๑๐ วิธีทำบุญ ให้ได้บุญมาก

๑๐ วิธีทำบุญ ให้ได้บุญมาก

๑๐ วิธีทำบุญ ให้ได้บุญมาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนไทยเรานั้นเป็นพวกที่ชอบทำบุญ แต่บุญที่ทำกันเป็นส่วนใหญ่มักจะเป็นการบริจาคเงินหรือปัจจัยในโอกาสต่างๆ เช่น ช่วยไถ่ชีวิตโค-กระบือ ซื้อโลงศพ ช่วยบูรณวัดวาอาราม หรือช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นการทำบุญที่หลากหลาย แต่โดยแท้จริงแล้วก็ยังอยู่ในเรื่อง "ให้ทาน” เป็นหลัก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสทำทานดังกล่าวด้วยซ้ำ และห่างเหินจากการทำบุญไปมาก

จนหลายคนเกิดปริวิตกว่า การที่ตนไม่ค่อยทำบุญเลยเช่นนี้ เกิดชาติหน้าหรือภายหน้าชีวิตคงต้องตกระกำลำบากกว่าคนที่ชอบทำบุญให้ทานประจำเป็นแน่ ซึ่งความเข้าใจข้างต้นก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่มิใช่ทั้งหมด เพราะการ "ทำบุญ” ในทางพุทธศาสนาไม่ได้มีเพียงการให้ทานหรือทำบุญกับพระและวัดเท่านั้น แต่ยังสามารถทำได้ถึง ๑๐ วิธีด้วยกัน ซึ่งแต่ละวิธีเป็นอย่างไร Sanook! horoscope จึงขอชวนให้พุทธศาสนิกชนทุกท่านได้สร้างกุศล ทำบุญเสริมมงคลชีวิต ดังต่อไปนี้

ในทางพระพุทธศาสนา การทำบุญมีด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ ได้แก่


๑. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย)
การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ
ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไป
ก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม

๒. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย)
เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิก ความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงาม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ

๓. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย)
การภาวนา เป็นการพัฒนาจิตใจ และปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส
ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอ
ย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น

๔. อ่อนน้อมถ่อมตน (อปจายนมัย)
ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย
และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ
ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิดความเชื่อ
และวิถีปฏิบัติ ของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น
ในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ

๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง (ไวยาวัจจมัย)
ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน
ที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ

๖. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา (ปัตติทานมัย)
หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำ - ร่วมแสดงความคิดเห็น
รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ

๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี (หรือทำบุญ) (ปัตตานุโมทนามัย)
ของผู้อื่น เป็นการเปิดโอกาสร่วมใจอนุโมทนาในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ

๘. ฟังธรรม (ธรรมสวนมัย)
บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญา
หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ

๙. แสดงธรรม (ธรรมเทศนามัย)
ให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรม นำธรรมะไปบอกกล่าว
เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี
เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ

๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม (ทิฏฐุชุกรรม)
มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น - ความเข้าใจ
ให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ
เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญก็เป็นบุญ

ทิฏฐุชุกรรม หรือ สัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิด และทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมาย และความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook