้างใน พอนาน ๆ ไปกลายเป็นพิษที่กลับมากัดกินและทำร้ายตัวเองในที่สุด

ถึงแม้ว่า “คิดเชิงบวก” หรือการมองทุกอย่างหาด้านดี ๆ ของสิ่งทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น เป็นทักษะที่จะช่วยทำให้เรามีแรงและกำลังในการลุกขึ้นเดินต่อไปข้างหน้าได้ แต่ก็เหมือนกับที่เราทุกคนทราบดีนั้นแหละว่า ‘ความสุข’ เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่ได้อยู่ตลอดไป โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยรุ่นที่เพิ่งกำลังเข้าใจอารมณ์ที่ซับซ้อนของตัวเองมากยิ่งขึ้น การเข้าใจว่าอารมณ์ที่มีทั้งขึ้นและลงทำให้เด็ก ๆ เห็นว่านี่คือธรรมชาติของมนุษย์และไม่มีอะไรที่ตัวเองแปลกไปจากคนอื่น ๆ

แน่นอนว่าคนที่เป็นพ่อแม่นั้นพยายามจะทำให้ลูกมีความสุขอยู่ตลอดเวลา  24 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้เขาร้องไห้สักแอะตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ อารมณ์ที่แตกต่างและซับซ้อนอย่างความเศร้าโศก เสียใจ ความโกรธ ความกลัว ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เด็กทุกคนต้องการโอกาสที่จะเรียนรู้เรื่องอารมณ์ (เพื่อจะได้เข้าใจคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังรู้สึกอยู่มันคืออะไร เป็นความรู้สึกยังไง รับมือกับมันยังไง ผ่อนหนักเป็นเบาแบบไหน เป็นการเพิ่มความฉลาดทางด้านอารมณ์ให้กับตัวเด็ก ๆ ทุกคน

เพราะฉะนั้นเมื่อพ่อแม่พยายามยัดเยียดแนวคิดเชิงบวกให้กับทุกอย่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อลูก ๆ นั้นกำลังรู้สึกแย่ เศร้า เสียใจ เช่น ‘เด็กคนอื่นเจอแย่กว่าลูกอีก’ หรือ ‘เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวหนูก็ลืม อย่าสนใจมันมากเลย’ ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่อาจจะพูดแบบนี้เพราะหวังดี แต่มันก็เป็นการลดคุณค่า พยายามปิดกั้น ยัดอารมณ์แย่ ๆ เหล่านั้นไว้ใต้พรม ทำให้เสียโอกาสเรียนรู้เท่าทันอารมณ์และเติบโตขึ้นด้วย

ยิ่งทำบ่อย ๆ เข้า เด็ก ๆ อาจจะสับสนว่าเราไม่สนใจความรู้สึกของเขาด้วย พูดไปแล้วพ่อกับแม่ไม่เห็นสนใจ เอาแต่บอกว่า “ไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หาย ไม่เป็นไรเดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง” สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาสูญเสียความมั่นใจในตัวพ่อแม่ มีอะไรคราวหน้าก็ไม่บอกแล้วเพราะช่วยอะไรไม่ได้เลย เก็บเนื้อเก็บตัว อยู่เงียบ ๆ ไม่สื่อสารพูดจาหรืออธิบายสิ่งที่กำลังกวนใจพวกเขาอยู่อีกต่อไป (ก็ไม่เห็นจะช่วยอะไรเลยจะพูดทำไมหล่ะ? ถูกไหมครับ)

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าการกดอารมณ์ทางลบของเด็กหรือไม่ให้ความสำคัญกับอารมณ์เหล่านั้นจะเพิ่มความเครียด ความกังวล และทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ด้วย ซึ่งเหตุผลก็เพราะความทุกข์ของเด็ก ๆ นั้นถูกมองข้าม พวกเขาเลยไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการรับมือที่ถูกต้อง และความทุกข์เหล่านี้ก็สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน

ในทางกลับกันถ้าพ่อแม่พร้อมที่จะรับฟัง อย่าเพิ่งตัดสิน แต่อยู่ตรงนั้นแล้วฟังว่าลูกต้องการจะพูดอะไร พวกเขารู้สึกแบบไหน “พ่อรักหนูไม่ว่าจะหนูจะรู้สึกยังไงนะ ไหนลองอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหม?” หรือ “พ่อรู้ว่าตอนนี้หนูคงจะรู้สึกแย่มาก ๆ เลยสินะ เดี๋ยวหนูพร้อมแล้วค่อยเล่าให้พ่อฟังนะ เดี๋ยวพ่อรออยู่ตรงนี้แหละ” แล้วกอดหรือจับมือเขาไว้เพื่อให้รู้ว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ให้ความมั่นใจกับเขาและคอยคุยกับเด็ก ๆ อยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้เห็นผลในทันที แต่ในระยะยาวจะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถอธิบายความรู้สึกที่ซับซ้อนมากขึ้นได้

พ่อแม่ ฟังให้มาก ถามให้มาก ให้ความมั่นใจกับลูก ๆ ว่าพวกเขามีคนอยู่ข้าง ๆ ที่รักเขาเสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้สุขภาพจิตใจของเด็ก ๆ มั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าตอนนี้คิดบวกจนเป็นพิษแล้ว?

1.    ใช้คำพูดเชิงบวกอยู่ตลอดเวลา

ถ้ารู้สึกว่าพูดคำพุดเชิงนี้อยู่ตลอดเวลาเช่น ‘ยิ้มเข้าไว้ลูก’ ‘ไม่เป็นไรเดี๋ยวก็ดี’ ‘อย่าไปคิดมาก ไม่มีอะไรหรอก’ หรือ ‘ทุกอย่างมีเหตุผลของมัน เดี๋ยวหนูก็หาย’ นี่อาจจะเป็นสัญญาณว่าคุณอาจจะกำลังอยู่ในช่วงที่ใช้ความคิดเชิงบวกมากเกินไปแล้วก็ได้ คือจะบอกว่าไม่ใช้เลยก็ไม่ใช่ แต่การใช้อยู่ตลอดเวลา แต่การใช้เป็นประจำ ลูกพูดอะไรก็ “ไม่เป็น ยิ้มไว้ลูก เดี๋ยวก็หาย” อยู่ตลอดเวลามันจะกดอารมณ์ของเด็ก ๆ ลงไปใต้พรม พวกเขาจะรู้สึกว่าอารมณ์ที่ตัวเองกำลังรู้สึกนั้นไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือการผสมผสานแนวคิดเชิงบวกนี้เข้าไปกับการมองจากมุมของเด็ก ๆ ด้วย เช่น “เรื่องนี้ดูจะยากอยู่นะที่หนูกำลังเผชิญอยู่ อยากเล่าให้พ่อฟังไหม” หรือ “มันเป็นเรื่องธรรมดานะที่จะร้องไห้กับเรื่องนี้ ไม่เป็นไรลูก ร้องได้นะถ้าอยากร้อง” ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่เข้าใจว่าพวกเขาร้องไห้เพราะอะไรร้อยเปอร์เซ็น แต่การอยู่กับเขาตอนที่กำลังเศร้าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างคุณกับลูกเลยทีเดียว

2.    คิดว่าความรู้สึกเศร้าหรือเสียใจเป็นสิ่งที่ไม่ดี

ไม่มีใครอยากอารมณ์ ไม่มีใครอยากเศร้าหรือเสียใจ มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เราต้องพยายามอย่าไปมองว่าอารมณ์เหล่านี้คือส่ิงที่ไม่ดี การที่จะรู้สึกและแสดงออกนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ เราอยากมีความสุข มีความหวัง ตื่นเต้นกับชีวิต แต่ก็ต้องเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าของความรู้สึกด้านลบในชีวิตของเราด้วย

การมีพื้นที่และโอกาสให้เด็ก ๆ ได้รู้สึกเศร้า กลัว โกรธ หรือเสียใจ และได้แสดงอารมณ์เหล่านี้ในทางที่ถูกต้องจะช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีมากขึ้น รับมือกับความรู้สึกทางลบได้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราในฐานะผู้ใหญ่ต้องระวังอย่าเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกในด้านลบกับความล้มเหลวหรือสิ่งที่ไม่ดีในชีวิต แทนที่จะกดมันเอาไว้หรือซ่อนมันไม่ให้คนอื่นเห็น ควรจะลองเข้าใจมันว่ามันคืออะไร มีความหมายว่ายังไงกับชีวิตของเรา

ทุกคนไม่สมบูรณ์แบบ มนุษย์ทุกคนมีข้อบกพร่องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผู้ใหญ่หรือเด็กก็ตาม ความล้มเหลวหรือผิดหวังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราสามารถสอนให้ลูก ๆ มองโลกในด้านบวกได้ เป็นทักษะที่จำเป็นเมื่อเติบโตขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องทำให้พวกเขาเห็นด้วยว่าสิ่งที่พวกเขากำลังรู้สึกนั้นสำคัญและการเข้าใจมันคือสิ่งที่จำเป็น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook