จอน คาบิรา: เจ้าของเสียง “ซือโท” ในตำนานแห่งเกมวินนิ่ง

จอน คาบิรา: เจ้าของเสียง “ซือโท” ในตำนานแห่งเกมวินนิ่ง

จอน คาบิรา: เจ้าของเสียง “ซือโท” ในตำนานแห่งเกมวินนิ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสียงพากย์กับวิดีโอเกมกีฬาถือเป็นสิ่งคู่กันมาอย่างยาวนาน ที่ส่งผลในแง่ความสมจริงและอารมณ์ร่วม แต่มีนักพากย์ไม่กี่คนที่อยู่คู่กับเกมตั้งแต่ภาคแรกจนถึงภาคปัจจุบัน และเขาคือหนึ่งในนั้น

“ซือ-โท (ชู-โต) โกลลล โกลลลล โกลลลลล” น่าจะเป็นเสียงที่แฟนเกมคุ้นเคยกันดี เพราะเสียงนี้อยู่คู่กับเกมวินนิ่ง อีเลฟเวน หรือที่รู้จักในปัจจุบันว่า Pro Evolution Soccer (PES) มาตลอดนับตั้งแต่ภาคแรกที่วางจำหน่ายในปี 1995

ด้วยเสียงที่เต็มไปด้วยอารมณ์ร่วม ฟังแล้วตื่นเต้นทุกครั้งที่ยิงหรือได้ประตู ทำให้เสียงของเขาฝังอยู่ในความทรงจำของแฟนเกมชาวไทยมานานกว่า 20 ปี และแทบเป็นสิ่งแรกๆที่นึกถึงหากพูดถึงเกมฟุตบอลเกมนี้

เจ้าของเสียงนี้คือใคร Main Stand ขอพาไปรู้จักเขาให้มากขึ้น

ลูกครึ่งจากโอกินาวา
จอน คาบิรา คือชื่อของหนุ่มใหญ่ลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่นผู้นี้ เขาเป็นลูกชายของ โชเฮอิ คาบิรา ที่ต่อมาได้เป็นผู้นำนวยการอาวุโสของ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติญีปุ่น (NHK) และ วันดาลี ครูสอนภาษาสัญชาติอเมริกันในโรงเรียนของชาวอเมริกันในญี่ปุ่น

Photo : www.japantimes.co.jp

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของอเมริกา และมีการสร้างฐานทัพขึ้นที่โอกินาวา แต่ผู้ใช้พื้นที่ ก็ไม่ละเลยที่จะให้การสนับสนุนคนในท้องถิ่นด้วยการมอบทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อที่อเมริกา

พ่อของจอนคือหนึ่งในคนที่ได้รับโอกาสนั้น เขาได้รับทุนจากกองทัพสหรัฐอเมริกา ไปศึกษาต่อด้านการกระจายเสียงถึงเมืองลุงแซม ก่อนจะพบรักกับแม่ของเขา จนมี “จอนคุง” กำเนิดขึ้นมา

“พ่อของผม (ที่พ่อแม่เป็นชาวโอกินาวา) เกิดและเติบโตที่เขตปกครองพิเศษไต้หวัน ที่ก่อนสงครามเป็นของญี่ปุ่น จากนั้นเขาได้รับทุนจากกองทัพอเมริกาไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เขามีตัวเลือกระหว่างสแตนฟอร์ด (แคลิฟอร์เนีย) และมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน เหตุผลคือทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้เหมาะแก่การเรียนด้านการกระจายเสียง”

“เขาเลือกมิชิแกน และนั่นคือเหตุผมว่าทำไมผมถึงอยู่ตรงนี้ เพราะว่าเขาพบและตกหลุมรักภรรยาในอนาคต ซึ่งเป็นแม่ของผมเอง ที่อีสต์ แลนซิง”

ทว่าด้วยความเป็นลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่นก็กลายเป็นดาบสองคมทิ่มแทงเขา

ถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็ก
แม้จะเติบโตขึ้นมาบนผืนแผ่นดินญี่ปุ่น แต่คาบิรา กลับพบความลำบากในการดำเนินชีวิต เมื่อเขาพบว่าความเป็นลูกครึ่งของเขา กลายเป็นความแตกต่างที่ทำให้เขาถูกกลั่นแกล้ง

Photo : www.japantimes.co.jp

ด้วยความที่ในสมัยนั้นชาวโอกินาวา มีความรู้สึกต่อต้านอเมริกาเป็นอย่างมาก จากการเข้ามายึดครองโอกินาวาเป็นเวลานานหลายปี ทำให้ คาบิรา กลายเป็นเป้าโจมตี เนื่องจากเขามีเลือดของชาวอเมริกันที่คนในท้องถิ่นเกลียดอยู่ครึ่งหนึ่ง

“ผมมีชีวิตที่ยากลำบากที่โรงเรียน เหตุผลง่ายๆเลย ผมถูกแกล้ง เพราะว่าผมต่างจากคนอื่น-ผมเป็นลูกครึ่ง มีเรื่องโชคร้ายมากมายสำหรับเด็กลูกครึ่งที่โอกินาวาในสมัยนั้น ทหารอเมริกันและผู้หญิงโอกินาวาไม่ได้มีชีวิตหลังการแต่งงานที่มีความสุขเสมอไป บางทีเด็กๆก็อาจจะไม่ได้เป็นที่ต้องการ เด็กบางคนไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของพวกเขาด้วยซ้ำ”

“การอาศัยอยู่ในโอกินาวา ที่ปกครองโดยกองทัพอเมริกา แม้ว่าจะไม่ใช่รัฐบาลอเมริกัน แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับชาวอเมริกัน อาจจะไม่ได้รับการต้อนรับจากทุกคน”

จากความกดดันดังกล่าวทำให้ คาบิรา ตัดสินใจไปพักเยียวยาจิตใจที่อเมริกาตอนอายุ 10 ขวบนานถึง 1 ปี ที่บ้านคุณลุงที่แคนซัส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณแม่ของเขา

“ผมมีช่วงเวลาที่ยากลำบากที่โรงเรียนประถม ผมคิดว่าการไปอเมริกาน่าจะเป็นการหยุดพัก หลีกหนีจากมัน และผมพยายามได้เจอโลกทัศน์ใหม่ๆ”

“(บ้านของลุง) อยู่ทางตอนกลางของอเมริกา เป็นเมืองเล็กๆที่เคร่งศาสนาและผู้คนมีมโนธรรม เป็นเมืองโปรแตสแตนซ์ ซึ่งหมายความว่าเป็นเมืองไม่กี่เมืองที่ไม่ได้สนับสนุนสงคราม (เวียดนาม)”  

หลังจากกลับจากอเมริกา คาบิรา มีโอกาสได้ย้ายตามพ่อจาก โอกินาวา เข้ามาอยู่ในเมืองหลวงอย่างโตเกียว ซึ่งแม้จะย้ายเมือง แต่ความคิดของคนก็ไม่ได้ได้เปลี่ยนไป กลับกันเขายิ่งโดนดูถูกมากกว่าเดิมจากความเป็นคนต่างจังหวัด จนทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนชาวอเมริกันในญี่ปุ่น

Photo : www.japantimes.co.jp

“ตอนแรกผมไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมต้นของรัฐบาลที่เซตางายะ (ชื่อเขตหนึ่งของโตเกียว) มันน่าสนใจมาก เพราะย้อนกลับไปในปี 1972 ความเข้าใจเกี่ยวกับโอกินาวาน้อยมากจนน่าตกใจ”

“ครูสอนสังคมถามผมถามผมว่ามีรายการทีวีหรือวิทยุที่นั่นมั้ย ผมจึงต้องตอบไปว่า ‘ขอโทษครับ พ่อผมทำงานอยู่ที่นั่น’ ดังนั้นผมจึงค่อนข้างเข้าใจพ่อของผมว่าต้องเจออะไร ตอนที่เขามาโตเกียวเป็นครั้งแรกหลังสงคราม ผมได้ยินมาว่าชาวโอกินาวา ถูกดูถูกมากในญี่ปุ่น ว่าเป็นพวกไม่มีการศึกษา ไม่มีวัฒนธรรม หรือเป็นคนล้าหลัง”

เป็นดีเจโดยไม่ตั้งใจ
หลัง คาบิรา ตัดสินใจหนีความกดดันจากการถูกเหยียดเชื้อชาติไปเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนานาชาติ เขาก็เริ่มปรับตัวกับบ้านเกิดได้ ก่อนที่จะใช้ความสามารถที่พูดได้สองภาษาทำงานในฝ่ายต่างประเทศของ CBS Sony หรือ Sony Record บริษัทเพลงชื่อดังของญี่ปุ่น


Photo : www.japantimes.co.jp

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งของเขาในตอนนั้นแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้เสียงที่เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้เลย เมื่องานส่วนใหญ่ในฝ่ายต่างประเทศคือการเป็นคนกลาง, ติดต่อประสานงาน และเจรจากับฝ่ายต่างประเทศ

คาบิรา ทำงานได้ที่นั่นอยู่ได้ไม่กี่ปีก็เริ่มหมดไฟ และในช่วงเวลานั้นเอง เขาก็ได้รับโอกาสครั้งสำคัญอย่างไม่ได้ตั้งใจจากอดีตเจ้านายเก่า ที่ทำให้ได้ใช้พรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวออกมาอย่างเต็มที่

“จริงๆแล้วมันเป็นเรื่องส้มหล่นนะครับ อดีตเจ้านายของผมที่เป็นฝ่ายเพลงต่างประเทศถูกย้ายไปบริษัทในเครือของ CBS Sony ที่ทำหน้าที่ผลิตโฆษณาหรืออาร์ทเวิร์คให้อุตสาหกรรมเพลง เขาใช้คอนเน็คชั่นในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายเพลงต่างประเทศ เปิดระดมทุนเพื่อผลิตรายการวิทยุขึ้นมา”

“เขาได้ช่วงออกอากาศที่ FM โยโกฮามา เขาโทรหาผมและถามว่า ‘จอน เรามีสล็อตเวลาออกอากาศช่วงหนึ่งที่รายการวิทยุรายการใหม่ที่ โยโกฮามา ขอแรงคุณหน่อยได้มั้ย’ แน่นอนผมทำแบบฟรีๆ ทำมันหลังเลิกงาน”

และจากการเป็นดีเจที่ FM โยโกฮามานี่เอง เสียงทุ้มเสน่ห์ของเขาก็ไปเตะหูคนจาก เดนสึ บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่กำลังมองหาดีเจหน้าใหม่อยู่พอดี ก่อนที่ท้ายที่สุดจะได้มาร่วมงานกันที่ J-Wave และอยู่คู่กับรายการนี้มาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี

“ใครสักคนที่ดูแลเรื่องโปรโมชั่นทางวิทยุของเดนสึที่กำลังเตรียมทำรายการวิทยุรายการใหม่ที่ชื่อ J-Wave และกำลังมองหาดีเจหน้าใหม่ เขาได้ฟังและประทับใจในเสียงของผม รายการของผม หรืออะไรบางอย่างในตัวผม เขาโทรหาเพื่อนของเขาที่ CBS Sony Record (เพื่อบอกว่าเขาสนใจผมสำหรับรายการวิทยุรายการใหม่) ผมตอบไปว่า ‘ว้าว’ ผมคิดว่าบางทีผมอาจจะลองทำดู”

“และตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกัน น่าจะช่วงปี ‘85 ถึง ‘87 รุ่นพี่ของผมที่ Sony Record บอกว่า ‘คาบิระคุง ฉันลงทะเบียนลงแข่งดีเจภาษาอังกฤษให้คุณแล้วนะ ชื่อคุณอยู่ตรงนี้ มาพร้อมกับเอาเทปเดโมมาด้วยนะ’ ผมตอบไปว่า ‘อะไรนะ’ เธอบอกว่า ‘แต่คุณก็รู้ ถ้าคุณชนะคุณจะได้ไปอเมริกา เขาให้รางวัลเป็นทริปทัวร์ฝั่งตะวันตกของฝั่งอเมริกา 4 คืน 6 วันเลยนะ ผมบอกโอเค และส่งเทปไป มันผ่านรอบคัดเลือก ผ่านถึงรอบสัมภาษณ์ ผ่านไปถึงรอบชิง ไปจนชนะเลิศ”

จากจุดเริ่มต้นนี้ได้กลายเป็นประตูที่ทำให้เขาได้มาเป็นส่วนหนึ่งของเกมระดับตำนานอย่างวินนิ่ง อีเลฟเวน

เสียง “ซือโท” ในตำนาน
ในปี 1995 ได้มีนวัตกรรมใหม่ที่เปลี่ยนโลกอย่างที่ชื่อว่า “เพลย์สเตชั่น” ถือกำเนิดขึ้นมา และ โคนามิ บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ก็ไม่รอช้า ปล่อยเกมฟุตบอลที่ชื่อว่า “เจลีก จิกคิว วินนิ่ง อีเลฟเวน” ออกมา โดยมีผู้บรรยายเกมที่ชื่อว่า“จอน คาบิรา”    

Photo : www.japantimes.co.jp

แม้ก่อนหน้านี้ คาบิรา จะได้ชิมลางเป็นคนให้เสียงในเกมกีฬาอย่าง Extra Inning (เกมเบสบอล) และ Super Soccer (เกมฟุตบอล) ซึ่งเป็นเกมฟุตบอลของเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม ในปี 1991 แต่ด้วยความนิยมของเกมดังกล่าวที่ไม่มากนัก ทำให้เขาไม่ได้ถูกจดจำเท่าไร

ก่อนที่คาบิราจะมาเฉิดฉายในเกมวินนิ่ง จากตำแหน่งผู้บรรยายเกม ด้วยน้ำเสียงที่ทุ้มและทรงพลัง และเต็มไปด้วยอารมณ์ราวกับชมเกมจากทีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวะยิงประตูด้วยเสียง “ซือโท โกลลลลลลลล” (ชูโท - แปลว่า ยิงไปแล้ว มาจากคำว่า シュート) ทำให้เสียงของเขากลายเป็นซิกเนเจอร์อยู่คู่เกมวินนิ่งมาอย่างยาวนาน

สำหรับแฟนเกมชาวไทย เชื่อว่าน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับเสียงของเขาตั้งแต่วินนิ่ง 3 หรือชื่อเต็มว่า “เวิลด์ ซ็อคเกอร์ วินนิ่ง อีเลฟเว่น 3 ไฟนอล เวอร์ชั่น” ซึ่งออกมาในช่วงกระแสฟุตบอลโลก 1998 ซึ่งถือเป็นภาคยอดนิยมของแฟนชาวไทยไม่แพ้วินนิ่ง 4  

คาบิรา ถือเป็นนักพากย์คู่บุญของ วินนิ่งมาโดยตลอด นับตั้งแต่ภาคแรกในปี 1995 เสียงพากย์ของเขาก็อยู่ในเกมเกือบทุกเวอร์ชั่น แม้กระทั่งวินนิ่ง 2019 ที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม หากนับเป็นปีก็เรียกได้ว่ายาวนานกว่า 23 ปีเลยทีเดียว

นอกจากงานด้านพากย์เสียงแล้ว คาบิรา ยังมีบทบาทในโฆษณาของวินนิ่งอีกด้วย โดยในปี 2016 เขารับบทเป็นคนขับแท็กซี่ในโฆษณาที่ชื่อว่า “วินิอิเระ มาตะยาโรเซะ!” (มาเล่นวินนิ่งกันอีกทีมั้ยหรือวินนิ่งมั้ยสาด) ที่บอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มใหญ่ที่กลับไปสัมผัสบรรยากาศของวินนิ่งในวัยรุ่นจากความฝัน

ล่าสุดเขาเพิ่งจะไปเป็นพิธีกรเปิดตัวการจับมือกันระหว่างเจลีกกับวินนิ่ง ที่เพิ่งแถลงข่าวเต็มรูปแบบในงาน โตเกียว เกมส์ โชว์ 2018 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
 

ไม่ใช่แค่วินนิ่ง
นอกจากบทบาทกับเกมวินนิ่งและดีเจแล้ว คาบิรา ยังได้มีโอกาสทำงานด้านทีวีในฐานะพิธีกรหรือผู้บรรยายอีกหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น “เอโกะ ชาเบราไนท์” ทางช่อง NHK “โยรุโนะไวโดะดามาชี” ทางช่อง TBS หรือรายการฟุตบอลอย่าง FOOTBALL CX ทางช่อง ฟูจิทีวี

Photo : www.japantimes.co.jp

เขายังมีผลงานในภาพยนตร์และทีวีในฐานะผู้พากย์เสียงให้กับหนังเรื่องดังทั้ง  Goal, โปเกมอน เดอะ มูฟวี และ เชร็ค 2-3 หรือการ์ตูนดังจากฝั่งตะวันตกอย่าง Thomas & Friends  

ในปี 2010 คาบิรา ได้รับโอกาสครั้งใหญ่ด้วยการเป็นพิธีกรร่วมของงานเป่ายิ้งฉุบ เลือกเซ็นเตอร์ ซิงเกิ้ลที่ 19 ของ AKB48 และเคยเป็นพิธีกรงานประกาศรางวัลเจลีกอวอร์ดของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นในปี 2002-2010 และ 2013  รวมถึงได้รับเกียรติให้เป็นพิธีกรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือฟุตบอลโลก 2018 ทางช่องฟูจิทีวี

ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี นับตั้งแต่เสียงของคาบิรา ได้เผยแพร่สู่หูชาวโลกผ่านเกม วินนิ่ง อีเลฟเวน จนถึงวันนี้เขาได้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมกับสื่อในหลายแขนง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงการสื่อแดนอาทิตย์อุทัยได้อย่างกลมกลืน 

จากลูกครึ่งผู้โดนกลั่นแกล้งและดูถูกในวัยเด็ก สู่การเป็นนักพากย์, ผู้บรรยาย, พิธีกรหรืออาชีพอีกมากมาย ที่ทุกคนต่างให้การยอมรับ และยืนหยัดอยู่ในวงการสื่อมานานกว่า 30 ปี

คำว่า “ตำนานแห่งเกมวินนิ่ง” น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องพิสูจน์คุณภาพของตัวเขาได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง:

https://www.japantimes.co.jp/life/2013/06/02/people/language-no-barrier-to-multi-media-jon-kabira/#.W6ilyPloQkI
https://www.4gamer.net/games/357/G035779/20180920098/
https://www.j-wave.co.jp/original/tokyounited/
https://www.fujitv.co.jp/fujitv/news/pub_2018/180611-172.html
https://www.sma.co.jp/s/sma/artist/91?ima=0000#/news/0

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook