อ่านความคิด พิธีกรแห่งปี “เปอร์ สุวิกรม อัมระนันทน์”

อ่านความคิด พิธีกรแห่งปี “เปอร์ สุวิกรม อัมระนันทน์”

อ่านความคิด พิธีกรแห่งปี “เปอร์ สุวิกรม อัมระนันทน์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การค้นพบความชอบและทำในสิ่งที่รักเป็นความสุขที่ยากจะอธิบาย เปอร์ สุวิกรม วันนี้เขาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบคือการรับหน้าที่พิธีกรในรายการสารคดีชีวิต Perspective แถมยังพิสูจน์ตัวเองจนสามารถคว้ารางวัลพิธีกรแห่งปีบนเวที NineEntertain ที่ผ่านมา ด้วยวัยเพียง 29 ปี อะไรซ่อนอยู่ในความสำเร็จของหนุ่มคนนี้ Sanook! Men อาสาพาทุกคนมาเปิดความคิดของเขา

พิธีกรแห่งปี
หากรางวัลคือเครื่องการันตรีความสามารถ หนุ่มคนนี้ก็ถือว่าผ่านขั้นตอนการพิสูจน์ตัวเองมาแล้วหนึ่งขั้น ถึงอย่างไรเขาคิดเสมอว่ามีทุกวันนี้ได้เพราะทุกคนที่ให้โอกาส
“จริงๆ ไม่มีใครมากกว่าใคร ทุกคนที่มีโอกาสได้รู้จักหรือพบเจอในชีวิตนี้ส่งผลให้ผมเป็นผมในวันนี้ หากเขาเหล่านั้นจะทราบว่าผมเป็นผลผลิตเหล่านั้นจากการพบเจอ พูดคุย เรียนรู้ น่าจะเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของเขามากกว่า เพราะสำหรับผมรางวัลไม่ใช่เป้าหมาย เราอยากให้คนดูได้ประโยชน์มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้”

ซึมซับสิ่งดีจากผู้คน
ด้วยบทบาทพิธีกรที่ต้องพูดคุยเจาะลึกความน่าสนใจของแขกรับเชิญในแต่ละสัปดาห์ ทำให้พิธีกรคนนี้เรียนรู้และซึมซับสิ่งดีแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเรื่องของมุมมองและวิธีการใช้ชีวิตที่เขานำมาปรับใช้ทั้งในแบบที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
“ตั้งใจก็หมายความว่า เราฟังแล้วรู้สึกว่าไอเดียแบบนี้มันดีและเกิดประโยชน์ เราก็เอามาปรับใช้กับชีวิตเรา กับทีมงานของเรา กับรายการของเราแต่แบบไม่ตั้งใจ มันเกิดจากการซึมซับมาแบบที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องแบบนี้มีอยู่ในชีวิตมนุษย์ สังเกตดีๆ เราสนิทกับใครสักคนเรามักจะมีนิสัยเหมือนกับคนที่เราสนิท”

 

ทำรายการแบบไม่ตัดสิน ให้คนดูคิดเอง
ด้วยรูปแบบรายการที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผู้ชมเกิดความคิด จุดประกายความฝัน สามารถนำสิ่งที่ได้รับชมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เน้นมองอะไรให้ลึกซึ้งกว่าที่เคย นั่นคือแก่นที่รายการต้องการนำเสนอ

“จุดเริ่มต้นผมตั้งใจจะทำให้คนที่วัยน้อยกว่า วัยใกล้เคียงกัน หรือวัยที่โตมากกว่า แต่ยังไม่สามารถหาคำตอบให้กับตัวเอง หรือสิ้นหวังและหวังซึ่งแนวทางที่ตัวเองจะเดินทางต่อไป เพราะฉะนั้นผมอยากให้แขกรับเชิญแต่ละคนได้ถ่ายทอดเรื่องราวของเขาได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยหวังว่าวิธีการเหล่านี้อาจเป็นแบบอย่างให้กับคนที่มีโอกาสได้ชม”

สำหรับแฟนรายการแรกเริ่มเดิมทีที่เขาคิดว่าคงจะมีแค่เพียงกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่สนใจ แต่เมื่อรายการออกอากาศไปแล้ว เขาพบว่ามีผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งตัวเขาเองพอจะสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นคนอายุเท่าไหร่ เพศใดก็ตามที่ติดตาม Perspective คนเหล่านี้คือคนประเภทเดียวกัน คือคนที่แสวงหา อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม อยากพัฒนาศักยภาพตัวเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ เป็นคำพูดสั้นๆ คือ คนใฝ่ดี

“ผมนั่งมอเตอร์ไซค์มาตั้งแต่เด็กจนโตก็จะสนิทกับพี่ๆ วินมอเตอร์ไซค์เป็นอย่างดี ปกติเวลาเดินผ่านตอนออกไปซื้อของหน้าปากซอยเขาก็จะทักทายจะถามว่าไปไหน บางครั้งก็ทักทายชวนคุย แต่เมื่อวานนี้เขาทักทายในคำถามที่แตกต่าง เขาบอกว่าบ้านทองหยอดมันอยู่ที่ไหน และก็ถามว่าเด็กที่จะไปเรียนที่บ้านทองหยอดต้องทำยังไงบ้าง และเขาเริ่มรับตั้งแต่อายุเท่าไหร่ เราเริ่มรู้ทันทีแล้วว่าเขาสนใจรายการหรือว่าเป็นแฟนรายการ Perspective เขาอยากจะส่งลูกไปเรียนแบดมินตัน และก็หวังว่าจะมีอนาคตเป็นแบบน้องเมย์ รัชนก”

เลือกทำในสิ่งที่รักและรักในสิ่งที่ทำ
หากย้อนกลับไปพิธีกรหนุ่มมากความสามารถคนนี้ เราเห็นหน้าเขาครั้งแรกจาก ภาพยนตร์ 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ จากนั้นเขาตามฝันเข้าไปขอจัดรายการที่คลื่น แฟต เรดิโอแบบไม่ต้องมีค่าจ้าง นอกจากได้ทำงาน เขายังอยากได้กระบวนการความคิดติดตัวมาด้วย

“เริ่มต้นจากการจัดรายการวิทยุ ได้ศึกษาเกี่ยวกับเพลงให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ได้มีพี่นักจัดการการวิทยุที่คอยสอนเรื่องจังหวะในการพูด การใช้คำให้เหมาะสมและสละสลวย ให้น่ารับฟังมากขึ้น และก็ฝึกฝนต่อไปเรื่อยๆ จนได้ก้าวไปเป็นพิธีกรและมันก็ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนมันได้รับรางวัล ผมยังไม่คิดเลยว่าจะมารับรางวัล”

บริหารบริษัทต้องคิดตลอดเวลา
หนุ่มวัย 29 กับบทบาทเจ้าของบริษัท เขายอมรับว่าบทบาทนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มันเหนื่อยมากเมื่อเทียบกับงานที่ผ่านๆ มา เพราะงานบริหารคนความรับผิดชอบเยอะมาก และบทบาทนี้เขาเพิ่งเริ่มทำได้ไม่นาน เมื่อก่อนงานพิธีกรเขาคิดว่าเหนื่อยแล้ว เพราะว่าต้องควบคุมบรรยากาศของสิ่งที่จะนำเสนอให้ได้มากที่สุด แต่หากควบคุมอะไรไม่ได้ก็ปล่อยวาง แต่กับการทำบริษัทเขาบอกว่ายังไม่สามารถเรียนรู้การปล่อยวางได้เลย เพราะรู้สึกว่าทุกอย่างอยู่ในหัวตลอด 24 ชั่วโมง ทุกๆ วัน ทุกๆ วินาที เขาจะคิดถึงแนวทางของการทำงาน แนวทางของการปฏิบัติตลอดเวลา

หากจุดแข็งคือความคิด จุดอ่อนก็คือความคิด
เมื่อเขาถูกยอมรับว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิด จนหลายคนมองว่ามันคือจุดแข็ง แต่เขากลับมองว่าจุดแข็งที่ใครๆ ยอมรับมันเปรียบเสมือนจุดอ่อน โดยหากเขาคิดเรื่องอะไรก็ตามเขามักจะเข้าถึงมันให้ได้อย่างลึกซึ้ง เวลามีความสุขก็มีความสุขขนาดที่คนทั่วไปอาจจะคิดว่ามันสุขได้ขนาดนั้นเชียวหรือ แต่หากมีความทุกข์เขาก็จะทุกข์มากกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ

“จุดอ่อนคือความคิดของผมนั่นเองที่มันจะเป็นทุกข์ต่อตัวผมเอง เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันก็คือความคิดนั่นแหละ ถ้ามันจะเป็นจุดแข็งมันก็จะเป็นจุดอ่อนเช่นเดียวกัน คนที่ไม่ได้คิดอะไรมากขนาดผมเวลามีความทุกข์เขาก็ไม่ได้คิดมากเท่าที่ผมคิด”

ความสำเร็จพิสูจน์กันจนวันตาย
เมื่อถามถึงความสำเร็จหลายคนคงมีเป้าหมายที่บ่งชี้ได้ว่า จุดนั้น จุดนี้ คือความสำเร็จ แต่สำหรับเขาคนนี้ ความสำเร็จต้องพิสูจน์กันยาวชนิดที่เรียกว่าจวบจนวันตาย

“ต้องพิสูจน์กันไปจนถึงวันตายนั่นล่ะครับ ถ้าวันนี้ดำเนินมาในแบบนี้ และวันข้างหน้าไม่ได้เป็นแบบนี้มันก็ล้มเหลว และผมไม่พยายามให้ตัวผมเองประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ เพราะผมคิดว่าความสำเร็จและความล้มเหลวมันเป็นของคู่กัน ผมพยายามไม่ไปแตะทั้งสองอย่าง”

ไอดอลที่ไม่ต้องทำตามทุกอย่าง
สำหรับใครที่มีหนุ่มคนนี้เป็นแบบอย่าง เขาบอกแบบตรงไปตรงมาว่าหากสิ่งไหนทำตามแล้วดีขึ้นก็ทำตามไป หากเรื่องที่ทำตามแล้วชีวิตแย่กว่าเดิมก็ไม่ต้องเลียนแบบ อะไรที่สังเกตและได้รับจากตัวเขาหากไม่ชอบก็ไม่ควรนำไปปฏิบัติตาม เพราะสิ่งหนึ่งที่เขายึดถือก็คือเวลาที่ไม่ชอบอะไรในตัวใคร เขาจะพยายามกันสิ่งเหล่านั้นไม่ให้เข้ามาอยู่ในตัวเขา และหากเขาชอบใครจะพยายามชักนำสิ่งเหล่านั้นเข้ามาในตัวเขาเพื่อพัฒนาให้ตัวเองเป็นคนที่มีความสุขที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

“หากมีผมเป็นไอดอลช่วยมีชีวิตที่ดีกว่าผมจะดีมาก เพราะมันจะเป็นความภาคภูมิใจ แต่หากคุณบอกว่าคุณมีผมเป็นไอดอลแล้วคุณมีชีวิตที่แย่ลงไปกว่าเดิม อย่าเอาเป็นไอดอลเลย ผมอายเขา และผมรู้สึกว่าผมเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีเอาเสียเลย มันทำให้ผมทุกข์ใจ กังวลใจมาก”

ทุกคนอาจจะนิยามความสำเร็จไว้ไม่เหมือนกัน แต่หากคุณพยายามและหมั่นพัฒนาศักยภาพตัวเองอยู่เสมอ เชื่อว่าความสำเร็จที่วาดไว้ คุณต้องสามารถไปแตะได้สักวัน เหมือน เปอร์ สุวิกรม เจ้าของรางวัลพิธีกรแห่งปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook