สนทนากับบู้ Slur ว่าด้วยอนาคต 5 ปีข้างหน้าของ Rompboy

สนทนากับบู้ Slur ว่าด้วยอนาคต 5 ปีข้างหน้าของ Rompboy

สนทนากับบู้ Slur ว่าด้วยอนาคต 5 ปีข้างหน้าของ Rompboy
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ หรือที่เรารู้จักในชื่อ บู้ มือเบสของวง Slur วงดนตรีที่อยู่ในใจใครหลายคน ได้สร้างแบรนด์เสื้อผ้านามว่า Rompboy ในช่วงเวลาที่เขาบอกว่า เป็นห้วงเวลาที่ตัวเขายังไม่มีเงินมากนัก

ก่อนที่กาลเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันแบรนด์ Rompboy กลายเป็นสตรีทแวร์สัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับ มาแรงทุกคอลเลคชัน ไม่ว่าจะเป็น Rompboy Shoes 4: Black to Basic Limited Edition ที่เป็นรองเท้าแฮนด์เมดย้อนกลับไปยุค 60s ที่ใช้สีคลาสสิคคงกระพันอย่างสีขาวและสีดำ

ขณะเดียวกัน Rompboy Back to school ซึ่งเป็นรองเท้านักเรียนคุณภาพสูง ถูกอกถูกใจนักเรียนที่อยากมีแฟชั่นเล็กๆ แต่ยังถูกระเบียบได้เป็นอย่างดี ไปจนถึงสินค้าในเทศกาลพิเศษอย่างวันสงกรานต์ที่จับมือร่วมกับ Tuna Dunn นักวาดภาพประกอบสายมินิมอล การคอลแลบกับผู้ผลิตแว่นตาสไตล์วินเทจร่วมกับคุณหมวยการแว่น แม้แต่แบรนด์กระเป๋าชื่อดังจากญี่ปุ่น anello ก็เคยมีคอลเลคชันพิเศษร่วมกันมาแล้ว ไปจนถึงโฆษณาขายรองเท้าที่ดูเหมือนไม่ขาย ซึ่งเคยเป็นที่พูดถึงบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง Rompboy - 39 

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Rompboy คืออะไร? สิ่งใดที่ผลักดันให้ Rompboy เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้? แล้วทิศทางในอนาคตข้างหน้าที่ไม่ใกล้ ไม่ไกล ของแบรนด์นี้จะเป็นอย่างไร? นี่คือสิ่งที่ Sanook! Men อยากจะคุยกับ บู้ ธนันต์

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Rompboy

1531728714339ที่มาของ Rompboy มาจากคำในพจนานุกรม

สิ่งแรกที่ธนันต์ เล่าให้ฟังเป็นเรื่องแรก นั่นคือ จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Rompboy มาจากช่วงรอยต่ออัลบั้มของวง Slur ซึ่งในระหว่างนั้น ธนันต์ไม่มีเงินในกระเป๋าสักเท่าไหร่ จึงตัดสินใจอยากลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้มีค่าขนมติดกระเป๋า จึงตั้งคำถามกับตัวเอง เหมือนกับการค้นหาตัวตนในช่วงวัยรุ่นว่า อะไรคือสิ่งที่อยากทำ กระทั่งตกผลึกไปที่การทำเสื้อผ้าเกี่ยวกับผู้ชายโดยเฉพาะ

ธนันต์ อธิบายต่อไปว่า หลังจากกำหนดสิ่งที่อยากทำได้แล้ว สิ่งต่อไปคือ การคิดชื่อแบรนด์ ซึ่งเขาบอกว่า ได้ใช้วิธีการที่ Very mass นั่นคือ การเปิดหาคำในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ คำไหนโดนใจก็เอาคำนั้นมาใช้ไม่มีอะไรซับซ้อน

“ตอนนั้น คำที่เจอในพจนานุกรม คือคำว่า Romp ซึ่งชอบมาก รู้สึกว่ามันเป็นคำที่เรียกง่าย เข้าใจง่าย เพราะ Romp มันแปลว่า วิ่งเล่น ทีนี้พอนำคำว่า Boy มาขยายต่อกลายเป็น Rompboy มันน่าจะทำให้คนเข้าใจได้ทันทีว่า มันเป็นเสื้อผ้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อเด็กผู้ชายโดยเฉพาะ” ธนันต์ ย้อนถึงวันวาน

คอลเลคชันแรกที่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ฝัน

เมื่อมีครบทั้งสิ่งที่อยากจะทำและชื่อเรียกของแบรนด์ ก็ถึงคราวที่ต้องลงมือพัฒนาคอลเลคชันแรกของ Rompboy ออกมาเสียที ซึ่งธนันต์ ยอมรับว่า ช่วงแรกที่ทำ Rompboy มันไม่ได้สวยหรูเหมือนภาพที่วาดฝันเอาไว้

“ด้วยความที่ผมเป็นนักดนตรี ผมจึงตัดสินใจพัฒนาคอลเลคชันที่ผลักดันในสิ่งที่นักดนตรีหรือคนที่เกี่ยวข้องกับดนตรีต้องการ โดยคอลเลคชันแรกๆ เป็นกางเกงขาสั้น ที่ให้นักดนตรีใส่สำหรับเล่นคอนเสิร์ต ซึ่งเวลาที่เล่นคอนเสิร์ตนักดนตรีจะต้องการที่เก็บอุปกรณ์จำพวกปิ๊ก สายกีตาร์สำรอง ที่เก็บ Ear Monitor แล้วผมก็คิดถึงคนทำงานเบื้องหลังอย่างแบ็คสเตจด้วย ก็เลยเบลนด์ทุกอย่างเข้าด้วยกัน กลายเป็นกางเกงที่คนทำงานดนตรีสามารถใส่มันเพื่อเก็บของจุกจิกต่างๆ ได้”

แต่กว่าที่ Rompboy คอลเลคชันแรกจะหมดสต็อกจริงๆ ก็ใช้เวลานานถึงสี่เดือน ทั้งที่สินค้าล็อตแรกผลิตมาก็แค่หลักร้อยตัวเท่านั้น

เมื่อถามถึงจุดเปลี่ยนของแบรนด์ Rompboy บู้ ธนันต์ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้แบรนด์ Rompboy เป็นที่รู้จักมากขึ้น มาจากการที่สินค้าล็อตแรก มีบรรดาเพื่อนศิลปินช่วยซื้อบ้าง ใส่กางเกงของ Rompboy ขึ้นเล่นคอนเสิร์ต ทำให้คนพบเห็นมากขึ้น เกิดการบอกต่อปากต่อปาก พอมีการพูดถึงมากขึ้น คราวนี้มันเริ่มติดตลาดขึ้นมาจริงๆ เริ่มมีคนนอกวงการดนตรีมาซื้อ กระทั่งสินค้าคอลเลคชันของ Rompboy จากเดิมที่ใช้เวลานานถึงสี่เดือน ค่อยๆ เขยื้อนมาเป็นหมดภายในชั่วโมง จากชั่วโมงเป็นนาที และจากนาทีสู่วินาที

ปัจจัยที่ทำให้ Sold Out ด้วยเลขหลักวินาที

1531728705040ความคิดสร้างสรรค์ คือ สิ่งสำคัญของ Rompboy

แน่นอนว่า การที่แบรนด์เครื่องแต่งกายสัญชาติไทย สามารถขึ้นป้าย Sold Out ด้วยตัวเลขหลักวินาที มันต้องมีแง่มุมบางอย่าง แล้วในมุมของคนที่สร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาอย่าง บู้ ธนันต์ มองเรื่องนี้ไว้อย่างไร?

ธนันต์ ให้เหตุผลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นปัจจัยในการทำให้แบรนด์ Rompboy เป็นที่รู้จักในวงกว้างไม่มีอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน อย่างแรก คือ เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์

“ผมคิดว่า เสื้อผ้ามันเลือกคนใส่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของ Rompboy มันเป็นเสื้อผ้าเฉพาะทาง ไม่ใช่เสื้อผ้าตลาดนัด หรือตามห้าง มันเป็นเสื้อผ้าบ้าๆ บอๆ สไตล์ผม ที่สำคัญมันแต่งไม่ยาก สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวัน โดยที่เสื้อผ้าในทุกคอลเลคชันจะมีความพิเศษอะไรบางอย่างในตัวของมันเอง ซึ่งที่จริงแบรนด์ Rompboy มีอย่างนี้มาตั้งแต่แรก โดยที่ผมไม่รู้ตัว แต่ลูกค้าเป็นคนที่รู้”

ขณะเดียวกัน กลุ่มลูกค้าของ Rompboy มันเป็นภาพจำที่ชัด หลับตาก็มองเห็น คือ เป็นกลุ่มนักดนตรี กลุ่มคนฟังเพลง ไปจนถึงกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์การแต่งตัวเพี้ยนๆ บ้าๆ บอๆ แต่ยังไม่หลุดโลก เหล่านี้เป็นลูกค้าที่เหนียวแน่นของ Rompboy

ตัวตนของ Rompboy เน้นคำว่าเพื่อน

อย่างต่อมา เป็นเรื่องที่ธนันต์บอกว่า สำคัญมากๆ นั่นคือ การดูแลลูกค้าให้เหมือนเพื่อนสนิท

“ย้อนกลับไปช่วงต้นที่แบรนด์ Rompboy เพิ่งเริ่มตั้งไข่ เพื่อนศิลปินในวงการดนตรีก็ช่วยอุดหนุนสินค้าของเรา ดังนั้นแล้ว ถ้าหากสินค้าของเรามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไซส์ หรือเรื่องปัญหาต่างๆ เราต้องเปลี่ยนให้ ต้องซ่อมให้ ต้องดูแลเทคแคร์ลูกค้า ผมคิดว่า ลูกค้าเหมือนเพื่อนของผม” ธนันต์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้มันจะมีค่าใช้จ่ายในแง่การขนส่งเพิ่มขึ้น ไหนจะต้องส่งเปลี่ยนกลับไปกลับมา แต่เรื่องนี้ ธนันต์ไม่เก็บมาให้กังวลใจ เพราะในเมื่อลูกค้าเสียเงินซื้อความไว้ใจในสินค้าแล้ว สิ่งที่พ่อค้าต้องทำก็คือ การมอบความจริงใจกลับคืนไป ดูแลลูกค้าหลังการขาย ถ้าเสียก็ซ่อมให้เปลี่ยนให้ เงินในการซื้อถ้าโอนเกินมา ก็คืนทุกบาททุกสตางค์

“สำหรับผม แค่ทำธุรกิจด้วยความจริงใจกับลูกค้า เสมือนเป็นการดูแลเพื่อนคนหนึ่งที่ซื้อของจากเราไป แค่นี้มันก็ดีสำหรับเราแล้ว”

แฟชั่นแบบไทยๆ ในมุมมองของพ่อค้าที่ชื่อ บู้ ธนันต์

1531728717239เรียกผมว่าพ่อค้าดีกว่า - บู้ ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์

หลังจากจับเข่านั่งคุยมาสักพัก สิ่งที่ Sanook! Men เกิดความสงสัย นั่นคือ ถ้ามุมมองจากคนภายนอก จะเห็นได้ว่า บู้ เป็นทั้งเจ้าของแบรนด์ เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นนักออกแบบ ควรจะเรียกเขาว่าอย่างไร ซึ่งธนันต์ ออกตัวอย่างรวดเร็ว อยากให้เรียกว่า พ่อค้า ดีกว่า

“ผมไม่ได้รู้สึกว่า ตัวเองเป็นนักธุรกิจ กล่าวคือ สุดท้ายผมยังเชื่อเรื่องการคอนเน็คกับคนมากกว่า ชนิดที่มองตากันแล้วเกิดมีพลังอะไรบางอย่างเท่านั้นพอ ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรมาก”

เมื่อธนันต์ นิยามตัวเองเป็นพ่อค้า แล้วตลอดระยะเวลาการเป็นพ่อค้ากว่า 4 ปี การแต่งกายของคนเมื่อ 4 ปีก่อน กับตอนนี้มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน?

ธนันต์ ใช้เวลาคิดไม่นาน ก่อนที่จะตอบว่า ผู้ชายและผู้หญิงมีความต้องการที่แตกต่างกัน

“จากที่ผมขายเสื้อผ้าแบรนด์ของผมมา ผู้หญิงจะเลือกจากความชอบ ถ้าชอบก็ซื้อ แบบสวยก็ซื้อ แต่ราคาแพงไปไม่เอา ส่วนผู้ชาย มองว่าเสื้อผ้าเป็นการลงทุน เช่น กางเกงยีน ซื้อไปจะใส่ได้นานแค่ไหน คุ้มกับเงินที่เสียไหม แล้วได้ของที่ดีที่สุดไหม ถ้าใช่จึงซื้อ”

ขณะเดียวกันในเรื่องของเทรนด์ พ่อค้าแบรนด์ Rompboy มองว่า ปัจจุบันเทรนด์ในวงการแฟชั่น มันขยับตัวเร็วมาก ต้องมองเทรนด์ด้วยสายตาที่ต่างไปจากเดิม ควรจะมองเทรนด์เป็นรายเดือน หรือควรมองเป็นรายอาทิตย์ด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้การมองเทรนด์เป็นรายปีมันทำไม่ได้แล้ว ยกตัวอย่าง รองเท้าสไตล์ Chunky ตอนนี้มันเป็นกระแส  เชื่อเถอะว่า เดี๋ยวเรากะพริบตาแป๊บเดียว มันก็จะไม่ฮิต ไม่คูล เพราะคนเราเวลาที่เห็นอะไรมากเข้าๆ ก็จะเบื่อไปเอง

ส่วนในเรื่องของการตามแฟชั่น ธนันต์ลงความเห็นว่า คนไทยจะช้าในเรื่องสตรีทแฟชั่นอยู่นิดหนึ่ง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ

“ทั้งนี้เป็นเพราะสตรีทแฟชั่นในระดับโลก เมื่อกระแสเข้ามาในไทย มันจะมีสิ่งที่สตรีทแฟชั่นไทยรับได้และรับไม่ได้” ธนันต์ ยกตัวอย่างว่า กางเกงที่ขาใหญ่มากๆ แฟชั่นนิสต้าในไทยไม่เอาแน่ๆ เนื่องจากพื้นฐานด้านร่างกายของคนไทยไม่ได้มีขาที่ยาวเหมือนฝรั่ง เวลาจะใส่กางเกงขาใหญ่ๆ แบบนี้ ก็อาจเป็นสิ่งที่รับได้ยาก เกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง

“คนไทยไม่ได้ช้านะ เพียงแต่ดีเลย์แค่นิดเดียว” เขาย้ำ

อนาคตของ Rompboy?

img_1222_sanookอนาคตของ Rompboy คือการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

ปัจจุบัน ตัวแบรนด์ Rompboy มีอายุ 4 ปีกว่าๆ ถ้าเปรียบเทียบเป็นเด็กผู้ชายสักคนก็เป็นเด็กที่เริ่มมีพัฒนาการ เช่นเดียวกับแบรนด์แฟชั่นของบู้ ธนันต์ ที่สามารถทำรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีค่าขนมติดกระเป๋าตามความตั้งใจ

“ผมไม่ปฏิเสธว่า Rompboy กลายเป็นอาชีพหลักแล้ว สวนทางกับการเล่นดนตรีที่กลายเป็นงานอดิเรกที่เล่นเพื่อจิตวิญญาณอย่างเดียว แต่ถ้าให้พูดจริงๆ หากไม่มีวง Slur ผมก็สามารถบอกได้ว่า ก็คงไม่มีแบรนด์ Rompboy อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ นอกจากนี้ เวลาที่เราไปเล่นคอนเสิร์ตเราจะได้เจอ ได้สื่อสารกับคน บางทีคนดูไม่ได้เข้ามาดูแค่ Perform ของเราบนเวที แต่เขามาดูว่า เราใส่อะไร สไตล์ยังไง แบบนี้เรียกว่าอะไร นี่คือความเชื่อมโยง อาจจะเรียกว่า เป็นความเชื่อมโยงระหว่างผมกับแฟนๆ ก็ได้”

สำหรับหมุดหมายหลังจากนี้ของ Rompboy ผู้ก่อตั้งสตรีทแวร์สัญชาติไทย ยังคงยืนยันว่า จะให้ความสำคัญในด้านการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในเสื้อผ้าแต่ละคอลเลคชัน

“สองปีที่ผ่านมา ผมทำรองเท้านักเรียน ผมคิดว่ามันจะดีมากๆ เลย ถ้าวันหนึ่งผมมีครอบครัว ลูกๆ เพื่อนมาเล่นที่บ้าน ถอดรองเท้านักเรียนทิ้งหน้าบ้าน ซึ่งเป็นรองเท้านักเรียนแบรนด์ผม มันคงจะรู้สึกดีมากๆ ตรงนี้เอง ผมจึงรู้สึกอยากเป็นส่วนเล็กๆ ในวงการเครื่องแบบไทย หรือแม้แต่เสื้อ-กางเกงนักเรียน มันมีความสปอร์ตบางอย่าง มันคล่องตัว มันดูเป็นทางการนิดๆ หน่อยๆ และเป็นอนาคตและทิศทางของแบรนด์ที่น่าสนใจ”

อย่างไรก็ดี Rompboy ยังมีความต้องการที่จะขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ออกไป ซึ่งธนันต์ บอกกับว่า ช่วงที่ผ่านมา กำลังมีแนวความคิดในการพัฒนารองเท้าประเภท Performance Shoes

“อันที่จริง Performance Shoes เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ยากมากๆ มันมีเรื่องให้ติดขัด ตั้งแต่เรื่องวัสดุในการพัฒนารองเท้า ซึ่งวัสดุที่เกี่ยวข้องกับรองเท้าสายสปอร์ต วัสดุบางอย่างมันหาไม่ได้ในประเทศไทย ต้องใช้วิธีการนำเข้า แต่พอนำเข้าแล้ว ค่าใช้จ่ายมันก็สูงมาก ก็รอดูแล้วกันนะครับว่า ผมจะสามารถพัฒนามันได้สำเร็จเมื่อไร”

ก่อนที่จะจากกัน ในฐานะพ่อค้าของแบรนด์สตรีทแวร์ที่สามารถขายหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่วินาที จนถึงตอนนี้ Rompboy ใกล้เคียงกับคำว่า ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง? ซึ่งคำตอบของธนันต์ บอกว่า ส่วนตัวเขาไม่เคยมองเรื่องของคำว่า ประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เนื่องจากคำว่า ประสบความสำเร็จ ของแต่ละคนมันวัดค่าได้ไม่เหมือนกัน

“สิ่งที่ผมต้องการมากที่สุด คือ การพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ พัฒนาทักษะการออกแบบ การทำโปรเจกต์ใหม่ๆ การแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือแม้แต่การไปคอลแลบกับแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ผมได้ลงไปสำรวจตัวเองว่า ยังมีสิ่งใดอีกหรือไม่ที่ยังอยากจะลงมือทำ แล้วก็พบว่า เฟอร์นิเจอร์ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ไม่แน่ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า อาจจะได้เห็น Rompboy Furniture ก็ได้ครับ”

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ สนทนากับบู้ Slur ว่าด้วยอนาคต 5 ปีข้างหน้าของ Rompboy

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook