เตรียมตัวให้พร้อม ต้อนรับเปิดเทอมใหม่

เตรียมตัวให้พร้อม ต้อนรับเปิดเทอมใหม่

เตรียมตัวให้พร้อม ต้อนรับเปิดเทอมใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใกล้เปิดเทอมเข้ามาแล้วสำหรับน้องๆนักเรียนหลายๆคน ที่จะต้องเตรียมตัวการกับเรียนในเทอมใหม่ที่จะมาถึง เป็นธรรมดาสำหรับการเริ่มต้นเข้าเรียนใหม่ ที่ได้พบมิตรภาพใหม่ ความรู้ใหม่ รวมถึงประสบการณ์ในการเรียนที่ใหม่ขึ้น

การเริ่มต้นในเทอมใหม่ หากผู้ปกครองรวมทั้งน้องนักเรียนทั้งหลายมีความพร้อมและเตรียมตัวมาอย่างดี ส่งผลให้นักเรียนมีประสิทธิภาพที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น

เพื่อน ถือเป็นปัจจัยหลักอันดับต้นๆ ดังนั้นการเปิดเทอมในวันแรก การสร้างมิตรภาพกับเพื่อนใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะหาเพื่อนใหม่ เรามีเคล็ดลับมาสานสัมพันธ์เพื่อนใหม่ๆ มาฝาก

"ให้ในสิ่งที่เราอยากได้ ถ้าเราอยากได้อะไรจากเพื่อน เราก็ต้องเป็นฝ่ายเริ่มให้ก่อน เช่น อยากได้รอยยิ้มจากเพื่อนใหม่ เราก็ต้องยิ้มให้เขาก่อน หรือ อยากรู้จักเพื่อนใหม่ แน่นอนเราก็ต้องเข้าไปทำความรู้จักก่อน"

น้องๆ ทั้งหลายควรเลือกคบเพื่อนด้วย โดยการสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนใหม่ว่า เขาเป็นคนยังไง ชวนเราทำอะไร ชวนไปทำในสิ่งที่ดีหรือไม่ เพราะเพื่อนที่ไม่ดีจะเป็นตัวการชักชวนให้ทำสิ่งผิดต่างๆ รวมถึงอาจแนะนำให้ลองอบายมุข ตั้งแต่ บุหรี่ สุรา ไปจนถึง ยาเสพติดแบบผิดกฏหมายได้เลยทีเดียว

 มาถึงเรื่อง การใช้ชีวิตภายในโรงเรียน นอกจากเรื่องเพื่อนจะสำคัญแล้ว การใช้ชีวิตในโรงเรียนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะโรงเรียนถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก ที่มักใช้เวลาส่วนใหญ่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงเรียน โดยเราจะเห็นข่าวบ่อยๆเกี่ยวกับเด็กนักเรียนได้รับอุบัติเหตุจากสถานที่ต่างๆหรือเครื่องเล่นต่างๆ หากสภาพแวดล้อมในโรงเรียนไม่ปลอดภัย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ เพราะบางครั้งอาจารย์ในโรงเรียนไม่สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง

 จุดเสี่ยงต่างๆในโรงเรียน ที่ต้องให้ความระวังเป็นพิเศษคือ

ประตูโรงเรียน ทางโรงเรียนควรตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ล้อเลื่อนประตูอยู่ในรางและมีน๊อตยึดติดอย่างแน่นหนา หากพบว่าชำรุดหรือเปิด-ปิดยาก ควรซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที เพื่อป้องกันประตูล้มทับเด็ก

สนามเด็กเล่น ทางโรงเรียนต้องตรวจสอบเครื่องเล่นให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงและแข็งแรงอยู่เสมอ ยึดติดเครื่องเล่นกับพื้นอย่างแน่นหนา โดยเฉพาะเครื่องเล่นที่หมุนหรือเคลื่อนที่ได้ เช่น ลูกโลก ชิงช้า เป็นต้น จัดพื้นที่สนามเด็กเล่นให้เป็นสัดส่วน ทำรั้วรอบ เพื่อป้องกันเด็กแอบเข้าไปเล่นในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล

บ่อน้ำ ติดตั้งป้ายเตือนอันตราย และทำรั้วกั้นแหล่งน้ำภายในโรงเรียน ริมน้ำ เพราะเด็กนักเรียนอาจลื่นพลัดตก อาจทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้

อาคารที่กำลังก่อสร้าง ควรจัดทำรั้วกั้นหรือใช้ผ้าคลุมบริเวณที่กำลังก่อสร้าง ติดตั้งป้ายและประกาศเตือนไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นในบริเวณดังกล่าว เพราะอาจได้รับอันตรายจากวัสดุก่อสร้าง เช่น กระจก กระเบื้อง ตะปู เป็นต้น

ผ่านเรื่องของจุดเสี่ยงในโรงเรียนแล้ว เรื่องสำคัญเรื่องต่อไปคือ ความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งในส่วนที่ขายภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน สำหรับภายในนั้น ทางโรงเรียนจะมีมาตรการดูแลเรื่องความสะอาดและโภชนาการอาหารอยู่แล้ว แต่ที่น่าห่วงคือบรรดาร้านค้าที่ขายขนมตามนอกโรงเรียน อาหารเหล่านั้นไม่สามารถตรวจสอบว่าสะอาดปลอดภัยหรือไม่ อาจมีเชื้อโรค หรือสารพิษเจือปนอยู่ ซึ่งอาจเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้ขายก็ได้

สิ่งเจือปนที่พบได้บ่อย ได้แก่

ผงกรอบหรือผงบอแรกช์ เช่น ลูกชิ้นเด้ง ทับทิมกรอบ แป้งที่ใช้ชุปทอดต่างๆ ผลไม้ดอง ทำให้อาหารกรุบกรอบอยู่ได้นาน สารนี้มีอันตรายร้ายแรงต่อระบบทางเดินอาหาร

โลหะหนัก อาหารประเภทขนมหวานสีสวยๆ เช่น ลูกชุบ น้ำหวาน ไอศครีมแท่ง หรือแม้แต่ผลไม้ดอง (อีกแล้ว) มักจะมีการใส่สีเพื่อให้อาหารดูน่ากินขึ้น สีย้อมผ้าเหล่านี้มีโลหะนำประเภทตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ปนอยู่ด้วยเพื่อให้สีที่ย้อมติดทนนาน โลหะหนักเหล่านี้แทนที่จะอยู่บนเสื้อผ้ากลับไปอยู่ในกระเพาะอาหารของเด็กแทน จึงนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ภาชนะใส่อาหาร เช่น ถุงกระดาษที่มีตัวหนังสือพิมพ์อยู่ ถุงพลาสติก เมื่อนำมาใส่อาหารที่ร้อนๆ หรือมันๆ โลหะหนักก็จะละลายปนเปื้อนลงในอาหารนั้นได้ เมื่อได้รับโลหะหนักสะสมในปริมาณหนึ่งจะแสดงอาการออกมาทางร่างกายคือ ซีด เลือดจาง อาจทำลายปลายประสาท ส่วนอาการเฉียบพลัน คือ อาเจียน ซึม เพ้อ ในรายอาการรุนแรง มีอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้พวกน้ำหวานที่ผสมในขวดโหลต่างๆ มักจะไม่ค่อยสะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเสมอๆ อาจทำให้เด็กท้องเสียรุนแรงได้ และขนมหวานหรืออาหารที่มีรสหวานก็ยังทำให้เด็กฟันผุอีกด้วย

ดังนั้น การดูแลเรื่องอาหารการกินให้ลูกด้วยตนเอง เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กซื้ออาหารนอกโรงเรียนกิน เช่นทำแซนด์วิช ให้นมกล่องมาทานที่โรงเรียน เป็นต้น

และสุดท้าย คือเรื่อง สภาพอากาศ โดยช่วงเปิดเทอมของทุกปีจะอยู่ในช่วงฤดูฝน ที่ทำให้เด็กๆอาจไม่สบายเป็นหวัดขึ้นมาได้ พ่อแม่จึงควรมีวิธีป้องกันเอาไว้ให้กับลูกหลาน เช่น เตรียมร่ม ชุดคลุมกันฝนให้ลูกด้วย และเวลาเด็กกลับถึงบ้านควรตรวจสอบว่าลูกมีอาการผิดปกติทางร่างกายหรือไม่ ทั้งจากการสอบถามและการสังเกต เพื่อสามารถรักษาได้ทันถ่วงที

ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง ที่พ่อแม่ไม่ควรพึงกระทำในช่วงการเปิดเทอมคือ การยัดเยียดให้ลูกไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม เพราะในช่วงแรกเริ่มของการเรียนเทอมใหม่นั้น เด็กๆ ต้องใช้เวลาในการปรับตัวในหลายๆด้าน และยิ่งพ่อแม่มาบังคับหรือคาดหวังเพิ่มขึ้นแล้ว อาจทำให้ลูกเก็บกด จนมีปัญหาขึ้นมาได้

ดังนั้น ควรให้ระยะเวลาเด็กได้ปรับตัวซักระยะเวลาหนึ่งก่อน แล้วดูว่าการเรียนของเด็กเข้าที่เข้าทางแล้วหรือยัง เพราะบางทีผู้ปกครองที่หวังดีเกินไปกลับกลายเป็นว่าความหวังดีนั้นเข้าไปทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

ที่มา: คมสัน ไชยองค์การ Team content www.thaihealth.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook