เค้ก-อุทัย ปุญญมันต์ เรียนเมืองนอกสอนให้มองโลกในแง่จริง

เค้ก-อุทัย ปุญญมันต์ เรียนเมืองนอกสอนให้มองโลกในแง่จริง

เค้ก-อุทัย ปุญญมันต์ เรียนเมืองนอกสอนให้มองโลกในแง่จริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 ถ้าพูดถึงนักร้องเสียงทรงพลังของบ้านเรา เชื่อแน่ว่าชื่อของหนุ่มเค้ก-อุทัย ปุญญมันต์ หนึ่งในสมาชิก B5 ศิลปินในสังกัดค่ายเลิฟอิส ของพี่บอย โกสิยพงษ์ คงเป็นอีกหนึ่งคนที่ทุกคนพยักหน้าเห็นด้วยว่าเขามีพลังเสียงที่สามารถสะกดคนฟังให้จดจ้องมาที่เขาเพียงคนเดียวได้โดยไม่ลำบาก มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนเค้กถึงร้านเบเกอรี่ที่พัทยา ก็พูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบ จนรู้มาว่าหนุ่มคนนี้นอกจากจะเป็นนักร้องเสียงคุณภาพแล้ว ยังเป็นนักเดินทางตัวยง หอบหิ้วกระเป๋าไปมามากกว่าสามสิบประเทศ เจอกันทั้งทีไม่อยากให้เสียเวลาเปล่า ก็เลยถามถึงเรื่องราวการเรียนเมืองนอกของเขามาฝากให้พอหอมปากหอมคอ


นักเรียนแลกเปลี่ยนก้าวแรกของการสู่โลกกว้าง
เท้าความนิดหนึ่งคือ โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบเมืองนอก คือชอบดูวิว ดูบรรยากาศ รู้สึกว่ามันสวย โดยเฉพาะที่ที่มีภูเขาและหิมะจะหลงใหลเป็นพิเศษ เป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ก็เลยมีความฝันว่าอยากไปเมืองนอก แล้วพอตอนเรียนม.5 โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ที่โรงเรียนมีโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ชื่อ AUSA (Academic year in united state of America) เป็นโครงการแลกเปลี่ยนของอเมริกา ตอนนั้นอยากไปมาก เพราะนี่เป็นโอกาสที่จะได้ไปเมืองนอก ก็ไปขอพ่อกับแม่ พ่อกับแม่ค่อนข้างจะหัวทันสมัยเรื่องการเรียนการศึกษา เปิดโลกความคิด เขาสนับสนุนเต็มที่อยู่แล้ว ก็อนุญาตให้ไป ผมเดินหน้าเต็มที่ ทำเรื่องสอบเรื่องอะไรวุ่นวายเหมือนกันครับ แต่สุดท้ายก็ได้ไป


ครั้งแรกของชีวิตเด็กนอก
ตอนนั้นได้ไปอยู่ที่เมืองเบเนโซต้า คือเขาก็มีเมืองอื่นมาให้เลือกนะครับ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก โคโลราโด เราก็เลือกไป แต่ว่าเขาจับเรามาอยู่ที่เบเนโซต้า ผิดหวังนิดหน่อยครับ เพราะเป็นเมืองที่มีแต่ทะเลสาบ ไม่มีภูเขาเหมือนที่เราอยากได้เลย แถมยังลบสี่สิบองศาอีก แต่ก็ไม่เป็นไร อยู่ที่นี่ก็ตื่นเต้นดี วันแรกที่ไปถึงได้เห็นกวางมาวิ่งรอบ ๆ บ้าน เห็นนกฮัมมิ่งเบิร์ดมาจิกกินของที่เขาแขวนไว้หน้าบ้าน ได้เห็นหิมะครั้งแรก ตื่นเต้นมาก โฮสต์แฟมิลี่ที่เราไปอยู่ด้วย เขาวิ่งมาปลุกแต่เช้า ให้เรามาดูหิมะตก ซึ่งลำพังเขาเองเขาไม่ตื่นเต้นหรอก แต่เขาตื่นเต้นแทนเราที่จะได้เห็นหิมะ รู้สึกมันเป็นชีวิตอีกแบบที่เราไม่คิดว่ามันจะมีในโลก ไปอยู่ที่โน่นปีหนึ่ง กว่าจะคิดถึงบ้านก็ผ่านไปหกเดือน มัวแต่สนุกและตื่นเต้นอยู่ ทั้งเพื่อนใหม่ ทั้งบรรยากาศ เขียนจดหมายกลับมาเล่าให้เพื่อนฟังตลอด เกิดอะไร เป็นอะไร เล่าหมดทุกอย่าง มองย้อนกลับไปตอนนั้นดูตัวเองบ้านนอกมากเลย (หัวเราะ)


เป็นผู้ใหญ่ในหนึ่งปีที่ ‘อเมริกา'
เรารู้ว่าเราเป็นผู้ใหญ่ ความคิดความอ่านเปลี่ยนไปก็ตอนกลับมาเมืองไทย คือไปอยู่ที่โน่นด้วยระบบ ด้วยการศึกษาของเขาที่ปลูกฝังให้เราคิดว่าความคิดของเราถูกต้องและเป็นใหญ่ มั่นใจในตัวเอง เขาสอนให้เราคิดว่า เราได้เจอสิ่งที่ดีที่สุดมาแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว เพื่อนอเมริกันของผมก็บอกเหมือนกันว่า ระบบแบบนี้เหมือนจะดี แต่มันก็มีข้อเสีย เพราะว่ามันทำให้เราคิดว่าเราเก่งแล้ว เราพอแล้ว เป็นพวกน้ำเต็มแก้ว ซึ่งมันไม่ดี ขนาดผมไปอยู่แค่ปีเดียว กลับมาผมยังต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะเราชินกับการพูดอะไรตรง ๆ จะรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นตลอด เชื่อมั่นในตัวเองอย่างรุนแรง ก็ใช้เวลาอยู่นานเหมือนกันกว่าจะปรับตัวได้

เกียรตินิยมอันดับสองแบบไม่ต้องเข้าห้องเรียน
ผมเป็นคนนิสัยเสียอย่างหนึ่งคือ ไม่อยากเรียนในห้องเรียน ตอนเรียนที่ธรรมศาสตร์ ถ้าวิชาไหนไม่ได้เช็กชื่อ ผมจะไม่เข้าเลย แต่อาศัยมีเพื่อนที่ดีช่วยเราได้ เรื่องงาน เรื่องเลกเชอร์ และมีเรื่องที่ช่วยให้ผมไม่ต้องเข้าห้องเรียนอีกเรื่องคือ ตอนที่กลับจากอเมริกา ภาษาอังกฤษของผมค่อนข้างดี ก็เอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย แล้วคะแนนภาษาอังกฤษมันก็ดีเกินที่เขากำหนดเยอะ เหมือนมีอะไรเป็นข้อยกเว้นสำหรับคนที่ทำคะแนนเกิน ไม่ต้องเข้าคลาสก็ได้ มันก็ทำให้ผมไปลงเรียนวิชาอื่นได้เยอะ ผมก็เลยจบค่อนข้างเร็ว แต่เราก็อยากจบสี่ปีพร้อมเพื่อน เพราะฉะนั้นถ้าผมจะจบสี่ปี ผมจะมีเวลาว่างอยู่ประมาณหนึ่งเทอม บวกกับช่วงเวลาปิดเทอมอีก คือจะว่างอยู่เป็นปี ความคิดที่จะไปเมืองนอกของผมก็กลับมาอีกครั้ง คิดว่าจะไปเมืองนอกแล้วค่อยมาเรียนจบพร้อมเพื่อนก็ยังทัน


‘ฝรั่งเศส' การเดินทางสู่โลกกว้างครั้งที่สอง
พอมีเวลาว่างเกือบปี ผมก็หาช่องทางไปเมืองนอกอีก ไปอยู่อเมริกามาแล้ว ก็อยากไปอยู่ยุโรปบ้าง ตอน ม.ปลายเราก็เคยเรียนภาษาฝรั่งเศสมา ก็เลยเอามาเป็นข้ออ้างให้ตัวเองในการบอกพ่อแม่ว่าจะไปเรียนภาษาฝรั่งเศส ก็พยายามหาที่เรียนที่ไม่แพง เอาให้ได้ไปก็พอ อยากไปโรงเรียนที่มีภูเขาและเห็นหิมะจริง ๆ บ้าง ก็เลยเลือกไปเรียนที่เมืองชองแบร์รี่ แคว้นซาวัว ที่นี่จะติดกับสวิตเซอร์แลนด์ และก็เป็นช่วงผ่านของเทือกเขาแอลป์คราวนี้สมใจเลยครับ ภูเขากับหิมะ ตอนนั้นไปเรียนภาษาอยู่หกเดือน ก็โอเคครับ ที่ฝรั่งเศสเราได้เห็นอะไรในแง่มุมหนึ่ง ฝรั่งเศสความคิดของคนจะต่างจากอเมริกามาก เขาค่อนข้างจะแอนตี้อเมริกา ตอนนั้นที่ผมไปช่วงสงครามอิรัก คนฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับคนอเมริกัน และคนฝรั่งเศสก็ไม่ชอบวิถีอเมริกัน มันดูผยอง แต่ฝรั่งเศสเขาก็ผยองเหมือนกันนะ เขาภูมิใจในวัฒนธรรม ตอนนั่งเรียนในห้องครั้งก่อนที่เราไป เราเป็นคนเดียวที่เป็นต่างชาติ แต่ไปครั้งนี้มีคนจากหลากหลายเชื้อชาติมาเรียนด้วยกัน เวลาเรียนเขาก็จะตั้งประเด็นอะไรขึ้นมา แล้วให้นักเรียนได้แสดงทัศนคติต่อเรื่องนั้น ซึ่งการเรียนแบบนี้ นอกจากจะได้เรื่องของภาษาแล้ว เราก็ยังได้เห็นมุมมองของเพื่อน ๆ จากประเทศต่าง ๆ มันมีความหลากหลายอีกเยอะในโลกนี้ที่เรายังไม่รู้


เดินทางสัมผัสความต่างของแต่ละประเทศ
พอจบคอร์สภาษาที่ฝรั่งเศสก็กลับมาเรียนธรรมศาสตร์จนจบ แล้วก็มาทำงาน มาเป็นนักร้อง จะไปเมืองนอกก็อาศัยไปเที่ยวเอง เท่าที่นับดูผมว่าผมเดินทางมาแล้วน่าจะสามสิบประเทศได้แล้วนะ ก็ได้เห็นความแตกต่างของผู้คนเยอะแยะไปหมด จนมาจบโปรเจกต์บีไฟว์ ผมก็มาถามตัวเองว่า เราอยากทำอะไรอีกในชีวิต เป็นนักร้องได้เป็นแล้ว ก็มานึกถึงกิจการที่บ้าน ที่บ้านทำธุรกิจห้องพัก ก็เลยคิดว่าน่าจะไปเรียนการโรงแรม อยากไปเรียนเพิ่มเติม เราจบปริญญาตรีแล้วก็เลยไปเรียนเป็นดิฟโพมา ก็มีไปเรียนการโรงแรมที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย แล้วก็ไปเรียนเกี่ยวกับการบริหารในโรงแรมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่นั่นทำให้เราได้เห็นความแตกต่างอีก คนที่ไปเรียนคลาสนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนมีตังค์ โตแล้ว มีความรู้ อีโก้จะค่อนข้างสูง การไปเรียนแบบนี้มันทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่างมาก


เรียนเมืองนอกเมืองนาไม่ต้องเอากลับมาแค่ความรู้
ถ้าแนะนำเรื่องเรียนต่างประเทศ ผมไม่อยากจะพูดเรื่องการไปเอาปริญญา จะพูดเรื่องประเทศนี้ดีกว่าประเทศนั้น ดีกว่าประเทศไทย ไม่ใช่เลย ทุกประเทศต่างกัน คนทุกคนในโลกนี้พยายามที่จะมีชีวิตรอดเหมือน ๆ กัน สิ่งที่เขาสร้างมาให้เรา ต้องถามว่ามันเหมาะกับตัวเราหรือเปล่า อย่างบอกว่าสวิตเซอร์แลนด์ดีเรื่องการโรงแรม แต่เราก็ต้องดูก่อนว่ามันดีกับทุกคนมั้ย เหมาะกับเราหรือเปล่า บอกว่าอเมริกาดี โอเค ระบบของเขาอาจจะดีจริง ๆ แต่มันเหมาะกับเราหรือเปล่า เรารับเขาได้มั้ย แล้วถ้าเรารับมาแล้ว เราจะกลายเป็นแบบเขาหรือเปล่า ไม่มีอะไรดีที่สุด มันมีข้อดีและข้อเสียอยู่ในอย่างเดียวกัน สำคัญว่าคุณต้องมองตัวเองให้ออกว่าคุณเหมาะกับอะไร ถ้าคุณคิดแค่ว่าเรียนที่ไหนดี ชื่อเสียงเป็นยังไง จบออกมาแล้วจะมีสังคมแบบไหน แบบนี้คุณตัดสินทุกอย่างจากภายนอก ไม่ได้เอาตัวเองเป็นหลัก เลือกที่ตัวเองชอบ แค่คุณทำให้ดีก่อน คุณก็จะรู้ว่าอะไรเหมาะกับคุณ ไม่ได้บอกให้มองโลกในแง่ร้าย อยากให้ทุกคนมองโลกในแง่จริง เพราะความจริงมันไม่ได้มีแค่ร้ายด้านเดียว

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : iamamwa

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook