พีรทัศน์ ศรีสุระ หันหลังให้งานพิธีกร สู่วิถีชีวิตพอเพียง เอาดีด้านเกษตรกรรม

พีรทัศน์ ศรีสุระ หันหลังให้งานพิธีกร สู่วิถีชีวิตพอเพียง เอาดีด้านเกษตรกรรม

พีรทัศน์ ศรีสุระ หันหลังให้งานพิธีกร สู่วิถีชีวิตพอเพียง เอาดีด้านเกษตรกรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับเป็นคนรุ่นใหม่วัยทำงาน ที่มีมุมมองชีวิตและความคิดที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ สำหรับ “พีรทัศน์ ศรีสุระ” หรือ “ฟิวส์” อดีตพิธีกรรายการลุยไม่รู้โรย ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ที่ปัจจุบันหันมาเอาดีด้านการทำเกษตรกรรม ดำรงชีวิตในแบบวิถีพอเพียง ความสุขที่หาได้ไม่ยากจากบ้านเกิดของตัวเอง

“ผมเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นคนเรียนไม่ค่อยเก่ง อาศัยขยันเลยจบมาได้ เหตุผลที่เลือกเรียนคณะนี้เพราะอยากทำงานด้านสื่อ อยากเป็นผู้สื่อข่าว อยากเป็นพิธีกร ชอบทั้งงานเบื้องหน้าและงานเบื้องหลัง
เด็ก ๆ ไม่ได้ฝันแบบนี้เลย เมื่อก่อนฝันอยากเป็นตำรวจ อยากจับผู้ร้าย อยากใส่เครื่องแบบเท่ ๆ ชอบเล่นตำรวจจับโจรกับเพื่อน ๆ จนพอได้ศึกษาความชอบของตัวเองว่าชอบอะไร ชอบแบบไหน ความรู้สึกชอบของผมเลยเปลี่ยนไป หันมาชอบด้านนิเทศศาสตร์แทน”

จากดีเจบ้านนอกสู่พิธีกรรายการโทรทัศน์

ผมเริ่มทำงานตั้งแต่เรียนอยู่ ม.5 อายุประมาณ 17 ปี เมื่อก่อนแถวบ้านจะมีสถานีวิทยุชุมชน ผมเลยลองไปสมัครเป็นดีเจ บังเอิญทำแล้วชอบ เพราะเป็นคนชอบพูดอยู่แล้ว แม้บางมุมจะเป็นคนค่อนข้างขี้อายก็ตาม ตอนนั้นได้ค่าแรงหลังหักค่าเช่าชั่วโมงจากค่าสปอนเชอร์จะเหลือเงินประมาณเดือนละ 1,000 บาท

สถานีวิทยุอยู่ไกลจากบ้านเกือบ 4 กิโล ผมเอาโบรชัวร์เกร็ดความรู้ใส่ตะกร้าจักรยานแล้วปั่นไปจัดรายการทุกวัน เป็นงานที่สนุกมาก พร้อมกับทำขนมเปียกปูน ขนมต้ม วุ้นกะทิ ยำมะม่วงไปขายที่โรงเรียนด้วย ได้กำไรวันละ 70-80 บาท ถือว่าเยอะสำหรับผมในตอนนั้น

พอเข้ามหาวิทยาลัยผมไม่ได้ทำขนมขาย วันไหนไม่มีเรียนจะไปทำงานตามกองถ่ายละคร ไปเป็นตัวประกอบเดินผ่านไปผ่านมา พอละครออนแอร์ก็เฝ้าดู เห็นแค่ด้านหลังแวบ ๆ ก็มีความสุขแล้ว ส่วนค่าเหนื่อยก็ได้งานละ 300-500 บาท ดีที่มีข้าวกล่องให้กินฟรี

ถ้าโชคดีหน่อยก็ได้เล่น MV ลูกทุ่ง ถ่ายโฆษณา หรือละครทีวีที่มีบาทบาทขึ้นมาบ้าง ได้ค่าแรงงานละ 1,000-20,000 บาท แต่นาน ๆ ถึงจะมีมาสักที ทำงานแบบนี้มาตลอดจนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัย

พอเรียนจบก็ได้ทำงานรายการทีวี เป็นทั้งครีเอทีฟและพิธีกร ในรายการลุยไม่รู้โรย ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ทำทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เป็นงานที่สนุกและได้ประสบการณ์เยอะมาก ต้องขอขอบคุณคุณครูที่สอนให้ผมเป็นคนกล้าคิด กล้าแสดงออก และเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผม จนทำให้ผมก้าวไปสู่ฝันตรงนั้นได้

ต้องบอกว่าแต่ละงานเป็นเสมือนครูที่คอยสอนผมมาโดยตลอด เพราะทุกงานจะมีปัญหา มีอุปสรรคร่วมกันเสมอ ซึ่งปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นเป็นดังไฟร้อนคอยหล่อหลอมผมจนกลายเป็นคนแกร่งคนหนึ่งได้ ด้วยการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา

ทุกงานมีความยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป ผมมักคิดเสมอว่า ไม่ว่าจะอยู่ในโหมดไหน ผมจะเรียนรู้อย่างสนุกไปกับมันให้ได้ เช่น การทำงานหน้ากล้อง แม้สคริปต์จะเป๊ะ แต่พอ 4-3-2-1 กล้องพร้อม แต่พิธีกรยังไม่พร้อม เพราะยังตื่นเต้นจนลืมสคริปต์ว่าต้องพูดอะไรบ้าง กับแค่ประโยคปิดรายการยังสิบกว่าเทค แต่ถ้าทำและเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ งานยากก็จะกลายเป็นงานง่าย ขอแค่เต็มที่และสนุกไปกับงานนั้น ๆ เป็นพอ

ทิ้งงานพิธีกรมุ่งสู่วิถีชีวิตเกษตรกรรม

เหตุที่ตัดสินใจกราบลามหานครคืนคอนท้องทุ่ง เนื่องจากคุณแม่ป่วย มีโรคแทรกซ้อนหลายโรคมาก เลยตัดสินใจขอลาที่ทำงานเพื่อกลับมาอยู่บ้าน เพราะขืนทำงานแบบไป ๆ ขาด ๆ เกรงใจที่ทำงานเหมือนกัน แม้ที่ทำงานจะให้โอกาสก็ตาม บวกกับตอนนี้คุณแม่อายุมากแล้ว อยากกลับมาดูแล อยากทำอะไรเพื่อท่านบ้าง ท่านจะได้เหนื่อยน้อยลง
แรก ๆ เสียดายฝัน เสียดายโอกาสเหมือนกัน แต่ต้องเลือก ซึ่งตอนนี้ผมไม่รู้สึกเสียดายหรือเสียใจแล้ว เพราะพบคำตอบของการตัดสินใจแล้วว่า ผมได้เลือกถูกต้องแล้ว เพราะไม่ว่าจะตื่นเช้า จะเข้านอนก็เจอแต่รอยยิ้มแห่งความสุขของพ่อและแม่

นอกจากดูแลคุณแม่แล้ว ผมคิดทำอะไรสักอย่างที่สามารถสร้างประโยชน์สุขให้กับตนเองและคนอื่นได้ เลยหยิบเอาวิถีชีวิตแบบบ้านเรานี่แหละมาเพิ่มคุณค่าเพื่อสร้างเสน่ห์ ด้วยการปลูกผักปลอดสารพิษไว้ขายและแบ่งปัน จึงเป็นที่มาของคำว่า “จากพิธีกร สู่เกษตรกร” ที่เพื่อน ๆ ชอบแซวกัน

พื้นเพผมเป็นลูกชาวนา ปลูกพืชปลูกผักอยู่แล้ว บวกกับประสบการณ์ที่เคยไปถ่ายรายการตามที่ต่าง ๆ ได้เจอวัฒนธรรม เจอมุมมองของวิถีชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ เลยอาแนวคิดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา นำมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของตัวเอง เพื่อพลิกฟื้นผืนดินให้กลายเป็นแผ่นดินทอง

เริ่มโดยการเปลี่ยนจากเกษตรเคมีที่เคยทำ สู่เกษตรปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพ ส่วนขนมผมก็คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เพราะเมื่อก่อนคุณแม่ทำขนมขายส่งผมเรียนจนจบปริญญาตรี พอมาอยู่บ้านเลยนำเอาวิชาของแม่มาต่อยอดสู่การสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทาง


ดำเนินชีวิตแบบวิถีพอเพียง

หลัก ๆ ตอนนี้ทำขนมขายตามตลาดนัดใกล้บ้าน แม่จะเป็นคนสอนทำขนมชนิดนั้นชนิดนี้ตามที่แม่เคยลองผิดลองถูกมาจนกลายเป็นขนมที่อร่อยของหลาย ๆ คนที่ได้ลองทาน ไม่ว่าจะเป็นขนมเปียกปูน ขนมต้ม ขนมวุ้น ขนมหม้อแกง ขนมชั้น และอื่น ๆ วันหนึ่งขายได้ไม่เยอะเท่าไหร่ ลงทุนประมาณ 300-400 บาท กำไร 500- 600 บาท พอได้ใช้จ่ายในครอบครัว

นอกเหนือจากการขายขนม เวลาที่เหลือผมจะดูแลเป็ดและสวนผักปลอดสารพิษ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ผักที่ปลูกตอนนี้ยังไม่ได้นำไปขายเป็นเรื่องเป็นราว เพราะปลูกไม่เยอะ ปลูกไว้แบ่งปันให้กับญาติพี่น้อง คนในชุมชน และเป็นของฝากในยามเทศกาลต่าง ๆ เท่านั้น

งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ โชคดีที่คุ้นเคยและได้เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก เลยทำให้รู้สึกว่าเป็นงานที่ไม่ยากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือการพยายามฝึกตัวเองให้เป็นคนกระตือรือร้น ขยัน เพราะงานพวกนี้ถ้าไม่ขยัน ไม่ใจสู้ ไม่หมั่นดูแลก็จะแย่ เพราะสิ่งที่แย่คือใจของเราเอง


วางแผนสานต่องานเกษตกรรมแบบยั่งยืน

วางแผนไว้ว่าจะขยายพื้นที่ทำแปลงปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกทาง ตอนนี้ทำเพียงเพื่อแบ่งปันและแจกจ่ายให้กับพี่น้องในชุมชนเท่านั้น รวมถึงจะสร้างแบรนด์ผักเล็ก ๆ ในท้องถิ่นที่เกิดจากความรักและความตั้งใจจริงของผมที่จะสร้างสุขให้กับผู้บริโภคด้วยการทานผักที่มีคุณภาพ อยากเห็นทุกคนใส่ใจในรายละเอียดของชีวิต โดยการเลือกคุณค่าให้กับตัวเองแทนการเลือกผักที่มีโปรโมชั่นชิง “โรค” จากสารเคมีแถมมาด้วย

เสน่ห์ของการทำงานด้านการเกษตรไม่ได้อยู่ที่ผักสวย ผักแข็งแรง ขายได้ราคาดี หรือมีกำไรมาก ๆ แต่อยู่ที่ “ใจ” ของคนทำการเกษตรมากกว่าว่าจะสร้างคุณค่าให้กลายเป็นเสน่ห์อย่างไร เพราะปัจจุบันนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัย มีการแข่งขันกันมากขึ้น จนเสน่ห์และคุณค่าทางวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ เลือนหายไปมาก

แม้แต่การเกษตรในปัจจุบันยังแปรผันไปเยอะ มีปุ๋ยดี ยาเคมีดี ออกฤทธิ์ดี ใช้แล้วรวย โฆษณาตามสื่อวิทยุ ใคร ๆ ก็อยากรวยจนมองข้ามไปว่าคุณค่าที่แท้จริงของการทำงานด้านการเกษตรอยู่ตรงไหน

สำหรับผม ผักสวย ผักแข็งแรงอาจเป็นแค่เสน่ห์รอง แต่เสน่ห์หลักที่สำคัญคือ ผักที่ทานแล้วสามารถสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับสุขภาพได้มากที่สุด พูดง่าย ๆ ได้ว่าเป็นผักที่มีคุณภาพ โดยผ่านกระบวนการคิดและกระบวนการทำด้วยหัวใจ
ปัญหาหรืออุปสรรคมากมายแต่ใจสู้

ทำงานด้านการเกษตรต้องพบเจอปัญหาหลายอย่างมาก ส่วนใหญ่ต้องสู้กับแมลงและโรคต่าง ๆ ที่เกิดกับพืชผักสวนครัว ยิ่งปลูกผักปลอดสารพิษต้องขยันเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า อุปสรรคอีกอย่างที่อยู่ไม่ไกลในตัวผมคือ ความขี้เกียจ ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดที่ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน

เวลามีปัญหาผมจะค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ แก้ และเชื่อว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง ที่สำคัญคือ เวลามีปัญหาอย่าไปกลัว อย่าวิตก หรือกังวลอะไร ให้ใช้สติค่อย ๆ หาทางแก้ไข เพราะทุกปัญหาย่อมมีทางออก

ลองย้อนมองกลับไปตั้งแต่เกิดมาเราเจอปัญหาอะไรมาบ้าง ร้องไห้ เจ็บปวด หรือเสียใจมามากน้อยแค่ไหน แต่เรายังสามารถก้าวผ่านทุก ๆ ปัญหามาได้

บางครั้งอาจต้องใช้เวลา บางทีก็ต้องอาศัยประสบการณ์ แต่ถ้าใครไม่มีประสบการณ์ก็อย่าไปกลัว เพราะคนที่มีประสบการณ์ก็เคยเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน มองอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองมีพลัง แล้วจะก้าวผ่านปัญหาไปได้ด้วยดี

ปรับโหมดชีวิตไม่คิดท้อแท้

ท้อแท้หรือหมดกำลังใจก็มีบ้าง แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เพียงแต่เราจะรีบปรับโหมดในช่วงวินาทีไหนของชีวิตเท่านั้นเอง เพราะถ้าชีวิตท้อแท้ งานทุกอย่างก็จะเดินช้าลง เหมือนเวลาที่ผมต้มข้าวโพดขาย ถ้าไฟไม่แรงก็ต้องเติมฟืน เติมถ่าน เพื่อให้ข้าวโพดสุก ใจเราก็เช่นกัน ต้องหมั่นเติมพลัง เติมกำลังใจไม่ให้ขาด จะได้ “สุข” เหมือนข้าวโพดของผมไงล่ะครับ

กำลังใจคือ ใจของผมที่คอยบอกตัวเองให้สู้อยู่เสมอ แม้จะอยู่ในบทบาทไหน อุปสรรคจะน้อยใหญ่แค่ไหน ถ้าใจสู้และอึดพอ เราจะก้าวผ่านอุปสรรคไปได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ต้องหมั่นฝึกให้รางวัลด้วยกำลังใจของตัวเอง ถ้าหากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีใคร เราจะสามารถก้าวข้ามปัญหาไปด้วยหัวใจที่แกร่งของตัวเราเอง


แนวคิดในการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

คิดว่าต้องใช้ชีวิตแบบง่าย ๆ ใน Style ของเรา อะไรที่ดีก็นำมาปรับให้เข้ากับชีวิต อะไรที่ยากเกินไปหรือไม่ใช่เรา ก็อย่าไปฝืน พูดง่าย ๆ คือ ใช้ชีวิตให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดแล้วเราจะมีความสุขมาก ตัวผมเองพยายามฝึกใจตัวเองให้เข้าใจธรรมชาติของชีวิต แล้วใช้ชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ชีวิตจะผกผันไปในทิศทางไหน ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะชีวิตต้องอยู่และเรียนรู้ไปกับมัน ถ้าเรามองอย่างเข้าใจ ไฉนชีวิตจะต้องมานั่งทนทุกข์

ทำงานอย่างไรให้มีความสุข

มีหลายองค์ประกอบมากที่จะทำให้เรามีความสุขในการทำงานได้ บางคนสุขในรูปแบบที่ต่างกัน แต่หลักพื้นฐานง่าย ๆ ที่ใช้ได้กับทุกคนแล้วสุขแบบจริง ๆ อย่างที่ผมกำลังใช้ในตอนนี้คือ “สนุก เต็มที่ และมีวิธีคิดบวก” เพราะถ้าเราทำให้สนุก ทำอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคิดหรือกังวลว่าจะเสียเปรียบ หรือใครได้เปรียบมากน้อยแค่ไหน เพราะคนสมัยนี้มักจะทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง

ผมพยายามฝึกตัวเองให้คิดบวก มองโลกในแง่ดี อภัยได้ก็อภัย ช่วยเหลือได้ก็ช่วยเหลือ ลองให้โอกาสตัวเองได้เป็นผู้ชายโลกสวยดูบ้าง ง่าย ๆ แค่นี้ก็มีความสุขได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วจะสุขจะทุกข์ขึ้นอยู่ที่ใจของเราเท่านั้นที่จะกำหนดทิศทาง

ข้อคิดสำหรับคนทำงานรุ่นใหม่

ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีความกล้าคิด กล้าแสดงออกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าเราใช้ทุนตรงนี้มาสร้างเป็นกำไรให้กับชีวิต ด้วยการทำดีในทุก ๆ เรื่อง ดีเพื่อตัวเอง ดีเพื่อคนอื่น และเต็มที่กับทุก ๆ สิ่ง ไม่ว่าจะงานหรือชีวิต แล้วรอพบผลลัพธ์ของการเต็มที่ ซึ่งผมไม่สามารถตอบได้ว่าผลลัพธ์ของการเต็มที่จะออกมาเป็นอย่างไร ของแบบนี้ต้องลอง

ทำให้สนุกแล้วจะเป็นสุขกับชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ขอให้สนุกเข้าไว้ ผมเชื่อว่า “สุข” จะเกิดขึ้นตรงกลางของหัวใจเราอย่างแน่นอน

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ พีรทัศน์ ศรีสุระ หันหลังให้งานพิธีกร สู่วิถีชีวิตพอเพียง เอาดีด้านเกษตรกรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook