ทริกเล็ก ๆ ทำธุรกรรมอย่างปลอดภัย ระวังไว้ก่อนเงินหายหมดบัญชี!

ทริกเล็ก ๆ ทำธุรกรรมอย่างปลอดภัย ระวังไว้ก่อนเงินหายหมดบัญชี!

ทริกเล็ก ๆ ทำธุรกรรมอย่างปลอดภัย ระวังไว้ก่อนเงินหายหมดบัญชี!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวใหญ่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ทำให้คนในสังคมต่างหวาดระแวงไปตาม ๆ กัน และต้องคอยตรวจสอบว่าตนเองได้กลายเป็นหนึ่งใน “เหยื่อ” ที่มีนับหมื่นคนในเวลานี้หรือเปล่า รวมถึงยอดตัดเงินผิดปกติผ่านบัตรที่ทะลุ 130 ล้านบาทไปแล้วนั้น มีเงินเราอยู่ในนั้นไหม แล้วโดนไปเท่าไร

จริง ๆ แล้วประเด็นที่กำลังเป็นข่าวดังในเวลานี้ ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้น มันมีผู้เสียหายมาอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่มันไม่ได้โดนพร้อม ๆ กันมากขนาดนี้ จำนวนคนที่โดนในครั้งนี้เรียกได้ว่าโดนพร้อมกันเป็นหมื่นคน มันเลยกลายเป็นข่าวใหญ่ และเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล

หลังจากที่มีการพบว่าลูกค้าผู้ถือบัตรเดบิตและบัตรเครดิตจำนวนมาก ประสบปัญหาคือการทำรายการชำระเงินโดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง ง่าย ๆ ก็คือสูญเงินไปโดยไม่รู้ตัวว่าไปทำอะไรไว้เงินถึงหาย ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ทราบถึงปัญหาและได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นพบว่า สาเหตุของปัญหาไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และก็ไม่ใช่แอปฯ ดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าวด้วย

ซึ่งทุกวันนี้ การทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเงิน สามารถทำได้ง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินค่าโทรศัพท์​ ซื้อของออนไลน์ จ่ายเงินค่าสตรีมมิ่งออนไลน์ต่าง ๆ และนับวันขั้นตอนในการเลื่อนนิ้วบัดไปมาเพื่อจ่ายเงินก็ยิ่งน้อยลงกว่าเดิม เรียกได้ว่ายิ่งง่าย ยิ่งสบาย แต่พอมันง่ายมาก ๆ จนคนเริ่มชิน หากแอปฯ ไหนที่จ่ายเงินยากเข้าหน่อย เราก็จะรู้สึกไม่ชอบใจ ยิ่งถ้าหากต้องมายืนยันตัวตนซ้ำแล้วซ้ำอีก เราก็ยิ่งรู้สึกว่ามันเสียเวลาและน่ารำคาญ จุดนี้เองทำให้เราประมาท และความประมาทนำไปสู่หายนะ

ด้วยความที่เราคิดว่าในเมื่อเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกขนาดนี้แล้ว ก็สามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย สะดวกเราเป็นที่สุด แต่อย่าลืมว่าอะไรที่ง่ายเราสะดวกเรา มันก็อาจจะง่ายเขาสะดวกเขาด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่ามันก็ยิ่งอันตราย กลายเป็นช่องโหว่ที่เปิดให้มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาสวมรอยเป็นเราได้ง่าย เพราะข้อมูลทุกอย่างถูกเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว แถมการยืนยันตัวตนก็มีน้อยขั้นตอนด้วย

เมื่อความสะดวกสบายอยู่เหนือความปลอดภัย จึงนำมาสู่เหตุการณ์ครั้งนี้ ที่มีผู้เสียหายนับหมื่นคนในเวลาไม่กี่วัน มูลค่าความเสียหายก็สูงมากถึง 130 ล้านบาท ซึ่งความจริงแล้ว มันก็ไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภคเลยแม้แต่น้อย ในเมื่อระบบถูกออกแบบมาอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนความยุ่งยากต่าง ๆ ลง แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมา ก็กลับกลายเป็นผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่เสียหาย เดือดร้อน ต้องตามเรื่องเอง และที่สำคัญ ก็อาจจะไม่สามารถเอาผิดอะไรกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มได้

istock-1094494376

บทความนี้ Tonkit360 มีเจตนาอยากจะเตือนภัยให้ทุกคนระวังตนเองไว้เสมอ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือการที่วันหนึ่งเราเองก็เป็นเหยื่อที่โดนตัดเงินจากบัตรไปแบบไม่ได้รับอนุญาต จากบัญชีที่มีการผูกกับบัตรเดบิต/เครดิต รวมถึงการผูกบัตรไว้กับแอปพลิเคชันออนไลน์ต่าง ๆ เช่น แอปฯ ซื้อของออนไลน์, แอปฯ สายการบิน, แอปฯ จองโรงแรม, แอปฯ ซื้อบริการแอปฯ และพวกแอปฯ กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะอะไรก็ตามที่มีการเชื่อมโยงเข้ากับเงิน ล้วนมีโอกาสโดนได้หมด

แม้แต่การที่เราเดินถือบัตรไปรูดซื้อของเองหากโดนคัดลอกข้อมูลสำคัญบนบัตรไป เราก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อเช่นกัน!

ติดต่อธนาคารเจ้าของบัตร

หากพบว่ามีเรื่องน่าสงสัยหรือผิดปกติเกี่ยวกับการใช้งานบัตรเดบิต เครดิต หรือแอปฯ ธนาคาร ให้ติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งปัญหา ถ้ามีเงินสูญหายโดยที่เราไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมเองหรือไม่ได้ยินยอม ให้ขออายัดบัตรก่อนด้วย เจ้าหน้าที่จะถามคำถามบางอย่างเพื่อยืนยันตัวตนว่าเราเป็นเจ้าของบัตรจริง ๆ ก่อนจะแจ้งปัญหา จากนั้นทางธนาคารอาจจะแนะนำให้เราไปธนาคารสาขาใดก็ได้เพื่อกรอกคำร้องขอเงินคืน ต้องพกสมุดบัญชี บัตรเดบิตหรือเครดิต และบัตรประชาชนไปด้วย ซึ่งต้องทำเรื่องภายใน 3 วันทำการ หลังโทรฯ แจ้งเจ้าหน้าที่ (วันทำการจันทร์-ศุกร์)

จากนั้นธนาคารจะดำเนินเรื่องให้ บริการที่จะได้จากธนาคารก็จะเป็นการตามเรื่องเราว่าเราได้ไปยื่นเรื่องหรือยัง พนักงานคนไหนเป็นคนทำเรื่องให้ หลังจากนั้นก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารว่าใช้เวลาทำเนินการเท่าไร ตั้งแต่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ไปจนถึงสามเดือน

เก็บหลักฐานทุกอย่าง

จริง ๆ แล้ว ข้อแนะนำในการเก็บหลักฐานการใช้งานบัตรเครดิต คือให้เก็บบิลที่รูดนั้นไว้จนกว่าเราจะชำระเงินเรียบร้อย แล้วได้รับพวกใบเสร็จรับเงินยืนยันว่าเราชำระเงินยอดนั้น ๆ เรียบร้อยแล้ว หรือหากทำการยกเลิกบริการนั้นไปแล้วแต่ยังโดนเรียกเก็บเงินอีก ก็ต้องมีหลักฐานการยกเลิกบริการ อาจจะเป็น E-mail, SMS หรือรูปที่แคปจากแอปฯ ว่าเรายกเลิกบริการนี้แล้วจะมาเรียกเก็บเงินไม่ได้ เพื่อยื่นพร้อมกับเอกสารคำร้องขอเงินคืนกับทางธนาคาร เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ต้องทำธุรกรรมทางออนไลน์ เวลาสมัครหรือยกเลิกบริการอะไรก็ควรเก็บหลักฐานทุกอย่างเอาไว้ เผื่อต้องใช้งาน

สมัคร SMS แจ้งเตือนเงินเข้า-ออกบัญชีธนาคารเอาไว้

ผู้เสียหายหลายคนไม่เคยรู้ตัวมาก่อนเลยว่าบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือบัญชีธนาคารของตนเองกำลังถูกตัดเงินไป หลายคนเพิ่งรู้เพราะมีข่าวออก จึงนำสมุดบัญชีธนาคารไปปรับ บางคนรู้อีกทีตอนที่บิลเรียกเก็บค่าบริการส่งมาหาว่าให้ชำระเงิน เพราะเราไม่ได้มี SMS ส่งมาแจ้งการใช้เงินว่าใช้ไปเมื่อไร หรือใช้บัตรรูดที่ไหนบ้าง ทำให้เราเสียเงินโดยไม่รู้ตัว ซึ่งไม่ว่าจะเงินหลักสิบหรือหลักร้อยก็ไม่ควรเสียแบบนี้ การมี SMS แจ้งเตือนจะทำให้เรารู้การใช้เงินแบบเรียลไทม์ทุกครั้ง หากเราไม่ได้เป็นคนใช้งานเราจะรู้ทันทีว่ามีคนแอบใช้บัตรหรือเงินในบัญชีของเราอยู่ จะได้อายัดได้ทัน

ติดต่อแอปพลิเคชัน

ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากล เงินหาไปอย่างผิดปกติในลักษณะนี้ ควรรายงานให้ทางแอปพลิเคชันทราบด้วยว่าเกิดการผิดพลาดนี้ขึ้น เพราะอาจเป็นเรื่องเข้าใจผิด และเพื่อสอบถามที่มาที่ไป รวมถึงเพื่อให้แอปพลิเคชันนั้น ๆ ได้ทราบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะได้หาแนวทางในการแก้ไขหรือชะลอเหตุได้ทัน

ปฏิเสธการจ่ายค่าบริการ

ในกรณีที่มีการตัดเงินไปในธุรกรรมทางการเงินที่เราไม่ได้เป็นคนทำเอง หรือไม่ได้ยินยอมที่จะทำ นอกจากจะแจ้งปัญหากับทางธนาคารแล้ว ต้องอายัดบัตรเพื่อยุติการทำธุรกรรมทั้งหมดก่อน เราสามารถปฏิเสธการจ่ายค่าบริการที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวเราได้ โดยรวบรวมหลักฐานทั้งหมดว่าไม่ใช่คนที่ทำธุรกรรมเอง ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ

การเข้าใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์

หากต้องการจะเข้าใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีการให้ข้อมูลบัตรเดบิต บัตรเครดิต บัญชีธนาคาร ควรกรอกลิงก์เว็บไซต์นั้น ๆ เอง หลีกเลี่ยงการกดผ่านลิงก์ที่ถูกส่งมา เพราะมิจฉาชีพยุคใหม่สามารถทำเว็บไซต์ปลอมได้เนียนและใกล้เคียงของจริงมากจนแยกยากหากไม่ได้สังเกตให้ดีก่อนกดเข้าไป เมื่อเข้าไปแล้วก็จะหลอกให้กรอกข้อมูล ถ้าเป็นเว็บปลอมก็จะนำเอาข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบต่อไป อีกทั้งหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมผ่านช่องทางที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการที่เราต้องแจ้งพวกข้อมูลบัตรเดบิต เครดิตของเรา

อย่าเก็บรหัสต่าง ๆ ไว้กับตัวเอง

นอกจากรหัสที่ใช้ในการเข้าสู่ระบบหรือการยืนยันการชำระเงินไม่ควรจะเป็นรหัสที่คาดเดาได้ง่ายแล้ว รหัสยาก ๆ หลายคนจำไม่ได้ เลยพยายามหาติดรหัสไว้กับตัวบัตร นั่นเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ต้องจำไว้เสมอว่าตัวเลขทุกตัวที่อยู่บนบัตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเรื่องทอง สามารถทำให้เราสูญเงินโดยไม่รู้ตัวได้ทั้งนั้น หากเป็นบัตรเดบิตและเครดิต รหัส 3 หลักด้านหลังบัตร (CCV) คือตัวเลขที่อันตรายที่สุด เพราะเราจำเป็นต้องใช้มันในการยืนยันการทำธุรกรรมทางการเงินเวลาใช้บัตร ดังนั้น บัตรทุกใบควรจำให้ได้ แล้วทำลายรหัสนั้นทิ้งไม่ให้ปรากฏบนบัตร

อย่ารักสะดวกมากกว่าความปลอดภัย

แม้ว่ามันจะยุ่งยาก เสียเวลาและน่ารำคาญ แต่ถ้ามันปลอดภัยกับเงินในบัญชีเรามากกว่า รวมถึงลดความเสี่ยงในการสูญเงินไปโดยไม่รู้ตัว เราอาจจำเป็นต้องทำ เช่น การกรอกเลขบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตด้วยตนเองทุกครั้งที่จะทำธุรกรรมออนไลน์ใด ๆ โดยตั้งค่าไม่ให้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันจดจำข้อมูลบัตรที่เราใช้ชำระเงิน ไม่กดบันทึกพวกข้อมูลบัตรต่าง ๆ ไว้ในแอปฯ แล้วกรอกเองใหม่ทุกครั้ง

ระวังคนใกล้ตัวไว้บ้างก็ดี

บางทีความเสียหายก็เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัวของเรานี่เอง เช่น การปล่อยเด็กไว้กับโทรศัพท์มือถือที่มีแอปฯ ช้อปของออนไลน์ หรือเกมที่สามารถกดเข้าไปซื้อไอเทมต่าง ๆ ได้ ขณะเดียวกันโทรศัพท์เคื่องนั้นก็ผูกการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต เครดิต หรือหักจากบัญชีธนาคารไว้ เด็ก ๆ อาจกดซื้อของหรือซื้อไอเทมในเกมจนสูญไปหลายเงิน มีข่าวให้เห็นบ่อยครั้ง อีกกรณีคือการที่คนใกล้ชิดสามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือหรือพวกบัตรต่าง ๆ ของเราได้ง่าย รู้รหัส หรืออาจมีการถ่ายภาพข้อมูลของบัตรไว้ เพื่อหาโอกาสในการนำไปใช้ต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook