แว่นกันแดด ไม่ใช่แค่เรื่องของแฟชั่น
แม้ว่าลมหนาวจะเริ่มพัดโบกโบย หลังเม็ดฝนเริ่มซา แต่ในความหนาวเย็นก็ยังนำมาซึ่งแสงแดดที่แจดจ้าในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะเมืองไทย ที่ยามหนาว ไม่ได้หนาวเหน็บ แต่ยามร้อน ต้องบอกว่าร้อนตับแทบแตก เพราะบ้านเราเป็นประเทศในเขตเมืองร้อน มีแสงแดดแรง แต่ไม่ได้หมายความว่า ความเคยชินจะทำให้เราใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวัง
การเปิดหน้าอ้าแขนรับรังสียูวีจากแสงอาทิตย์มากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางตาตามมา ซึ่งควรจะหลีกเลี่ยงช่วงเวลา 10.00-14.00 น. ที่เป็นช่วงรังสียูวีแรงที่สุดของวัน แต่จะให้ดีควรจะหลีกเลี่ยงแสงแดดจนถึงเวลา 16.00 น. นอกจากการทาครีมกันแดด การสวมหมวกปีกกว้างแล้ว หลายคนจะมีแว่นกันแดดติดตัวทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้านหรือเวลาขับรถ สัปดาห์นี้จึงอยากรู้ที่มาของ "แว่นกันแดด" กันบ้าง
แว่นกันแดดเริ่มใช้ครั้งแรกในประเทศจีน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 หรือก่อนหน้า ตัวเลนส์เหมือนกระจกบานหน้าต่าง ทำจากแร่ควอตซ์หรือหินเขี้ยวหนุมานสีเขม่า ตามบันทึกในเอกสารสมัยใหม่ของจีน บอกว่า ผู้พิพากษาในศาลจะสวมแว่นเพื่อปิดบังสีหน้าและแววตา ขณะสอบปากคำพยานในศาล เพื่อขจัดความลำเอียง ที่อาจมีผลต่อการพิจารณาคดี
หลังจากนั้นมีการทดลองและพัฒนาแก้ไขข้อบกพร่องของเลนส์มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 1936 เอ็ดวิน เอช แลนด์ เป็นผู้ริเริ่มทดลองเปลี่ยนเลนส์ของแว่นกันแดด เป็นแผ่นโพลารอยด์ ซึ่งเป็นแผ่นกรองแสงแบบโปร่งใส และได้จดสิทธิบัตรไว้ โดยถือเป็นแม่แบบของแว่นกันแดดในปัจจุบัน
ปัจจุบัน แว่นกันแดดกลายเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและราคา เลนส์แว่นกันแดดที่นิยมใช้มี 3 ชนิด คือ เลนส์พลาสติก ซึ่งแพร่หลายที่สุด เลนส์แก้ว จะใสกว่าพลาสติก แต่น้ำหนักมากกว่าและยังแตกได้ด้วย และเลนส์พลาสติกชนิดโพลีคาร์บอเนต มีน้ำหนักเบาที่สุด ทนทานต่อแรงกระแทกได้ดี มักใช้ทำแว่นสำหรับเล่นกีฬาหรือกิจกรรมโลดโผน
ใครที่กำลังตัดสินใจจะเลือกซื้อแว่นกันแดด ต้องตระหนักด้วยว่า แว่นกันแดดที่ดี ไม่ได้วัดกันที่ราคา แต่สารที่เคลือบเลนส์ต้องป้องกันรังสียูวีได้ดี ราคาที่ถูกหรือแพง อาจแตกต่างกันที่แบรนด์ วัสดุและสไตล์การเลือกแว่นกันแดดที่ได้มาตรฐาน ต้องสามารถกรองรังสียูวี บี(UVB) ได้อย่างน้อย 70% ซึ่งเป็นรังสีที่อยู่ในย่านความถี่ 280-315 นาโนเมตรได้และป้องกันปริมาณรังสียูวี เอ (UVA) ที่อยู่ในย่านความถี่ 100-280 นาโนเมตร ไม่ว่าจะอยู่กลางแดดจ้าหรือไม่
แว่นกันแดดที่ไม่มีคุณภาพ หรือแว่นแฟชั่นที่สวมใส่เพื่อความสวยงาม อาจมีราคาถูก แต่ต้องระวังว่า นอกจากไม่ช่วยป้องกันรังสียูวีแล้ว อาจเป็นอันตรายต่อดวงตา เพราะปัญหาโลกร้อนมีผลโดยตรงต่อการเกิดโรคต้อกระจก บางรายอาจตาบอดได้
วิธีดูว่าเลนส์มีคุณภาพดีหรือไม่ เมื่อมองเส้นตรงผ่านเลนส์ข้างใดข้างหนึ่ง แล้วขยับแว่นเลื่อนเข้าเลื่อนออกช้าๆ เส้นตรงนั้นต้องไม่คดเบี้ยว ส่วนสีของเลนส์ที่เหมาะสม คือ สีแดง เทา เขียว น้ำตาล เพราะจะไม่ทำให้การมองสีอย่างเช่นสีไฟสัญญาณจราจรผิดเพี้ยน
รูปแบบและดีไซน์มีให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ ที่สำคัญคือต้องเลือกให้เหมาะกับกิจกรรมและรูปหน้าของตัวเอง ใส่แล้วต้องสบายตา ช่วยปกป้องจากแสงแดดและถนอมดวงตาได้จริง เรื่องราคาและยี่ห้อขึ้นกับน้ำหนักเงินในกระเป๋า จะรักจะชอบสะสมมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับความพึงพอใจของแต่ละคน
.............................................................................................................................
พร้อมด้วยหลากหลายบทความเกี่ยวกับ สุขภาพ สาวสวย และที่เที่ยวกลางคืนได้ที่นี่