เช็คชีวิต สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ วันที่โดนมรสุม

เช็คชีวิต สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ วันที่โดนมรสุม

เช็คชีวิต สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ วันที่โดนมรสุม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นอีกช่วงชีวิตที่ ผู้ชายชื่อ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กำลังถูกมรสุมลูกใหญ่พัดเข้าใส่ จากกรณีโพสต์ข้อความพาดพิงบริษัทค้าข้าวจนกระหึ่มไปทั่วโลกออนไลน์ วันนี้เราจะมาเช็คชีวิตของผู้ชายคนนี้กันอีกครั้งว่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาจะทำให้เขามีภูมิต้านทานท้ามรสุมลูกใหญ่ลูกนี้ได้ขนาดไหน 

สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เป็นอดีตมนุษย์เงินเดือนธรรมดา เคยทำงานอยู่เบื้องหลัง ทั้งวงการวิทยุ และโทรทัศน์ ผลงานที่เด่นชัดเขาคือโปรดิวเซอร์รายการ "เจาะใจ" ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด ก่อนที่จะผันมาเปิดบริษัท ทีวีบูรพา เป็นของตัวเอง และเริ่มต้นด้วยรายการที่ดับเฟิร์สคลาสอย่าง คน ค้น คน  ปัจจุบันมีรายการออกอกาศ 3 รายการ คือ คน ค้น คน กบนอกกะลา และ กระบี่มือหนึ่ง 

สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เคยให้สัมภาษณ์แนวคิดการใช้ชีวิตของเขาไว้หลายที่ หนึ่งในนั้นเขาเคยพูดคุยกับ  Thailand Creative & Design Center (TCDC) มีใจความว่าอย่างไรเชิญอ่านกันได้ตั้งแต่บรรทัดต่อไปนี้

TCDCCONNECT จับเข่าคุยกับ "พี่เช็ค" แห่งทีวีบูรพา ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์มือหนึ่ง ที่วันนี้ต้องควบถึงสามตำแหน่ง เป็นทั้งครีเอทีฟ พิธีกร และกรรมการผู้จัดการ ให้กับบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์แนวสร้างสรรค์สังคมที่เขาก่อตั้งขึ้น

แรงบันดาลใจที่ทำให้คุณเริ่มต้นบริษัททีวีบูรพา
น่าจะมาจากการที่เราอยากได้รับการยอมรับ อยากทำผลงานอะไรที่เป็นของเราเอง และมีบางสิ่งบางอย่างที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ

ที่สำคัญอีกข้อ เวลาที่คนอายุมากขึ้น มันก็ยิ่งมีของ อยากทำนู่นทำนี่ แต่สุดท้ายเมื่อต้องเจอกับเหตุผล ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราไม่ได้กำหนดกติกาเอง ถ้าเรายอม วันหนึ่งเราก็จะถูกกลืนเข้าไปในระบบ แล้วก็ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ไม่สามารถเป็นตัวเองของตัวเองได้

เคยไม่เชื่อในสิ่งที่ทำ?
ใช่ เหมือนทำไปเพราะความจำเป็นเรื่องการหาเลี้ยงชีพ แต่ความคิดในเชิงจิตวิญญาณมันไปด้วยกันไม่ได้

เปลี่ยนแรงบันดาลใจเป็นผลงานสร้างสรรค์ได้อย่างไร
ไม่ใช่แค่แรงบันดาลใจอย่างเดียว เราต้องรู้ความถนัด และรู้ถึงสิ่งที่เราทำได้ด้วย เริ่มจากจุดที่คิดว่าตัวเองพอจะทำอะไรได้ก่อน สิ่งที่ผมทำมาโดยตลอดก็คืองานที่เกี่ยวข้องกับคน เช่น ทอล์คโชว์ ก็เลยคิดว่าจะทำเรื่องคนนี่ล่ะ เพราะเชื่อว่าเรื่องคนสามารถที่จะถ่ายทอดเป็นแบบเรียนชีวิตให้แก่กันและกันได้

ช่วงที่เริ่มทำรายการ "ฅนค้นฅน" เป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจพอดี ตอนนั้นผู้คนระส่ำระสายกันมาก เราก็คิดว่าถ้าเราทำรายการให้คนได้แง่คิด ได้ครุ่นคิดเกี่ยวกับชีวิตในมิติที่ทำให้เขาเข้าใจภาวะปัญหาได้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำรายการดีๆ ให้สำเร็จเป็นจริง 
เนื่องจากรายการโทรทัศน์ที่ผมทำเป็นรายการที่อยู่ในฟรีทีวี ฉะนั้นมันมีไม้บรรทัดมาวัดว่า รายการจะอยู่ได้หรือไม่ได้ อย่างพวกเรตติ้ง ยอดขายโฆษณา ฯลฯ ทำให้เราต้องแข่งขันอยู่ตลอด สิ่งเหล่านี้คือกติกาสำคัญที่เราปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้นในการทำงาน เราจะวัดคุณค่าจากความพอใจของเราคนเดียวไม่ได้ ต้องได้รับการยอมรับจากผู้ชม สถานี เอเจนซี่ หรือคนที่จะซื้อโฆษณาด้วย

แต่ถึงกระนั้น เราก็ต้องรักษาสิ่งที่เราเชื่อเอาไว้ ไม่ได้สักแต่ทำเพื่อขาย หรือไปทำตามคนอื่น เราทำสิ่งที่คิดว่ามีคุณค่าให้เกิดประโยชน์ ทำให้เป็นจริงทุกอย่าง ทุกเหตุปัจจัย

ทำทั้งรายการทีวี ทั้งละครเวที ทั้งเขียนบท กำกับ ผลิตรายการ ฯลฯ คุณไปหาไอเดีย หรือแหล่งข้อมูลมาจากไหนมากมาย
ตอนที่ทำละครเวทีก็ทำไปตามบทบาทหน้าที่ แต่รายการโทรทัศน์ที่ทำส่วนใหญ่เป็นรายการเกี่ยวกับคน เกี่ยวกับข้อมูลความรู้ เพราะฉะนั้นต้นทุนที่สำคัญคือต้องรู้แหล่งข้อมูล ซึ่งอาจจะลำบากในระยะแรก แต่พอมีคนรู้จักเดี๋ยวข้อมูลก็จะมาเอง พอทำไปนานๆ เข้าก็จะชำนาญขึ้น

ที่สำคัญก่อนจะทำอะไร เราก็ต้องมีการเตรียมการ อย่างเราจะทำรายการ "ฅนค้นฅน" เราไม่ได้หาเคสอาทิตย์ต่ออาทิตย์ หรือทำแบบตำข้าวสารกรอกหม้อ แต่เรารู้ว่าปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งจะต้องมีหนึ่งคน หรือ 2 สัปดาห์ต่อคน ฉะนั้นอย่างน้อยเราต้องมี 50 คนที่น่าสนใจที่หาเตรียมไว้แล้ว กบนอกกะลาก็เหมือนกัน ต้องมีการสต็อกเรื่องไว้

ประทับใจเรื่องไหนใน "ฅนค้นฅน" มากที่สุด
ในฐานะคนทำงาน ผมประทับใจทุกเรื่อง แล้วแต่แง่มุมที่ต่างกันไป แต่รวมๆ ก็น่าจะเป็นตอนแรกสุดที่เรายังงงๆ อยู่ เพราะว่ามันท้าทาย ยังไม่รู้จะจัดการอย่างไร แต่เรื่องที่ทำให้รายการเป็นที่รู้จักมากๆ ก็คือเรื่อง "แม่ไม่ต้องร้องไห้" ที่เป็นเด็กขายปาท่องโก๋ แล้วก็เรื่อง "ปู่เย็น" ก็ประทับใจเหมือนกัน

ทำไมถึงมั่นใจว่ารายการที่ทำจะไปได้ตั้งแต่ตอนแรก
จริงๆ แล้วไม่มั่นใจเลย ฉะนั้นเราจึงไม่ทำแบบประมาท แก้แล้วแก้อีก แล้วก็ไม่ได้ทำคนเดียว สมมติรายการเป็นเหมือนก้อนหิน ก็มีหลายคนช่วยกันแกะสลัก ช่วยกันวิจารณ์ เอาจนเต็มที่ของแต่ละคน เหมือนช่วยกันปรุงอาหารแล้วเอาไปให้คนชิม คือทำการทดสอบ ให้เจ้านายดู ปิดร้านเพื่อนเพื่อฉายให้คนดูแล้ววิจารณ์ก่อน จากนั้นก็นำเอาการประมวลผลเหล่านั้นมาปรับแก้

ผมเชื่อว่าคนไม่ได้อยากกินเมนูเดียว แม้เรารู้ว่าถ้าทำแบบนี้จะขายดี แต่ต้องมีคนที่อยากกินอย่างอื่นบ้าง ดังนั้น ถ้าเราทำให้ดี ทำแล้วคนมองเห็น คนก็จะไปพูดต่อๆ กันเอง

คุณคิดว่าสังคมไทยต้องการอะไร เพื่อให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 
คิดว่าน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของการเรียนรู้ และการทำความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราคิดว่าจะทำให้ชีวิตเรามีความสุขไม่จำเป็นต้องตอบสนองความอยากได้มากขึ้นเรื่อยๆ อยากให้คนสามารถทำความเข้าใจ สามารถลด ละ ควบคุม หรือประนีประนอมได้ ถ้าสามารถเข้าใจตรงนี้ได้ก็จะทำให้ชีวิตของคนเป็นสุขได้ โดยไม่สร้างผลกระทบที่ไม่ดีต่อคนอื่น

ฝ่าฟันอุปสรรคสำคัญในการทำงานอย่างไร
อุปสรรคและปัญหามีอยู่ตลอด ทั้งเรื่องงาน เรื่องคน ฯลฯ เราต้องทำความเข้าใจว่าปัญหาเป็นของคู่กับการทำงาน เป็นเรื่องปกติ ถ้าจะไม่ให้มีปัญหาก็ต้องไม่ทำอะไร ปัญหามีมาเพื่อให้เราได้ใช้สติปัญญา ใช้ความสามารถเข้าไปแก้ คิดอย่างนี้เราจะไม่รู้สึกแย่กับปัญหา

ถ้ามีปัญหาที่แก้ไม่ได้ เราก็ปล่อยวางไปก่อน หรือพยายามไปเรื่อยๆ มันก็จะแก้ได้ ถ้าวันนี้แก้ไม่ได้ พรุ่งนี้ก็อาจจะได้ แก้คนเดียวไม่ได้ หลายคนก็อาจจะมีทาง สุดท้ายถ้าแก้ไม่ได้จริงๆ อย่างเราไปเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ ยังไงเขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น เราก็แก้ที่ความเข้าใจของเรา ถ้าแก้ภายนอกไม่ได้ เราก็ต้องแก้ที่ตัวเราเอง

ในความเห็นของคุณ วงการโทรทัศน์ไทยดีแล้วหรือยัง
แต่ละคนมีความเห็นต่อคำว่า "ดี" หรือ "เหมาะสม" ไม่เหมือนกัน เพราะเราคาดหวังต่างกัน ถือไม้บรรทัดคนละอัน ถ้าถามผม ผมว่ายังไม่เหมาะสม แต่ที่มีอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้เลว ผมให้คุณค่ากับความหลากหลาย เหมือนอย่างในระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีความหลากหลาย คนเรากินอาหารก็อยากมีเมนูให้เลือกหลากหลาย แต่ในความหลากหลายในปัจจุบันนี้ก็มีบางอย่างที่มากเกินไป มีบางอย่างที่น้อยเกินไป และมีบางอย่างที่ไม่มีเลย ซึ่งบางอย่างที่ยังไม่มีก็น่าจะได้รับการส่งเสริม เพื่อที่จะบาลานซ์กัน ไม่อย่างนั้นแนวโน้มก็จะเป็นอะไรที่ขายดีก็มีเยอะ ซึ่งมันอาจจะเป็นยาบ้าก็ได้ เป็นเหล้าก็ได้ เป็นสิ่งที่กินแล้วอ้วนก็ได้

ฮีโร่ในดวงใจ
เนื่องจากผมทำงานกับคน เรียนจิตวิทยา และถูกสอนมาตลอดว่า คนเรามีทั้งด้านมืด ด้านสว่าง มีทั้งดี ทั้งเลว มีข้อดี ข้อด้อยในตัวทุกคน เพราะฉะนั้นไม่มีใครเพอร์เฟ็ค ต้องมองเป็นเรื่องๆ ไป ถ้าพูดถึงฮีโร่สำหรับผมคงไม่ใช่คน น่าจะเป็นสิ่งหรือภาวะหรือผลงานของเขามากกว่า

ถ้าไม่ทำรายการโทรทัศน์แล้ว คุณอยากจะทำอะไร
อยากทำอาหาร หรือไม่ก็ทำเกษตรอินทรีย์ อยากทำงานชุมชน ทำงานกับชาวบ้านครับ
ตอนนี้ประเด็นที่คนกำลังพูดถึงกันมากคือ ที่ผ่านมาประเทศเราสร้างเจดีย์จากยอด ละเลยฐานเจดีย์ซึ่งก็คือชุมชนต่างๆ ตอนนี้คนไม่มีความสุขก็เพราะฐานเจดีย์ไม่เข้มแข็ง ฉะนั้น ถ้าผมมีส่วนทำให้ชุมชนซึ่งเป็นฐานสำคัญของประเทศชาติเข้มแข็งขึ้น ก็เท่ากับผมได้ทำงานให้ประเทศชาติเข้มแข็ง ยั่งยืน มีสันติสุข

ฝากอะไรถึงคนทำงานรุ่นใหม่
อยากให้คนรุ่นใหม่มาทดแทนไล่หลังคนรุ่นเดิม เพราะเราต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ ผมเป็นคนที่มาชั่วคราว ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ แต่คนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาต่อยอด สิ่งที่อยู่บนบ่าคนรุ่นใหม่ก็คือ ความคาดหวังของคนรุ่นเก่าหรือของประเทศชาติ แต่คนรุ่นใหม่มักจะมองไม่เห็นถึงภาระ หรือความคาดหวังที่ตัวเองต้องรับผิดชอบนั้น และมักจะมีพฤติกรรมเลียนแบบหรือเอาตามอย่างกัน

จริงอยู่ที่พัฒนานั้นคนเราต้องรู้จักเลียนแบบก่อน แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องแตกออกมา ต้องต่อยอดหรือทำอะไรให้งอกเงยขึ้น ตรงนี้คือภาระหรือความคาดหวังที่ผมอยากฝากต่อคนรุ่นใหม่ครับ

ขอบคุณภาพและบทสัมภาษณ์จาก www.tcdcconnect.com

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook