8 เทคนิคการประชุมแบบ Steve Jobs ที่คุณควรรู้

8 เทคนิคการประชุมแบบ Steve Jobs ที่คุณควรรู้

8 เทคนิคการประชุมแบบ Steve Jobs ที่คุณควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      เมื่ออายุได้ 31 ปี Jobs ออกจาก Apple เพื่อไปเริ่มต้นใหม่กับ NeXT และบทความนี้คือการเปิดเผยเรื่องราวว่าด้วยการประชุมของ Jobs ที่คุณน่าจะเรียนรู้เอาไว้ 


      สไตล์การบริหารงานของ Jobs ถูกพูดถึงในหลายๆ แบบ ทั้งดีสุดๆ และแย่สุดๆ แต่ไม่ว่าคุณจะรักเขาหรือเกลียดเขา ยังไงๆ ก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นผู้บริหารที่เก่งกาจ เพราะภายในระยะเวลาอันสั้น เขาสามารถสร้างบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

      คลิปวิดีโอนี้ตัดตอนมาจากการระดมสมองภายในของ NeXT ในช่วง 3 เดือนแรกของการก่อตั้งบริษัทจากวิดีโอข้างต้น จะเห็นว่าบทเรียนสำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่มีอยู่มาก แต่บทความนี้จะเลือกมา 8 ข้อ ดังนี้ (ในวงเล็กคือช่วงเวลาในคลิป)

1. แสดงความกระหายในผลลัพธ์ (3:46)

เป็นที่รู้กันดีว่า Jobs คือยอดนักพรีเซนต์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อในสิ่งที่ตัวเองพูด และไม่กลัวที่จะพูดมันออกมา และถ้าตัวคุณเองมองไม่เห็นเป้าหมายที่อยากไปให้ถึง ก็คงไม่มีใครในที่ประชุมนั้นมองเห็นเช่นกัน

2. โฟกัสไปที่การสร้างคุณค่า (4:50)

Jobs เคยกล่าวเอาไว้ในตอนที่เขาก่อตั้ง NeXT ว่า "เราทำสิ่งนี้เพราะเราอยากทำ เพราะเราใส่ใจกระบวนการทางการศึกษาที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพราะเราต้องการเงิน"

ในฐานะเจ้าของธุรกิจ ไม่มีความรู้สึกไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น

3. ท้าทายทีมงาน (6:15)

สำหรับ Jobs เขาจะไม่ยอมรับอะไรแบบผ่านๆ เขาอยากจะรู้ว่าทำไมผู้คนจึงทำแบบนั้น และบ่อยครั้งที่เขามักจะบอกกับคนอื่นๆ ไปตรงๆ ว่าทำไมเขาไม่เห็นด้วย

ในสายตาของบางคน Jobs จึงเป็นคนประเภทไม่น่าทำงานด้วย แต่สำหรับ Guy Kawasaki ที่เคยร่วมงานกับ Jobs มาแล้ว 2 ครั้ง กล่าวถึง Jobs ไว้ว่า "ถ้าคุณถามพนักงานที่ Apple ว่าทำไมพวกเขาจึงยังทำงานที่นี่ พวกเขาจะตอบว่า เพราะ Apple ท้าทายให้เขาสร้างผลงานที่ดีที่สุดออกมา"

4. ทำให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายอยู่เสมอ (6:53)

Jobs เคยกล่าวว่า "จะต้องมีใครสักคนที่คอยควบคุมทุกอย่างให้อยู่กับร่องกับรอย หลายๆ ครั้งที่เราต้องเดินทางไกลเป็นระยะทางนับพันไมล์ และคุณก็ก้าวออกไป มันดูเหมือนจะเป็นระยะทางที่แสนไกล มันจะดีมากถ้ามีใครสักคนบอกว่า "ทำดีมาก เราขยับเข้าไปใกล้เป้าหมายมากขึ้นทุกทีแล้ว" ซึ่งมันจะทำให้เรารู้ว่าเป้าหมายยังมีอยู่จริง ไม่ใช่แค่ภาพลวงตา"

กลับมาที่ภายในบริษัทของคุณกันบ้าง มันง่ายมากที่จะมองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่สำคัญ และเมื่อมันเป็นบริษัทของคุณ จงอย่าล้มเลิกสิ่งที่ตัวเองเชื่ออย่างเด็ดขาด

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ Jobs ถูกเตะออกจาก Apple และในเวลาต่อมา มันคือเหตุผลที่ทำให้เขากลับมาอยู่จุดเดิมเพื่อสร้างความสำเร็จให้กับ Apple อีกครั้ง

5. กำหนดความสำคัญให้ชัดเจน (7:26)

ลูกทีมที่ NeXT จะรู้กันดีว่า Jobs คือคนที่มีความสามารถในการระบุความสำคัญของแต่ละสิ่ง เพื่อที่จะโฟกัสเรื่องที่สำคัญที่สุด และสามารถชี้แจงได้ว่าทำไมมันจึงสำคัญ

การอธิบายได้ว่าทำไมมันจึงสำคัญ คือความเหนือชั้นของ Jobs ที่ทำให้ทีมงานของเขายินดีที่จะเดินตาม

6. ขัดจังหวะเมื่อเหมาะสม (9:52)

เมื่อสมาชิกในทีมพูดยาวเหยียดในที่ประชุม ในตอนแรก Jobs จะนั่งฟังด้วยความอดทน และหลังจากนั้น ความอดทนของเขาสิ้นสุดลง เขาจะขัดจังหวะด้วยการขอให้ย้อนกลับไปโฟกัสเรื่องที่ถูกที่ควรอีกครั้ง

ลองคิดดูว่าในการประชุมที่คนๆ หนึ่งพูดต่อเนื่องกันนาน 20 นาทีโดยไม่มีการขัดจังหวะ ทุกคนดูเหมือนจะเห็นด้วย แต่แท้ที่จริงมันอาจจะหมายความว่าไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาพูดอะไรก็ได้

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ จงเป็นผู้ฟังที่ดี มีความอดทน แต่ต้องรู้จังหวะว่าควรจะเข้าไปแทรกเมื่อไร เพราะมันจะช่วยคุณประหยัดเวลาและทรัพยากรได้มาก

7.เรียนรู้จากอดีต แต่อย่าให้มันครอบงำคุณ (11:11)

เมื่อมีลูกทีมคนหนึ่งทำพลาด Jobs ลุกขึ้นมาบอกว่า สิ่งที่เขาไม่อยากได้ยินคือ "ถ้าเราเคยทำมันพังไปแล้ว เราก็จะทำพลาดอีกในอนาคต"

เจ้าของธุรกิจเจ๋งๆ จะรู้ดีว่าความล้มเหลวคือส่วนประกอบของความสำเร็จ ยิ่งพยายามมากขึ้น ยิ่งล้มเหลวมากขึ้น ความสำเร็จก็จะอยู่ห่างออกไปอีกไม่ไกล คุณแค่ต้องออกไปหามัน

8. เลือกมองด้านที่ดี (12:22)

Jobs เคยบอกว่า เชานั่งจดรายการว่ามีอะไรบ้างที่ยังไม่รู้ หลังจากนั้น เขาก็นึกออกว่าบริษัทนี้มีอายุเพียง 90 วัน และมันทำให้เขามองย้อนกลับไปว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง ท้ายที่สุด ตัวเขาเองก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่าเขามาได้ไกลขนาดนี้ในเวลาแค่ 90 วัน

เมื่อคุณเห็นว่าหนทางข้างหน้าช่างยาวไกลเหลือเกิน มันอาจจะทำให้รู้สึกท้อแท้ เพราะยังมีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ต้องทำ

จำไว้ว่าจงมองกลับไป ดูว่าคุณผ่านอะไรมาบ้าง ทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง มันจะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจในการก้าวต่อไปข้างหน้า

ที่มา : Inc.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook