วิธีวางแผนภาษี สำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงาน

วิธีวางแผนภาษี สำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงาน

วิธีวางแผนภาษี สำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“การวางแผนภาษี” คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ในฐานะพลเมืองดีและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ และยิ่งถ้าเราวางแผนภาษีได้เป็นอย่างดี เงินที่ประหยัดได้นี้ ก็สามารถนำไปต่อยอดให้ออกดอกออกผล สร้างเงินกลับมาให้เราได้อีกต่อหนึ่งด้วย

ดังนั้น การวางแผนภาษีที่ดีจึงควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจรายละเอียดเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า

1. รู้ประเภทและค่าใช้จ่าย…ของเงินได้พึงประเมิน

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นภาษีทางตรงที่บุคคลธรรมดาอย่างเราต้องเสีย โดยโครงสร้างในการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะคำนวณดังนี้

เมื่ออัตราภาษีต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การวางแผนภาษีจึงเป็นการวิเคราะห์ “เงินได้สุทธิ” เพื่อวางแผนจัดสรรเงินค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาค ตามที่กฎหมายสนับสนุนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะยิ่งใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมาก เงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณภาษียิ่งลดลง ก็ทำให้เสียภาษีน้อยลงนั่นเอง

รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมีอยู่ 8 ประเภท โดยแบ่งตามอาชีพและต้นทุนในการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน เพื่อความเป็นธรรมในการคำนวณและจ่ายภาษีมากที่สุด แต่ก็มีหลายกรณีที่เงินได้ของบุคคลอาจถูกจัดว่าเป็นเงินได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะสัญญาการจ้างงานหรือข้อตกลงทางธุรกิจ เราจึงควรทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการจำแนกประเภทของเงินได้ เพื่อให้เกิดการหักค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

2. รู้ค่าลดหย่อน เพื่อลดภาษี

การวางแผนเรื่องค่าลดหย่อนได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้รายได้สุทธิลดลงและเสียภาษีน้อยลง โดยสิทธิลดหย่อนแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • สิทธิลดหย่อนขั้นพื้นฐานของชีวิต เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าดูแลพ่อแม่และบุตร เป็นต้น
  • สิทธิลดหย่อนเพื่อการออมและลงทุน เพื่อช่วยประหยัดภาษีและวางแผนเกษียณไปด้วยผ่านกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กอง
    ทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันชีวิต เป็นต้น
  • สิทธิลดหย่อนเพื่อการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลหรือสนับสนุนการศึกษา

3. รู้วิธีคำนวณภาษี

หลังจากที่นำรายได้ทั้งปี มาหักค่าใช้จ่ายตามประเภทรายได้ และหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว จากนั้นเราจะนำเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษีในอัตราก้าวหน้า นำเงินเดือนของปีที่ผ่านมาและโบนัสที่ได้รับ มาคำนวณดูว่ารายได้เราทั้งปีเป็นเท่าไร จากนั้นหักออกด้วยค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน และนำยอดที่เหลือไปเปรียบเทียบในตารางอัตราฐานภาษี สูตรการคำนวณหาภาษีที่ต้องชำระ = [(เงินได้สุทธิของตนเอง – เงินได้สุทธิที่มากที่สุดของลำดับขั้นก่อนหน้า) X อัตราภาษี (%)] + ภาษีสะสมสูงสุดของลำดับขั้นก่อนหน้า

4. รู้ช่องทางยื่นภาษี

เมื่อลองคำนวณแล้วพบว่าอาจได้รับเงินคืนภาษี เราก็ต้องกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วนและลงลายมือชื่อผู้ขอคืนอย่างชัดเจน ที่สำคัญก่อนยื่นแบบแสดงรายการอย่าลืมตรวจทานรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมทั้งเตรียมเอกสารที่ต้องแนบเป็นหลักฐานให้เรียบร้อยก่อน

ทางที่ดี…ควรรีบยื่นแบบแสดงรายการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งจะทำให้ได้เงินคืนภาษีเร็ว เพราะเป็นช่วงที่คนยื่นน้อย แต่ถ้าไม่มีเงินคืนภาษี จะยื่นเร็วหรือช้าก็ไม่มีผลอะไร ที่แน่ ๆ คือ อย่าถ่วงเวลาจนเลยช่วงยื่นแบบแสดงรายการ (เดือนมีนาคม) ถ้าเกินกว่านั้น แทนที่เราจะประหยัด กลับต้องจ่ายค่าปรับถึง 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook