การพัฒนาความรู้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย

การพัฒนาความรู้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย

การพัฒนาความรู้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

การแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ด้วยระบบและกลไกการรับมีความหลากหลายมากขึ้นเป็นลำดับ

การแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ด้วยระบบและกลไกการรับมีความหลากหลายมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยและคณะวิชาต่างๆ มักเปิดโครงการรับตรงและรับแบบโควตามากขึ้น เช่นเดียวกันกับการเปิดรับในระบบภาคพิเศษ ซึ่งการเปิดรับในประเภทดังกล่าวเหล่านี้เป็นการเปิดโอกาสให้กับนักเรียนได้แข่งขันและมีสิทธิ์ในการเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตนเองสนใจ รวมถึงตามความสามารถ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนและการเตรียมตัวสอบนักเรียนที่สนใจและอยากเรียนในสาขาวิชาต่างๆ จึงควรรู้ความต้องการของตนเองบนพื้นฐานของความสามารถหรือความรู้อย่างแท้จริง มิใช่สักแต่ว่าตามเพื่อนหรือความต้องการของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองหรือพี่ป้าน้าอา และหากทำเช่นนั้นก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดายกับโอกาสในการเลือกสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างหลากหลายในขณะนี้

ความสนใจของผู้เรียนและความสามารถจำเป็นต้องสอดคล้องหรือสัมพันธ์กันให้มาก และผู้เรียนไม่ควรคิดแบบผิวเผิน หากแต่ต้องพินิจพิเคราะห์ในรายละเอียดทุกแง่มุม อาจสอบถามจากผู้รู้ที่เคยผ่านประสบการณ์มาก่อนหรือบรรดารุ่นพี่ก็ได้ และประสบการณ์เหล่านั้นจะทำให้ตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตการเรียนในอนาคตดี นอกจากนี้แล้วการไตร่ตรองการเลือกสาขาวิชาก็ควรทำแต่เนิ่นๆ กล่าวคือ มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและหากเป็นไปได้ควรมีเวลาทดสอบความสามารถของตนเองในระยะเวลาที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ หรืออย่างน้อยที่สุดไม่ควรคิดแบบสุกเอาเผากิน ทำนองทำอะไรก็ได้ขอให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้เป็นพอ เป็นต้น

นอกจากนี้ การลงลึกในรายละเอียดของการเตรียมตัวสอบมีความสำคัญต่อความสำเร็จในผลการสอบ กล่าวคือ หากต้องการสอบเข้าคณะวิชาใดวิชาหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดจำเป็นต้องดูด้วยว่า วิชาที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการสอบนั้นมีอะไรบ้าง เช่น การสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สิ่งที่ต้องควรตระหนักให้มากคือ การสอบวิชาพื้นฐานหรือความถนัดเฉพาะทาง เช่นเดียวกับสาขาวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ เป็นต้น โดยสาขาวิชาเหล่านี้มักอาศัยความสนใจและความรู้พื้นฐาน ความเชี่ยวชาญ หรืออาจรวมถึงสามารถพิเศษเป็นองค์ประกอบ จึงจะสามารถสอบผ่านเข้าไปเรียนได้ และนำไปสู่ความสำเร็จในสาขาอาชีพ

ในสาขาวิชาอย่างศิลปะหรือมัณฑณศิลป์ ก็เช่นเดียวกัน ความสามารถเฉพาะทางนับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสอบผ่านเข้าไปเรียน เพราะอาศัยทักษะเฉพาะด้านหรือเป็นเรื่องบุคคลโดยตรง การเรียนเพื่อเสริมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้วยเวลาอันจำกัดไม่สามารถพัฒนาให้ทันเวลาได้ หากแต่ต้องมีการวางแผนการเรียนเสริมหรือพัฒนาทักษะที่ต้องใช้ช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งมักเป็นเรื่องที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดโดยคิดว่า สามารถเรียนเสริมทักษะความชำนาญได้ในเวลาสั้นๆ

สำหรับการวางแผนการสอบวิชาที่นักเรียนทุกคนจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ นอกเหนือจากวิชาเฉพาะทางแล้ว ความสามารถด้านภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษนับเป็นวิชาที่สำคัญที่ทุกคนต้องมีความรู้ความเข้าใจและมักทักษะทางภาษาที่ดี และหากมีทักษะความรู้ที่ดีย่อมได้เปรียบผู้สมัครคนอื่นๆ และเป็นบทพิสูจน์มาโดยตลอดแล้วว่า ความสามารถด้านภาษานับเป็นปัจจัยสำคัญของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

การเรียนรู้ด้านภาษาอังกฤษจำเป็นต้องมีกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยเวลา การใช้เวลาในการพัฒนาทางภาษานั้นสำคัญ และสามารถนำไปใช้พร้อมทั้งสามารถพัฒนาความสามารถทางภาษาได้เป็นลำดับ ดังนั้นหากการเรียนในระดับพื้นฐานทั้งในระดับประถมฯมัธยมฯมาดีแล้ว การพัฒนาต่อในระดับมหาวิทยาลัยย่อมเป็นไปได้โดยง่ายและรวดเร็ว และสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้ในสาขาวิชาอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น

การเรียนไม่ว่าจะเป็นในระดับใดการให้ความสำคัญทางด้านภาษาต่างประเทศมิใช่ว่าจะจำกัดเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น หากแต่โดยความเป็นจริงภาษาต่างๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลี หรือแม้กระทั่งภาษาอาหรับล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะโลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ความรู้พื้นฐานทางภาษาที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยที่สามารถเกื้อหนุนให้เกิดการรู้ในระหว่างคนที่มีความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ดังนั้นจึงปรากฏว่า ปัจจุปันภาษาต่างประเทศอย่าง ภาษาจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอาหรับได้ความสนใจในคนรุ่นใหม่เป็นอย่างยิ่ง และกลายเป็นว่า ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภาษาเฉพาะทางสามารถนำใช้ในการประกอบอาชีพทั้งในส่วนของงานราชการ หรือภาคธุรกิจเอกชนได้อย่างมากมาย

อย่างไรก็ตาม การเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุปันค่อนข้างเปิดกว้าง แต่สิ่งที่ควรนำมาคิดเป็นองค์ประกอบก็คือ ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบในหลักสูตรหรือสาขาวิชาต่างๆ ที่เปิดการเรียนการสอนในปัจจุบันจะพบว่า อาจไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างการเรียนในมหาวิทยาลัยและเอกชน และในบางหลักสูตร สาขาวิชาที่เปิดสอนในบางโครงการอาจมีค่าใช้จ่ายต่อหลักสูตรแพงกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรพิเศษหรือภาคปกติ และนอกจากนี้องค์ประกอบด้านอาจารย์ผู้สอนก็จำเป็นที่ต้องนำมาพิจารณาดูด้วยว่า คุณสมบัติหรือความรู้ความสามารถ ตลอดจนชื่อเสียงของอาจารย์ผู้สอนเหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในหลักสูตรหรือไม่

สุดท้ายความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม หากแต่ขึ้นอยู่กับการวางแผนการเรียนเป็นสำคัญ และต้องคำนึงเสมอว่า ความสำเร็จที่จะได้มาไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย ความเหนื่อยยากซึ่งหากมีมากเท่าใดความสำเร็จเกิดขึ้นกับตัวเราเป็นแน่....ครับ

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ภรณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook