“การผิดผี” และ "การเลี้ยงผี” ตามประเพณีล้านนาคืออะไร
ช่วงนี้ยอมรับว่าตามติดละครเรื่องกลิ่นกาสะลองมาพักใหญ่ จากตอนล่าสุดหมอทรัพย์ (เจมส์ มาร์) ต้องเข้าไปดูอาการป่วยของกาสะลอง (ญาญ่า - อุรัสยา) ถึงในเรือนนอน ซึ่งตามประเพณีล้านนาสมัยก่อนนั้นถือว่าเป็นการผิดผี ตามความเชื่อต้องมีการเลี้ยงผีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้าย ความไม่อยู่เย็นเป็นสุขกับบ้านหรือครอบครัวนั้น
ข้อมูลจากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อธิบายเรื่องการผิดผี และการเลี้ยงผีไว้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การผิดผี
การแอ่วสาวและอู้สาวนี้ ถ้าบ่าวคิดจะล่วงเกิน สาวจะรู้และระวังตัว โดยเฉพาะหนุ่มที่สาวยังไม่คิดจะอยู่กินด้วย เมื่อขยับเข้าใกล้สาว สาวจะขยับตัวหนี จนถึงธรณีประตูเรือนนอน ที่สุดจะข้ามไปอยู่ด้านใน บ่าวจะไม่กล้าล่วงล้ำเข้าไป ถ้าบ่าวใดจับมือถือแขนสาว หรือข้ามล่วงธรณีประตูเข้าไป สาวจะส่งเสียงร้องให้พ่อแม่ตื่นขึ้น พ่อแม่สาวจะไม่พอใจและต้องเจรจากับบ่าวใจกล้าผู้นั้น เนื่องจากถือว่ามีการผิดผีขึ้นแล้ว รุ่งขึ้นพ่อแม่สาวจะแจ้งให้พ่อแม่ของบ่าวรู้และฝ่ายบ่าวจะต้องไปเสียเงินค่าผี หรือเลี้ยงผีบรรพบุรุษตามประเพณี เมื่อเลี้ยงผีแล้ว ถ้าสาวไม่ชอบ ฝ่ายพ่อแม่สาวจะไม่จัดพิธีแต่งงาน และไม่ยอมพูดคุยกับบ่าวคนนั้นอีกเลย
บางกรณีที่บ่าวเป็นคนอันธพาล ไม่รักษาขนบประเพณี และยังไม่ได้เป็นตัวพ่อตัวแม่คู่หมายซึ่งกันและกัน ถ้าบ่าวจับเนื้อต้องตัวสาว ฝ่ายสาวจะไม่พอใจ และจะถูกต่อว่าจากพ่อแม่สาว และพ่อแม่ฝ่ายบ่าวชายจะต้องมาเสียผี และไม่รับเอาบ่าวคนนั้นให้มาอยู่กินกับลูกสาว อย่างนี้เรียกว่า เสียผีไม่เอา อัตราค่าเสียผีเป็นเงินจำนวนมากหรือน้อยนั้น แล้วแต่ผีของฝ่ายสาวกินไก่หรือหมู
การเสียผีไม่คิดแพงกว่า การเสียผีเอา การที่ผิดผีแล้วไม่เลือกอยู่กินด้วยเกือบจะไม่มี ส่วนใหญ่เกิดจากฝ่ายบ่าวไม่เลือกฝ่ายสาว มีบ้างที่สาวไม่เลือกบ่าว เพราะสืบรู้ว่าบ่าวเป็นคนประพฤติไม่ดี เช่น เป็นคนดื่มเหล้า เล่นการพนัน พ่อแม่ฝ่ายสาวจะไม่อนุญาตให้ลูกสาวแต่งงานด้วย เมื่อเสียเงินค่าผีแล้ว จะคืนเงินค่าผีให้ฝ่ายชายไป เรียกการคืนเงินค่าผีว่า ผีขืน แล้วฝ่ายหญิงจะจัดการเลี้ยงผีเรือนเอง เมื่อมีกรณีนี้เกิดขึ้น สังคมจะลงโทษทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะการผิดผีแล้วไม่เลือกอยู่กินนั้น จะแพร่กระจายออกไปทั่วหมู่บ้านและขยายออกไปนอกหมู่บ้านใกล้เคียง ฝ่ายสาวก็จะไม่มีบ่าวมาเยี่ยมเยือนแก ฝ่ายบ่าวจะไปแอ่วสาวเรือนไหนก็ไม่มีใครต้อนรับและต้องการพูดคุยด้วย
เมื่อทั้งคู่ตกลงปลงใจกันเป็นที่แน่นอนแล้ว ลำดับต่อไปจะมีการสัญญาสาบานต่อกัน ฝ่ายสาวจะยอมให้ฝ่ายบ่าวถูกเนื้อต้องตัว จับมือถือแขนกันบ้างตามสมควร เมื่อมีการถูกเนื้อต้องตัวกันโดยเจตนาถือว่าเป็นการผิดผี สาวจะต้องบอกแก่พ่อแม่ของตนภายใน ๓ วัน ถ้าปิดบัง ผีจะโกรธและดลบันดาลให้สัตว์เลี้ยงและพืชพันธุ์ที่มีอยู่ในครอบครัวมีอันเป็นไป หากคนในครอบครัวมีการเจ็บป่วย สังคมจะโทษหญิงสาวในเรือนว่า ไม่เคร่งครัดต่อประเพณี เมื่อพ่อแม่สาวรู้ว่ามีการผิดผีเกิดขึ้น จะต้องไปแจ้งให้พ่อแม่ฝ่ายบ่าวเรียกกันว่าไป สัญญา คือพูดเป็นปริศนาว่า
เมื่อคืนควายหงานบ้านนี้ไปพังรั้งบ้านข้าจนเสียหาย ขอหื้อเจ้าของช่วยแปลงหื้อดีเทอะ
เท่านี้ ก็จะทราบทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่ฝ่ายบ่าวรู้ว่าลูกชายของตนไปผิดผีลูกสาวบ้านโน้น จะต้องเรียกลูกชายมาถามถึงข้อเท็จจริง และจัดขันดอกไม้ธูปเทียนและมีขันหมากใส่หมาก ๑ หัว พลู ๑ มัด (หมาก ๑ หัว มี ๑๐ ไหม แต่ละไหมมี ๓๖ คำ พลู ๑ มัด มี ๕ แหลบ แต่ละแหลบมีจำนวน ๒๐ ใบ รวมเป็น ๑๐๐ ใบ) หัวหมู ๑ หัว ไก่ ๔ ตัว ที่ใช้ไก่ ๔ ตัว คือ ให้มีจำนวนเท่ากับขาหมูทั้ง ๔ ขา พร้อมทั้งขนมต่าง ๆ ไปขอขมาและเลี้ยงผีที่บ้านหญิง
เมื่อนำเครื่องไปถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้วพูดขึ้นว่า
ควายข้าได้มาพังรั้วเสียหาย วันนี้ข้าจิ่งได้มาล้อมรั้วหื้อดีเหมือนเก่าเหมือนหลังต่อมาเพื่อความสะดวก จึงใช้เงินเป็นค่าเลี้ยงผี เป็นเงิน ๑๒ บาท โดยมอบเงินให้แก่พ่อแม่ของฝ่ายสาวเป็นฝ่ายช่วยจัดหาเครื่องเลี้ยงผีเอง และต้องทำภายใน ๓ วัน ๗ วัน ปล่อยไว้นานไม่ได้ เพราะจะทำให้ผีเรือนโกรธและบันดาลให้คนในเรือนเจ็บป่วย เมื่อฝ่ายสาวได้รับเงินค่าเลี้ยงผีแล้วจะต้องจัดซื้อของจนหมดเงินนั้น จะให้เหลือไม่ได้ ถ้าเหลือเรียกว่า ผีฅ้างเมื่อเลี้ยงเสร็จแล้วเจ้าของผีจะแบ่งหมูและไก่แจกให้แก่ญาติพี่น้องของตนที่เป็นสายผีเดียวกันให้ทั่วทุกหลังคาเรือน จำนวนเงินค่าผีในแต่ละท้องถิ่นไม่เท่ากัน บางอำเภอในจังหวัดลำพูน เมื่อก่อนนี้ค่าผี ๓ บาท เสียผีราคาถูก เพราะลำพูนเลี้ยงผีเรือนด้วยสำรับอาหาร มิได้ใช้ไก่หรือหมู (อุดม รุ่งเรืองศรี และศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๔๒, หน้า ๒๕๘๓-๒๕๘๖)