ผู้ชายอเมริกันฝันอยากทำอาชีพอะไร
เมื่อปีที่แล้ว มีรายงานผลการทำโพลที่น่าสนใจโดยเว็บไซต์ดัง ลิงก์อิน (LinkedIn) ซึ่งเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ประชาสัมพันธ์ในเรื่องอาชีพ หน้าที่การงาน ตลอดจนช่วยหาพันธมิตรทางธุรกิจ
ลิงก์อินได้ทำการสำรวจคนทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ ทั่วโลกทั้งชายและหญิง จำนวน 8,000 คน ว่าเมื่อสมัยเป็นเด็กเคยฝันอยากประกอบอาชีพอะไรเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
จุดประสงค์ที่ถามคำถามนี้ ก็เพราะอยากทราบอาชีพในฝันที่แท้จริง โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเงินเดือน หน้าตาทางสังคม ความโก้เก๋ เรียกว่าตอบมาจากหัวใจ
สำหรับผู้ชายอเมริกัน อาชีพที่ใฝ่ฝันตอนเป็นเด็กที่เข้ามาเป็นอันดับ 1 คือนักกีฬาอาชีพ หรือนักกีฬาโอลิมปิก อันดับ 2 คือ นักบิน อันดับ 3 นักวิทยาศาสตร์ อันดับ 4 ทนายความ และอันดับ 5 นักบินอวกาศ
แม้การเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือนักกีฬาโอลิมปิก จะเป็นอาชีพในฝันสมัยเป็นเด็กของผู้ชายอเมริกัน แต่ในความเป็นจริง พบว่า มีคนที่สานฝันให้เป็นจริงนั้นมีจำนวนน้อยนิดเดียว
จากสถิติพบว่า ในสหรัฐอเมริกา มีนักกีฬาอาชีพประมาณ 12,630 คน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 79,830 ดอลลาร์ หรือ 2 ล้าน 5 แสนบาทต่อปี โดยนักกีฬาอาชีพในรัฐแคลิฟอร์เนียทำรายได้สูงที่สุดในประเทศคือ 161,670 ดอลลาร์ หรือ 4 ล้าน 8 แสนบาทต่อปี
นักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยมหาศาลอย่างที่หลายคนคิดกัน จะมี เฉพาะนักกีฬาระดับโลกที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันทางโทรทัศน์ ที่ร่ำรวยระดับร้อยล้าน พันล้าน อย่าง ไทเกอร์ วูดส์, โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ หรือ มาเรีย ชาราโปว่า
ตัวอย่างเช่นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล โดยเฉลี่ยได้ค่าตัวฤดูกาลแข่งขันละ 1.1 ล้านดอลลาร์ หรือ 33 ล้านบาท
แต่ที่น่าเศร้าก็คือจำนวน 78 เปอร์เซ็นต์ หมดตัวหลังจากเลิกแข่งเพียง 2 ปี ทั้งๆ ที่กว่าจะฝ่าฟันได้เป็นนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพใน NFL ช่วงยากเย็นแสนเข็ญ
นักอเมริกันฟุตบอลส่วนใหญ่เริ่มหัดเล่นตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นประถม หากมีแววก็จะได้รับเลือกให้เล่นทีมระดับไฮสกูล ซึ่งมีนักอเมริกันฟุตบอลระดับไฮสกูลทั่วประเทศกว่า 1 แสนคน
ในจำนวนนี้ ประมาณ 70,000 คน ได้รับเลือกให้แข่งขันในระดับมหาวิทยาลัย
และในแต่ละปีจะมีการเลือกนักอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยให้เข้าร่วมทีมNFLหรือที่เรียกว่า NFL ดราฟต์ (NFL Draft) ไม่เกินปีละ 260 คน
เมื่อคำนวณดูแล้ว โอกาสที่นักอเมริกันฟุตบอลระดับไฮสกูลจะประสบความสำเร็จได้รับเลือกให้เป็นนักอเมริกันฟตุบอลอาชีพใน NFL มีเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ถึง 3 ใน 1,000 คน
ทาง NFL ไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่านักอเมริกันฟุตบอลใน NFL จะต้องจบมหาวิทยาลัย แต่เพื่อเป็นการเตรียมให้นักอเมริกันฟุตบอลมีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจก่อนมีสิทธิสมัคร NFL Draft หรือสิทธิเข้าระบบการเลือกผู้เล่นใหม่เข้าทีม NFL ซึ่งจัดขึ้นทุกปี
นักอเมริกันฟุตบอลที่จบไฮสกูลไม่สามารถสมัคร NFL Draft ได้ทันที ต้องรอให้เรียนจบไฮสกูลอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะมีสิทธิสมัครได้ โดยไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนมหาวิทยาลัย
ว่าไปแล้ว กฎนี้ก็เป็นการกดดันทางอ้อมให้นักอเมริกันฟุตบอลไฮสกูลต้องเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีใครที่อยากจะพักอยู่เฉยๆ นานถึง 3 ปีโดยไม่ได้ลงแข่งขันอเมริกันฟุตบอลเป็นประจำ
เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยจนจบปี 3 แล้ว ก็จะได้สิทธิสมัคร NFL Draft เพื่อคัดตัวเป็นนักอเมริกันฟุตบอล NFL ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนให้จบจนรับปริญญาบัตร
อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ย 50 เปอร์เซ็นต์ ของนักอเมริกันฟุตบอล NFL เรียบจบปริญญาตรี ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเมเจอร์ลีก NBA, NHL และ MLB
ซึ่งทาง NFL ก็หวังว่าการที่นักอเมริกันฟุตบอล NFL เรียนจบปริญญาตรี จะทำให้มีความรู้ติดตัวไว้ประกอบอาชีพในสาขาที่ตัวเองร่ำเรียนมาหลังจากชีวิตการเป็นนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพสิ้นสุดลง
นักอเมริกันฟุตบอลส่วนใหญ่ไม่ได้ค่าตัวมหาศาลอย่าง ดรูว์ บรีส์ (Drew Brees) ควอเตอร์แบ็ก ทีม นิว ออร์ลีนส์ เซ็นต์สที่ได้แชมป์ซุปเปอร์ โบลว์ ปี 2010 โดยฤดูกาลนี้ ดรูว์ บรีส์ เป็นนักอเมริกันฟุตบอล NFL ที่ได้ค่าตัวสูงที่สุด ด้วยค่าตัว 10 ล้านดอลลาร์ หรือ 300 ล้านบาท ใน 1 ฤดูกาล
นักอเมริกันฟุตบอล NFL ที่ลงแข่งขันอยู่ตอนนี้มีอายุเฉลี่ยที่ 25 ปี โดยเฉลี่ยจะเลิกเล่นเมื่ออายุ 30 ปี ซึ่งถือว่าอายุงานสั้นมาก เมื่อเทียบกับคนอเมริกันส่วนใหญ่ที่เกษียณจากงานตอนอายุ 62 ปี
การเป็นนักกีฬาอาชีพเป็นความฝันของเด็กผู้ชายทั่วโลก แต่กว่าที่ไต่เต้ามาถึงระดับนักกีฬาอาชีพที่ประสบความสำเร็จ และมีรายได้มหาศาลนั้นเป็นเรื่องยากมาก เมื่อขึ้นไปถึงจุดที่ประสบความสำเร็จแล้ว อายุงานก็สั้นมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ
ดังนั้น นักกีฬาอาชีพต้องรู้จักเตรียมพร้อมในการประกอบอาชีพอื่นเมื่อชีวิตการเป็นนักกีฬาอาชีพสิ้นสุดลง