เทคโนโลยี “แปรคาร์บอนเป็นผง” ช่วยทะเลสู้โลกร้อน
ทีมนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยกระตุ้นให้มหาสมุทรซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก สามารถต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติได้ดีขึ้นกว่าเดิม
บริเวณท่าเรือในนครลอสแองเจลิส มีสิ่งลักษณะแปลกตา ที่ถูกปกคลุมด้วยท่อและถัง แนวคิดใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยจะใช้ท้องทะเลในมหาสมุทร ให้เหมือนกับเป็น “ฟองน้ำ” เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (UCLA) ได้ใช้เวลาสองปีในโครงการ SeaChange ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการทำให้ท้องทะเลเพิ่มปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ
กอราฟ แซนต์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการจัดการคาร์บอน (ICM) ของมหาวิทยาลัย กล่าวว่าเป้าหมายคือ "ใช้มหาสมุทรเป็นฟองน้ำขนาดใหญ่"
มหาสมุทรซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นอ่างกักเก็บคาร์บอนหลักของโลกอยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดโลกร้อน
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกดูดซับไปอยู่ในทะเลราว 25% รวมถึงมีบทบาทในการดูดซับ 90% ของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก
อย่างไรก็ดี พบว่าค่าความเป็นกรดของทะเลและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ลดความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง
ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ UCLA ต้องการเพิ่มความสามารถดังกล่าว โดยใช้กระบวนการเคมีไฟฟ้า เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทะเลที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ในปริมาณมหาศาล คล้ายกับการบิดเอาน้ำออกจากฟองน้ำ เพื่อช่วยฟื้นฟูความสามารถในการดูดซับของมัน
แซนต์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า "ถ้าคุณสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากทะเลได้ ก็หมายความว่าคุณกำลังฟื้นฟูความสามารถในการดูดซับของมัน เพื่อดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น"
ทีมวิศวกรได้สร้างโรงงานขนาดย่อม บนเรือที่มีความยาว 30 เมตรซึ่งลอยอยู่ในทะเล และสามารถสูบน้ำทะเลเข้าไปและใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นกระบวนการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำทะเล
ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (electrolysis) จะเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายอยู่ในน้ำทะเล ให้กลายเป็นผงสีขาวซึ่งมีสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต โดยพบได้ในชอล์ค หินปูน และเปลือกหอยนางรมหรือหอยแมลงภู่
แซนต์อธิบายว่า ผงดังกล่าวสามารถถูกทิ้งกลับคืนสู่ท้องทะเล ในภาวะของแข็งที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้อย่างยั่งยืน ยาวนานหลายหมื่นปี
ส่วนน้ำที่สูบกลับคืนสู่ท้องทะเล ก็พร้อมที่จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น
แซนต์และทีมของเขามั่นใจว่ากระบวนการนี้จะไม่สร้างความเสียหายกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล แต่จำเป็นต้องทดสอบเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเป็นการยืนยัน
หนึ่งในผลพลอยได้ของกระบวนการนี้คือการสร้างผลิตภัณฑ์ก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งสามารถนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง ในฐานะพลังงานสะอาดให้กับรถยนต์ รถบรรทุก และเครื่องบินในอนาคต
แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกในการควบคุมภาวะโลกร้อน คือการที่มนุษย์ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ กำลังต่อสู้เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ
ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่กล่าวว่าเทคนิคการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีบทบาทสำคัญในการรักษาโลกให้ดำรงอยู่
การกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide removal หรือ CDR) สามารถช่วยให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2050 เนื่องจากสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซจากอุตสาหกรรมที่ยากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างเช่น อุตสาหกรรมการบิน รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์และเหล็กกล้า
ตามรายงานระดับโลกฉบับแรกที่เน้นในประเด็นนี้ ซึ่งถูกเผยแพร่ในเดือนมกราคมชี้ว่า การรักษาอุณหภูมิโลกให้เป็นไปตามที่กำหนด ภายในปี 2100 จะต้องมีการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศอย่างน้อย 450,000 ล้าน ถึง 1.1 ล้านล้านตัน
เกรกอรี นีเมต์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานได้กล่าวว่า ภาค CDR ต้องเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในเวลา 30 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับภาคพลังงานลมและภาคพลังงานแสงอาทิตย์
นีเมต์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิน-แมดิสัน ให้ทัศนะว่า การใช้เทคโนโลยี SeaChange ของ UCLA เข้าเกณฑ์ของแนวทางการแก้ปัญหาที่มีศักยภาพ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กระบวนการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แปรรูปให้เป็นแร่ของแข็งในท้องทะเล แตกต่างจากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรง (direct air capture หรือ DAC) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เพื่อจัดเก็บก๊าซไว้ใต้ดิน
บริษัท Equatic ที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ได้วางแผนที่จะขยายขนาดเทคโนโลยี SeaChange ของ UCLA ไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยการขายเครดิตคาร์บอนให้กับผู้ผลิตที่ต้องการชดเชยการปล่อยมลพิษ
นอกจากบริเวณท่าเรือในนครลอสแองเจลิส ยังมีเรือที่คล้ายกันนี้ กำลังทดสอบอยู่ในประเทศสิงคโปร์
แซนต์หวังว่าข้อมูลจากทั้งสองแห่งนี้ จะนำไปสู่การสร้างโรงงานขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะสามารถกำจัดคาร์บอนได้ "หลายพันตัน" ในแต่ละปี โดยคาดว่าเริ่มดำเนินการโรงงานใหม่เหล่านี้ ภายในระยะเวลา 18 ถึง 24 เดือนที่จะถึงนี้