รางวัล นอกห้องเรียน

รางวัล นอกห้องเรียน

รางวัล นอกห้องเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ได้เจอกับสาวน้อยคนนี้ บอกได้เลยว่าเธอเป็นคนอารมณ์ดี ร่าเริง ขี้เล่น แต่เมื่อทำความรู้จักมากขึ้นก็สัมผัสได้ถึงความไม่ธรรมดา

กตัญญู บุญเดช

เธอมีมุมมองที่ต่างจากวัยรุ่นทั่วๆ ไป การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศจากสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กับผลงานการประกวดสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ประจำปี 2552

"ตอนนั้นเราดูแลข่าวหน้าสิทธิเด็ก มีกันอยู่สามคน ก็มาตกลงกันว่าจะทำเรื่องอะไรดี เลยแยกย้ายกันไปหาข้อมูล หรือเรื่องที่ตัวเองสนใจ เมื่อมาประชุมกันแล้ว ก็เลยเป็นเรื่องนักสืบสายน้ำ ซึ่งอยู่ในภาคอีสานพอดี ย้อนไปครั้งที่ตัวเองเด็กๆ ยังไม่มีกิจกรรมให้ดูแลธรรมชาติแบบนี้เลย พอดีกับว่ามีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูแลหน้าสิ่งแวดล้อมไปทำสารคดีเชิงข่าวเกี่ยวกับบึงโขงหลง เลยติดสอยห้อยตามกันไปเป็นกลุ่มใหญ่ แต่แบ่งกันทำงานตามเรื่องของตัวเอง"

กตัญญู บุญเดช หรือ เนม นิสิตชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยม ข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก จากเรื่อง "นักสืบสายน้ำกับภารกิจพิทักษ์ลำน้ำสงคราม" ประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ บอก เนมเป็นเด็กที่ทำกิจกรรมมาตลอด โดยเฉพาะละครเวที ที่เธอมักจะเข้าไปร่วมสร้างสีสันให้กับเพื่อนๆ อยู่เสมอ จนอาจจะเรียกว่า คร่ำหวอดวงการละครเวทีประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคามตัวจริงเลยทีเดียว แต่แล้วเนมก็ได้ค้นพบว่า ตัวเองมีความสนใจเพิ่มขึ้นมาอีกด้าน นั่นก็คือ การเขียนข่าว เนมมีโอกาสเดินทางไปทำสารคดีเชิงข่าวเกี่ยวกับสิทธิเด็กที่จังหวัดนครพนม เพื่อลงหนังสือพิมพ์ "สื่อมวลชน" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ประจำสาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

"จริงๆ ที่ไปเพราะเห็นว่าได้ออกต่างจังหวัด เราก็อยากไปเที่ยวอยู่แล้ว เพราะไปกับเพื่อนๆ หลายคนจึงตัดสินใจไป แต่พอไปถึงจริงๆ มันไม่ใช่แค่ไปเที่ยวอย่างเดียวแล้ว เรารู้ว่าเราจะต้องเขียนงานสารคดีเชิงข่าวเกี่ยวกับการวัดคุณภาพน้ำของแม่น้ำสงคราม ซึ่งมีทีมงานเป็นเยาวชนของโรงเรียนสามผงวิทยา อ.ศรีสงคราม จ.นครพนมด้วย เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องดีๆ ของเด็กกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาดูแลชุมชนตัวเอง ซึ่งก็อยากทำลงหนังสือพิมพ์ของเรา"

เมื่อถามถึงเส้นทางของการประกวดสารคดีเชิงข่าวชิ้นนี้ เธอเล่าว่า เมื่อแรกสุดไม่ได้คิดว่าจะได้เข้าประกวด แต่เมื่อเธอและเพื่อนๆ ในกลุ่มอีก 2 คน (สาวิตรี ปะนะทัง และอาภาพรรณ ทองเรือง) เขียนงานชิ้นนี้จนเสร็จสิ้น ก็ปรากฏว่าเข้าตาอาจารย์ที่ปรึกษา

"ทำหนังสือพิมพ์ของเอกวารสารอยู่แล้ว ตอนนั้นเราเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สื่อมวลชน แต่ละครั้งก็จะมีการส่งข่าวเข้าประกวดตามประเภท พอฉบับนี้มาทำเรื่องเด็กและเยาวชนพอดี ทางอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีพลัง สามารถสื่อสารไปสู่สังคมได้ เราเลยได้โอกาส อาจารย์ก็ส่งเข้าประกวดให้ด้วย"

งานนี้เธอคว้ารางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา จากสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดอยู่ในหมวดข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ทำเอาเพื่อนๆ ในสาขาดีใจและเข้ามาร่วมแสดงความยินดีกันยกใหญ่ แต่เจ้าตัวกลับออกอาการงงๆ เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่า งานเขียนของตัวเองจะได้รางวัล แถมเป็นรางวัลที่ 1 ด้วย

"แต่ก่อนคิดว่าเรื่องอะไรก็ตามที่ได้รับรางวัลจะต้องเป็นเรื่องที่มีผลกระทบ เด็กต้องน่าสงสาร เพราะเรื่องเรามันไม่ได้มาแนวนั้น แต่มาถึงตรงนี้ทำให้รู้สึกว่า สารคดีเชิงข่าวไม่จำเป็นต้องมีแต่เรื่องที่สะเทือนใจ อ่านแล้วรู้สึกสงสาร หดหู่ก็ได้"

งานเขียนชิ้นนี้ได้จุดประกายความคิด และมุมมองที่มีต่อสังคมหลายๆ มุมให้กับเนม ทำให้เรียนรู้ถึงความรักความหวงแหนในถิ่นฐานบ้านเกิด และยังเปรียบเสมือนการเรียนนอกห้องเรียนที่เธอกล้าพูดว่า ไม่มีทางหาประสบการณ์แบบนี้ได้จากห้องเรียนแน่ๆ

"ทัศนะของเราก็เปลี่ยนไป เรามาเทียบกับตัวเรามากกว่า เพราะตัวเองไม่เคยทำแบบนี้ตอนเด็กๆ เลยมองว่าเด็กสมัยนี้เขามีความรักความผูกพันกับท้องถิ่นของเขามาก และเราก็ได้ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับเด็ก กับเพื่อนด้วย รู้ว่าเราต้องเคารพสิทธิของแหล่งข่าว ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ คือเราต้องรู้นะไม่ใช่ว่าทำข่าวกับเด็กแล้วต้องไปบีบคั้นให้เขาพูดในสิ่งที่เราอยากให้เป็น รู้ว่าต้องพูดยังไงให้แหล่งข่าวเราไม่เกร็ง หรือเครียด พูดยังไงให้เป็นกันเองและพร้อมจะให้คำตอบกับเราที่เป็นข้อเท็จจริงและชัดเจนที่สุด"

ความที่ตัวละครในงานเขียนเป็นเยาวชน เธอจึงคิดว่า หากผลงานนี้ได้เผยแพร่ออกไปอย่างน้อยที่สุดคนอ่านก็จะได้รู้ว่า เด็กต่างจังหวัดก็มีความสามารถไม่ต่างกับเด็กในเมือง เพียงแต่พวกเขาใช้ความตั้งใจและใส่ใจที่จะเข้ามาดูแลถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขาเอง

"เด็กสามารถพัฒนาชุมชนได้แน่นอน อันที่จริงทุกวัยก็มีส่วนร่วมหมด เพียงแต่เด็กเขาจะมีการแสดงออกตามความรู้สึกอย่างแท้จริง ถ้าเป็นพลังก็น่าจะเป็นพลังที่ไร้การปรุงแต่ง น่าจะสร้างปรากฏการณ์ที่ดี และถ้ามีการสนับสนุน ปลูกฝัง พัฒนาไปในทางที่ดี อะไรดีๆ ก็เกิดขึ้นได้" กตัญญู บุญเดช

โดย : วรุณรัตน์ คัทมาตย์

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ รางวัล นอกห้องเรียน

รางวัล นอกห้องเรียน
รางวัล นอกห้องเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook