คำแนะนำเบื้องต้น หากสงสัยว่า “ข้อมูลส่วนตัว” ในโลกออนไลน์รั่วไหล

คำแนะนำเบื้องต้น หากสงสัยว่า “ข้อมูลส่วนตัว” ในโลกออนไลน์รั่วไหล

คำแนะนำเบื้องต้น หากสงสัยว่า “ข้อมูลส่วนตัว” ในโลกออนไลน์รั่วไหล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้การมีตัวตนในโลกออนไลน์ไม่เพียงแต่ไม่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ในบางโอกาสถึงขั้นอันตรายเลยทีเดียว เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าโซเชียลมีเดียที่เราใช้อยู่นั้น รวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีสุดล้ำทั้งหลายที่อยู่รายล้อมตัวเรา เก็บบันทึกข้อมูลส่วนตัวอะไรของเราไว้บ้าง และที่สำคัญ ใครหลายคนยังไม่รู้ก็คือ “เราถูกเก็บข้อมูลอยู่ตลอดเวลา”

ข้อมูลที่มิจฉาชีพจะได้จากเราในทุก ๆ อิริยาบถก็มีตั้งแต่ชื่อ ที่อยู่ อายุ เพศ ความสัมพันธ์ ระดับการศึกษา ความสนใจ นิสัย สินค้าที่ชอบ สุขภาพ ข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้อยู่ ใช้เวลากับอะไรมากที่สุด รวมถึงมิติทางการเงิน เรียกได้ว่าได้ประวัติส่วนตัวของเราทุกอย่าง ข้อมูลตั้งขนาดนี้สามารถเอาไปทำอะไรได้มหาศาลเลย Tonkit360 จึงมีคำแนะนำหากคุณสงสัยว่าคุณเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ข้อมูลส่วนตัวหลุดสู่มือมิจฉาชีพมาฝาก (หรือยังไม่หลุด คุณก็ควรป้องกันไว้)

1. เปลี่ยนรหัสผ่านทันที

การโจรกรรมข้อมูลเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเสี้ยววินาที ดังนั้น หากสงสัยว่าตนเองจะเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ข้อมูลหลุดสู่มือมิจฉาชีพแล้วล่ะก็ ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านทันที การเปลี่ยนรหัสให้เข้าไปเปลี่ยนจากหน้าแพลตฟอร์มที่คุณใช้โดยตรง ห้ามคลิกลิงก์ที่ส่งมาอย่างไม่รู้ที่มาที่ไปเด็ดขาด และถ้าคุณเชื่อมบัญชีการใช้งานแพลตฟอร์มหนึ่งกับอีกหลาย ๆ แพลตฟอร์ม ให้ log out ออกด้วย เพื่อให้การลักลอบเข้าใช้งานมีการแจ้งเตือนมาที่คุณก่อน อันที่จริงคุณควรจะเปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการใช้รหัสที่คาดเดาง่าย หรือรหัสเดียวใช้กับทุกบัญชี

2. ตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งที่มาของข่าว

ปกติแล้ว หากมีเหตุการณ์โจรกรรมข้อมูลเกิดขึ้น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจะแจ้งมีประกาศแจ้งเตือนว่าพบความผิดปกติ มีข้อมูลลูกค้าบางส่วนรั่วไหล รายงานความเสียหายที่เกิดขึ้น ออกมาแสดงความรับผิดชอบ การดำเนินการแก้ไข รวมถึงให้คำแนะนำกับผู้ใช้บริการเกี่ยวกับขั้นตอนรักษาความปลอดภัย แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ผู้ให้บริการไม่แจ้งลูกค้า แล้วเลือกที่จะแก้ไขเองเงียบ ๆ โดยทำเป็นว่าไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น เพราะกลัวเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ดี หากมีข่าวลือมาว่ามีโอกาสเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริง ไม่ควรเมินหรือเพิกเฉย แต่ให้ตรวจสอบว่าข่าวที่ลือกันอยู่นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปที่ผู้ให้บริการด้วยตนเองโดยตรงเท่านั้น ห้ามดำเนินการผ่านลิงก์ตัวแทนใด ๆ หรือเจ้าหน้าที่ที่โทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลโดยเด็ดขาด จากนั้นแจ้งเจ้าหน้าที่ถึงความเสี่ยง แล้วดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ การตรวจสอบสอบข่าวก็เพื่อไม่ให้คุณตื่นตูมเกินเหตุ ข่าวลืออาจเป็นแค่ข่าวลวงก็ได้ ถึงกระนั้น คุณก็สบายใจได้เล็กน้อย เพราะคุณเปลี่ยนรหัสผ่านแล้ว

3. ตัดการเชื่อมต่อกับข้อมูลด้านการเงิน

โดยเฉพาะแพลตฟอร์มหรือบัญชีที่มีการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น แอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์ หรือระบบที่คุณเชื่อมไว้เพื่อซื้อบริการเพิ่มเติมจากระบบสมาร์ทโฟน เนื่องจากมีคนจำนวนไม่น้อยที่ผูกข้อมูลการเงินของตนไว้กับแพลตฟอร์มเหล่านั้นตลอดเวลา เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน หรือตัดเงินได้อัตโนมัติ ยิ่งสะดวกก็ยิ่งอันตราย เพราะหากมิจฉาชีพได้ข้อมูลส่วนหนึ่งของคุณไป การลักลอบเข้าใช้เงินด้วยหมายเลขบัตรเครดิตหรือเดบิตของคุณก็ไม่ใช่เรื่องยาก ฉะนั้น หากไม่แน่ใจว่าคุณเป็นหนึ่งในเหยื่อหรือไม่ ก็ตัอการเชื่อมต่อข้อมูลการเงินก่อน

4. อยู่ในโหมดระวังภัยให้มากขึ้น

ตราบใดที่ยังไม่ได้รับข้อมูลยืนยันว่าคุณสามารถกลับมาใช้บัญชีและบริการต่าง ๆ ผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย อย่ารีบร้อนที่จะใช้งานตามปกติ อันที่จริง ไม่ว่าจะมีข่าวว่าข้อมูลถูกโจรกรรมหรือไม่ คุณก็ไม่ควรนิ่งนอนใจกับข้อมูลทุกอย่างที่คุณใช้ลงทะเบียนเข้าใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพราะการที่คุณลงทะเบียนใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันแต่ละบัญชี ระบบเก็บข้อมูลของคุณไว้แล้ว ซึ่งก็รับประกันไม่ได้ว่ามันจะอยู่อย่างปลอดภัยตลอดเวลา ข้อมูลส่วนตัวก็จะไม่ส่วนตัวอีกต่อไป เมื่อคุณพิมพ์มันลงในอินเทอร์เน็ต

วิธีการระวังก็เริ่มตั้งแต่รหัสผ่าน คุณจำเป็นต้องตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดา และหมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้รหัสผ่านเดียวกันกับทุก ๆ แพลตฟอร์ม ใช้วิธีการยืนยันตัวตนแบบหลายขั้นตอน เช่น ยืนยันตัวตนอีกครั้งผ่านอีเมล ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ หรือการเปิดใช้ 2 Factor Authentication หรือตั้งการแจ้งเตือนการเข้าใช้งานทุกครั้ง โดยเฉพาะแอปฯ ที่เกี่ยวกับการเงิน คุณควรทำทุกอย่างที่จะปกป้องตนเองให้มากที่สุด มันอาจจุกจิกหลายขั้นตอน แต่ช่วยให้คุณปลอดภัยได้มากกว่า

5. หมั่นสังเกตและตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับบัญชีผู้ใช้งานของคุณ

ทั้งนี้คุณอาจจะต้องสังเกตและหมั่นตรวจสอบในระยะยาว เพราะเป็นไปได้ว่าข้อมูลที่ถูกขโมยไปจะยังไม่ถูกนำมาใช้ฉ้อโกงหรือก่ออาชญากรรมในทันที หากเริ่มมีอีเมลหรือข้อความแปลก ๆ ส่งเข้ามาหาคุณแบบไม่รู้ที่มาที่ไป อย่าเปิดอ่านเด็ดขาด เริ่มมีรหัส OTP ส่งมาที่เบอร์โทรศัพท์ของคุณทั้งที่คุณยังไม่ได้จะซื้ออะไร หรือมีอีเมลแจ้งเตือนว่าบัญชีของคุณถูกผู้อื่นพยายามเข้าใช้งาน ก็แปลว่าข้อมูลบนโลกออนไลน์ของคุณไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว ที่คุณจะได้วางแผนหาวิธีจัดการต่อไป จะลบบัญชีทิ้ง หรือจะแจ้งความ ก็อยู่ที่ความเสียหายที่คุณประเมินว่าอาจเกิดขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook