"ฮิวโก้" จุลจักร จักรพงษ์ เดินทางด้วยความเร็วสูง "อำนาจ คือภาระ ไม่ใช่รางวัล"

"ฮิวโก้" จุลจักร จักรพงษ์ เดินทางด้วยความเร็วสูง "อำนาจ คือภาระ ไม่ใช่รางวัล"

"ฮิวโก้" จุลจักร จักรพงษ์ เดินทางด้วยความเร็วสูง "อำนาจ คือภาระ ไม่ใช่รางวัล"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อ 4 ปีก่อน "เล็ก-จุลจักร จักรพงษ์" ชายหนุ่มหน้าตาดีจากตระกูลสูงศักดิ์ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ "ฮิวโก้" ได้สร้างความฮือฮาให้คนไทยที่ติดตามข่าวคราววงการเพลง ด้วยการไปทำงานเพลงที่สหรัฐอเมริกา เป็นศิลปินในสังกัดร็อค เนชั่น (Roc Nation) ของเจย์-ซี แรปเปอร์ชื่อดัง พิสูจน์ความเป็นคนดนตรีตัวจริงที่ไม่ใช่เพียงเรียกเสียงกรี๊ดด้วยรูปลักษณ์หน้าตา

ตอนนั้นฮิวโก้กลายเป็นศิลปินที่คนไทยมองว่า "โกอินเตอร์" ในขณะที่เจ้าตัวมองว่า "มันไม่ใช่การโกอินเตอร์อะไร การที่ผมมีเชื้อสายไทยไม่ได้เป็นประเด็น ที่นู่นเขาไม่รู้ว่าผมมาจากแถวนี้ เขามองว่าผมเป็นฝรั่งคนหนึ่ง"

ความสำเร็จของอัลบั้ม "Old Tyme Religion" ผลงานชุดแรกถือว่าดี ถึงจะไม่ดังเปรี้ยง แต่สำหรับเจ้าตัวบอกว่าพอใจ เพราะนอกจากเสียงตอบรับจากคนฟังที่ค่อนข้างดีแล้ว ยังได้เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตทั่วอเมริกา ซึ่งเป็นดินแดนที่เขาหลงใหลทั้งในแง่วัฒนธรรมดนตรี หนังคาวบอย และความกว้างใหญ่ของพื้นที่

ฟังดูเหมือนจะไปได้ดี...แต่ปีที่แล้วเขาหอบเอาความตั้งใจในการสร้างสรรค์ดนตรีกลับมาที่เมืองไทย หลังจากร็อค เนชั่นทำอะไรช้ากว่าที่เขาอยากให้เป็น และปีนี้ผลงานอัลบั้มชุดที่ 2 ในชื่อ "Deep in The Long Grass" ที่เขาทำได้คลอดออกมาแล้ว

"ทำไปทำมาเริ่มช้า คำตอบมันช้าเกินไปสำหรับผม ในฐานะคนมีลูกในฐานะคนที่ต้องวางแผนชีวิต เขาไม่พร้อมให้คำตอบ ผมก็เลยมาทำเอง อัลบั้มนี้ถือว่ายังอยู่ภายใต้สัญญากับร็อค เนชั่น แต่ข้อแม้เปลี่ยนไป เขาให้อิสระในการตัดสินใจ พออัลบั้มนี้จบก็ถือว่าเป็นอิสระ" เจ้าตัวเล่าที่มาที่ไป

การทำงานอัลบั้มนี้ฮิวโก้ยังเลือกยังใช้นักดนตรีที่เคยร่วมงานกันมา บางคนเจอกันตั้งแต่ช่วงที่เซ็นสัญญาเป็นศิลปินที่อังกฤษ

บางคนเป็นนักดนตรีที่เล่นให้เขาตอนทัวร์อเมริกา โปรดิวเซอร์ก็ยังเป็น เดฟ แมคแครคเกน (Dave McCracken) คนเดิมที่โปรดิวซ์อัลบั้มที่แล้ว ส่วนที่เพิ่มบุคลากรในเมืองไทยคือ เจ-มณฑล จิรา ที่ฮิวโก้บอกว่า "เขาเป็นคนเดียวที่ผมเจอ ที่ทำงานได้มาตรฐานโลก มีคนที่เมืองนอกเยอะแยะที่ไม่เก่งเท่าเขา และเขามีหลายอย่างที่ผมไม่มี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เวลาเราจะร่วมงานกับใคร เขาต้องมีในสิ่งที่เราไม่มี"

สำหรับอัลบั้มใหม่นี้ ฮิวโก้บอกว่าคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มคือทำดนตรี Grass-Hop ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างดนตรี Bluegrass และ Hip Hop

"เริ่มจากให้มือกีตาร์จากอเมริกาที่มาเล่นคอนเสิร์ต Hugo Live in Bangkok เข้าห้องอัด ให้เขาเล่นดนตรีแนวพื้นบ้านมาก ๆ แล้วเราเอามาตัดทำเพลง Twitch And Tug ขึ้นมา นอกจากนั้นอิทธิพลหลัก ๆ ก็คือซาวนด์แทร็กหนัง พวกหนังโลกอนาคต หรือโลกปัจจุบันตอนกลางคืน ผมอยากให้เพลงมันฟังแล้วเป็นการเดินทางอันหนึ่ง ไม่ใช่โดดไปโดดมาหลาย ๆ ความรู้สึก และจริง ๆ Twitch And Tug เป็นเพลงที่เน้นบรรยากาศ ผมเชื่อที่ฟิลลิป กลาส เคยพูดว่า ดนตรีคือพื้นที่ สิ่งพิเศษคือมันสามารถพาเราไปจากพื้นที่ตรงนี้ไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง" นักร้องหนุ่มเล่า

ถามว่าดนตรีอัลบั้มนี้คือการเดินทางไปไหน เขาตอบว่า "มันไม่ได้ไปไหน มันคือระหว่างทาง มันคือการเดินทางในความเร็วสูงแต่นิ่งสม่ำเสมอตอนกลางคืน"

ฮิวโก้บอกว่าอัลบั้ม Deep In The Long Grass เล่าเรื่องความรู้สึก ซึ่งเขาไม่ได้ตั้งหัวข้อไว้ก่อนว่าจะเล่าเรื่องอะไร ส่วนใหญ่ดนตรีมาก่อนแล้วค่อยมาคิดว่าเพลงนี้ควรชื่อเพลงอะไร แล้วค่อยแต่งเนื้อทีหลัง แต่ละเพลงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ได้ห่างกันมาก ใช้เวลาทั้งหมดประมาณหนึ่งปี

ในด้านหนึ่งฮิวโก้เป็นศิลปินสุดติสต์และแทบจะติสต์ในทุกเรื่อง แต่เขาเคยพูดไว้ว่า "ผมไม่ติสต์กับเรื่องความรัก" และแน่นอนว่าในวันนี้ที่เขาเป็นคุณพ่อลูกสองแล้ว ครอบครัวย่อมมีอิทธิพลต่อการทำงาน เพราะว่า "ครอบครัวมีอิทธิพลต่อทั้งชีวิต ถ้าเราจะเขียนเรื่องจริงจะร้องเรื่องจริง มันก็ต้องมีเรื่องที่เราใช้เวลากับมันมากที่สุด ก็คือลูกและครอบครัว มันคือชีวิตหลัก ฉะนั้นมันจะไม่มีอิทธิพลก็ต่อเมื่อผมเป็นพ่อและสามีที่แย่มาก แสดงว่าใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านตลอด ซึ่งผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น" เขาว่า

ถึงแม้อัลบั้มใหม่นี้จะกลับมาลุยเอง ไม่มีร็อค เนชั่น ซัพพอร์ตในแง่การโปรโมตระดับอินเตอร์แล้ว แต่ในแง่การทำงานเพลงที่อเมริกากับที่เมืองไทยฮิวโก้บอกว่า ไม่ได้ต่างกันมากไปกว่าบริษัทอเมริกาสองบริษัท คนในวงการดนตรีไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่สิ่งที่แตกต่างคือภาษากับจำนวนคนที่ใช้ภาษา ซึ่งเขามองว่าการทำเพลงภาษาอังกฤษไม่มีข้อจำกัดเหมือนเพลงภาษาไทย เพราะแม้กระทั่งคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องก็ยังฟัง นั่นหมายถึงตลาดที่กว้างกว่า เขาจึงเลือกทำเพลงภาษาอังกฤษ แม้ว่าจะทำเพลงในไทยและใช้บริษัทจัดจำหน่ายในไทย ในวันที่ถอยออกมาจากวงการเพลงที่อเมริกาแล้ว

ฮิวโก้พูดถึงวงการเพลงที่นู่นว่า "ผมไปในช่วงที่วงการดนตรีกำลังบาดเจ็บมาก ก็เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมเห็นมันเป็นภาพเหมาหรือเปล่า เท่าที่ผมเห็นคือเป็นวงการที่ต้องลดน้ำหนัก ต้องเฉือนไขมันออกจากตัวเองเยอะมาก แต่ไม่รู้ว่าต้องตัดขาหรือตัดแขนตัวเองทิ้ง น่าสงสาร แต่มันก็ทุเรศพอสมควร เพราะว่าค่ายร่ำรวยจากการเอาเปรียบศิลปินเอาเปรียบผู้ฟังมานาน

"ในเรื่องธุรกิจมันไม่มีอะไรให้ชื่นชอบมาก แต่การได้ไปอยู่ในที่เจริญเติบโตของศิลปินที่เราชื่นชอบ แน่นอนมันยิ่งใหญ่และพิเศษมากสำหรับผม การได้เห็นแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ การได้ไปบ้านเอลวิส การได้กินอาหารของแต่ละพื้นที่ การได้ไปเล่นในโรงละครกิลมอร์ที่ซานฟรานซิสโกมันมีความหมายมากสำหรับผม แต่ไม่รู้มันน่าสนใจสำหรับใครหรือเปล่า"

ส่วนวงการเพลงไทยเขามองว่า "มันก็ดูคึกคักดี เทศกาลดนตรีเยอะ โอกาสสำหรับวงใหม่ ๆ มีมากกว่าสมัยก่อน" ในขณะที่คนมากมายบ่นว่าเพลงไทยไม่ไปไหน พูดแต่เรื่องความรักอกหักรักคุด ฮิวโก้กลับมองอย่างเข้าใจว่า

"จะมองว่าเป็นฟอร์มของมันก็ได้ เหมือนกับละครโทรทัศน์ คนก็จะมองว่าทำไมมันเป็นอย่างงี้ ๆ แต่เพลงบลูส์ก็ไม่เห็นจะเปลี่ยนคอร์ดเลย มีแต่คอร์ดเดิม ๆ ผมว่ามันไม่ใช่ข้อดีหรือข้อเสีย"

สิ่งที่ฮิวโก้ได้จากการไปทำงานที่อเมริกา ไม่ใช่เรื่องชื่อเสียงหรือกระบวนการทำเพลงแบบอินเตอร์ แต่กลับเป็นความประทับใจที่ได้จากการเดินทางอย่างที่พูดไปแล้ว และอีกเรื่องหนึ่งก็คือ

"ตอนอยู่อเมริกาเราเป็นปลาตัวเล็ก จากที่เคยเป็นปลาตัวใหญ่ที่เมืองไทย เคยมีคนบริการเราเต็มที่ มีคนรู้ว่าเราเป็นใคร แต่ที่อเมริกาเราไม่ได้เป็นใครเลย เราต้องทำเอง ขนของเอง มันได้ความมั่นใจว่ากลับมาที่นี่ไม่ต้องมีจริตอะไรมากมาย ใครจะมาสงสัยเรื่องว่าผมทำอะไร ผมเป็นของจริงหรือไม่ หรือมาสงสัยเจตนา เราก็สบายใจ มันได้ความสะใจที่ไปในที่ที่คนเขาไม่รู้ว่าประวัติเราเป็นยังไง นามสกุลไม่มีความหมาย เคลียร์ปมนั้นไปเลย"

หลาย ๆ คำถามที่ถามเกี่ยวกับเรื่องศิลปินและวงการเพลง ฮิวโก้มักจะตอบในมุมของเขา แล้วตามด้วยประโยคประมาณว่า "มันก็แล้วแต่ว่าใครจะพอใจ ณ จุดไหน" แล้วสำหรับตัวเขาล่ะ...ความพอใจในอาชีพนักดนตรีของผู้ชายคนนี้คือจุดไหน ?

"หลัก ๆ คือได้ทำ และทำแล้วผลตอบรับมันดีพอให้ได้ทำต่อ แต่เดี๋ยวความพอใจกับชุดนี้มันจะหมดไป เดี๋ยวก็จะเบื่อมันและรู้สึกว่าอยากจะร้องเพลงอื่นแล้ว"

เช่นกันเมื่อพูดถึงความสำเร็จเขาบอกว่า

"ความสำเร็จมันเหมือนเป็นเป้าหมายที่ต้องคว้าไว้ แต่ความจริงแล้วชีวิตเราต้องอยู่ไปเรื่อย ๆ หลายสิบปี เพราะฉะนั้นความสำเร็จมันไม่ใช่สิ่งที่จบไปเป็นชุด ๆ ความสำเร็จมันคือการอยู่รอดและชอบในงานที่ตัวเองทำ"

ส่วนเรื่องความผิดหวังของศิลปินหนุ่มลูกครึ่ง ผู้เห็นโลกกว้างใช้ชีวิตมาหลายรูปแบบ เขารู้สึกผิดหวังกับโลกที่แย่งชิงและใช้อำนาจ "ไม่มีอะไรน่ากลัวกว่าเรื่องอำนาจอีกแล้วในโลกนี้ มันได้เรียนรู้ว่าอำนาจคืออำนาจ ระบอบประชาธิปไตยหรือกฎหมายมันแทบจะไม่สำคัญ เราอยู่ในยุคนี้แล้ว เราอยู่ในยุคที่ไร้อุดมการณ์ นั่นเป็นเรื่องที่ผมเศร้า"

"ส่วนสถานการณ์ในเมืองไทย ทุกครั้งที่มีสี่แยกสำคัญ เราเลี้ยวขวาตลอด แล้วถ้าคุณเลี้ยวขวาทุกสี่แยกคุณก็จะวนรอบตึก แล้วในที่สุดมันก็อยู่ที่เดิม อยู่ตรงนี้มาสิบปีแล้ว อันนี้ก็ช่วยไม่ได้ มันเป็นเรื่องของขั้วอำนาจที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียตรงนั้น

...ผมยอมรับว่าผมและหลาย ๆ คน คนส่วนมากก็ไม่ได้อยู่ในเกม ยิ่งเราเลือกตั้งไม่ได้...พูดไปก็หาความเสี่ยง เราก็ไม่ได้ต้องการให้ผู้มีอำนาจมาจับตามานับเราเป็นศัตรู เพราะเราแทบจะอยู่คนละโลกกัน

ผมไม่เข้าใจคนแสวงหาอำนาจเลย สำหรับผมอำนาจมันเป็นภาระ ไม่ใช่รางวัล แต่ในเมืองไทยยังมองเป็นรางวัล เป็นสิ่งที่ต้องแย่งกัน ให้ตายผมก็ไม่เป็นหรอกนายกฯ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook