อยากรู้ไหม? คุณมีภาวะผู้นำอยู่ในระดับไหน

อยากรู้ไหม? คุณมีภาวะผู้นำอยู่ในระดับไหน

อยากรู้ไหม? คุณมีภาวะผู้นำอยู่ในระดับไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เราต่างรู้กันดีว่าในโลกของการทำงานนั้น ทักษะหรือภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) จะถูกนำมาใช้เป็นคุณสมบัติหนึ่งในการรับคนเข้าทำงาน และเมื่อเข้ามาแล้ว ทางองค์กรก็จะมีการประเมินอีกทีว่าการทำงานเป็นอย่างไร

แน่นอนอีกเหมือนกันที่ภาวะความเป็นผู้นำจะถูกนำมาเป็นเกณฑ์การประเมินการทำงานด้วย เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในตำแหน่งงานใดก็ตาม เราไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว แต่ยังมีเจ้านาย หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง การทำงานเป็นทีมที่ดีทุกคนควรจะต้องมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ผ่านการสังเคราะห์ว่าอะไรคือจุดที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้งานที่ดี ถึงอย่างนั้นก็ต้องมีคนนำเพื่อไม่ให้มันสะเปะสะปะ ตัดสินใจ และควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผน

Dr. John C. Maxwell ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำ อธิบายการพัฒนาภาวะผู้นำไว้ในหนังสือ Developing the Leader Within You มีแนวคิดเรื่องภาวะผู้นำ 5 ระดับ แนวคิดนี้เคยถูกนำไปใช้อบรมผู้นำองค์กรทุกขนาดและทุกรูปแบบมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก บริษัทที่ติด 100 อันดับของนิตยสาร Fortune โรงเรียนเตรียมทหารแห่งสหรัฐอเมริกา บริษัทไมโครซอฟท์ ตลอดจนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ

เพราะการที่คนเรามีภาวะผู้นำนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นหัวหน้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันคือทักษะในการบริหารงานให้สำเร็จต่างหาก เป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อประสิทธิผลขององค์กร ต้องช่วยสร้างอิทธิพลให้กับทีมงาน เพื่อทำตามแผนงานจนบรรลุเป้าหมาย ทั้งยังต้องมีทักษะในการจัดการคน เช่น การสื่อสาร การเห็นอกเห็นใจ นำไปสู่แรงบันดาลใจในการทำงาน

Position Level ผู้นำโดยตำแหน่ง
เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำ เพราะการเป็นผู้นำในระดับนี้ได้จะถูกแต่งตั้งโดยตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ผู้ใต้บังคับบัญชา (โดยตำแหน่ง) ต้องรับฟังและปฏิบัติตาม ผู้นำในระดับนี้จะเห็นได้ในโครงสร้างองค์กร อย่างองค์กรขนาดใหญ่จะมีการกำหนดระดับตำแหน่งงานต่าง ๆ ไว้ชัดเจน โดยไล่ระดับตั้งแต่ล่างสุดขึ้นไปจนถึงบนสุด ส่วนการบริหารงานหรือสั่งงานจะใช้ผู้นำตามตำแหน่งงานนั้น ๆ ไล่ระดับจากบนลงล่าง ดังนั้น ผู้ใต้บังคับบัญชาจะถูกบังคับกลาย ๆ ว่าต้องเชื่อฟังคำสั่งและปฏิบัติตามตามหน้าที่ อาจไม่ได้เชื่อฟังเพราะความเคารพหรือศรัทธาแต่ประการใด

เนื่องจากผู้นำในระดับนี้เป็นผู้นำที่องค์กรกำหนดขึ้นมาเพื่อการบริหารจัดการงาน ในความเป็นจริง ผู้นำในระดับนี้อาจจะความสามารถยังไม่มากพอ และบางคนอาจจะมีความสามารถน้อยกว่าผู้ใต้บังคับบัญชาระดับปฏิบัติงานด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ผู้นำในระดับนี้ต้องขวนขวายพัฒนาตนเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา ไม่ใช่การถูกบังคับ

Permission Level ผู้นำจากความสัมพันธ์
ผู้นำในระดับนี้จะถูกแต่งตั้งขึ้นจากความนิยมและชื่นชอบของผู้ใต้บังคับบัญชา ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสนับสนุนให้ขึ้นมาเป็นผู้นำนั้นมาจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนใหญ่แล้วผู้นำในระดับนี้จะค่อนข้างใกล้ชิดกับผู้ใต้บังคับบัญชามากกว่าผู้นำโดยตำแหน่งงาน โดยผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีความต้องการที่จะปฏิบัติตามและกล้าเข้าหาได้โดยสนิทใจกว่าผู้นำที่องค์กรแต่งตั้งมา เราอาจจะเห็นความสัมพันธ์ระดับนี้ได้ในองค์กรขนาดเล็ก ที่เน้นทำงานกันแบบครอบครัว เจ้านาย หัวหน้างาน ผู้ปฏิบัติงาน สามารถใช้คำเรียกกันแบบเครือญาติได้อย่างสนิทสนม

ถึงจะเป็นผู้นำที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาจากความนิยมชมชอบ แน่นอนว่าก็คงมีความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ใต้บังคับบัญชาในระดับหนึ่ง เขาถึงยอมเชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยไม่มีเส้นตำแหน่งกั้น ทำให้การทำงานเป็นไปในลักษณะที่สร้างความสัมพันธ์กันได้โดยเป็นกันเองมากกว่า ดังนั้น ผู้นำระดับนี้จะต้องเน้นสร้างความสัมพันธ์กับทีมงานเพื่อให้ได้การยอมรับ ให้ได้รับความเคารพและงานจากผู้ปฏิบัติงานที่มาจากใจจริง ๆ ไม่ใช่ถูกบังคับ

Production Level ผู้นำโดยผลงาน
ผู้นำระดับนี้ คือผู้นำที่ผ่านการพิสูจน์ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นอย่างเป็นที่ประจักษ์ว่าตนเองมีความสามารถมากพอที่จะเป็นหัวหน้า เป็นผู้คุมคนในทีม และทำงานให้ออกมาประสบความสำเร็จ จะได้รับการยอมรับโดยอิทธิพลเชิงบวก ในสายตาของเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะมองว่าเป็นหัวหน้าที่พึ่งพาได้ พาทีมงานและพางานให้รอดได้ จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นในตัวของผู้นำคนนั้น และการนำในลักษณะนี้ก็จะได้รับการยอมรับและความเคารพที่มาจากใจคน

คุณสมบัติเด่นของผู้นำระดับนี้ คือการกระตือรือร้นที่จะเป็นคนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในทุก วัน เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงาน อีกทั้งยั้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนในทีมทำงานตาม ดังนั้น ผู้นำระดับนี้ต้องแสดงฝีมือให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็น พร้อมกับพิสูจน์ตัวเองในการกำกับดูแลทีมงาน ให้สามารถสร้างผลงานที่ดีออกมา

People Development Level ผู้นำโดยการพัฒนาคน
เป็นผู้นำที่ส่งเสริมคนในองค์กรให้มีทักษะและความสามารถเพิ่มมากขึ้น เป็นผู้นำสายปั้นที่เน้นดึงเอาความสามารถของทุกคนออกมาเพื่อให้เขาใช้ศักยภาพนั้นในการทำงานสูงสุด เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้องค์กรเพียงแต่ถนัดแตกต่างกันไป ผู้นำระดับนี้ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาการเกิดความรู้สึกรักองค์กร เพราะช่วยให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่า มีพัฒนาการที่ดีขึ้น จนสามารถทำงานด้วยใจ ส่วนใหญ่ผู้นำลักษณะนี้จะชอบแบ่งปันความรู้และพัฒนาคนให้เก่ง นอกจากจะมีคนศรัทธาแล้ว ยังช่วยให้องค์กรมีบรรยาการที่ดีในการทำงาน มีแต่คนเก่ง ๆ ที่ถูกดึงความสามารถขึ้นมาแล้ว และอยากทำงานด้วยในระยะยาว

ผู้นำในระดับนี้ เป็นผู้นำระดับที่มุ่งพัฒนาคน คนในทีมหรือผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเป็นหัวหน้าคน แต่ไม่สามารถดึงศักยภาพหรือความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นที่ประจักษ์ได้ ก็ไม่ใช่หัวหน้า แต่มีสถานะเป็นเพียงคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าเท่านั้น ที่ทำให้คนเคารพเชื่อฟังก็เพราะตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าคนอื่น ต้องออกคำสั่งถึงจะได้รับการปฏิบัติตาม โดยที่การปฏิบัติตามก็ไม่ได้มาจากใจ

Pinnacle Level ผู้นำโดยความเคารพ
ที่สุดของความเป็นผู้นำสูงที่สุดในบรรดาผู้นำระดับที่กล่าวแล้วไปข้างต้น ที่ได้รับความเคารพนับถือจากใจจริงของผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งผู้นำในระดับนี้ไม่ได้ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนรอบข้างเพราะมีตำแหน่งใหญ่โต จากความเกรงกลัว หรือเกรงใจ แต่เป็นความเคารพที่มาจากการช่วยเหลือผู้อื่นและงานในทีมจนกลายเป็นที่ยอมรับ เป็นผู้ที่ให้แรงบันดาลใจ ให้โอกาสผู้อื่นให้ทำงานประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาจะมองผู้นำลักษณะนี้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นทั้งเรื่องศีลธรรมและการทำงาน

ผู้นำระดับจัดได้เป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบ ผู้นำที่มีแต่คนเต็มใจยกมือไหว้ ผู้นำที่มีแต่คนคอยสนับสนุน ผู้นำที่มีคนชื่นชมด้วยใจจริง แล้วเอาเป็นไอดอลในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ประสบความสำเร็จ เป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา และทำให้องค์กรทั้งองค์กรมีความสำเร็จสูงขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่ในการทำงาน ซึ่งถือเป็นประโยชน์แก่ทุกคนในองค์กร

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook