มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Mae Fah Luang University (MFU)

ก่อตั้ง: พ.ศ. 2541
ต้นไม่ประจำสถาบัน: ต้นหอมนวล (ลำดวน)
สีประจำสถาบัน: สีแดง-ทอง
จำนวนคณะ: 9 สำนักวิชา
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 7,054 คน
อัตราค่าเล่าเรียน: เหมาจ่ายแตกต่างกันแล้วแต่หลักสูตร
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์: 333 หมู่ 1 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
โทร. 0 5391 6000, 0 5391 7034
เว็บไซต์: www.mfu.ac.th

"หนึ่งในปณิธานของ มฟล. - สร้างคน สร้างคววามรู้ สร้างคุณภาพ"

ประวัติ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นแหล่งสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่จะ "ปลูกป่า สร้างคน" โดยมีจุดประสงค์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส โดยการให้การศึกษาระดับสูงเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลของผู้คนในท้องถิ่นและจากที่อื่นๆ นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังมีปณิธานในการธำรงไว้ซึ่งประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติพันธุ์ต่างๆ ในภาคเหนือและภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนอีกด้วย
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นสถาบันที่หน่วยราชการจังหวัดเชียงรายและประชาชนชาวเชียงรายเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นในจังหวัด ภาพประทับใจเมื่อปี 2541 คือภาพชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่ข้าราชการ พ่อค้าและชาวบ้านร่วมหมื่นพากันนำมีด พร้า จอบ เสียม และเครื่องจักรมาบุกเบิกทางเข้ามหาวิทยาลัยบริเวณดอยแง่มเป็นปฐมฤกษ์ และมีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในปีเดียวกัน
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2542 นับเป็นสถาบันที่เปรียบเสมือนเพชรในตมทางการศึกษาอีกแห่งในภาคเหนือ ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาแห่งใหม่ จำนวนนักศึกษายังไม่เยอะ ตั้งอยู่ในสภาพภูมิอากาศอันยอดเยี่ยม ในอาคารที่มีรูปแบบตามแบบลานนาอันสวยงาม ซึ่งเป็นอะไรที่หาได้ยากมากในโลกปัจจุบัน นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็ยังมีคณะต่างๆ ให้เลือกเรียนได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว เพิ่งมีการเปิดสาขาวิชาใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของอาชีพภาคเหนือและแนวโน้มความต้องการของอาชีพภาคเหนือและแนวโน้มความต้องการแรงงานของประเทศ อาทิ สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาจาวิชาการบริการสุขภาพ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง และสาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ นอกเหนือจากการที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน โดยมีศูนย์วัฒนธรรมจีนเป็นศูนย์ข้อมูลด้วย สถาบันยังเน้นการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน ดังนั้นผู้ที่คิดอยากสมัครเรียนที่นี่ จะต้องมีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับที่ดี

สัญลักษณ์
"พระนามาภิไธย ส.ว." พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาประกอบเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระเกียรติของสมเด็จย่าและเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมีเลข 8 และ 9 (เลขไทย) ประกอบด้วยด้วยโดยหมายถึงทรงเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 และได้อัญเชิญฉัตร 7 ชั้นมาเป็นเครื่องหมายประกอบพระเกียรติยศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีดอกลำดวนและใบไม้ประดับอันแสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่สนองพระราชปณิธานปลูกป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

สีประจำมหาวิทยาลัยคือ "สีแดง-ทอง" ซึ่ง สีแดง หมายถึง องค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ส่วน สีทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของมหาวิทยาลัยอย่างไม่มีขอบเขต
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือ "ดอกหอมนวล" หรือ "ดอกลำดวน"
"ลายตุงประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง" มหาวิทยาลัยได้นำแถบประดับดอยตุง อันเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ และความเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่งมาประดับไว้ที่แถบครุยวิทยฐานะ ในแถบตุงประกอบด้วย "ลายปราสาท" หมายถึง สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ "ลายหนู" หมายถึง ปีประสูติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2443 "ลายพญานาค" หมายถึง สัตว์ที่ปรากฏในศิลปวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า เป็นสัตว์ที่พิทักษ์พระพุทธศาสนา และ "ลายเสือ" หมายถึง ปีก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงกับปีขาล พ.ศ. 2541

มีอะไรเรียนบ้าง
1. สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีการอาหาร
เทคโนโลยีการจัดการผลิตผลเกษตรและการบรรจุ
2. สำนักวิชาศิลปศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
ภาษาอังกฤษ
ภาษาจีนธุรกิจ
ภาษาและวัฒนธรรมไทย (สำหรับนักศึกษาต่างชาติ)
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
การปกครองท้องถิ่น (หลักสูตรเฉพาะสำหรับ อบต.)
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต
- การสอนภาษาจีน (5 ปี)
3. สำนักวิชาการจัดการ
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
การจัดการการท่องเที่ยว
บริหารธุรกิจ
การจัดการอุตสาหกรรมการบริการ
การจัดการธุรกิจการบิน
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
การบัญชี
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
เศรษฐศาสตร์
4. สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ
วิทยาการคอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว
วิศวกรรมซอฟท์แวร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
วิศวกรรมการสื่อสารและสารสนเทศ
5. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เคมีประยุกต์
วิทยาศาสตร์ชีวภาพ
6. สำนักวิชานิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
7. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต
การแพทย์แผนไทยประยุกต์
หลักสูตรกายภาพบำบัดบัณฑิต
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต
8. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
เทคโนโลยีความงาม
9. สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต

ค่าใช้จ่าย
อัตราค่าธรรมเนียมตลอดหลักสูตรโดยประมาณ คือ สำนักวิชาศิลปะศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) สำนักวิชาการจัดการ (ยกเว้นการจัดการธุรกิจการบิน) และสำนักวิชานิติศาสตร์ 120,000 บาท สำนักวิชาศิลปศาสตร์ (ภาษาจีนธุรกิจ) 250,000 บาท สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (สาธารณสุขศาสตร์) 144,000 บาท สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง (วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง) 178,400 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (การแพทย์แผนไทยประยุกต์) 207,200 บาท (กายภาพบำบัด) 224,000 บาท และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ 240,000 บาท ดังนั้นในระบบเหมาจ่ายต่อเทอม นักศึกษาสามารถคำนวณได้โดยการนำจำนวนเทอมตลอดหลักสูตรมาหาร

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน บริการวิชาการด้านการสอน และการอบรมความรู้ภาษาจีน
- ศูนย์หนังสือ เป็นแหล่งเผยแพร่ และจัดจำหน่ายหนังสือ สื่อความรู้ทุกประเภท รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ สื่อความรู้สำหรับนักศึกษา
- ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ให้บริการรู้และห้องสมุดที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศตามมาตรฐานสากล
- ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ที่อาคารปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และภาษา มีห้องทั้งหมด 4 ห้องๆ ละ 60 ที่นั่ง
- ระบบอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับทุกๆ ด้านของการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษา และใช้เป็นศูนย์กลางการติดต่อ ประกาศข่าวต่างๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยและนักศึกษา และอาจารย์กับนักศึกษา
- ร้านถ่ายเอกสารในตัวมหาวิทยาลัยมี 2 ร้าน แต่จะปิดเร็วในช่วงซัมเมอร์ แต่นักศึกษาสามารถไปใช้บริการด้านนอกได้
- งานอนามัย ให้บริการด้านสุขภาพ ดำเนินการการประกันอุบัติเหตุของนักศึกษา
- สถานที่ออกกำลังกายหลักของที่นี่คือ สนามบาส สนามตระกร้อ สนามแบดในร่มและกลางแจ้ง และมหาวิทยาลัยกำลังจะก่อสร้างสปอร์ตคลับด้วย
- โรงอาหารจะมีบริการ 3 ที่ ที่อาคาร D1 คนจะไปทานกันเยอะ หรือหากอยากแหวกแนวแถวๆ รอบมหาวิทยาลัยก็จะมีให้เลือกพอสมควร
- บริการรถไฟฟ้า รับ-ส่งนักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยฟรี
- หอพักนักศึกษา มีหอพักภายในมหาวิทยาลัยให้กับทั้งนักศึกษาหญิงและชาย ดังนี้
1. หอพักนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หญิง หอพัก F1-F5
2. หอพักนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป หญิง หอพัก F6 หอพักลำดวน 4-5 หอพักประเสริฐ และหอพักบุญทรง
3. หอพักนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ชาย หอพักลำดวน 1-2
4. หอพักนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป ชาย หอพักลำดวน 3
5. หอพักนักศึกษานานาชาติ หอพัก เภา สารสิน
หอพักส่วนใหญ่ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกอันได้แก่ เตียงพร้อมที่นอน เก้าอี้ พัดลม ตู้เสื้อผ้า โต๊ะ พร้อมบริการอินเทอร์เน็ตสายแลน ศูนย์อาหาร ลานกีฬา ร้านสะดวกซื้อตลอด 24 ชม. ค่าธรรมเนียมหอพักนักศึกษาประมาณเทอมละ 3,800-4,000 บาทต่อคน

ทุนการศึกษา
มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานดูแลให้ความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์แก่นักศึกษาทั้งในรูปแบบของทุนการศึกษา ทุนกู้ยืม ทุนฉุกเฉิน ทุนโครงการพิเศษ ทุนสิรินธร และทุนอื่นๆ

ชีวิตนักศึกษา
หากใครชอบบรรยากาศสบายๆ สถานที่สวยงามตามแบบฉบับภาคเหนือของไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ยอดเยี่ยม ตัวมหาวิทยาลัยจะตั้งอยู่บนพื้นที่อันงดงามของดอยแง่ม จ.เชียงราย นักศึกษาที่นี่จึงเป็นที่รู้จักกันว่า "เด็กดอยแง่ม" อาคารสถานที่เรียนออกแนวโมเดิร์นผสมล้านนา ทาสีสไตล์ earth tone และบางบริเวณจะเป็นพื้นที่เนินลูกฟูกสวยงามน่าเดินเล่น ช่วงหน้าหนาวอากาศเย็นสบายและหมอกลงจัด
เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างมาไม่นาน ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องยังคงเหนียวแน่น มีระบบพี่รหัสน้องรหัสทำให้สนิทกันได้มากขึ้น และจากพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่จะปลูกป่า สร้างคน ในประเพณีรับน้องของที่นี่ รุ่นพี่จะพารุ่นน้องขึ้นไปทางด้านหน้าของดอยแง่ม แล้วให้รุ่นน้องปลูกต้นไม้คนละต้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเจริญเติบโตทั้งในด้านการเรียน และสติปัญญาของนักศึกษา

นอกจากนี้นักศึกษายังจะได้ซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นอันงดงามผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ส่วนพัฒนานักศึกษาจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นงานจุดเทียนรับขวัญน้อง งานสืบสานศิลปวัฒนธรรม งานขันโตก งานศิลป์ล้านนา ปูจา แม่ฟ้าหลวง งานลอยกระทง เป็นต้น

ช่วงเย็นๆ เด็กที่อยู่หอส่วนมากก็จะมาเล่นคอมพ์กันอยู่ที่ศูนย์คอมพ์ หรือไม่ก็ออกมาหาอะไรทาน แถวร้านอาหารหน้ามหาวิทยาลัย บริเวณนี้จะเป็นแหล่งรวมนักศึกษา บางทีก็จะนั่งกันถึง 5 ทุ่ม บางทีในตอนเย็นน้องๆ จะจับกลุ่มกันเดินออกมาหน้ามหาวิทยาลัย บ้างก็ทานหมูกระทะ บ้างก็ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยงเล่นบริเวณใกล้ๆ เช่นขี้ไปด้านหลังดอยแง่มซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำ ทิวทัศน์สองข้างทางสวยมาก มีต้นไม้ เป็นทิวเขา

ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยและด้านนอกจะปลอดภัย เนื่องจากมีป้อมยามตามจุดต่างๆ
มหาวิทยาลัยมีขนาดเล็ก ทำให้อาจารย์และลูกศิษย์ใกล้ชิดกัน รุ่นเดียวกันก็รู้จักกันหมดถึงแม้จะต่างคณะ บรรยากาศจะเป็นแบบ country น้องๆ ที่ต้องการเข้าเมืองก็มักเข้าไปเดินเล่นที่ห้างบิ๊กซี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปหน่อย ที่นี่มีโรงภาพยนตร์ด้วย

มีรถประจำทางจากในมหาวิทยาลัย และรถประจำทางที่วิ่งล่องตามซูเปอร์ไฮเวย์ ให้บริการเข้าเมืองเป็นประจำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook