สืบสกุล พันธ์ดี ชีวิตถูกลิขิตสู่งาน “ผู้ประกาศข่าว”

สืบสกุล พันธ์ดี ชีวิตถูกลิขิตสู่งาน “ผู้ประกาศข่าว”

สืบสกุล พันธ์ดี ชีวิตถูกลิขิตสู่งาน “ผู้ประกาศข่าว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนอาจมีแบบแผนชีวิตที่คิดและวางไว้ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการทำงานในฝัน แต่สำหรับผู้ชายคนนี้ "สืบสกุล พันธ์ดี" หรือ "บุ๊ค" ถูกจังหวะชีวิตลิขิตให้มาสวมบทบาท "ผู้ประกาศข่าวช่อง 5" อาชีพที่ไม่เคยอยู่ในความคิด แต่กลายเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมาจนถึงทุกวันนี้

กว่าจะมาเป็น "ผู้ประกาศข่าว"
"ผมเป็นคนที่ไม่มีอาชีพในฝัน ไม่รู้ว่าจะทำอะไร เรียนสายวิทย์มาก็เรียนไม่ได้เรื่อง สอบเอ็นทรานซ์ก็ไม่ติด เพราะเลือกสอบสายศิลป์ อาทิ นิเทศศาสตร์ วรสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน เลือกตามกระแส รู้สึกช่วงนั้นกำลังฮิตและคิดว่าง่ายกว่าสายวิทย์ จริงๆ อยากเรียนสถาปัตย์ เพราะชอบวาดรูป แต่วาดไม่เก่งและไม่ได้เตรียมตัวมาตั้งแต่ต้น พอเอ็นทรานซ์ไม่ติดถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตเหมือนกัน

จากนั้นมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุโทรทัศน์ ตอนเรียนก็นึกว่าง่ายแต่พอไปเรียนจริงๆ ยากเหมือนกัน แต่โชคดีที่เลือกทำในสิ่งที่ถนัด เวลาทำงานกลุ่มผมจะเลือกเป็นครีเอทีฟ หรือเป็นคนเขียนบท เป็น Scripts Leiter จะไม่ทำอะไรที่เกี่ยวกับทางเทคนิค

พอเรียนจบไปสมัครงานตามโปรดักชั่นเฮ้าส์ทั่วไป ความที่เป็นน้องใหม่ไฟแรงก็อยากจะทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น เขียนบทหรือเป็นครีเอทีฟ แต่งานที่ได้ทำเป็นงานจิปาถะ ซึ่งย้อนกลับไปจริง ๆ สิ่งเหล่านั้นเป็นงานที่เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างในหน้าที่ๆ ได้รับมอบหมายให้ทำ สุดท้ายก็ทำอยู่ได้ไม่นาน

ตอนหลังมาสมัครงานที่ช่อง 5 ในตำแหน่งเขียนบทรายการ ได้ทำอยู่ฝ่ายผลิตรายการข่าว ไม่ได้ออกไปทำข่าวแต่ดูแลเกี่ยวกับสคริปและบท รวมถึงเรื่องทั่วไปให้ผู้ประกาศข่าวประมาณ 1 ปี อยู่มาวันหนึ่งผมอยู่เวรทำงานปกติ บังเอิญวันนั้นไม่มีคนลงเสียงสกู๊ปข่าวต่างประเทศ เพราะไม่มีผู้ประกาศข่าวอยู่ในช่องเลย ผมจึงได้รับมอบหมายให้ลงเสียงแทน

วันต่อมาหัวหน้าฝ่ายข่าวก็มาตามหาว่าใครลงเสียงสกู๊ปข่าวต่างประเทศ พวกพี่ๆ บอกว่าเป็นผม จากนั้นก็เลยได้ลงเสียงสกู๊ปมาเรื่อย ๆ อาจจะเป็นเพราะฟลุ๊คบวกกับโอกาสและจังหวะของชีวิต เลยจับพลัดจับผลูได้มาเป็นผู้ประกาศข่าว
จนกระทั้งมาฟลุ๊คอีกครั้ง เมื่อผู้ประกาศข่าวสายบันเทิงไปเรียนต่อ ทางช่องต้องการหาผู้ประกาศข่าวฝ่ายชายเพื่อมาทำข่าวคู่กับผู้ประกาศข่าวหญิงซึ่งมีอยู่แล้ว เลยดึงผมขึ้นมาอ่านข่าวบันเทิงและทำแบบเต็มตัว จากข่าวบันเทิงมาอ่านข่าวพยากรณ์อากาศและมาเป็นผู้สื่อข่าว

ช่วงเป็นผู้สื่อข่าวครั้งแรกต้องออกไปรายงานข่าวสดนอกสถานที่ ซึ่งวันนั้นเป็นงานวันเด็ก บก.ถามว่าตื่นเต้นมั้ย ผมบอกว่าไม่เลยสบายมาก พอไตเติ้ลมาเท่านั้นแหละรู้สึกหูอื้อ ตามัว มือที่ถือสคริปไว้รู้สึกว่ามันแกะกะมาก เลยโยนสคริปทิ้ง แล้วด้นสด ๆ
พอดีปีนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านนายก เลยมีคำขวัญวันเด็ก 2 คำขวัญ ๆ แรกจำได้ แต่คำขวัญที่สองจำไม่ได้ เลยเงียบไปประมาณ 3 วินาที โชคดีที่นึกคำขวัญขึ้นมาได้ ทุกวันนี้ยังถามตัวเองอยู่เลยว่า ถ้าวันนั้นจำคำขวัญไม่ได้แล้วจะทำยังไงต่อ เป็นประสบการณ์แรกที่ตื่นเต้นมาก

ก่อนหน้าที่จะได้มาเป็นผู้ประกาศข่าว ผมไปสอบสจ๊วตมา 2 ครั้ง แต่สอบไม่ติด แล้วอยู่ๆ ก็ได้มาเป็นผู้ประกาศข่าว ถึงวันนี้ยังคิดเหมือนกันว่า บางทีชีวิตอาจถูกลิขิตมาแล้วให้เดินบนเส้นทางสายนี้ ทั้งๆ ที่เป็นคนพูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง พูดเร็ว ขี้อาย ไม่คุยกับใครยิ้มอย่างเดียว ไม่น่าเชื่อว่าจะมีโอกาสได้มาทำงานตรงนี้

อีกอย่างผมมองภาพการเป็นนักข่าว รู้สึกเป็นงานที่เหนื่อยมาก ต้องทำอะไรเองทุกอย่าง ผมจึงไม่เคยคิดจะมาทำงานเป็นนักข่าวเลย แต่พอเข้ามาทำแล้วถึงได้รู้ว่า เวลาทำข่าวมันเป็นเวลาที่มีคุณค่าสำหรับเรามาก ทุกวันนี้จะบอกรุ่นน้องและสอนเด็กๆ อยู่เสมอว่า บางทีเส้นทางชีวิตเราอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ฉะนั้น ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดเวลากับทุกสิ่งที่จะเข้ามาในชีวิต

บางทีเราอาจรู้สึกพลาดหวังหรือท้อแท้กับเรื่องนี้ แต่อาจมีอีกเส้นทางที่เราจะก้าวเดินต่อไปได้ ขอแค่ทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพราะมันจะต่อยอดให้เราได้ทำในสิ่งต่อๆ ไปได้"

ขอบข่ายการทำงานในวันนี้

จากวันวานถึงวันนี้เส้นทางการเติบโตของหนุ่มบุ๊คก้าวย่างอย่างเป็นระบบ จากคนทำงานเบื้องหลังสู่คนทำงานเบื้องหน้า รวมระยะเวลายาวนานร่วม 15 ปี กับบทบาทการเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว พิธีกรรายงาน และงานอื่นๆ อีกมากมาย
"งานที่รับผิดชอบอยู่ตอนนี้มีรายการคุยข่าว 10 โมงเช้า อ่านข่าวภาคค่ำ รายการจับประเด็นข่าวร้อน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นการสนทนาทอล์คเจาะลึก รายการสังคมไทยไอซียู เป็นคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับปัญหาสังคม รายการนี้เขียนสคริป วิเคราะห์และอ่านข่าวเอง นอกนั้นก็มีงานพิธีกรรายการทั่วไปและงานอีเว้นท์บ้างเล็กน้อย"

ฝึกฝนและพัฒนาสิ่งสำคัญของ "ผู้ประกาศข่าว"
ในความคิดผมคิดว่าใครก็สามารถเป็นผู้ประกาศข่าวได้ แต่ต้องพยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีพื้นฐานเรียนทางด้านนี้มาก็จะได้เปรียบกว่าคนอื่น อย่างผมนอกจากจะเป็นคนที่พูดไม่ชัดแล้ว ยังไม่ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก แต่ชอบฟัง ชอบอ่านอะไรสั้นๆ เพราะเป็นคนสมาธิไม่ได้ยาว

ช่วงเริ่มเป็นผู้ประกาศข่าวใหม่ ๆ พี่ๆ บอกให้อ่านข่าวบ่อยๆ ผมอ่านหนังสือพิมพ์วันละ 2-3 ชั่วโมง อ่านทุกหน้า อ่านได้ประมาณเดือนเดียวรู้สึกท้อ หลังๆ เลยเปลี่ยนแนว เพราะโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามา ผมเปลี่ยนไปอ่านสื่อในเว็บไซต์แทน อันนี้เป็นเทคนิค
ผมอ่านข่าวในเว็บทั้งวัน ใช้เวลาในการอ่านไม่นาน อ่านสั้นๆ ค่อยๆ ซึมซับข้อมูลไปเรื่อย ๆ ถือเป็นการกำกับตัวเองเรื่องการติดตามข่าวสารบ้านเมือง พอมาเป็นโปรดิวเซอร์ต้องตามข่าวทุกวัน ผมต้องอ่านข่าวดูข่าว ตั้งแต่ 5 โมงเย็นไปจนถึง 5 ทุ่ม อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ดูทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งวันทำให้รู้ข่าวอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้คือ การพัฒนาตัวเอง

เสน่ห์ของการทำงานเป็นผู้ประกาศข่าว
ผมรู้สึกภูมิใจในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้คนทั่วโลกหรือคนไทย 60 ล้านคนได้รับรู้ เพราะถ้าไม่มีสื่อกลางอย่างพวกเราคอยทำหน้าที่นี้ คนอีกหลายสิบล้านคนคงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในบ้านเมืองของเรา ถือเป็นการทำงานที่มีความสุขและภูมิใจมากในหน้าที่ตรงนี้ ขณะเดียวกันเราซึ่งเป็นคนกลางในการนำเสนอข้อมูลตรงนี้ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ยึดหลักการทำงานบนความถูกต้องและมีจรรยาบรรณ 

สั่งสมประสบการณ์ต่อยอดสู่ผู้ผลิตรายการ
อนาคตอยากมีรายการของตัวเอง ที่คิดฝันไว้มีรายการหลายรูปแบบมาก ในแง่ข่าวก็อยากทำ โดยเราเป็นสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องความเดือดร้อนและช่วยหาทางแก้ปัญหา หรือรายการเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ โดยนำเสนอรายการผ่านคนสองวัย เช่น คุณลุงกับคุณหลาน

ผมมองว่าความคิดของเด็กก็เป็นแบบหนึ่งในการที่จะพัฒนาประเทศ ผู้ใหญ่ก็มีความคิดอีกแบบ คือเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็สอนคนรุ่นลูกรุ่นหลานผ่านโครงการนี้ ว่าเป็นโครงการของในหลวงและพระราชินีที่ท่านได้ทำไว้ ซึ่งเด็กสมัยใหม่อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน

เด็กสมัยใหม่ก็ไปคิดต่อว่า แล้วการพัฒนานี้จะต่อยอดให้กับอนาคตและสอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้อย่างไร เหมือนมา Brainstorm กันระหว่างคนสองวัย เป็นรายการที่ผมอยากทำมาก
บุคลิกและภาษา คือหัวใจสำคัญของผู้ประกาศข่าว

การจะเข้ามาเป็นผู้ประกาศข่าวนั้นไม่ยาก ขอเพียงหน้าตา บุคลิกดี และภาษาไทยพอใช้ เพราะทุกอย่างสามารถพัฒนาและปรับเปลี่ยนได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อเป็นผู้ประกาศข่าวแล้วจะทำอย่างไรให้สามารถทำงานอยู่ในวิชาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน นั่นคือสิ่งที่ยากกว่า

ฉะนั้น ต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ฝึกการใช้ภาษาไทยให้ชัด พูดจาฉะฉาน ชัดเจน ควบกล่ำ ร เรือ ล ลิง เพราะนั่นคือเสน่ห์ของการเป็นผู้ประกาศข่าว อีกเรื่องคือ บุคลิกภาพและคลังสมอง ต้องติดตามข่าวสารบ้านเมือง เพราะจะทำให้เราได้เปรียบกว่าคนอื่น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

กำลังใจสำหรับคนทำงาน
ในยุคเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้ หลายคนอาจเหนื่อยกับการใช้ชีวิต แต่ขอให้ทุกคนอย่าท้อ ถ้าวันนี้รู้สึกเหนื่อยก็หยุดพักก่อน เมื่อหายเหนื่อยแล้วต้องลุกขึ้นเดินต่อไป เพราะในขณะที่เราหยุดเดินคนอื่นๆ กำลังเดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าเรา ฉะนั้น พักให้กำลังใจตัวเองได้ แต่อย่าพักนานเกินไป หายเหนื่อยแล้วรีบลุกขึ้นเดินต่อ เพื่อก้าวสู่ไป เป้าหมายและความสำเร็จที่วางไว้ในอนาคต

ผู้เขียน : ณัฐกานต์
ช่างภาพ : กันสกล

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook