แฟชั่นไอคอนของประวัติศาสตร์ไทย

แฟชั่นไอคอนของประวัติศาสตร์ไทย

แฟชั่นไอคอนของประวัติศาสตร์ไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตัวแทนแฟชั่นไอคอนฝ่ายชายของไทยในประวัติศาสตร์กับการใช้เครื่องแต่งกายแบบตะวันตกเพื่อสร้างอิมเมจของสุภาพบุรุษผู้เป็นตัวแทนของความทันสมัยที่ไม่ยอมอยู่ในกรอบ

ท่ามกลางกระแสเน็ตไอดอลในปัจจุบัน ผมพบว่าเราสามารถผลิตภาพลักษณ์ของตนเองในแบบที่อยากจะเป็นได้ง่ายๆ ผ่านรูปถ่ายและแอพพลิเคชั่น เรามียอดฟอลโลว์และจำนวนกดไลค์เป็นมาตรวัดความนิยมในโลกเสมือนจริงที่ตัวตนของเราสามารถสร้างขึ้นได้เอง เสื้อผ้ามีความจำเป็นต่อการสร้างภาพลักษณ์ที่มีสไตล์ ดังนั้นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลก็ต้องมีพลังในการแยกเราให้ดูแตกต่างจากความป๊อปอันเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่

ในแวดวงแฟชั่นผู้ชาย ‘แดนดี้’ (Dandy) คือคำศัพท์ที่ใช้เรียกชายหนุ่มผู้ให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าและรูปกายภายนอก สุภาพบุรุษเหล่านี้ต้องแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายที่ดูดีมีราคา รู้จักจัดวางท่าทางต่อหน้าผู้คน เขาต้องเป็นตัวแทนของความมีรสนิยมดีในทุกด้าน และที่สำคัญต้องใช้เครื่องแต่งกายเพื่อสะท้อนถึงความคิดของตนเองได้ ซึ่งเมื่อนึกถึงแดนดี้ โบ บรัมเมลล์ (Beau Brummell) ชายหนุ่มชาวอังกฤษที่สามารถผลักดันตัวเองจากชนชั้นกลางสู่วงสังคมชั้นสูงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 น่าจะถูกพูดถึงในฐานะของแดนดี้คนแรกในประวัติศาสตร์แฟชั่น บรัมเมลล์สร้างมาตรฐานของการเป็นสุภาพบุรุษผ่านการให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าในฐานะของเครื่องมือเพื่อแสดงออกถึงความงามและรสนิยมอันเป็นเลิศ

มีเรื่องเล่ากันว่าเขาใช้เวลากว่าครึ่งค่อนวันในการเลือกสรรเสื้อผ้าและบรรจงอาบน้ำขัดผิวประพรมน้ำหอมอย่างดีก่อนจะเริ่มแต่งกาย และถ้าเขาต้องการซักชุดชั้นใน หากเขารู้ว่าร้านไหนซักผ้าได้สะอาด ไม่ว่าจะไกลแค่ไหนบรัมเมลล์ก็จะดั้นด้นไปให้ถึง ผมว่าสิ่งที่บรัมเมลล์ทำนั้นน่าสนใจ เพราะในยุคที่ความสะอาดทางร่างกายเป็นเรื่องใหม่เนื่องจากคนในสมัยนั้นยังไม่นิยม บรัมเมลล์พลิกไอเดียเรื่องสุขลักษณะให้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของแฟชั่นและใช้มันสร้างความหรูหราให้สุภาพบุรุษ ที่สำคัญเขาลดความฉูดฉาดของลวดลายและสีสันของเสื้อผ้าผู้ชายในเวลานั้นให้เหลือแค่เพียงกลุ่มสีดำและสีเข้ม ความหรูหราของชายในรูปแบบใหม่จึงถูกแทนที่ด้วยความเรียบและเนี้ยบในการตัดเย็บ ซึ่งบรัมเมลล์ก็พร้อมที่จะจ่ายไม่อั้นเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนมกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษในขณะนั้น (ต่อมาคือพระเจ้าจอร์จที่ 4) ถึงกับทรงเคยเรียกให้เขาเข้ามาเป็นผู้ดูแลเรื่องเครื่องแต่งกายส่วนพระองค์

เราอาจจะนึกว่าเสื้อผ้าของสุภาพบุรุษก็มีเพียงแค่การสวมเสื้อสูทและผูกเนกไท แต่ในความคิดแบบแดนดี้ เครื่องแต่งกายนั้นต้องทำหน้าที่ไม่ต่างจากการสะท้อนความคิดของผู้สวมใส่ไปด้วยพร้อมกัน ความหมายเช่นนี้ชัดเจนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้มาตรฐานของความสุภาพอันต้องยึดถือตามกฎสังคมยุควิกตอเรีย กวีและนักเขียนชาวฝรั่งเศส ชาร์ลส์ โบเดอแลร์ (Charles Baudelaire) ปฏิเสธกรอบอันเคร่งครัดผ่านการสวมใส่เสื้อผ้าแบบสุภาพบุรุษสุดเนี้ยบจนสุดขอบ ด้วยการเลือกเสื้อผ้าทุกชิ้นบนร่างกายของเขาด้วยสีดำเข้มตลอดหัวจรดเท้า การเป็นแดนดี้สำหรับโบเดอแลร์จึงเท่ากับการสะท้อนสภาวะการค้นหาความเพอร์เฟ็กต์อย่างสุดขั้วภายในตัวเอง การถอดทุกสีออกจากเครื่องแต่งกายจนเหลือแต่เพียงสีดำจึงกลายเป็นความเรียบง่ายถึงขั้นมินิมัลที่ให้ภาพความทันสมัยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แทบไม่ต่างจากการเป็นกบฏต่อกรอบสังคมและประเพณีเดิม

เฉกเช่นเดียวกับนักเขียนและนักการละครชาวอังกฤษ ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ที่ใช้ความเป็นแดนดี้ในเครื่องแต่งกายเพื่อช็อกคนในสังคมเช่นกัน ไวลด์มีรสนิยมทางเพศแบบชายรักชายและท้าทายความเชื่อหัวโบราณว่าเป็นศัตรูร้ายด้วยการไว้ผมยาวแบบศิลปิน สวมกางเกงยาวแค่เข่าที่เรียกว่า ‘Knee Breeches’ กับถุงน่องซาตินตามแบบราชสำนักในอดีต แล้วเลือกติดดอกคาร์เนชั่นสีเขียวที่ปกเสื้อสูทจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ซึ่งต่อมาถูกตีความว่าเป็นเครื่องหมายแทนความรักต้องห้ามที่ค้านกฎธรรมชาติ เขากลายเป็นแฟชั่นไอคอนแต่ในขณะเดียวกันก็ถูกซุบซิบนินทาจากกลุ่มคนรุ่นเก่า จะว่าไปไวลด์ก็ไม่เคยสนใจถ้าการแต่งกายของเขาจะกลายเป็นเรื่องที่คนหัวโบราณเหล่านั้นหยิบมาโจมตีเสียดสี เพราะอย่างน้อยเขาถือว่าสังคมได้รับรู้ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับกรอบเก่าที่สังคมกำหนด อย่างที่ไวลด์เคยพูดไว้ว่า “สิ่งที่เลวร้ายมากกว่าการถูกนินทาคือการไม่ถูกพูดถึง”

ผมพยายามมองตะวันตกเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แล้วพบว่าในช่วงเวลาใกล้กันกับกระแสแดนดี้ในยุโรป ราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนและนำเสนออิมเมจใหม่ภายใต้กระแสการล่าอาณานิคมทั้งจากอังกฤษและฝรั่งเศส เครื่องมือหนึ่งที่ราชสำนักสยามเลือกใช้เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัยจึงเป็นการปรับรูปแบบเครื่องแต่งกายใหม่ให้ดูศิวิไลซ์ขึ้นในสายตาฝรั่ง อันจะเห็นได้ชัดจากพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่โปรดเกล้าฯ ให้นำเอาการแต่งกายของสุภาพบุรุษชาวยุโรปในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มาเป็นต้นแบบ อย่างเช่นภาพลักษณ์ของแดนดี้ที่ถูกสอดแทรกอยู่ในการเลือกใช้ฉลองพระองค์สูทสีเข้มแบบตะวันตก พระสนับเพลาเข้าชุดกัน พระมาลาทรงต่างๆ รวมทั้งธารพระกร (ไม้เท้า) ที่ทรงใช้ในลักษณะของอุปกรณ์ประกอบการแต่งกายไม่แตกต่างจากชาวยุโรป

กระบวนการใช้เครื่องแต่งกายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยอย่างแยบยลนี้ถูกทำให้ชัดและแพร่หลายเร็วขึ้นด้วยอุปกรณ์สมัยใหม่ที่เรียกว่ากล้องถ่ายรูป การจัดวางพระอิริยาบถของรัชกาลที่ 5 ในภาพถ่ายที่ประกอบไปด้วยมุมมองแบบชายแดนดี้ ไม่ต่างจากกระบอกเสียงที่ย้ำให้ตะวันตกได้เห็นถึงความศิวิไลซ์ของสยาม พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของอิมเมจแบบชนชั้นสูงที่ดูจะก้าวทันฝรั่งในสายตาของคนไทยด้วยกันเอง

แนวนิยมดังกล่าวยังเห็นได้จากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงส่งพระราชโอรสให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ซึ่งผลส่วนหนึ่งจากการประสานความสัมพันธ์แบบไทยกับตะวันตกนี้ ถือเป็นจุดกำเนิดของเจ้าชายเลือดผสม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก ซึ่งเป็นหญิงชาวรัสเซีย การได้รับการศึกษาแบบยุโรปที่ประเทศอังกฤษนับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทำให้พระองค์จุลได้คลุกคลีกับวัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลกับรสนิยมและการแต่งกาย ดังจะเห็นได้จากพระรูปสมัยเข้าเรียนที่โรงเรียนแฮร์โรว์ในชุดเครื่องแต่งกายแบบสุภาพบุรุษอังกฤษเต็มยศ รวมถึงการโพสท่าถ่ายภาพในมุมมองที่ไม่ต่างไปจากชายแดนดี้ยุคก่อนหน้านั้นในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ที่ทรงพระนิพนธ์ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความสำคัญของเครื่องแต่งกายในฐานะเครื่องมือเพื่อแสดงลำดับชั้นทางสังคมของนักเรียน ทั้งยังสามารถใช้จำแนกวันและช่วงเวลาต่างๆ ของวันออกจากกันได้

ดังนั้นหากจะลองมองพระองค์จุลผ่านจิตวิญญาณแบบแดนดี้ ผมกำลังคิดว่าความเป็นสุภาพบุรุษสุดขั้วของพระองค์ที่ถูกใช้ผ่านกระบวนการแต่งกายแบบเปี่ยมรสนิยมขั้นสูงสุดนี้ นอกจากจะสะท้อนถึงความทันสมัยในลักษณะที่คนไทยใช้มองตะวันตกอย่างชื่นชมแล้ว ขณะเดียวกันก็สะท้อนความขบถต่อมุมมองแบบอนุรักษนิยมของสยาม อันเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พระองค์ต้องรอนแรมจากบ้านเกิดในวัยเด็กมาใช้ชีวิตอย่างไม่สุขสบายนักในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ทรงเลือกหันหลังให้กับการรับราชการทหาร ไปสู่การเป็นศิลปินนักประพันธ์

สภาวะของความไม่ ‘Fit In’ กับกรอบความเชื่อดั้งเดิมนี้ยังพบเห็นได้จากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ ‘เจ้าดาราทอง’ พระสหายนักแข่งรถของพระองค์จุล ทั้งสองพระองค์เป็นชายหนุ่มรูปงาม แต่งตัวดี รักอิสระ ชอบความเร็ว ความทันสมัย และเลือกจะเสกสมรสกับสตรีต่างชาติ ผมไม่แน่ใจว่าการเลือกเป็นตะวันตกอย่างสุดโต่งเช่นนี้เป็นดั่งเครื่องมือที่เจ้าชายทั้งคู่ทรงใช้เพื่อแสดงให้เห็นการไม่เห็นด้วยกับกรอบประเพณีและความเชื่อดั้งเดิมอยู่ไหม แต่มันทำให้ผมนึกย้อนกลับมาถึงเหล่าบรรดาเน็ตไอดอลและเหล่าแฟชั่นไอคอนของไทยในปัจจุบันว่า เครื่องแต่งกายที่พวกเขาเลือกใส่นั้นกำลังสะท้อนความคิดหรือแอตติจูดที่มีต่อสังคมอยู่เหมือนกันหรือไม่ มันคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายทีเดียวหากความพยายามสร้างภาพทั้งหมดนั้นล้วนไม่ได้นำไปสู่อะไรเลยนอกจากความว่างเปล่า

Story: พันธุ์ชนะ สุนทรพิพิธ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook