จะผันตัวไปเป็นฟรีแลนซ์ มีทักษะที่จำเป็น 8 ข้อนี้แล้วหรือยัง?

จะผันตัวไปเป็นฟรีแลนซ์ มีทักษะที่จำเป็น 8 ข้อนี้แล้วหรือยัง?

จะผันตัวไปเป็นฟรีแลนซ์ มีทักษะที่จำเป็น 8 ข้อนี้แล้วหรือยัง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าจะพูดกันตามจริง หากไม่มีปัจจัยอื่นใดเข้ามาประกอบการตัดสินใจ ใครบ้างที่ไม่ต้องการเป็นเจ้านายของตัวเอง เพื่อที่จะทำงานตามเงื่อนไขของตนเอง และมีไลฟ์สไตล์การทำงานและการใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น การเลือกทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ จึงเป็นทางออกสำหรับคนที่มุ่งมั่นหาความอิสระในการทำงานจริง ๆ

ไม่ว่าในเวลานี้คุณจะกำลังมีความคิดที่จะลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์หรือไม่ ก็อยากให้คุณรู้ว่าการเป็นฟรีแลนซ์ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และคุณควรมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นฟรีแลนซ์ด้วย

นั่นหมายความว่าไม่ใช่แค่พนักงานประจำเท่านั้นที่ต้องมีทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมในการทำงาน ฟรีแลนซ์เองก็ต้องมีเหมือนกัน บางทีคุณอาจต้องเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ แทบทุกประเภท เพื่อให้ตนเองมีความสามารถในการรองรับงานต่าง ๆ ที่จะมีคนจ้าง ในขณะเดียวกันกับที่ในวงการนี้ก็คู่แข่งเยอะเช่นกัน

การจะก้าวเข้าสู่โลกของการเป็นฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระที่ใครหลายคนวาดฝันถึง อาจเป็นทางเลือกอาชีพที่ดี แต่ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน คุณจำเป็นต้องมีทักษะอย่างอื่นที่มากกว่าทักษะเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับงานของคุณ ตั้งแต่การเรียนรู้ด้วยตนเอง การบริหารเวลา ไปจนถึงการยอมรับความเสี่ยง คุณต้องสร้างสมดุลให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้ง่ายในทางปฏิบัติและในการควบคุมตนเอง เพื่อที่จะเป็นฟรีแลนซ์ที่เป็นมืออาชีพ คุณต้องฝึกฝนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และค้นหาวิธีที่ดีที่สุดให้กับตนเอง

1. เรียนรู้ด้วยตนเอง
ใครที่กำลังคิดจะเข้าสู่วงการฟรีแลนซ์ ทักษะแรก ๆ ที่คุณต้องมี คือ ทักษะในการขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะในขณะที่คุณเป็นพนักงานประจำ คุณมีโอกาสได้รับการฝึกอบรม สัมมนา เรียนรู้หลักสูตรการพัฒนาต่าง ๆ ที่นายจ้างเห็นว่าจำเป็นและสำคัญ บางบริษัทมีสวัสดิการสนับสนุนให้พนักงานเรียนต่อ แต่คนทำงานอิสระก็ต้องพึ่งพาตัวเอง เริ่มตั้งแต่การจูงใจให้ตนเองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อยกระดับทักษะความสามารถของตนเองอยู่เสมอ

สิ่งนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมากและจำเป็นต้องจัดสรรเวลาสำหรับการพัฒนาตนเอง คุณไม่สามารถหยุดนิ่งได้ในโลกของการทำงานที่การแข่งขันสูงเช่นนี้ ไม่เช่นนั้นโอกาสที่คุณจะเติบโตหรือก้าวหน้าเป็นไปได้ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพื่อให้เป็นผู้ที่ก้าวทันโลก และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงงาน คุณต้องเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมนอกเหนือจากทักษะที่มีอยู่ และยังต้องขัดเกลาฝีมือของคุณต่อไป

2. การบริหารจัดการเวลา
แม้ว่าการเป็นฟรีแลนซ์จะทำให้ชีวิตของคุณมีความยืดหยุ่นมาก จากเดิมที่คุณเคยมีเวลาเข้า-ออกงาน คุณต้องทำงานให้ได้ตามที่กำหนดในแต่ละวัน คุณมีอิสระในการจัดสรรเวลามากกว่าเดิม ซึ่งนั่นก็หมายความว่าการผัดวันประกันพรุ่งก็กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นเช่นกัน คุณจะพบว่าคุณควบคุมความขี้เกียจตัวเองได้ยากขึ้น คุณเลื่อนงานนั้นงานนี้ออกไปเพราะคุณคิดว่าคุณมีเวลาพอที่จะทำในภายหลัง แรก ๆ อาจยังสบายอกสบายใจได้ แต่นั่นจะกลายเป็นปัญหาในไม่ช้า

ไม่ว่าเวลางานคุณจะยืดหยุ่นมากแค่ไหน คุณก็ต้องมีวินัยในตัวเอง ต้องสร้างกำหนดการต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างรัดกุมและปฏิบัติตามนั้นให้ได้ นี่เป็นวิธีที่ดีที่ใช้จัดการกับความเอ้อระเหยของตัวเองจนไม่ได้การได้งาน ยิ่งคุณมีระเบียบวินัยเรื่องเวลามากเท่าไร คุณก็จะไม่เสียเวลาอันมีค่าไปอย่างเปล่าประโยชน์ และไม่ถูกรบกวนโดยสิ่งเร้าที่คอยรบกวนสมาธิอยู่ตลอดเวลาด้วย

3. มีเหตุผลเชิงตรรกะ
คงจะมีหลายครั้งทีเดียวที่คุณจำเป็นต้องพิสูจน์การทำงานของคุณในฐานะฟรีแลนซ์ ถึงคุณจะไม่มีเจ้านายหรือหัวหน้าทีมมาคอยกดดันถามเหตุผลเชิงตรรกะและกระบวนการคิดของคุณ แต่คุณยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กดดันคุณได้ไม่ต่างจากเจ้านาย นั่นก็คือ ลูกค้า ถ้าคุณตอบคำถามหรืออธิบายงานที่พวกเขากำลังจะให้คุณไม่ได้ เขาก็อาจจะไม่จ้างงานคุณ หรือพวกเขาอาจไม่เข้าใจว่าทำไมค่าจ้างของคุณในครั้งนี้ถึงสูงกว่าครั้งที่แล้ว พวกเขาอาจคิดว่าคุณโก่งราคา

การที่คุณไม่สามารถให้เหตุผลกับลูกค้าในสิ่งที่พวกเขาสงสัย ความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพของคุณจะหายไปแทบจะทันที พวกเขาจะเริ่มไม่เชื่อหรือสงสัยในฝีมือ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญของคุณ ที่เลวร้ายที่สุดคือ พวกเขาจะไม่เชื่อใจคุณอีกแล้ว อาจถึงขั้นตัดสัมพันธ์ และไม่จ้างงานคุณอีกต่อไป วิธีการฝึกการใช้เหตุผล ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่นบ่อย ๆ แล้วพยายามทำความเข้าใจว่าพวกเขาทำอะไร ทำไมถึงทำแบบนั้น

4. คิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว
การใช้เหตุผลและการคิดอย่างรวดเร็วเป็นของคู่กัน ซึ่งมันจำเป็นสำหรับการสนทนากับลูกค้า รวมถึงยังรักษาขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ยิ่งคุณสามารถคิด เชื่อมโยง และตัดสินใจได้เร็วเท่าไร คุณก็ใช้เวลาในการทำงานให้เสร็จน้อยลงเท่านั้น มีสิ่งหนึ่งที่คุณต้องรู้ก็คืองานที่เสร็จเร็วขึ้นก็เรียกค่าบริการที่สูงขึ้นได้ เนื่องจากคุณกำลังช่วยให้ลูกค้าของคุณประหยัดเวลาอันมีค่า นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณควรคิดค่าบริการเป็นรายครั้งมากกว่าคิดเป็นรายชั่วโมง เพราะคุณทำงานเร็ว ไม่จำเป็นต้องคุยงานหลายชั่วโมง แล้วเน้นที่ปริมาณครั้งแทน

5. แก้ปัญหาให้ได้
ในฐานะฟรีแลนซ์ คุณเป็นคนที่คุยงานกับลูกค้าเอง ไม่ได้ผ่านการรับคำสั่งจากหัวหน้าทีมหรือผู้บังคับบัญชาเหมือนตอนเป็นพนักงานประจำ คุณจึงต้องพยายามทำความเข้าใจ ชี้แจง และแก้ปัญหาของลูกค้าให้ได้ (ซึ่งมันจะกลายเป็นงานที่ง่ายขึ้นมากถ้าลูกค้ารู้ว่าปัญหาที่พวกเขาพยายามแก้ไขอยู่คืออะไร ซึ่งมันไม่ค่อยเป็นเช่นนั้น) โดยคุณต้องวินิจฉัยปัญหา และหาคำตอบให้ได้ว่าต้องแก้ไขอะไร ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนที่คุณมีเหนือคนอื่น คือสิ่งที่ทำให้คุณเป็นมืออาชีพ เป็นผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าการเป็นผู้ที่รับจ้างทำงานให้ ซึ่งใคร ๆ ก็เป็นได้

6. ยอมรับในคำวิจารณ์
การเรียนรู้ด้วยตัวเอง บ่อยครั้งที่คนเราเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง คุณอาจจะทำการบ้านไม่มากพอหรือละเลยคำแนะนำบางอย่างของลูกค้า บทเรียนเหล่านั้นจึงมาในรูปแบบของการวิจารณ์งานที่คุณทำ และแน่นอนว่าคำวิจารณ์นั้นก็มาจากลูกค้าของคุณเอง แต่ไม่เป็นไร ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ มันเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทาง แต่คุณต้องแยกแยะการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์กับไม่สร้างสรรค์ให้ออกด้วย เชิงสร้างสรรค์จะเป็นการวิจารณ์ที่ผลงาน แล้ววิจารณ์เพื่อให้งานออกมาดี แต่ถ้าแบบไม่สร้างสรรค์ มักจะโจมตีที่ตัวคุณแบบไม่เกรงใจกัน

7. การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญอีกประการ หากคุณจะเข้ามาอยู่ในวงการฟรีแลนซ์ เพราะมันจะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ง่ายขึ้น ยิ่งปรับตัวได้เร็วก็ยิ่งฟื้นได้เร็ว แต่ก่อนที่คุณจะปรับตัว คุณต้องมองแนวโน้มให้ออกว่าสถานการณ์แบบนี้จะมีทิศทางไหนที่เป็นทางรอดได้บ้าง หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ มันอาจจะถึงขั้นต้องเปลี่ยนจากธุรกิจหนึ่งที่คุณกำลังเผชิญปัญหา ไปสู่อีกธุรกิจหนึ่งที่กำลังเฟื่องฟูอยู่เลยก็เป็นได้

8. ทนทานต่อความเสี่ยง
ความเสี่ยงใหญ่ของฟรีแลนซ์ คือ เรื่องเงินที่ไม่แน่นอน ซึ่งต่างจากการเป็นพนักงานประจำ หากคุณไม่ได้มีลูกค้าที่เซ็นสัญญากันในระยะยาว บางเดือนคุณอาจมีรายได้มากเพราะได้งานเข้ามาเยอะ แต่บางเดือนคุณอาจประสบปัญหาตรงที่ไม่มีรายได้เลย เพราะไม่มีงานใหม่เข้ามา ความมั่นคงทางการเงินจึงเป็นความท้าทายแรก ๆ ของฟรีแลนซ์ ไม่เพียงเท่านั้น ไม่มีการลางานสำหรับฟรีแลนซ์ คุณคือคนที่กำหนดเองว่าจะอนุญาตให้ตัวเองพักหรือไม่ เพราะหยุดพัก ไม่ทำงาน ก็เท่ากับไม่มีรายได้ คุณจึงต้องพิจารณาช่วงเวลาและระยะเวลาให้เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงงานค้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook