นักวิชาการชี้ข้อสอบ GAT-PATยากเกินไป

นักวิชาการชี้ข้อสอบ GAT-PATยากเกินไป

นักวิชาการชี้ข้อสอบ GAT-PATยากเกินไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิชาการจี้ยกเลิกระบบคิดคะแนนติดลบ ชี้ข้อสอบยากเกินไป ผอ.สทศ.รับลูก เตรียมวิเคราะห์หาคำตอบสัปดาห์หน้า หลังผลสอบ"GAT-PAT"ครั้งสอง เด็กทำคะแนนเฉลี่ยต่ำ

ADMISSION, แอดมิชชั่น, สอบ, เอ็นทรานซ์, PAT,GAT

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะกำกับดูแลสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยถึงกรณีผลการจัดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) ครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคม เพื่อใช้ประกอบการสมัครรับคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือระบบแอดมิสชั่นส์ ปีการศึกษา 2553

โดยพบว่าคะแนนเฉลี่ยทุกวิชายังไม่ถึง 50% เช่นเดิม โดยเฉพาะคะแนน PAT ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ลดลงจากการสอบครั้งแรก ทั้งที่ได้คาดการณ์กันว่าคะแนนสอบน่าจะสูงขึ้น ว่า ตนได้พูดคุยหารือกับนางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการ สทศ.และได้มอบหมายให้ไปวิเคราะห์หาสาเหตุแล้วว่าทำไมผลการทดสอบครั้งที่สอง คะแนนจึงไม่สูงขึ้นจากครั้งแรก และบางวิชา คะแนนลดลงด้วยซ้ำ ทั้งที่นักเรียนมีความรู้เพิ่มมากขึ้นและคาดการณ์กันว่าน่าจะตั้งใจทำคะแนนมากกว่าครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวจะยังไม่ฟันธงว่าข้อสอบยากหรือไม่ได้มาตรฐาน แต่จะให้เวลา สทศ.ไปวิเคราะห์ซึ่งคิดว่าคงใช้เวลาไม่นานนัก

ด้านนางอุทุมพรกล่าวว่า คะแนนเฉลี่ย PAT ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ลดลงจากการสอบครั้งแรก 2-3 คะแนนนั้น อาจเป็นผลจากความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือวัดซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ สัปดาห์หน้าจะวิเคราะห์ช่วงคะแนน 80-100 คะแนนว่าจะมีนักเรียนทำคะแนนในช่วงดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจากการสอบครั้งแรกหรือไม่ ซึ่งข้อมูลนี้น่าจะวิเคราะห์ได้ดีกว่า ส่วนตัวคิดว่าจำนวนนักเรียนที่ทำคะแนนในช่วง 80-100 คะแนน น่าจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นกว่าการสอบครั้งแรก ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่านักเรียนได้เรียนรู้และคุ้นเคยกับข้อสอบลักษณะนี้มากขึ้น แต่คงไม่ใช่ด้วยเหตุผลของความยากง่ายของข้อสอบ เพราะเรื่องนี้ สทศ.ยังคงรักษาระดับความยากง่ายไว้ในการสอบทุกครั้ง นางอุทุมพรกล่าวว่า ทั้งนี้ หลังวิเคราะห์ช่วงคะแนนสอบของทุกวิชาเสร็จเรียบร้อยแล้ว สทศ.จะนำเสนอต่อ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ในฐานะกำกับดูแล สทศ. รวมถึงนำเสนอผู้ออกข้อสอบ เพื่อจะได้พิจารณาวิเคราะห์กันต่อไป เพราะตอนนี้นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาติงว่าข้อสอบ GAT 2 ภาษาอังกฤษ ยากเกินไป แม้นำไปให้อาจารย์ในสถาบันภาษา จุฬาฯ ทดสอบ ก็ยังเห็นว่ายากเกินไปสำหรับเด็ก ซึ่งยืนยันว่าข้อสอบ GAT และ PAT ไม่ยาก เพราะถ้ายาก แปลว่าต้องออกนอกเหนือจากหลักสูตรการเรียนการสอน แต่เรายืนยันข้อสอบดังกล่าว ออกตามเนื้อหาหลักสูตรฯ เพียงแต่อาจซับซ้อนเพราะเราต้องการให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักวิชาการติงว่ายากเกินไป จะลองวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบให้สังคมและยินดีปรับปรุงถ้าผลออกมาว่ายากจริง "ตั้งแต่การจัดสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 1 เดือนมีนาคม ของปี 2553 เป็นต้นไป สทศ.จะเริ่มปรับปรุงข้อสอบโดยจะเพิ่มข้อสอบลักษณะให้อ่านเรื่อง สรุปผล และเติมตัวเลขเข้ามา จากเดิมที่มีเพียง Multiple-choice หรือมีคำตอบหลายคำตอบให้เลือก ทั้งนี้การเพิ่มข้อสอบดังกล่าวเข้ามา ก็เพื่อกำจัดจุดอ่อนของข้อสอบ Multiple-choice ที่พบว่าเด็กสามารถคาดเดาได้ถูก 25% แต่การเพิ่มข้อสอบในลักษณะอ่านสรุปเรื่อง จะทำให้เด็กเดายากมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลสอบสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น"

นางอุทุมพรกล่าว ด้านนายสมพงษ์กล่าวว่า พูดคุยกับเพื่อนอาจารย์สถาบันภาษา จุฬาฯ ที่ได้นำข้อสอบ GAT 2 ภาษาอังกฤษ ไปลองทำดู พบว่ามีความยากมาก และจากการพูดคุยกับเด็กที่เข้าสอบ บอกว่าต้องนั่งอ่านข้อสอบถึงครึ่งชั่วโมงจึงจะเข้าใจและเริ่มทำข้อสอบได้ นอกจากนี้ผลคะแนนสอบ GAT 2 ภาษาอังกฤษ มีเด็กทำคะแนนได้ศูนย์คะแนนถึง 8,000 กว่าคน ดังนั้นย่อมสะท้อนถึงอะไรบางอย่างที่ สทศ.ควรต้องกลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่าเด็กเรียนภาษาอังกฤษมา 12 ปีแต่ทำข้อสอบไม่ได้เลยนั้น เครื่องมือวัดมีปัญหาอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะแนววิธีการวัดผลในวิชา GAT 2 ภาษาอังกฤษที่ตอบผิดแล้วติดลบนั้น ควรยกเลิกได้แล้ว เพราะทำให้เด็กไม่กล้าตอบ ซึ่งการทำข้อสอบ ก็ต้องมีการเสี่ยงเดากันบ้าง เป็นธรรมดา

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ นักวิชาการชี้ข้อสอบ GAT-PATยากเกินไป

นักวิชาการชี้ข้อสอบ GAT-PATยากเกินไป
นักวิชาการชี้ข้อสอบ GAT-PATยากเกินไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook