งานวีเจให้อะไรมากกว่าคนจัดรายการเพลง

งานวีเจให้อะไรมากกว่าคนจัดรายการเพลง

งานวีเจให้อะไรมากกว่าคนจัดรายการเพลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านพ้นกันไปเรียบร้อย กับโครงการ Channel [V] Thailand VJ search 2010 การประกวดหาวีเจหน้าใหม่มาประดับวงการวีเจบ้านเรา และหนุ่มน้อยหน้าใสที่คว้ารางวัลอันดับหนึ่งไปครองก็คือ หนุ่มโบ๊ท- ณัฐพงศ์ ชินโสภณทรัพย์ ว่าที่หมอหนุ่มจากรั้วจามจุรี ในวันที่บรรยากาศเป็นใจ เราฝ่าดงรถติดบุกไปเยี่ยมหมอโบ๊ทถึงบ้าน CHANNEL V เจอหมอโบ๊ททั้งทีก็มิวายจะถามเทคนิคการเรียนดีมาฝากทุก ๆ คน

ทำความรู้จักกันก่อน
สวัสดีครับ โบ๊ท-ณัฐพงศ์ ชินโสภณทรัพย์ เรียน ปี 5 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับ

Channel [V] Thailand VJ search 2010 คือจุดเริ่มต้น
CHANNE L V จะมีการประกวดหาวีเจหน้าใหม่แบบนี้เรื่อย ๆ อยู่แล้วครับ โบ๊ทเห็นเขาเปิดรับสมัคร ก็เลยลองไปสมัคร มีการออดิชั่น แคสติ้งต่าง ๆ จนเข้ามาเหลือสิบคนสุดท้าย จากผู้สมัครประมาณห้าพันคน จากนั้นก็มีการทำเวิร์คช็อป โน่นนั่นนี่ จนมาถึงรอบสุดท้ายเป็นรอบตัดสิน เขาจะให้เราสมมุติว่าตัวเองเป็นวีเจเลยครับ สัมภาษณ์ศิลปินบนเวที ตอนนั้นตื่นเต้นมาก แต่พอผลประกาศออกมาว่าตัวเองเป็นคนชนะก็ดีใจมากครับ

สมองสองซีกที่ถูกใช้ไปพร้อมกัน
ระหว่างการเป็นหมอและการเป็นวีเจ มันเป็นศาสตร์คนละอย่างเลยครับ อย่างแรกเลยคือเรื่องของสายงานที่แตกต่าง โบ๊ทเป็นหมอก็ต้องดูแลคนไข้ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา เพราะเป็นอาชีพ เป็นวิชาการ ส่วนงานวีเจก็เป็นการใช้สมองอีกซีกหนึ่ง เป็นด้านของศิลปะ บันเทิง แต่ไม่ใช่ว่างานวีเจไม่ต้องเตรียมตัว โบ๊ทก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเหมือนกัน ในการอัพเดทความเป็นไปต่าง ๆ เรื่องของเพลง ข่าวสาระบันเทิง ต้องเสพข้อมูลไว้เยอะ ๆ จะได้มาอัพเดทให้กับแฟน ๆ รายการได้ดูได้ฟัง งานจะออกแนวสนุกสนานมากกว่า ซึ่งทำให้โบ๊ทได้ใช้สมองทั้งสองซีกพอ ๆ กัน แต่ถึงจะเป็นคนละสายงาน สองอย่างนี้ก็มีจุดเชื่อมต่อถึงกัน นั่นคือความชอบของโบ๊ทครับ ทั้งงานหมอและงานวีเจ โบ๊ทก็พยายามที่จะเชื่อมโยงสองสิ่งนี้ให้ดำเนินไปด้วยกันได้ โดยการปรับเปลี่ยนที่ตัวเอง ให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น

เรียนหมอฟันเพราะนั่นคือความฝัน
ตอนเป็นเด็กโบ๊ทชอบไปหาหมอฟันครับ เพราะเพื่อนคุณแม่เป็นหมอฟัน ก็จะทำฟันกับเพื่อนคุณแม่มาตลอด โบ๊ทรู้สึกว่าเพื่อนคุณแม่ทำฟันไม่เจ็บเลย คือเด็ก ๆ เราจะกลัวหมอฟันกันใช่ไหมครับ แต่โบ๊ทไม่กลัว ฟันจะหลุดโบ๊ทไปหาคุณหมอที่เป็นเพื่อนคุณแม่ตลอด ชอบให้คุณหมอชมว่าเก่ง แล้วก็จะให้รางวัล มันเป็นความประทับใจทำให้โบ๊ทชอบและอยากเป็นหมอฟัน ตอนเรียนม.ปลายก็เลยแอดมิสชั่นส์เข้ามาที่คณะทันตแพทย์ของจุฬาฯ ครับ

บริหารเวลาคือจุดเชื่อมต่อของเรียนและงาน
โบ๊ทโชคดีที่พี่เขาพยายามจัดคิวให้โบ๊ทแบบไม่ให้ชนกันเลย ของโบ๊ทก็เป็นตอนเย็นเลย เลิกเรียนก็มา เลยไม่มีปัญหาเรื่องเวลาที่จะซ้อนทับกัน แต่ว่ามันก็มีในเรื่องอื่น เมื่อก่อนเรียนเลิก 4 โมงโบ๊ทจะเอาเวลาไปทำแล็บเพิ่ม แต่เราเอาเวลานั้นมาจัดรายการ ถามว่ามีปัญหามั้ยก็มีครับ แต่โบ๊ทเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก เมื่อก่อนเลิกเรียนแล้วเอาเวลาไปทำแล็บเพิ่ม โบ๊ทก็ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อชดเชยเวลา โดยการจัดรายการเสร็จโบ๊ทก็กลับไปทำแล็บต่อ ก็ต้องจัดสรรเวลาให้ดี ดูแลตัวเองให้มากขึ้น รู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่ เวลาช่วงไหนหายไป เราจะเอาเวลาตรงไหนมาชดเชยได้บ้าง ก็ต้องวางแผนดี ๆ

งานวีเจให้อะไรมากกว่าคนจัดรายการ
อย่างแรกเลยคือ ให้โบ๊ทได้รู้จักการทำงานอีกด้านหนึ่งของโลกที่มันมี เพราะว่ามันคนละด้านกับหมอเลย ทำให้เราได้รู้ว่าการทำงานเป็นยังไง ได้รู้จักกับพี่ ๆ ได้สอนให้โบ๊ททำงานกับคนอื่น ทำให้โบ๊ทมีมารยาทมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนเจอป้าร้านขายน้ำ โบ๊ทก็จะไม่สวัสดี แต่พอมาที่นี่ทุกคนเป็นครอบครัว ไล่ลำดับอาวุโส โบ๊ทเป็นเด็กโบ๊ทก็ต้องสวัสดีหมดเลย แม้ไม่รู้ว่าเขาคนนั้นจะชื่ออะไรหรือเป็นใคร ถ้าเห็นเขาเดินเข้ามาในแชลเนลวีก็สวัสดี มันเป็นสิ่งที่โบ๊ทต้องทำ แล้วก็ติดตัวโบ๊ทไป พอไปเรียนกับเพื่อนที่คณะ เพื่อนก็จะทัก เฮ้ย! วีเจโบ๊ท โบ๊ทก็จะขอบคุณครับ แล้วยกมือไหว้ เพื่อนก็จะแปลกใจว่าโบ๊ทจะไหว้เขาทำไม อะไรอย่างนี้ครับ (หัวเราะ)

เรียนไม่เก่งแต่อาศัยขยัน
ต้องบอกก่อนเลยครับว่าโบ๊ทไม่ใช่คนเรียนเก่ง ไม่ใช่คนหัวดี แต่อาศัยขยันอย่างเดียวเลย ที่เอ็นฯ หมอฟันได้เพราะขยันอย่างเดียว ต้องขอบคุณคุณแม่ เพราะคุณแม่จับเรียนพิเศษอย่างละสองที่ เรียนวิชาอะไรก็เรียนสองที่อัดเข้าไป ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกว่าหนัก แม่อยากให้ทำอะไรโบ๊ทก็ทำ ก็เรียน พอเอ็นฯ เสร็จแม่ก็ปล่อยให้โบ๊ทเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรก็ทำ พอเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยจริง ๆ ในมหาวิทยาลัยไม่มีเรียนพิเศษ เราต้องมาเรียนด้วยตัวเอง โบ๊ทรู้ตัวเลยว่าตัวเองไม่ได้เก่ง อาศัยความถึกและขยันอย่างเดียว ต้องอ่านหนังสือเยอะ ๆ แต่ปัญหาของโบ๊ทเป็นคนที่อ่านล่วงหน้าแล้วลืม เคยอ่านสองรอบ อ่านรอบแรกผ่านไป แล้วมาอ่านอีกรอบหนึ่ง เออ มันเหมือนไม่เคยอ่านมาก่อน มันไม่คุ้นเลย โบ๊ทก็เลยลองเปลี่ยนมาใช้วิธีใกล้สอบแล้วค่อยอ่าน มันจะคุ้นตาโบ๊ท มากกว่า

ฝากถึงน้อง ๆ
ช่วงแอดมิสชั่นส์เป็นรอยต่อของชีวิต เป็นการชี้ว่าเราจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรต่อไป เราต้องตั้งใจกับมันมาก น้อง ๆ ที่เรียนและทำงานในวงการไปด้วยก็อยากจะให้น้อง ๆ ตั้งใจให้มาก แบ่งเวลาให้ดี หรือว่าถ้าเป็นไปได้รับงานที่เบา ๆ ไปก่อน เพราะว่าเป็นช่วงที่สำคัญของชีวิต สำหรับโบ๊ทก็ต้องขอบคุณคุณแม่ เพราะถ้าไม่มีคุณแม่ โบ๊ทก็คงไม่ได้เรียนหมออย่างทุกวันนี้ ที่สำคัญเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม อ่านหนังสือทำข้อสอบเก่าเยอะ ๆ เพราะโบ๊ทรู้สึกว่าระบบแอดมิสชั่นส์ ตัวอย่างข้อสอบมันยังน้อยอยู่ การแอดมิสชั่นส์รุ่นใหม่แนวข้อสอบก็คงเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ รุ่นแรก ๆ เขาก็คงไม่เอาข้อสอบเดิมมาออก เขาก็ต้องขยันออกข้อสอบกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องอ่านหนังสือเยอะ ๆ เตรียมตัวไว้แต่เนิ่น ๆ เตรียมร่างกายให้พร้อม เราจะไม่ได้เครียดกับมันมาก

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : iamamwa ช่างภาพ : Phankajhon

กด Like เพื่อติดตามเรื่องเด็ดๆ โดนๆ จากทีมงาน Sanook! Campus

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook