พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์ - เสรีภาพของเบียร์คราฟท์ไทย
เมื่อพูดกันถึงเครื่องดื่มที่อยู่เคียงคู่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาอย่างยาวนานแล้วนั้น คงยากนักที่จะหลีกหนีชื่อของ ‘เบียร์’ ไปได้ และหากลงลึกขึ้นไปอีกสักเสี้ยว ก็จะพบว่ามันมีความหลากหลายทั้งในแง่ของรสชาติ กระบวนการผลิต และต้นกำเนิด ซึ่งหนึ่งในทางเลือกดังกล่าวนั้นคือ ‘Craft Beer’ หรือเบียร์ทำเองของไทยที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง และเราได้ร่วมพูดคุยกับ พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์ หรือ เปี๊ยก Crafter เบียร์เจ้าของแบรนด์ ‘Golden Coin’ และ ‘Let the Boy Die’ ที่มานั่งเสวนาเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างออกรส ภายใต้กรุ่นกลิ่นน้ำหมักที่ช่วยให้การสนทนาในหัวข้อต่างๆ นั้น ลื่นไหลน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
เริ่มต้นทำงานสายออกแบบในฐานะสถาปนิกมาตลอด
พอมาถึงปี 2013 คุณแม่ก็อายุมากขึ้น บวกกับพื้นที่ตั้งร้านที่เป็นร้านอาหารมาก่อน เราก็คิดว่าจะทำสิ่งใดกับพื้นที่ตรงนี้ ก็เริ่มมองหาข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว แต่สารภาพนะ ว่าตัวเองไม่ใช่คนที่ชอบทำธุรกิจ เป็นมาตั้งแต่สมัยทำงานออกแบบแล้ว ทีนี้ พอจะคิดหาทางว่าจะทำอะไรกับพื้นที่นี้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นอะไรที่คนต้องกินต้องใช้ ทีนี้ พอเราอ่านหนังสืออย่าง Kinfolk ก็เห็นว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบ Homebrew ที่น่าสนใจ ก็เลยมาถึงข้อสรุปที่ว่า ลองทำเบียร์กันดีกว่
เริ่มทำเบียร์ครั้งแรกก็ทำกันแบบง่ายๆ
ซื้อยีสต์แบบ Extract แบบสำเร็จมาต้ม ใส่ Hops เข้าไป แล้วชวนเพื่อนมากิน พอเห็นว่ามันเริ่มไปได้ ก็เริ่มเอามาขายที่ร้านอาหาร จำนวนไม่มาก จากนั้นก็เริ่มส่งขายตามร้านต่างๆ แล้วก็ไปรู้จักพี่ชิต Chitbeer ที่เกาะเกร็ด เริ่มจับตัวเป็นกลุ่ม ไปออกงาน มีคนรู้จักมากขึ้น มีออเดอร์เพิ่มขึ้น จนเมื่อสักสองปีที่แล้ว พอเห็นว่ารายได้จากการขายเบียร์มัน Sustain เราได้ ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงาน มาทำเบียร์เต็มเวลา
เหตุผลเกี่ยวกับการตั้งร้าน Let the Boy Die
ก็เกิดจากการที่ว่า พอเราทำเบียร์มากขึ้น มีเพื่อนๆ ในแวดวงมากขึ้น ก็คิดว่าน่าจะมีร้านของตัวเองสักทีหนึ่ง แต่ถ้าจะตั้งร้านด้วยแบรนด์ Golden Coin ของตัวเอง ก็คิดว่าชื่อมันยังไม่แข็งแรงมากพอ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องของการนำเสนอออกไปนะ ว่าเราต้องการจะสื่อถึงอะไร เพราะแม้ส่วนตัวจะออกแบบร้านเหล้า ผับ หรือบาร์มาไม่น้อย ผ่านโจทย์มาก็มาก แต่ก็อยากจะนำเสนอตัวตนของเบียร์ Golden Coin ของตัวเอง นำเสนอความเป็น Craft Beer แบบ Local อยากให้เป็นไปในรูปแบบที่คนเห็นแล้วสัมผัสได้ ง่ายๆ ในสไตล์เครื่องดื่มเบียร์ อยากให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า เลยมาลงที่เก้าอี้ตัวยาวและสไตล์ดังที่เห็น
ถ้าพูดถึงเรื่องข้อกฎหมาย และข้อจำกัด
พอรู้ตัวตั้งแต่กลั่นเบียร์แก้วแรกแล้วว่ามันผิดจากกฎที่บัญญัติเอาไว้ คือถ้าจะทำเป็นธุรกิจจริงๆ กฎหมายกำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าเป็น Micro Brewery ก็ต้องหนึ่งแสนลิตรต่อปี ทุนจดทะเบียนก็สูงลิ่ว แต่เราคิดกันง่ายๆ ว่าแค่เริ่มต้นแก้วแรก มันก็อร่อยแล้ว ทำไมมันจะขายไม่ได้ล่ะ ก็เชื่อแบบนั้นเลยตัดสินใจทำ ทั้งนี้ ในปัจจุบันที่ตั้งโรงงานที่เวียดนามและเอาเข้ามาขายแบบ Import แต่ก็เชื่อว่ามันยังขายได้ เพราะถ้าเราทำเบียร์ที่ดี คนกินแล้วชอบ มันไม่เกี่ยวหรอกว่าจะผลิตจากที่ไหนอย่างไร มันจะขายได้
เราไม่มีทางรู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ถ้าสุดท้ายมันไปไม่รอด อย่างมากผมก็สมัครงานใหม่ แต่คำว่าโอกาสนั้น มันไม่มีประกาศรับสมัครนะ ต้องตามหากันเอาเอง ถ้ามันมาแต่เราไม่คว้ามันก็น่าเสียดาย อีกทั้ง ปัญหานั้นมันเกิดขึ้นโดยตลอดอยู่แล้ว ไม่ว่าวันนี้จะมีการอนุญาตให้ขายเบียร์ Homebrew เองหรือไม่ก็ตาม หรือแม้แต่ในปัจจุบัน ผมก็เจอเรื่องที่น่าปวดหัวอยู่ไม่น้อย แต่ทั้งนี้ อุตสาหกรรม Craft Beer ยังสามารถเติบโตไปได้อีกมาก ยังเป็น Blue Oceon ที่ยังมีผู้เล่นน้อยราย เพราะถ้าวัดส่วนแบ่งทางการตลาดจริงๆ แล้วถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเบียร์กระแสหลัก
ทิศทางเกี่ยวกับอุตสาหกรรม Craft Beer ในอนาคต
ผมเชื่อว่าการแข่งขันน่าจะเข้มข้นขึ้น คือในปัจจุบัน เราแข่งกันก็จริง แต่ก็เกาะกลุ่มรวมกัน เพราะเรามีกันอยู่ไม่กี่ราย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ Craft Beer กลายเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาต ถึงตอนนั้น การแข่งขันด้านต่างๆ ก็จะมากขึ้น ทั้งการผลิต คุณภาพ รสชาติ การโฆษณา แต่ความสมดุลระหว่างแบรนด์ และคุณภาพ ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจ เพราะแม้จะมีคนที่กินเบียร์เพราะแบรนด์ แต่รสชาติก็ไม่ควรเป็นสิ่งที่ละเลย เพราะสุดท้าย คนที่ตัดสินก็คือคนที่กินเบียร์อยู่ดี
ผมไม่ได้มองว่า Craft Beer เป็นแฟชั่น
แต่มองว่ามันเป็นพื้นฐานของชีวิต เหมือนปัจจัยสี่ คือถ้าเบียร์เป็นแฟชั่น หรือกระแส มันจะต้องมีสิ่งใหม่ที่เข้ามาทดแทน แต่มาจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังยากที่จะเห็นอะไรมาแทนที่เบียร์ได้ ถ้าวัดจำนวนของเหลวที่คนกินเข้าไป น้ำเป็นอันดับหนึ่ง ชาเป็นอันดับสอง และเบียร์เป็นอันดับสาม มากกว่ากาแฟเสียอีก อย่างที่ผมเปิดร้านมา ก็มีชาวต่างชาติสูงอายุเข้ามาดื่มอยู่เหมือนกัน คือกินกันได้ในหลากหลายวัย ดังนั้น ผมยังไม่เห็นเลยว่าเบียร์ที่ดี จะเป็นเพียงกระแสหรือตายจากไป
After Work
“ผมเล่นดนตรีกับกลุ่มเพื่อนๆ ครับ ที่เน้นเป็นหลักคือเปียโน ซึ่งหลังนึงก็คือที่มีตั้งแต่สมัยยังเป็นร้านของคุณแม่ ก็ยังคงพยายามฝึกฝนอยู่อย่างต่อเนื่องครับ”
His Profile
การศึกษา : ปริญญาตรี คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ตำแหน่งงาน : เจ้าของแบรนด์ Craft Beer ‘Golden Coin’ และเจ้าของร้านเบียร์ Let the Boy Die