โลกจอมปลอมในโซเชียลมีเดีย กับมิจฉาชีพที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น

โลกจอมปลอมในโซเชียลมีเดีย กับมิจฉาชีพที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น

โลกจอมปลอมในโซเชียลมีเดีย กับมิจฉาชีพที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ มีคนไม่น้อยกว่า 4.74 พันล้านคน ที่ต่างก็ใช้ชีวิตอยู่บนโลกสองใบ โลกใบแรกคือโลกจริง โลกที่เรามีชีวิตกันอยู่จริง ๆ กิจวัตรประจำวันทุกอย่างเกิดขึ้นบนโลกใบนี้! ส่วนโลกอีกใบคือโลกเสมือน โลกที่รู้จักกันดีในอีกชื่อว่า “โซเชียลมีเดีย” โลกที่เราจะเป็นของตัวเองก็ได้ (คนจำนวนไม่น้อยเป็นตัวของตัวเองแบบสุดโต่งในโลกโซเชียลมีเดีย) หรือจะพยายามเป็นคนอื่นและเป็นใครก็ได้ เพราะมันมีวิธีการมากมายที่เราจะอยู่บนโลกเสมือนได้โดยที่ไม่มีใครมารับรู้ตัวตนที่แท้จริงของเรา อย่างน้อย ๆ ก็กับคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป ที่คงไม่มีวิธีจะหาว่าใครเป็นใครในโซเชียลมีเดีย

สำหรับโลกเสมือนที่เรียกว่า “โซเชียลมีเดีย” นั้น เป็นโลกที่เราต่างก็รู้กันดีว่ามันมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในแต่ละวัน เรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ถูกบ้าง บิดเบือนบ้าง มีทั้งเชื่อได้และเชื่อไม่ได้ นั่นเป็นเพราะโซเชียลมีเดียเป็นโลกของการสื่อสารแบบออนไลน์ที่ใคร ๆ จะสร้างเรื่องอะไรขึ้นมาก็ได้ จะเขียนบทให้เป็นไปอย่างไรก็ได้ ขอเพียงแค่มีเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้กับสัญญาณอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ก็เพียงพอแล้วที่จะให้คนกว่า 4.74 พันล้านคนได้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ตนเองได้พบเห็นมา หรือจะปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาจนเป็นที่ฮือฮาชั่วข้ามคืนก็ย่อมได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่เป็นจริงเสมอในโลกโซเชียลมีเดีย นั่นก็คือ “สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น”เพราะสิ่งที่เราเห็นหรือรับรู้บนโซเชียลมีเดียมันอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป คนดังหลาย ๆ คนในโลกออนไลน์ที่เราคิดว่าเรารู้จักเขาดี จริง ๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้มีตัวตนหรือธาตุแท้อย่างที่เขาสื่อสารออกมาให้เราเห็นผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมทุกวันก็เป็นได้ หรือไม่ต้องไปสังเกตอื่นไกล มองที่ตัวเรานี่แหละ! ตัวตนของใครหลาย ๆ คนบนโลกจริงก็ดูแตกต่างอย่างมากกับตัวตนในโลกโซเชียลมีเดีย ชีวิตประจำวันเราอาจจะเจอแต่เรื่องชวนหดหู่ เราเศร้า เรามีปัญหารุมเร้า แต่ว่าในโลกโซเชียล ชีวิตเรากลับมีแต่รอยยิ้มและความสำเร็จ ก็นะ! ในเมื่อโลกจริงมันเป็นแบบนั้นไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้ได้สนุกกับภาพลวงตาในโลกโซเชียลบ้างก็ยังดี

ภาพหนึ่งภาพที่เรากดชัตเตอร์แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย คือภาพที่เก็บจากเสี้ยววินาทีจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง หรือต่อให้มีภาพเป็นร้อยเป็นพันในอัลบั้ม มันก็ร้อยเรียงออกมาเป็นเพียงไม่กี่นาทีของหลาย ๆ ปีในชีวิตจริง ที่สำคัญที่สุด มันยังเป็นภาพที่สามารถปรุงแต่งได้ทุกอย่าง อยากให้ใครเห็นอะไรก็แค่ไปหา “อุปกรณ์ประกอบฉาก” นั้น ๆ มาใส่เข้าไป รถหรูเหรอ ซื้อผ่อนแบบบอลลูนได้ เงินสดเป็นฟ่อน ๆ เหรอ หาเช่าได้ ของแบรนด์เนมต่าง ๆ ก็มีให้เช่าใช้เยอะแยะ หรือถ้าไม่อยากให้ใครรู้ว่าเรากำลังล้มเหลว ก็แค่เช็ดน้ำตาแล้วฉีกยิ้มกว้าง ๆ เพิ่มแคปชันเด็ดแสดงให้เห็นถึงความสุขเต็มเปี่ยม เท่านี้ใครต่อใครก็จะได้รับรู้ “เรื่องหลอกลวง” ที่เราสร้างขึ้นมาได้แล้วล่ะ!

นั่นทำให้คนจำนวนมากต่างก็พยายามแอ็กทิฟกับตัวตนของตัวเองบนโลกเสมือน ยอมสละเวลามหาศาลบนโลกจริงเพื่อสร้างภาพบางอย่างขึ้นมา “อวด” คนอื่น ๆ ในโลกเสมือน ซึ่งจริง ๆ แล้ว คนแต่ละคนมีวัตถุประสงค์ในการใช้โซเชียลมีเดียแตกต่างกัน แต่รู้ไหมว่าจุดเริ่มต้นของการ “อวด” มันสามารถนำพาเราไปได้ไกลแค่ไหน ที่แน่ ๆ คือมันบดบังความจริงที่ว่า ภาพความสมบูรณ์แบบที่เห็นบนโซเชียลมีเดีย เป็นส่วนที่ “ถูกเลือกแล้ว” ว่าเป็นส่วนที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่จะให้คนอื่นได้เห็น

โลกของคนขี้อวดที่หวังให้คนอื่น ๆ รู้สึกอิจฉา

การอวดนั้นอยู่คู่กับมนุษย์มานานแล้ว อันที่จริงมันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์สังคมที่ฝังลึกมาตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์แล้วด้วยซ้ำ มนุษย์เรามีความสุขที่จะแสดงให้คนอื่นได้เห็นถึงสถานะที่ดีผ่านสิ่งต่าง ๆ ที่มีมูลค่า สมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เราก็มีรูปแบบการอวดนั่นอวดนี่แตกต่างออกไป แต่เมื่อโซเชียลมีเดียถือกำเนิดขึ้นมา ทำให้เกิดการสื่อสารแบบไร้พรมแดนที่สะดวกและรวดเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก แถมยังเน้นสื่อสารแบบทางเดียว ที่ใครต่อใครผ่านมาเห็นเข้าก็กลายเป็นผู้รับสารได้หมด ผู้ส่งสารจึงไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากในการจะสื่อสารอะไรบางอย่างไปสู่สังคม แค่โพสต์ภาพ ภาพเดียวแล้วเปิดสาธารณะ ผู้คนจากทุกมุมโลกก็เข้าถึงได้ และรับสารที่เราต้องการสื่อสารได้เลยในทันที ที่สำคัญ แค่โพสต์เดียวก็อยู่ไปได้นานแสนนาน มีคนเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การโพสต์ภาพจึงกลายเป็นการสื่อสารประเภทหนึ่งในโลกโซเชียลมีเดีย ที่ใช้บอกเล่าสถานภาพและปริมาณความสุขให้สังคมรับรู้ และโดยส่วนมาก “การอวด” คือการแสดงให้เห็นว่าตัวเองดีกว่าผู้อื่น สร้างภาพของความน่าเชื่อถือ จึงคู่ควรที่จะได้รับความเชื่อใจ มันจึงสอดคล้องกับเรื่องของการให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และตัวตนบนโลกออนไลน์ อะไรก็ตามที่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย จะถูกคิดอยู่บนพื้นฐานที่ว่าต้อง “ทำให้คนอื่นสนใจ” ไม่ว่าจะสนใจแบบเสียงชื่นชมยินดีหรือสนใจแบบลานจอดรถทัวร์ที่มีแต่คนสรรเสริญก็ตาม แล้วได้รับฟีดแบ็กกลับมาเป็นยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือคอมเมนต์ ยิ่งดังหรือกลายเป็นไวรัลยิ่งดี เพียงเท่านี้ก็รู้สึกประสบความสำเร็จได้แล้ว

ฉะนั้น “การอวด” จึงไม่ใช่พฤติกรรมแปลกใหม่ที่พึ่งจะเกิดขึ้นมาในยุคโซเชียลมีเดียนี่หรอก เราอวดนั่นอวดนี่กับคนอื่นเพื่อให้เขารู้ว่าเรามีดีกว่ากันมานานแล้ว มันจึงเป็นอุปนิสัยโดยธรรมชาติของสัตว์สังคม แต่หลัง ๆ มา พฤติกรรมรักการอวดนั้นถูกแทรกเข้าไปด้วยวัตถุประสงค์อะไรอีกหลายอย่าง ที่พอจะคาดเดาได้ก็คือ เพื่อให้คนอื่นรู้สึกอิจฉา และอยากจะรู้เคล็ดลับของการประสบความสำเร็จจนมีดีให้อวดขนาดนี้นั่นเอง แต่มันก็จะมีคนขี้อิจฉาบางประเภทที่เห็นใครได้ดีกว่าไม่ได้ และมีความสุขกับการตามค่อนแคะ ตามแซะ ตามจิกคนอื่นที่มีดีกว่าตัวเอง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่มันจะเกิดขึ้นบนโลกเสมือนที่เราอาจไม่รู้ตัวตนจริง ๆ ของกันและกันนี้

จะเห็นว่าโซเชียลมีเดียนี้เอื้อประโยชน์ให้ผู้คนหนีชีวิตจากโลกแห่งความจริงเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเส้นแบ่ง “ความมี” กับ “ความไม่มี” ที่ชัดเจนมากจนนำไปยึดถือกันในโลกความจริง จึงไม่แปลกเลยที่เรามักจะพบเห็นผู้คนประเภท “แบรนด์เนมทั้งตัว แต่หนี้ท่วมหัว” อันเกิดจากการอวดความมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทองจากการกู้หนี้ยืมสินจนกลายเป็นคนหนี้รุงรัง เพียงเพราะต้องการแสดงออกถึงความมั่งมี ความสวยงาม ความพอใจชั่วครู่ยาม บนโลกเสมือน ซึ่งถ้าให้พูดตามความจริงก็คือ สิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความจริงสำหรับคนบางคน

หนทางของไลฟ์โค้ช อินฟลูเอนเซอร์ และมิจฉาชีพออนไลน์ บนภาพจอมปลอมที่สร้างขึ้น

เมื่อสถานภาพทางสังคมและปริมาณความสุขที่เราใช้อวดใครต่อใครได้ และกลายเป็นวิธีสื่อสารให้คนอื่น ๆ รู้ว่าเรายืนอยู่ในจุดสูงกว่าคนอื่น ๆ ในสังคมที่ไม่มีแบบเรา เกิดเป็นข้อแตกต่างที่ทำให้มนุษย์นำมาเปรียบเทียบและตัดสินว่าตัวเองยืนอยู่ในจุดที่ดีหรือจุดที่ตกต่ำ เมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ ในสังคมเดียวกัน นั่นเป็นผลให้คนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาสุขภาพจิตจากการเสพชีวิตดี ๆ ของคนอื่นมาก ๆ ในโซเชียลมีเดียแล้วเอาตัวเองไปเปรียบเทียบ ทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จ และทำไมฉันถึงยังตกต่ำอยู่ตรงนี้ หลายคนกลัวเหลือเกินว่าตัวเองจะเป็นเพียงคนเดียวที่ล้มเหลว เป็นคนเดียวที่อยู่ในจุดต่ำสุดของสังคม ในขณะที่ใครต่อใครก็พากันได้ดีแซงหน้าไปหมดแล้ว

ในขณะเดียวกัน ในโซเชียลมีเดีย เรามักจะพบกับเรื่องเล่าในทำนองที่ว่า “ชีวิตเปลี่ยน-เปลี่ยนชีวิต-พลิกชีวิต” อยู่เสมอ ซึ่งก็อยู่ที่ว่าเจ้าของเรื่องราวจะสร้างภาพและสถาปนาตัวเองขึ้นมาอย่างไร ส่วนใหญ่มักจะมีคำอ้างว่าเป็นประสบการณ์ของตนเอง ประมาณว่ากว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รู้ไหมว่าไม่เห็นจำเป็นต้องเรียนจบปริญญาตรี (หรือไม่ต้องเรียนจบสูง ๆ) ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ทำธุรกิจนั่นนี่จนมีเงินหลักหลายล้านซื้อคฤหาสน์ ซื้อรถหรู ซื้อของแบรนด์เนม กินหรูอยู่แพงได้ ทั้งที่เมื่อก่อนเคยลำบากมาก่อน จนกระทั่งพบทางสว่างจึงเปลี่ยนมารวยได้แบบทุกวันนี้ กลายเป็นเรื่องเล่าชั้นดีที่กล่อมผู้คนได้มากมาย โดยที่หลายคนลืมคิดไปว่าภาพแบบนั้นมันสร้างขึ้นได้ไม่ยาก

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาสำหรับคนกลุ่มนี้ที่ยังไม่โป๊ะแตก ก็จะใช้โอกาสจากการเป็นคนดังชั่วข้ามคืนในสังคมที่ให้ค่าคนที่ประสบความสำเร็จแบบ “อายุน้อยร้อยล้าน” ยกระดับตัวเองขึ้นมา เริ่มมีตัวตนและเป็นคนสำคัญในสังคมมากขึ้น อย่างการไปออกสื่อ เป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือเป็นแขกรับเชิญในงานอีเวนต์ต่าง ๆ เริ่มมีแบรนด์นั้นแบรนด์นี้จ้างให้เป็นอินฟลูเอนเซอร์สินค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงมากกว่าไปโฆษณาผ่านสื่อมวลชนแบบเดิม ๆ รวมถึงขยันสร้างเรื่องดราม่า แสดงความคิดเห็นนั่นนี่เรียกกระแสหรือพยายามจะเป็นข่าว เพื่อให้ตนเองได้รับความสนใจเสมอ ๆ จะได้ไม่ถูกลืม และไม่หายหน้าไปจากสื่อต่าง ๆ

ลองสังเกตดูก็ได้ ก่อนที่จะมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ดัง ๆ หรืออินฟลูเอนเซอร์ผู้ทรงอิทธิพลของวงการ แต่ละคนล้วนผันตัวมาจากการเป็นคนดังเพียงชั่วข้ามคืนบนโลกออนไลน์กันเกือบทั้งนั้น มันจะเป็นลำดับขั้นไป

หลังจากที่สร้างภาพความน่าเชื่อถือให้กับตนเองมาพอสมควรแล้วจากการสร้างภาพให้ดีเกินจริง ก็ถึงเวลาที่คนเหล่านี้จะกลายเป็นไลฟ์โค้ชที่เบื้องหลังชักชวนคนไปลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่บ้าง หลอกขายคอร์สสร้างความรวยบ้าง หรือกลายเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ดัง ๆ ที่สร้างแบรนด์นั้นแบรนด์นี้เป็นของตัวเอง แต่จริง ๆ ก็ไปก๊อปหรือของปลอมเกรดพรีเมียม หรือแม้กระทั่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เชิญชวนเล่นการพนัน ถึงอย่างนั้นก็ยังจะมีเหล่าแฟนคลับคอยตามสนับสนุน ในท้ายที่สุด ก็ผันตัวไปเป็นมิจฉาชีพออนไลน์ ใช้โปรไฟล์ที่ดูน่าเชื่อถือ ไปหลอกใช้ความเชื่อใจของคนอื่นชักชวนทำนั่นทำนี่ ฉ้อโกงประชาชนจนคนอื่นจนเจ๊งตามกันเป็นแถบ แต่จะมีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้นที่รวยขึ้น

ไม่ใช่ว่าคนที่ร่ำรวยขึ้นมาแบบพลิกชีวิต ประสบผลสำเร็จทั้งที่เรียนไม่จบ และใช้ทักษะและความสามารถที่ตัวเองมีหารายได้โดยสุจริตและเปิดเผยตัวตนชัดเจนจะไม่มีอยู่จริง คนแบบนั้นก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีด้วย แต่ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นว่าการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ หรือในโซเชียลมีเดียมักมีการสร้างภาพให้ดีเกินจริงเสียมากกว่า วันดีคืนดีก็ร่ำรวยขึ้นมาแบบไม่รู้ที่มาที่ไปของเส้นทางการเงิน หรือการสร้างภาพจอมปลอมด้วยการแต่งตัวแบบ “ทรงเอ-ทรงซ้อ พ่อ-แม่น้องออนิว” ทำให้คนโลภหวังรวยทางลัด รวยแบบไม่ต้องพยายามมาก โดยไม่เห็นสิ่งที่แอบแฝงมากับเรื่องเล่าพวกนั้นเลยว่าจริง ๆ แล้วมันดูไม่น่าเชื่อถือแค่ไหน

คนที่หลงเชื่อความสุขแบบฉาบฉวย อยากรวย อยากเป็นเซเลบตามคนอื่นมีอยู่จริง

ไม่นานมานี้ มีซีรีส์เกาหลีเรื่องหนึ่งจาก Netflix ที่เป็นกระแสอย่างมากในเมืองไทย คือเรื่อง Celebrity ด้วยมีเนื้อหาที่ยังสดใหม่กับยุคสมัยปัจจุบัน แม้ว่าตัวซีรีส์จะเริ่มต้นถ่ายทำตั้งแต่ปลายปี 2021 ซึ่งบทก็ต้องเขียนก่อนหน้านั้นอีก เป็นซีรีส์ที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในวงการของคนที่จะขยับตัวเองให้ก้าวขึ้นมาเป็น “เซเลบ” นั้น ล้วนแล้วแต่ใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียที่พุ่งแรงเป็นเครื่องมือในการสร้าง “สูตรโกง” เริ่มแรกอาจจะยังไม่เท่าไร แต่พอถลำลงไปลึกขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้หลงใหลในสิ่งที่จะได้รับกลับมามากขึ้นตามไปด้วย อยากจะเด่น อยากจะดัง มากกว่าคนอื่นยิ่งดี

เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จัก เราจะเริ่มให้ความสำคัญกับจำนวนตัวเลขมากขึ้น สนใจยอดผู้ติดตาม ยอดไลก์ ยอดแชร์ จำนวนคอมเมนต์ จำนวนกองอวย เพราะมันสามารถผลักดันให้เราเป็นคนสำคัญในสังคมสมัยใหม่ การมีหน้าตา มีตัวตน และมีชื่อเสียงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรา “แจ้งเกิด” เป็น somebody ขึ้นมาในหมู่ nobody ชีวิตเราจะเปลี่ยนไป และมันจะยิ่งน่าตื่นเต้น หากเราไปได้ไกลกว่า somebody ด้วยกัน มันจะทำให้เราได้เป็นคนที่อยู่บนจุดสูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร กลายเป็นคนดูน่าเชื่อถือ ทีนี้จะขยับตัวทำอะไรก็ไม่ใช่เรื่องยาก มันเลยทำให้ใครต่อใครอยากจะเป็นคนดัง คนมีชื่อเสียง และคนมีเงิน เหมือนคนอื่น ๆ เขาบ้าง

คนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นคนอีกกลุ่มที่โชว์ไลฟ์สไตล์หรูหราเพื่อให้ดูว่าตนเองเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้แบรนด์เนม ขับรถหรู นั่งเครื่องบินส่วนตัว เที่ยวต่างประเทศ พักห้องสวีต พูลวิลล่า หรือบ้างก็โชว์เงินให้เห็นเป็นฟ่อน ๆ ภาพลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าการหาเงินจำนวนมากมาปรนเปรอตัวเองได้ขนาดนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ดูมีสิทธิพิเศษต่าง ๆ มากกว่าคนอื่น ทำให้คนสงสัยและอิจฉาว่าทำมาหากินอะไรกันนะถึงได้รวยขนาดนี้ โดยที่คนธรรมดาทั่ว ๆ ไปหารู้ไม่ว่าจำนวนมากในนั้นเป็นพวกสร้างภาพ ที่พยายามสร้างโปรไฟล์ของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เพื่อสร้างเครือข่าย หรือเหล่านายหน้าหาเงินต่อสายในแชร์ลูกโซ่ ให้ผู้คนหลงเชื่อเข้ามาติดกับมากกว่า

ภายใต้ลุคสุดหรู และไลฟ์สไตล์สุดเลิศของเหล่าไฮโซเก๊หรือบรรดาเซเลบวอนนาบี แท้จริงแล้วอาจเป็นนักธุรกิจขายตรง หรือมิจฉาชีพหลอกลวงให้ไปร่วมเงินลงทุน เอามาขายฝันหลอกลูกข่ายให้เข้าก๊วนก็เป็นได้ ซึ่งภาพของคนรวยคนมีชื่อเสียงในแวดวงสังคม มันคือการสร้างความน่าเชื่อถือ ชวนให้เรารู้สึกว่าไว้ใจได้ว่าคนรวยขนาดนั้นจะมาหลอกลวงคนอื่นไปเพื่ออะไร ด้วยการแต่งตัวและใช้ของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ต้องเน้นแบรนด์เนมดังตั้งแต่หัวจดเท้าอยู่บ้านหรู ขับรถหรู มีเงินเป็นฟ่อน ทองแท่งเป็นกอง บอกเลยว่าภาพทั้งหมดที่เห็นมันสร้างกันได้ไม่ยาก มีบริการมากมายที่พร้อมจะช่วยให้เราสร้างภาพว่ารวยได้ลงทุนใช้เงินเพียงหลักพัน ก็สามารถสร้างลุคราคาหลายล้านให้กับเราได้แล้ว

ใคร ๆ ก็อยากรวยอันนี้ว่าไม่ได้ แต่อย่าโลภมาก หวังรวยเร็ว รวยทางลัดกันจนถึงขั้นไม่ฉุกคิดให้ได้ว่ามันจะมีใครบ้างที่อยากจะมาช่วยทำให้คนอื่นรวยตามได้แบบชั่วข้ามคืน หากมองตามความเป็นจริง จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ทั้งน่ากลัวและน่าเศร้าสลดใจ เพราะไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อไรที่คนเราสามารถเชื่อเรื่องแบบนี้ได้แบบหมดจิตหมดใจ พร้อมรับความเสี่ยงแบบเทหมดหน้าตักได้ขนาดนั้น จนหลงกลยอมร่วมลงทุนลงเงินด้วย หลายต่อหลายคนตกเป็นเหยื่อเพียงเพราะเห็นภาพไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา แต่จริง ๆ แล้วคือการจัดฉาก หรือไม่ก็รวยจริงนั่นแหละ แต่เงินเหล่านั้นมาจากการหลอกลวงคนอื่นมาอีกทีนั่นเอง

ในท้ายที่สุด สิ่งที่ต้องตอกย้ำกันอยู่เสมอกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียก็คือ ต้องระมัดระวังการเสพข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้มาก อย่าให้ภาพรถราบ้านช่อง เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือไลฟ์สไตล์เลิศหรูในโซเชียลมีเดียของใครสักคนที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาให้คนเชื่อว่าเขาเป็นแบบนั้นจริง ๆ มากระตุ้นความอยากได้ อยากมี อยากรวยของเราจนขาดสติ และดูไม่ออกว่ามันเป็น “เปลือก” ที่ห่อหุ้ม “มิจฉาชีพ” ให้ดูเป็นคนร่ำรวย เพื่อที่จะได้ทำอะไรดูน่าเชื่อถือ เพราะการหลอกลวงต้มตุ๋นกันในโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ นับวันจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ และคนที่เป็นมิจฉาชีพก็ดูจะใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย คดีทางการเงินมีมากมายให้เรียนรู้เป็นอุทาหรณ์เพื่อไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อเสียเอง ก็จงเรียนรู้มัน!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook