"จ่าเทือง" ประเทือง ศรีสว่าง เซียนว่าว นักล่า "ความสุข" แห่งบ้านควนเนียง

"จ่าเทือง" ประเทือง ศรีสว่าง เซียนว่าว นักล่า "ความสุข" แห่งบ้านควนเนียง

"จ่าเทือง" ประเทือง ศรีสว่าง เซียนว่าว นักล่า "ความสุข" แห่งบ้านควนเนียง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พนิดา สงวนเสรีวานิช เรื่อง ณัฐนันท์ สมาธิ ภาพ
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน

เสียงวี้ดวิ้วๆ ของว่าวควายที่กำลังล้อลมอยู่กลางท้องฟ้าสนามบินเก่า ทบ. เมืองสตูล ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสนามประลองว่าว ดังมาแต่ไกล

เหลือเวลาอีกเพียงสัปดาห์เดียวก็จะถึงเวลาของการชิงชัย ในงานมหกรรมว่าวประเพณีและว่าวนานาชาติ จ.สตูล

ทุกเย็นที่สนามแห่งนี้จะคึกคักไปด้วยเซียนว่าวน้อยใหญ่ ที่พาว่าวตัวเก่งมาทดสอบ ยืนยันสมรรถนะก่อนลงสนามแข่ง

"ลมตอนนี้กำลังดี เลยมาทดลองวางกัน 3-4 คน มาทดสอบว่าวไว้แข่งวันที่ 6-7-8 มีนาคม

ผม ทำไว้ 2-3 ตัวแล้ว และมีที่บ้านอีก 3-4 ตัว นี่เฉพาะที่เล่นด้วยกันกับเพื่อนที่กลุ่ม ลงแข่งประเภทว่าวพื้นเมืองว่าวเสียงดัง ส่วนทีมอื่นไม่รู้ว่าจะลงสักเท่าไหร่ ยังมีอีกหลายทีมเหมือนกัน"

ด.ต.ประเทือง ศรีสว่าง เซียนว่าวระดับปรมาจารย์ ที่ใครๆ เรียกขานกันว่า "จ่าเทือง" หนึ่งในผู้เข้าร่วมชิงชัยในศึกดวลสายป่านบนท้องฟ้าครานี้ บอกระหว่างเฝ้าดูว่าวตัวเก่งกำลังกินลมอยู่บนท้องฟ้า

ในบรรดามหกรรม ว่าวนานาชาตินั้น จังหวัดสตูลถือได้ว่ามีชื่อเสียงที่สุดในคาบสมุทรมลายู ในแต่ละปีจะมีเซียนว่าวเข้ามาชุมนุมประลองฝีมือกันมากมาย รวมทั้งนักแสดงว่าวจากต่างประเทศกว่า 30 ชาติ มาแข่ง มาโชว์ว่าวรูปร่างแปลกๆ สีสันสวยงามเต็มท้องฟ้า

"คนที่ทำว่าวที่ สตูลไม่ใช่กำเนิดจากสตูล จากจังหวัดอื่นทั้งนั้น ดูได้ตั้งแต่การเหลาไม้ การผูกเชือก...ผมดูออกหมดว่าว่าวตัวไหนใครทำ วิธีการผูกเชือกไม่เหมือนกัน คนสตูลแต่ละคนผูกเชือกก็ไม่เหมือนกัน บางคนผูกเชือกมาก ผูกพันไปพันมา ของผมผูกแบบทแยงมุม ผูกไม่เกิน 4 รอบ ถ้าตัวเล็กแค่ 3 รอบ เพราะถ้าผูกมากจะดูไม่สวยงาม" จ่าเทืองอธิบายด้วยแววตาที่เป็นประกาย

ตัวจ่าเทืองเองแม้จะมีชื่อเป็นชาวสตูล มีนิวาสถานอยู่ที่นี่ แต่ก็ไม่ได้กำเนิดจากสตูล เป็นคนอำเภอควนเนียง (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งใน อ.รัตภูมิ) จ.สงขลา หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว บวชอยู่ 2 ปี ก่อนจะตัดสินใจสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นตำรวจที่จังหวัดสตูล

ด้วยความที่สตูลเป็นเมืองที่เงียบสงบ ทำให้จ่าเทืองตกลงใจย้ายสำมะโนประชากรจากสงขลาบ้านเกิดมาปักหลักที่สตูลตั้งแต่ปี 2510

ทว่า ชีวิตรับราชการจะประจำอยู่ที่ไหน สุดแล้วแต่ผู้บังคับบัญชา จ่าเทืองก็เช่นกัน จากสตูลถูกย้ายไปอยู่ภาคอีสาน โคราช ยโสธร ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา แล้วย้ายกลับมาอยู่ขอนแก่น สงขลา ย้ายไปย้ายมาแต่ไม่ถึงสตูลสักที เมื่อสบโอกาส จึงขอเออร์ลี่่ รีไทร์ ออกมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามประสา

ลุงจ่าที่เด็กๆ เรียกบอกว่า ทีแรกไม่คิดจะมาเอาดีทางทำว่าวขาย แต่กลับมาแล้วได้เจอพรรคพวกเก่าๆ ที่ยังเล่นว่าวกันอยู่ มันอดไม่ได้ ความที่ตัวเองมีวิชาอยู่กับตัว เมื่อหวนนึกถึงอารมณ์สนุกเพลิดเพลินเมื่อได้ทำว่าว ได้เล่นว่าว จ่าเทืองจึงโดดเข้าสู่วงการ หลังจากที่รามือไปกว่า 20 ปี

ทุกปี เมื่อใกล้เวลาของการจัดงานแข่งขันว่าวประเพณี จ.สตูล ต้องมีชื่อของ ด.ต.ประเทือง ศรีสว่าง เป็นหนึ่งในแคนดิเดต ลงสนามแข่งขันอยู่ทุกปี

ไม่เพียงแต่สนามในจังหวัดสตูล แต่สนามใกล้ไกลแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสงขลา ตรัง หรือพัทลุง ใครชวนมา จ่าเทือง ไปหมด

ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้รางวัลก็มี

เพราะความสุขอยู่ที่การได้ทำว่าว ได้เห็นว่าวที่ตัวเองทำโลดแล่นกินลมอยู่บนท้องฟ้า

ปัจจุบัน ด้วยวัยย่าง 70 ปี จ่าเทืองยังคงแข็งแรง บางครั้งก็รับเชิญไปสาธิตการทำว่าว แม้ว่าจะมีปัญหาที่สายตาไม่แจ่มชัดเหมือนเดิม แต่ก็ยังมีลูกศิษย์ลูกหาทั้งเด็กประถมไปจนถึงผู้ใหญ่ตัวโตๆ ที่เข้ามาเรียนวิชา

ที่สำคัญ ว่าวฝีมือลุงจ่ายังเนี้ยบเหมือนเดิม

"กะว่าจะลงแข่งสัก 10 ตัว ถ้าได้รางวัล 1-2-3 ก็ดีครับ" ลุงจ่าบอกพร้อมกับหัวเราะอย่างมีความสุข

ศึกจ้าวเวหากำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว มหกรรมว่าวพื้นเมืองและว่าวนานาชาติ จังหวัดสตูล ครั้งที่ 35 ปีนี้จัดใหญ่กว่าทุกปี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2558 ที่สนามบินเก่า ทบ. จังหวัดสตูล

ฟังจ่าเทืองแล้ว จองตั๋วไปให้กำลังใจได้เลย ณ บัดนาว

- คลุกคลีว่าวเนื่องจาก?

ชอบ ตั้งแต่เด็กๆ พอเห็นผู้ใหญ่ทำ ก็อยากทำบ้าง ก็เลยหัดทำมาตั้งแต่เด็ก เวลาผู้ใหญ่ทำ เขาเล่นเขาอะไร เราก็ไปดู วิธีการเหลาไม้ไผ่ การผูกเชือก ดูว่าขนาดว่าวขนาดนี้ จะต้องเหลาไม้ไผ่ขนาดไหน ตัวเล็กก็ต้องเล็กลงตาม ตัวใหญ่ให้ใหญ่ขึ้นเพราะตัวใหญ่กินลมแรง คือการทำว่าวตอนนี้ผมทำได้เกือบทุกอย่างแล้ว แต่เราก็ต้องมีเทคนิคในการทำ

- บรรยากาศการเล่นว่าวเมื่อก่อนเป็นอย่างไร?

ตอน เด็กอยู่บ้านนอกครับ ผมอยู่อำเภอรัตภูมิ จ.สงขลา คืออำเภอควนเนียงวันนี้ อยู่ในตลาดควนเนียง เมื่อก่อนมันไม่เป็นตลาดแบบทุกวันนี้ ยังเป็นทุ่ง ผู้ใหญ่เขามาเล่นว่าวแถวนั้น ตั้งแต่เราเด็กๆ ก็ไม่นั่งดูเขาทำ ดูวิธีการผ่าไม้ไผ่ เหลาไม้ไผ่ยังไง ดูเขามาแล้วมาหัดทำ

- เล่นทุกเย็น?

ถ้าฤดูเล่นว่าว ตั้งแต่มกราฯ-กุมภาฯ-มีนาฯ-เมษาฯ หลังเกี่ยวข้าวแล้วก็เล่นทุกวัน แต่เมื่อก่อนลมจะไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนลมฤดูว่าวมันพัดทุกวันทั้งคืน ดูข้างล่างไม่มีลม แต่ข้างบนจะพัดตลอด ถ้าปล่อยเชือกประมาณ 150-200 เมตร ปล่อยไว้ทั้งวันทั้งคืน บางคนที่ผมดูนะเขาปล่อยไว้ 2-3 คืนมันก็อยู่อย่างนั้น มันติดลมบน ดูข้างล่างมีน้ำค้างต้นหญ้าเปียกหมด แต่ว่าวที่อยู่ข้างบนไม่เปียก

- มีการแข่งขัน?

ก็มี เมื่อก่อนก็แข่งกันแบบพื้นบ้าน แข่งขึ้นสูง ดูด้วยสายตา ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้จะใช้สเกลวัด เด็กๆ ก็มีเล่นว่าวครับ แต่เด็กๆ ก็เล่นกันแบบเด็กๆ เหมือนพวกผมเล่นกันแบบเด็กๆ แต่เราพอเลิกเรียนก็ดูผู้ใหญ่เล่นกัน ไปหัด เพราะมันอยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียน ไปดูเขาทำแล้วก็หาไม้ไผ่มาหัดทำ ก็ทำไปเรื่อยๆ การเรียนผมก็ปานกลาง

- ว่าวมีเสน่ห์ตรงไหน?

มันก็ดูแล้วสนุก เพลิดเพลิน การทรงตัวของว่าวเวลาขึ้นไป เสียงดังเสียงอะไร

- ครั้งแรกที่มีความคิดอยากทำว่าวตอนกี่ขวบ?

ประมาณ 8-9 ขวบ ผมดูเขามาตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่ผมไม่ได้เล่น พอดีน้าผมทำเป็นและคนข้างบ้านก็ทำเป็น มีทุกประเภททั้งว่าวควาย-ว่าวพื้นบ้าน ว่าววงเดือน ว่าวนก ก็มีครับ พอหน้าว่าวเขาทำว่าวเล่นอยู่ทุกวัน คนแก่ๆ ก็เล่น เราก็ศึกษาเขามาว่า ว่าวตัวใหญ่ขนาดนี้ ความกว้างของปีกความยาวของปีกขนาดนี้ มันจะได้ขนาดไหน คล้ายๆ กับว่าเลียนแบบเขามาเหมือนกัน คือแต่ก่อนผมทำว่าวเลียนแบบ แต่ของผมจะไม่เหมือนทางสตูล เป็นว่าวนกว่าวอะไร (หัวเราะ) พอย้ายมาอยู่สตูลก็ไม่ได้เล่นเลย จนเกษียณจึงได้กลับมาเล่นอีกครั้ง ก็ประมาณ 15-20 ปี

- เป็นว่าวทางไหน?

สตูลเหมือนกัน แต่คนที่ทำว่าวที่สตูลไม่ใช่กำเนิดจากสตูล จากจังหวัดอื่นทั้งนั้น ส่วนมากมาจากสงขลาบ้าง พัทลุงบ้าง ตรังก็มี แต่ว่าแต่ละคนย้ายมาอยู่สตูลนานแล้ว

ว่าวตัวไหนใครทำ ดูได้ตั้งแต่การเหลาไม้ การผูกเชือก ขนาดกระดูกไม่ใช่เท่ากัน (ว่าวควาย) ส่วนบนจะใหญ่กว่า ส่วนล่างจะเล็กกว่า ถ้าแอกใหญ่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น ว่าวที่ทำแข่งช่วงปีกบน 52 ซม. และช่วงล่างจะให้ยาวกว่า 1-2 ซม. เสียงดังจะก้องกังวาน

- ดูออกไหมว่าว่าวตัวนี้เป็นของคนสตูลรึเปล่า?

ผม ดูออกหมดว่าว่าวตัวไหนใครทำ วิธีการผูกเชือกไม่เหมือนกัน อย่างผมผูกแบบทแยงมุม บางคนก็ผูกพันไปพันมา จะไม่เหมือนกัน สตูลแต่ละคนที่ผูกเชือกก็ไม่เหมือนกัน บางคนผูกเชือกมาก ของผมผูกไม่เกิน 4 รอบ ถ้าตัวเล็กแค่ 3 รอบ เพราะถ้าผูกมากจะดูไม่สวยงาม

- มีเทคนิคการทำว่าวอย่างไร?

มาตรา ส่วนการทำว่าว (ว่าวควาย) ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ความใกล้เคียงมันมีอยู่ การทำว่าวถ้าทำแข่งก็อีกแบบหนึ่ง ถ้าทำเล่นก็อีกแบบ สัดส่วน (กลางอก) บน-ล่างจะเท่ากัน ประมาณ 50 ซม. แต่ถ้าทำว่าวแข่งจะยืดด้านล่างออกไปอีกหน่อย เพื่อให้แอกใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย โดยช่วงหัวจากปีกบน 50 ซม. ปีกล่างจะประมาณ 52 ซม.

แต่เทคนิคการทำ มีตั้งแต่การเหลาไม้ไผ่ การผูกเชือกต้องมีความประณีต ว่าต้องมีการทรงตัว เวลาลอยอยู่กลางอากาศจะลอยได้ดี และต้องดูลมด้วยว่าปีนี้ลมแรงหรือเปล่า ถ้าลมแรงก็ต้องทำปีกแข็งหน่อย ถ้าลมอ่อนก็ทำปีกอ่อนตามลม แล้วมันก็จะขึ้นเอง

- ถ้าสอบตกเลขคณิตทำว่าวได้ไหม?

ได้ครับ ทำไมจะทำไม่ได้ (ยิ้มกว้าง)

นี่ผมเพิ่งกลับจากกรุงเทพฯ ไปสาธิตการทำว่าวเพิ่งกลับมา สัดส่วนการทำว่าวสัดส่วนจะคล้ายๆ กัน (กลางอก) บน-ล่างจะเท่ากัน ประมาณ 50 ซม.

- เป็นความรู้ที่ได้จากการทำว่าวแข่ง?

(หัวเราะ) 9 ขวบผมทำเป็นแล้ว ทำว่าวนกว่าวอย่างอื่น แล้วค่อยขยับมาเป็นว่าวควาย ครั้งแรกที่ทำว่าวควายใส่ (แอก) 2 อัน พอมันไม่พอดี ต้องใส่เพิ่ม เพราะเราต้องดูน้ำหนักและความลาดชันของว่าว ถ้าจับที่ปลายปีก 2 ข้าง ตัวว่าวต้องเอียง 10-15 องศา ไม่อย่างนั้นไม่ขึ้น ซึ่งการจับที่ปลายปีกทั้งสองด้านยังเป็นการตรวจความสมดุลของน้ำหนักด้วย

- มีเด็กๆ มาเรียน?

มี ครับ เกือบทุกปี ประมาณ 4 ปีแล้ว อาจารย์จะมีพาเด็กประถมมาเรียน มาที 3-5 คน แล้วแต่ความสมัครใจของเด็ก ครูจะติดต่อมาก่อนบอกว่าอยากให้เด็กเรียนรู้ อาจจะอยากให้ไปออกรายการที่ไหน มาเรียนทีก็ตั้งแต่เช้าจนเย็น บางครั้งก็มาแค่วันเดียว สองวัน เราก็หัดให้เหลาไม้ไผ่ ผูกเชือก ก็พอทำว่าวเป็น แต่บางครั้งอาจารย์ก็พามาอีก

- แค่รู้มาตราส่วนก็ทำว่าวได้?

ได้ ครับ อย่างที่บอก พอเด็กจดไปมาตราส่วนไปแล้ว เราสอนการเหลากระดูก ปีกว่าวขนาดนี้ต้องเหลาขนาดนี้ แล้วให้เด็กทำเอง ตรงไหนดูแล้วไม่ได้ส่วนก็แนะนำ เด็กไปทำแข่ง วันก่อนอาจารย์โรงเรียนเทศบาล 2 มาบอกว่าไปแข่งระดับจังหวัด แล้วแข่งอีกทีที่ภูเก็ต ได้รางวัลที่ 2 ระดับประถม

- คนที่เป็นเซียนว่าวจริง เก่งมากๆ มีสักกี่คน?

ถ้าเก่งทำว่าวที่รู้ๆ อยู่ก็มี สงขลา สตูล ตรัง และพัทลุงบางส่วน แต่ถ้าว่าวควายเสียงดังก็จะเป็นสตูลกับสงขลาที่ ฝีมือเก่ง--สตูลก็มี พวกผม แล้วก็สงขลาก็มี มันขึ้นกับลมด้วยอะไรด้วย มีไม่เยอะเท่าไหร่ สตูลก็ 5-6 คน ถ้าสงขลาที่รู้จักกันอยู่ก็ 3-4 คน แต่ถ้าสมัยก่อนไม่ได้แข่ง เพียงแต่พอเกี่ยวข้าวเสร็จก็ทำว่าวเล่นกัน โชว์กัน

- การแข่งว่าวยังเน้นความสนุกเหมือนเดิม มีการชิงชัยระดับต้องปิดเป็นความลับหรือเปล่า? มีการขโมยว่าวเพื่อกลั่นแกล้งกันมั้ย?

ไม่มีปิดเป็นความลับ ความสามารถแต่ละคนไม่เหมือนกัน อยู่ที่การทำปีกแล้วแข็งอ่อนมั้ย เรื่องแกล้งขโมยว่าวไม่มีครับ นอกจากเด็กๆ ก็อาจมีหายเหมือนกัน

- คนจะทำว่าวต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?

การ เล่นว่าว ต้องชอบด้วยนะ ว่างจากงานก็มาทำว่าว มาวางกัน (คนที่จะเก่งว่าว) คนทำว่าวต้องเข้าใจทำ และมีความประณีตด้วย ต้องรู้เกี่ยวกับลม การเหลาไม้ไผ่ และการทำว่าวต้องมีมาตราส่วน อาจจะพลิกแพลงได้นิดหน่อย

- นอกจากแข่งว่าวควายแล้ว ลงแข่งประเภทอื่น?

ประเภท มาราธอน ผมวางไปแล้ว ว่าวมาราธอนถ้าขึ้นแล้วการทรงตัวดีก็ได้แล้ว แต่ถ้าว่าวเสียงดังต้องดูว่าการโยกไปซ้ายไปขวามันเท่ากันหรือเปล่า ลมขนาดนี้อยู่ได้หรือเปล่า

- คิดยังไง ทำแข่ง ทำขาย?

แรกก็ทำ แข่ง ไม่ได้คิดทำขาย พอแข่งๆ มันก็เหนื่อย เวลาเราได้รางวัลมันก็ดีใจ แต่พอไม่ได้รางวัลมันก็เหนื่อย (ยิ้ม) เสียทั้งเงิน ทั้งเหนื่อยด้วย ปีที่แล้วผมขายได้หลายตังค์นะ

- ทำแข่งอยู่กี่ปี?

แข่งอยู่ 2 ปี แล้วผมมองว่าทำขายดีกว่า ได้กำไรปีแรกๆ ได้หลายหมื่น ทำเป็นร้อยตัว แต่ไม่ใช่ว่าวควายอย่างเดียว ว่าวหลายๆ อย่าง ทำปีแรกได้ประมาณ 3-4 หมื่น ปีต่อมาได้ประมาณ 2 หมื่น ก็แล้วแต่ความขยันของเรา แล้วแต่ร่างกายของเรา แต่ช่วงนี้ทำไม่เยอะแล้ว เพราะตาไม่ไหวแล้ว อาศัยมือลูบเวลาเหลาไม้ไผ่

- แข่งได้รางวัลอะไร?

ผม รางวัลที่ 1 ไม่เคยได้ ได้รางวัลที่ 2 รางวัลชมเชย ถ้าเป็นรางวัลที่ 1 ได้ประมาณ 8,000 บาท ค่าสมัครถ้าเป็นสตูลก็ 50 บาท สงขลา 80 บาท ผมไปทั่ว สงขลา หาดใหญ่ บางทีก็ไปตรัง

- แล้วลงทุนไปเท่าไหร่?

กระดาษตัวหนึ่ง 3-4 แผ่น ถ้าตัวใหญ่ก็ 8 แผ่น ถ้าชนะก็กำไรครับ กำไรที่ได้เล่นว่าวและสนุก (หัวเราะเสียงดัง) ถ้าคิดเป็นตัวเงินไม่ได้ เพราะลงทุนบางทีมากกว่านั้นอีก พวกกระดาษพวกเชือกพวกอะไรก็หลายสตังค์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook