นักสิทธิฯ เตือน 'ของขวัญต้องห้าม' วันวาเลนไทน์

นักสิทธิฯ เตือน 'ของขวัญต้องห้าม' วันวาเลนไทน์

นักสิทธิฯ เตือน 'ของขวัญต้องห้าม' วันวาเลนไทน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) เผยรายงานสำรวจสถานการณ์ด้านสิทธิแรงงาน พบว่าบริษัทเครื่องประดับและอัญมณีหลายแห่งเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก และเหมืองบางแห่งเป็นต้นตอมลพิษในสิ่งแวดล้อม

รายงานของ HRW ชื่อว่า The Hidden Cost of Jewelry ตีแผ่เบื้องหลังอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี รวมถึงนาฬิกาหรู ซึ่งถือเป็น 'ของขวัญยอดนิยม' ของคนทั่วโลกช่วงวันวาเลนไทน์ โดยระบุว่า แม้จะมีฉากหน้าที่สวยงาม แต่เบื้องหลังของอุตสาหกรรมเหล่านี้เกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิแรงงานและทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งเพชรพลอยหรือทองคำต่างๆ คือ 'ชีวิต' ของแรงงานจำนวนมาก

ข้อมูลในรายงานระบุว่า ในแต่ละปีมีเพชรดิบประมาณ 90 ล้านกะรัต น้ำหนักรวมประมาณ 1,600 ตัน ถูกขุดและค้นพบในเหมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหมืองในแถบแอฟริกาและเอเชีย คิดเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9.9 ล้านล้านบาท) แต่แรงงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมเหมืองอัญมณีเหล่านี้กลับถูกกดค่าแรง รวมถึงถูกบังคับใช้แรงงานหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งยังทำให้เกิดสารพิษและโลหะหนักปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ เช่น กานา ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย และสาธารณรัฐอเมริกากลาง

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า 'ช็อกโกแลต' ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของขวัญยอดนิยมในวันวาเลนไทน์ มีส่วนเกี่ยวพันกับการใช้แรงงานเด็กเช่นกัน โดยล่าสุด สำนักงานด้านกฎหมาย เฮเกน เบอร์แมน ยื่นเรื่องฟ้องหมู่บริษัทเนสท์เล่ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตมาร์สและเฮอร์ชีย์ในสหรัฐฯ โดยกล่าวหาว่าบริษัททั้งหมดรับวัตถุดิบจากผู้ผลิตโกโก้ที่ใช้แรงงานเด็ก ซึ่งเครือข่ายเฝ้าระวังการใช้แรงงานเด็ก (CLMRS) ระบุว่ามีเด็กประมาณ 7,000 คนทั่วโลกที่อยู่ในวังวนการบังคับใช้แรงงาน

ท้ัง HRW และองค์กรด้านสหภาพแรงงานรวม 21 แห่งทั่วโลก จึงได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องประดับและอัญมณีชื่อดังของโลก รวมถึงบริษัทช็อกโกแลต เลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่ตรวจสอบแล้วว่าได้มาตรฐานและเคารพหลักการค้าที่เป็นธรรม (Fairtrade) รวมถึงกดดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานของผู้ส่งวัตถุดิบรายย่อยตามประเทศต่างๆ อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook