ณรงค์ ปรางค์เจริญ ชีวิตคนดนตรีในเวทีคลาสสิกโลก

ณรงค์ ปรางค์เจริญ ชีวิตคนดนตรีในเวทีคลาสสิกโลก

ณรงค์ ปรางค์เจริญ ชีวิตคนดนตรีในเวทีคลาสสิกโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี

คำว่า "คนแรก" หรือ "คนเดียว" มักจะถูกให้คุณค่าสูงมากในสังคมไทย และบางครั้งกับบางคนอาจเป็นการให้คุณค่าที่สูงเกินจริง แต่กับบุคคลที่เราจะนำเสนอวันนี้ เป็นบุคลากรที่มีคุณค่าสูงมากจริง ๆ คนหนึ่งของเมืองไทย เขาชื่อ "ณรงค์ ปรางค์เจริญ" นักแต่งเพลงหรือคอมโพเซอร์ชาวไทยในวงการเพลงคลาสสิกนานาชาติ เขาอาจจะไม่ใช่คนไทยคนแรกที่ก้าวเท้าเข้าไปในวงการ แต่ว่าเขาเป็นคนไทยคนเดียวที่ยืนอยู่ตรงนั้นมาได้หลายปีแล้ว และเป็นคนเดียวที่ทำอาชีพแต่งเพลงจริง ๆ ไม่ได้ทำมาหากินจากงานอื่น

ชื่อของ "ณรงค์ ปรางค์เจริญ" ไม่ได้ใหม่สำหรับคอดนตรีคลาสสิกในเมืองไทย เขาเป็นที่รู้จักมาราว 10 ปีแล้ว แต่ด้วยความที่ในเมืองไทยนั้นดนตรีคลาสสิกยังเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มอยู่ ชื่อของเขาจึงยังได้รับการชื่นชมอยู่ในเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าในระดับนานาชาติแล้วณรงค์เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นนักแต่งเพลงที่มีแนวทางเฉพาะตัวที่ชัดเจน

คนที่ไม่คุ้นเคยกับดนตรีคลาสสิกอาจจะมีคำถามว่า การเป็นนักแต่งเพลงได้ แปลว่าเก่งเหรอ? นักแต่งเพลงสำคัญยังไง? ก็ต้องอธิบายแบบกำปั้นทุบดินว่านักแต่งเพลงก็คือคนที่แต่งเพลงให้นักดนตรีเล่น ถ้าไม่มีคนแต่งเพลง นักดนตรีก็อาจจะต่างคนต่างเล่นเครื่องดนตรีของตัวเองไป เพราะไม่ใช่นักดนตรีทุกคนจะสามารถแต่งเพลงได้ แต่นักแต่งเพลงทุกคนนั้นเล่นดนตรีเป็น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ ก็คือ ศิลปินดังในยุคก่อน ๆ ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันอย่างโมซาร์ต และบีโทเฟน นั่นแหละคือนักแต่งเพลง ไม่ใช่เพียงนักดนตรี

ณรงค์ถูกจัดเป็น "ออร์เคสตร้าคอมโพเซอร์" หมายความว่า เขาเป็นนักแต่งเพลงที่แต่งเฉพาะเพลงขนาดใหญ่สำหรับวงออร์เคสตร้าเท่านั้น มีวงออร์เคสตร้ามากมายจากทั่วโลกที่นำเพลงของเขาไปบรรเลง ทุกที่ที่เพลงของเขาถูกนำไปบรรเลงนั้นไม่ใช่ไปเฉพาะเพลงกับชื่อณรงค์ ปรางค์เจริญ แต่เป็นการเอาชื่อ "Thailand" ไปด้วย เพราะเขาบอกเสมอว่าเขาเป็น "Thai Composer"

ณรงค์บอกว่า ตัวเองเป็นนักแต่งเพลงระดับกลาง ๆ ในวงการ ซึ่งระดับกลางที่ว่านี้เขาก็อยู่ในระดับที่เลือกได้ว่าจะรับงานไหนหรือไม่รับงานไหน และมีสัญญาว่าจ้างชุกจนไม่มีเวลาเหลือแต่งเพลงเล่น ๆ ตามใจตัวเอง ก่อนจะไปยืนอยู่ตรงนั้นได้ก็เหมือนกันกับทุกคนที่ต้องเริ่มจากก้าวแรก

เส้นทางสายนี้ของณรงค์เริ่มจากความสนใจดนตรีในตอนเรียนมัธยม แล้วเลือกเรียนเอกดนตรีศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตอนแรกเล่นทรัมเป็ต ต่อมาอยากเป็นนักเปียโนจึงเริ่มเรียนเปียโน และได้รับคำชมจากอาจารย์ว่าเป็นคนมีพรสวรรค์ ด้วยความเป็นลูกศิษย์ที่อาจารย์เห็นว่ามีแวว อาจารย์จึงฝากฝังให้ไปเรียนแต่งเพลงกับ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร (นักแต่งเพลงคลาสสิก รุ่นครูคนหนึ่งของไทย) เพราะสมัยนั้นในมหาวิทยาลัยที่เรียนยังไม่มีการสอนเอกการประพันธ์เพลง

เรียนแต่งเพลงอยู่ 2 ปี มีอาจารย์จากสหรัฐอเมริกามาเห็นแววในการแต่งเพลง ให้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Illinois State University แล้วได้ทุนต่อเอกที่ University of Missouri in Kansas City

ตอนเรียนปริญญาเอกเขาเริ่มสมัครประกวดแต่งเพลง และได้รางวัลมาเรื่อย ๆ ซึ่งรางวัลเหล่านั้นเองที่เป็นกุญแจไขประตูเข้าไปสู่การเป็นนักแต่งเพลงอาชีพ "แต่การประกวดหรือการแข่งขันมันก็เป็นแค่กุญแจที่ไขประตู พอเข้าไปแล้วเราจะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมอาศัยหลักที่เราเป็นคนไทย อ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจ มันช่วยได้เยอะ พอมีคนชวนไปทำงาน เราทำตัวง่าย ๆ อัธยาศัยดี คุยกับทุกคน มันทำให้เขารู้สึกว่าอยากทำงานกับเราอีก"

แต่ถึงอย่างนั้น การทำตัวง่าย ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรับงานอะไรก็ได้ที่มีคนให้ทำ

"นักแต่งเพลงต้องทำ Branding Positioning ของตัวเองว่าเราทำงานแบบไหน เราควรมีความสามารถในการทำงานได้ทุกอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องรับทำงานทุกอย่าง เพราะถ้าเรารับทำงานทุกอย่างเราจะไม่มีโพซิชั่นของเราเอง คนเขาจะมองว่าอะไรก็ได้ที่เป็นงานจับฉ่ายโยนให้คนนี้ทำ เราอาจจะมีงานเยอะขึ้น แต่งานของเราจะไม่เป็นแก่น ไม่เป็นตัวตนของเราจริง ๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีโพซิชั่นของตัวเอง คนที่จะมาจ้างเขาจะรู้ว่าเราทำงานแบบไหน"

ฉะนั้น ใครจะมาจ้างณรงค์ทำเพลงต้องรู้ว่า "เพลงผมค่อนข้างอาร์ต ผมไม่รับงานที่มันพ็อปเกินไป และผมไม่รับทำเพลงหนัง เพราะมันคอมเมอร์เชียล วงการมันมีเส้นแบ่งกันอยู่ ก็ไม่ใช่ว่าไปทำไม่ได้เลย แต่ถ้าเราไปทำเพลงคอมเมอร์เชียลเยอะ ทางฝั่งซีเรียสมิวสิกเขาจะจัดว่าเราเป็นคอมเมอร์เชียลคอมโพเซอร์"

เป็นนักแต่งเพลงฟรีแลนซ์อยู่หลายปี ปัจจุบันณรงค์เป็นนักแต่งเพลงในสังกัดวง Pacific Symphony และเป็นสมาชิก The American Society of Composers, Authors And Publishers หรือ ASCAP ที่มีนักแต่งเพลงทุกแนวสังกัดอยู่ราว 5 หมื่นคน

ถึงแม้ว่าวงการเพลงนานาชาติจะมีที่ทางเป็นวิชาชีพจริงจัง แต่ในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยเชื่อว่า ดนตรีจะเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ ถ้าบ้านไหนมีลูกบอกว่าอยากเรียนดนตรี พ่อแม่คงต้องคิดหนัก แต่ณรงค์ยืนยันว่า "มันเป็นอาชีพได้ครับ"

นักแต่งเพลงมืออาชีพอธิบายอัตราค่าจ้างแต่งเพลงว่า มันแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับบิ๊กเนม ระดับกลาง และระดับเล็ก นักแต่งเพลงระดับกลางอย่างเขามีค่าจ้างแต่งเพลงอยู่ประมาณนาทีละ 1,000-1,500 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งเพลง สมมุติว่าเพลงยาว 15 นาที คิดค่าจ้างนาทีละ 1,000 เหรียญสหรัฐ หนึ่งเพลงก็ได้ค่าจ้าง 15,000 เหรียญ หรือประมาณ 450,000 บาท

"คนที่เรียนดนตรีถ้ามีความมุ่งมั่นจะทำได้ อย่างแรกเราต้องมีความเชื่อว่าเราจะทำได้แล้วเราก็จะทำได้ ดนตรีเป็นงานที่มั่นคง ไม่ร่ำรวยแต่มั่นคง ทำงานดนตรีอย่าหวังว่าจะร่ำรวย แต่เราเลี้ยงตัวเราได้ก็คือมั่นคงแล้ว และมันเป็นอาชีพอิสระ เราสามารถจัดการเวลาของเราได้ มันเป็นอาชีพที่ดี มันมีที่เสมอสำหรับคนเก่งและคนที่เอาจริงเอาจัง"

ส่วนการจะเป็นคนเก่งนั้นณรงค์บอกว่า "ไม่จำเป็นต้องเก่งด้วยพรสวรรค์เสมอไป คนที่เก่งอาจจะเก่งจากการมีทักษะที่เกิดจากการฝึกฝน ยกตัวอย่างพ่อค้าขายอาหาร บางคนอาจจะไม่ได้เก่งเพราะมีพรสวรรค์ที่หยิบอะไรใส่ก็อร่อย แต่อาจจะเก่งเพราะทำบ่อย ๆ"

ณรงค์เล่าว่าตอนนี้มีเด็กไทยเรียนการประพันธ์เพลงอยู่จำนวนมากทั้งในอเมริกาและยุโรป ในฐานะรุ่นพี่เขากำลังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับคนรุ่นใหม่เหล่านี้

"ถ้ามีคนมาจ้างผมแต่งเพลงเล็ก ๆ ผมจะแนะนำให้รุ่นน้อง มันจะเป็นประโยชน์กับเขาที่ได้มีผลงาน มีอะไรเขียนในพอร์ตโฟลิโอ และมีรายได้ ผมพยายามแบ่งให้คนอื่น เพราะเรามีขุนพลคนเดียวไม่ได้ เราต้องสร้างกองทัพ หน้าที่ผมตอนนี้คือกำลังสร้างกองทัพอยู่"

สำหรับคนที่อยากเอาจริงเอาจังกับการแต่งเพลง ณรงค์แนะนำว่า "ต้องหาเอกลักษณ์ของตัวเอง เด็กที่เรียนในเมืองไทยมีความคิดสร้างสรรค์ แต่เขาไม่มั่นใจว่ามันดีหรือไม่ดี เพราะเราอยู่ในกรอบเยอะเกินไป เราต้องได้รับคำชื่นชมจากผู้ใหญ่เราถึงจะทำได้ ตอนนี้ที่เห็นเยอะมันคือการทำตามหรือทำซ้ำ ถ้าเราทำตามเขา มันก็เหมือนกระเป๋าหลุยส์ปลอม แล้วใครจะให้คุณค่าเธอเท่ากับของจริง อีกอย่างคืออย่ารอโอกาส ถ้ามันไม่มีคอนเสิร์ต เราควรจะหาโอกาสจัดคอนเสิร์ตให้ตัวเอง แม้แต่การหยิบกีตาร์ไปซ้อมหน้าห้างให้มีคนเห็นก็อาจจะพาโอกาสต่าง ๆ เข้ามา"

"ที่สำคัญคือ ต้องเป็นตัวเอง เมื่อก่อนผมเอาเพลงกลับมาเล่นที่เมืองไทย เสียงตอบรับด้านลบมากกว่าบวก เพราะว่าคนยังไม่เข้าใจว่าเราจะทำอะไร ผมทำเพลงอย่างที่ผมอยากทำ เราต้องจริงใจกับคนฟัง เราต้องจริงใจกับสิ่งที่เราเป็น ถ้าเราไม่จริงใจกับงานเพลงที่เราเขียนแล้วใครจะจริงใจกับเรา ถ้าเราไม่เป็นตัวเอง เราทำเพลงเพื่อให้คนฟังชอบ แล้ววันหนึ่งตัวตนของเราออกมา เขาก็จะเลิกชอบ แต่ถ้าเราทำเพลงเป็นตัวเอง เราอาจจะมีแฟนเพลงไม่เยอะ แต่วันหนึ่งจะค่อย ๆ มีคนที่ชอบในแบบที่เราเป็น และแบบนั้นมันจะยั่งยืน เขาจะไม่มีวันที่จะทิ้งเราไปไหน เพราะเขารู้ตั้งแต่ต้นว่าเราเป็นยังไง"

ถึงแม้จะแต่งเพลงขนาดใหญ่มาแล้วมากมาย แต่ก็ยังไม่มีซิมโฟนีของตัวเองซะที ไม่ใช่เพราะยังทำไม่ได้ แต่เพราะเขาบอกว่า อยากให้ซิมโฟนีหมายเลขหนึ่งของ ณรงค์ ปรางค์เจริญ เป็นดนตรีไทยที่แต่งให้วงมโหรีสักวงบรรเลง

ชีวิตเดินมาถึงจุดที่มีความสุขกับงานกับอาชีพมากมายแล้ว ความหวังความฝันของณรงค์ในวันนี้ คือ อยากให้เพลงของเขาได้มีชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ อวอร์ด "แต่อย่าเพิ่งหวังว่าเราจะได้รางวัลนะครับ แค่มีชื่อเข้ารอบลึก ๆ ก็พอแล้ว" เขาว่า

และอีกหนึ่งความหวัง คือ หวังว่าวันหนึ่งเมืองไทยจะพร้อมในด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ แล้วคนไทยจะเห็นความสำคัญของเพลงคลาสสิกและศิลปะแขนงอื่น ๆ ด้วย

แต่ถึงแม้ว่าสิ่งที่เขาฝันและหวังจะเกิดขึ้นหรือไม่ ตอนนี้ณรงค์ ปรางค์เจริญ ก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสุขจนน่าอิจฉามากแล้ว

"ผมเลือกทำอาชีพนี้เพราะว่าผมรัก ไม่ใช่เพราะผมต้องทำ มีหลายคนที่ตื่นเช้ามาไม่อยากไปทำงาน เพราะว่ามันเป็นอาชีพที่ต้องทำ ไม่ใช่อาชีพที่รัก ผมเลือกจะเสี่ยงกับการจะเป็นคอมโพเซอร์ โดยที่ไม่รู้เลยว่ามันจะเป็นยังไง แต่ผมรู้ว่าผมมีความสุข ถ้าผมอายุ 60 ปี ผมมองกลับมาผมจะไม่เสียดายเลยแม้แต่วันเดียวที่ผมทำอาชีพนี้" แววตาประกายตลอดการสนทนานั้นยืนยันว่าเขามีความสุขมากจริง ๆ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook