กรณ์ ณรงค์เดช บิ๊กบอสเคพีเอ็น อวอร์ด

กรณ์ ณรงค์เดช บิ๊กบอสเคพีเอ็น อวอร์ด

กรณ์ ณรงค์เดช บิ๊กบอสเคพีเอ็น อวอร์ด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2526 การประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือที่หลายคนจะถนัดเรียกชื่อสั้นลงมาหน่อย ก็คือ เวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการ เวทีประกวดร้องเพลงที่ยิ่งใหญ่ และทรงเกียรติ ที่มีจุดเริ่มต้นจาก คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้ผลักดันสานฝันให้คนรักเสียงเพลงได้มีโอกาสและมีพื้นที่เพื่อแสดงศักยภาพ นี่คือเวทีทรงเกียรติที่ได้สร้างนักร้องระดับมืออาชีพในวงการเพลงประดับวงการมากมายมาจนถึงทุกวันนี้

ปี 2553 การเริ่มต้นสานต่อเวทีประกวดโดยลูกชายคนเล็กของบ้าน กรณ์ ณรงค์เดช ก้าวเข้ามารับหน้าที่กุมบังเหียนภายใต้ชื่อ เคพีเอ็น อวอร์ด จนถึงปัจจุบัน ในฐานะผู้นําทีมนำทัพ ท่ามกลางการแข่งขันการประกวดต่าง ๆ ที่มีหลากหลายเวทีมากขึ้น การพลิกโฉมการประกวดเคพีเอ็น ทั้งรูปแบบโชว์และโปรดักชั่นเพื่อสร้างความน่าสนใจ จึงเป็นโจทย์ 1 ข้อในการบ้านของเขา เป็นที่มาของการประกวดในสไตล์แบทเทิ่ล ซีรี่ส์ การแข่งขันระหว่างหน้าตาและเสียงจึงเกิดขึ้น

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาปี 2559 ในวาระครบรอบปีที่ 25 ความพิเศษจะเกิดขึ้นบนเวทีเคพีเอ็น อวอร์ด อีกครั้ง ด้วยการนํารูปแบบการประกวดเดิมที่มีผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการตัดสินโดยการคัดผู้เข้าแข่งขันมาจากคนที่เคยพลาดบนเวทีแห่งนี้ ให้มีโอกาสก้าวสู่การเป็นคนที่ ‘ใช่’ อีกครั้ง

จากการเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจ บทบาทในหน้าที่การงานของกรณ์ ณรงค์เดชวันนี้ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งสายธุรกิจและเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ปัจจุบันเขาเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทเคพีเอ็น อวอร์ด ดูแลศิลปินและดูแลในส่วนภาพลักษณ์ทั้งหมดขององค์กร นอกจากตัวเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ยังมีโรงเรียนดนตรี ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พบกับเรื่องราวหลากหลายบทบาท ที่การบริหารงาน บริหารคน และปัญหา องค์ประกอบของการทํางานที่เขาเรียนรู้ไปพร้อมกับความรับผิดชอบในหน้าที่ โดยเฉพาะหน้าที่ของการเป็นผู้นําทัพเคพีเอ็น ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่เข้าถึงทุกบ้าน และทําให้หลายคนรู้จักเขามากขึ้นจากบทบาทนี้

เรียนจบมาทราบอยู่แล้วไหมคะว่าต้องมาสานต่อธุรกิจครอบครัว
ตอนเรียนจบใหม่ ๆ ธุรกิจหลักของครอบครัวจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งส่วนตัวพูดตรง ๆ ว่าไม่ชอบ ตอนที่เรียนปริญญาโทที่อังกฤษ เป็นช่วงชีวิตวัยรุ่น เรียนสนุก เพื่อนคนไทยเต็มไปหมด เรียนจบแล้วแต่ยังไม่อยากกลับ แต่จะอยู่ที่นั่นเฉย ๆ ก็ดูน่าเกลียด พอดีที่อยู่ที่อังกฤษใกล้ ๆ กันมีสอนเรื่องอินทีเรีย ส่วนตัวเป็นคนชอบเรื่องออกแบบตกแต่ง เลยขอที่บ้านอยู่เรียนต่ออีก 6 เดือน

พอเรียนจบกลับมาคุณพ่อคุณแม่ถามว่าอยากจะทําอะไร แต่โรงงานที่บ้านก็ไม่ใช่สไตล์ที่อยากทําตอนนั้นคุณพ่อบอกว่ากระแสคอนโดฯกําลังบูมผมเรียนออกแบบตกแต่งมา งั้นทําคอนโดฯ ไหมล่ะเป็นที่มาของการทําพร็อพเพอร์ตี้ครั้งแรก การทํางานทุกอย่างของผมมาด้วยความบังเอิญทั้งนั้น แต่เป็นความบังเอิญที่เกิดมาจากความชอบ อย่างตอนมาทําประกวดเคพีเอ็นก็เป็นเรื่องบังเอิญเหมือนกัน อย่างที่ทราบกันการประกวดเริ่มจากคุณแม่ (คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช) ทํามาตั้งแต่ปี 2526

สมัยก่อนเป็นประกวดครั้งเดียวแล้วก็จบกันไป ตอนที่ผมเข้ามาทํามันเป็นช่วงที่กระแสเรียลลิตี้เริ่มบูมด้วย แล้วช่องในขณะนั้นเขาบอกว่าปีนี้เขาจะปรับเปลี่ยนนะ ก็คุยกับที่บ้านว่าเราจะทําอะไรกันดี ซึ่งผมเป็นคนที่ชอบดูรายการเรียลลิตี้เมืองนอก ผมก็พูดเรื่องนี้ พอพูดเสร็จ มีคําถามตามมา แล้วใครจะทําพี่ชายคนโตบอกงั้นเราเอาไปทําแล้วกันก่อนจะมาเป็นเคพีเอ็น อวอร์ด การประกวดสยามกลการยุคหนึ่ง คือเวทีประกวดร้องเพลงทรงเกียรติที่คนไทยจดจํากันได้ดี

ต้องเล่าย้อนว่าทําไมการประกวดสยามกลการถึงเกิดขึ้นมา สมัยก่อนย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว เวลาไปต่างประเทศกับครอบครัว ยุคนั้นคนญี่ปุ่นเฟื่องฟู ไปไหนถ้าถือพาสปอร์ตญี่ปุ่น ตรวจคนเข้าเมืองทุกประเทศเขาเชิญหมด แต่พอเป็นพาสปอร์ตไทย ตรวจแล้วตรวจอีก ถามแล้วถามอีก คุณแม่รู้สึกว่าทําไมไม่ให้เกียรติคนไทยเลย ท่านเลยคิดอยากทําอะไรให้ชาวโลกรู้ว่าคนไทยเก่งและมีความสามารถ

คุณแม่จึงนึกถึงเรื่องการประกวดร้องเพลงโดยเราหาพื้นที่สนับสนุนคนที่มีความสามารถ เพราะสมัยก่อนคนที่ชนะสยามกลการจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปโชว์ที่ญี่ปุ่น อันนั้นเป็นโมเดลแรกที่คุณแม่ทําเป็นกึ่ง ๆ การคืนกําไรให้สังคม ปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเรื่อย ๆ แต่สิ่งหนึ่ง ที่เรายังรักษาไว้คือเราเป็นเวทีที่มีจุดประสงค์แรกคือการให้โอกาสคน ทุกวันนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเรามีความเป็นธุรกิจมากขึ้น เดี๋ยวนี้ทํารายการหนึ่ง 12-13 สัปดาห์ ค่าใช้จ่าย ค่าลงทุนสูง ซึ่งในแง่การทําธุรกิจก็ไม่ควรจะขาดทุน แต่ในขณะเดียวกัน 20 กว่าปี เวทีนี้ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงเยอะ มันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย

ซึ่งคนเข้าประกวดในยุคนั้น ยังมีชื่อเสียงสร้างผลงานมาจนถึงทุกวันนี้
ก่อนเข้ามาทําตรงนี้ คุณแม่พูดเสมอว่าสิ่งที่ทําให้ท่านมีความสุขในการทํางานนี้ คือการสร้างคน ตอนนั้นผมไม่รู้หรอก คิดว่าอะไรจะขนาดนั้น (ยิ้ม) จนพอได้มาทําเองถึงเข้าใจครับ อย่างบี้ เคพีเอ็น (ธรรศภาคย์ ชี) เราเห็นเขาตั้งแต่วันแรกอายุ 18 ผมสั้นมาจากหาดใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้ซื้อบ้านซื้อรถให้พ่อแม่ ไต้ฝุ่น เคพีเอ็น (กนกฉัตร มรรยาทอ่อน)ก็เหมือนกัน เป็นเด็กจากเชียงใหม่ไม่มีอะไรเลย แต่ทุกวันนี้สร้างโฮมสเตย์ให้คุณแม่ได้ เวลาเจอคุณแม่เขาก็ยังขอบคุณเราที่ทําให้ครอบครัวเขามีทุกวันนี้ได้เพราะเคพีเอ็น วันนี้ผมเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่คุณแม่พูดหมายความว่ายังไง

เวทีที่มีมานานและเป็นภาพจําของคนส่วนใหญ่ การเข้ามาสานต่อ (ตั้งแต่ปี 2553) กดดันไหมคะ
เพราะเป็นเวทีแรกที่อยู่มานาน จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีความที่อยู่มานานผมก็จะได้ใบบุญ ตรงที่ทุกคนให้การสนับสนุน มีสัมพันธ์ที่ดีกับพี่ๆ หลายบริษัท รวมถึงพี่ ๆ ศิลปินในวงการ แต่ในขณะเดียวกันความที่อยู่มานานอาจจะเป็นดาบสองคมในแง่ที่ว่าพอผมเข้ามาเปลี่ยนอะไรนิดหนึ่ง คนจะรู้สึก...เฮ้ย เขาทํามา 20 ปีจะมาเปลี่ยนอย่างนี้ได้ยังไง

แต่ทุกวันนี้ในการเปลี่ยนแปลงคนก็เข้าใจมากขึ้นครับ ผมเข้ามาทําปีนี้เป็นปีที่ 6 ย้อนกลับไป 5-6 ปีที่แล้วธุรกิจเพลงบ้านเราเปลี่ยนไปเยอะ สมัยเด็ก ๆ เราจะเห็นนักร้องคนนี้ฉลองล้านตลับ แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว เพราะธุรกิจเพลงมันเปลี่ยนไป ทุกวันนี้นักร้องที่อยู่ได้คือต้องขายงานแสดงสด ขายงานโชว์ เพราะเรื่องของดาวน์โหลดก็ไม่ใช่รายได้แล้ว คนที่ทําธุรกิจเพลงเรายังคุยกันเองเลยว่าทุกวันนี้ใครที่ยังทําเพลงอยู่ต้องใจรักจริง ๆ เพราะมันแทบจะไม่ได้อะไรเลย เป็นที่มาของการเปลี่ยนรูปแบบเวทีนี้ เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราเริ่มทําคอนเซ็ปต์ที่ชื่อว่าแบทเทิ่ล ซีรี่ส์ มันเริ่มมาจากตอนผมเข้ามาทําก็มี

คําถามคาใจทั้งคนดูและคนทําว่าสุดท้ายแล้วการประกวดร้องเพลงสําหรับประเทศนี้อะไรมันสําคัญกว่ากัน ระหว่างหน้าตาดีกับเสียงร้องดี แน่นอนทุกวันนี้รายการประกวดอยู่ได้ด้วยสปอนเซอร์ เวลาสปอนเซอร์เขาจะเลือกลง พูดตรง ๆ คือเขามองเรตติ้งส่วนใหญ่มาจากคนขึ้นเวทีแล้วร้องดีเสียงดีมีกระแส ใขณะเดียวกันสปอนเซอร์หรือลูกค้าจะมองการต่อยอดซึ่งประเทศไทยคนที่ลงเวทีแล้วประสบความสําเร็จในเรื่องการต่อยอดไปมีอาชีพอย่างอื่นในวงการบันเทิง ต้องยอมรับว่า 80 เปอร์เซ็นต์คือคนที่มีหน้าตามากกว่าความสามารถ

ขณะเดียวกันเราทํารายการ รายการก็ต้องอยู่ได้ด้วย เลยเป็นที่มาของรายการว่าเราจะเลือกเสียงดีหรือเลือกหน้าตาดี ซึ่งยอมรับว่า 2-3 ปีแรกที่เข้ามาทําผมเองยังงงมาก จะเอายังไงดี เลือกเด็กหน้าตาดี ลงเวทีมาเด็กก็มีงานต่อ แต่ในขณะเดียวกันเรื่องของคุณภาพเสียงอาจจะดูลดลง มีอยู่วันหนึ่งนั่ง ๆ อยู่ผมคิดว่าในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ ทําไมเราไม่ยอมรับไปตรง ๆ เลยละ จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์เคพีเอ็น อวอร์ด 3 ปีที่แล้ว คือเดอะแบทเทิ่ล ซีรี่ส์ ผมยอมรับว่าเราเป็นรายการแรกของการประกวดร้องเพลง ที่เราเลือกมาเลย 5 คนคือเสียงดี 5 คนหน้าตาดี คนดูชอบแบบไหนก็ไปเลือกกันเอง….


อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่นิตยสารขวัญเรือน no.1062 vol.45 February 2016



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook