5 สำนวนเตือนใจเกี่ยวกับการพูด มีปากอย่าสักแต่พูดคิดก่อนบ้าง

5 สำนวนเตือนใจเกี่ยวกับการพูด มีปากอย่าสักแต่พูดคิดก่อนบ้าง

5 สำนวนเตือนใจเกี่ยวกับการพูด มีปากอย่าสักแต่พูดคิดก่อนบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนวน สุภาษิต และคำพังเพยนั้น เป็นถ้อยคำที่มีความหมายคล้าย ๆ กัน โดยทั่วไปมักเป็นถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว โดยมีความหมายเป็นคติที่ใช้สอนใจ เตือนสติ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความหมายไม่ตรงตามตัว มีความหมายอื่นแฝงอยู่ หรือเป็นการเปรียบเทียบก็มี ในภาษาไทยมีถ้อยคำเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการใช้ภาษามาเรียบเรียง เปรียบเทียบอย่างสละสลวย เพื่อใช้ในการสอน เตือนใจในชีวิตประจำวัน และเราก็มักจะยกขึ้นมา
ใช้กันบ่อย ๆ ไป

เรื่องของ “การพูด” เป็นเรื่องที่มักจะมีการเตือนสติ บอกสอนกันอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะการพูดที่ไม่คิด นำพาชีวิตไปสู่หายนะ ดังที่เราจะเห็นกรณีต่าง ๆ เกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน การพูดเพียงเพราะอยากพูด อยากแสดงความคิดเห็น โดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี ๆ สุดท้ายก็เดือดร้อนเพราะสิ่งที่ตัวเองพูด อยากจะย้อนเวลาไปแก้ไข้ก็ทำไม่ได้ ทำได้แต่นึกเสียดายว่า “น่าจะอยู่เงียบ ๆ ไม่น่าปากอยู่ไม่สุข แกว่งปากไปหาเสี้ยนเองเลย” ดังนั้น Tonkit360 จึงจะขอยกสำนวน สุภาษิต คำพังเพยที่ให้ข้อคิดเตือนใจเกี่ยวกับการพูดมาระงับความอยากพูดไว้สักหน่อย ถ้าพูดแล้วไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์จะดีหรือไม่ดี ก็อย่าได้พูดเลย

ปลาหมอตายเพราะปาก

สำนวนแรก ๆ ที่ใช้เตือนเกี่ยวกับการพูดที่เรามักจะนึกถึง น่าจะเป็นสำนวน “ปลาหมอตายเพราะปาก” ซึ่งความหมายก็ตรงตัวไม่ได้เดายาก หลาย ๆ คนก็อาจจะทราบดีอยู่แล้ว ว่าหมายถึง “คนที่พูดพล่อย ๆ จนตัวเองได้รับอันตราย” โดยการพูดพล่อย ๆ ก็คือการที่คิดจะพูดก็พูดเลย พูดง่าย ๆ แบบไม่ผ่านการกระบวนการคิด ไม่ผ่านการตริตรองว่าอะไรควรพูดหรือไม่ควรพูด ซึ่งถ้าพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด สุดท้ายหายนะก็จะมาเยือนถึงที่ เหมือนรถทัวร์ไปจอดตามโพสต์หรือคอมเมนต์นั่นเอง สุดท้ายกระแสตีกลับ ที่มาของสำนวนมาจากพฤติกรรมตามธรรมชาติของปลาหมอที่ต้องใช้ปากในการหายใจ เมื่อโผล่ปากขึ้นมาก็จะทำให้พวกนกกาหรือคนหาปลาเห็นเข้า เลยโดนโฉบไปกินหรือโดนจับไปง่าย ๆ

ปากไม่มีหูรูด

ปกติแล้ว “หูรูด” ตามพจนานุกรมนั้น หมายถึงปากช่องทวารหนักที่กล้ามเนื้อรัดตัวเข้ามาคล้ายปากถุงที่รูด สำหรับคนที่หูรูดไม่ดี ก็จะมีปัญหาในการกลั้นอุจจาระ ซึ่งปกติแล้วจะเป็นปัญหาของคนผู้สูงอายุ ทว่าเมื่อหูรูดถูกนำมาใช้ในกับอวัยวะอย่าง “ปาก” ในสำนวนที่ว่า “ปากไม่มีหูรูด” แล้วล่ะก็ ก็จะนำมาใช้เปรียบเทียบ เรียกพวกที่ชอบพูดพล่าม พูดพล่อย หรือพูดโดยไม่ยั้งคิดเสียก่อนว่าอะไรควรพูดหรือไม่ควรพูด อนุมานได้ง่าย ๆ ว่า ปากที่ไม่มีหูรูดเป็นตัวควบคุมให้คิดให้มาก ๆ ก่อนที่จะพูด ปากนั้นก็จะพรั่งพรูแต่คำพูดที่ไม่ควรพูด คำพูดที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองจากสมองออกมา เปรียบได้กับปากที่หลั่งไหลเอาแต่ของเสียออกมาออกมาไม่หยุดไม่หย่อนเพราะกลั้นไม่ได้

ปั้นน้ำเป็นตัว

“ปั้นน้ำเป็นตัว” สำนวนสำหรับพวกชอบอยากได้ซีน หิวแสง เรียกร้องความสนใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหาทำอะไรที่มีประโยชน์หรือมีสาระเพื่อให้แสงสาดส่องมาที่ตัวเองดี ก็เลย “สร้างเรื่องเท็จ” พยายามทำให้เห็นเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา หรือที่สมัยนี้เราเรียกว่า พวกสร้างคอนเทนต์นั่นเอง บางคนอาการหนักถึงขั้นที่มโนเป็นตุเป็นตะเริ่มแยกเรื่องจริงเรื่องเท็จไม่ออก คนอื่นเขามองมาจากดาวอังคารยังดูออก นี่ก็ยังคงแถข้าง ๆ คู ๆ ต่อไป คนพวกนี้มีส่วนทำให้คำว่า “คอนเทนต์” กลายเป็นคำที่มีความหมายในแง่ลบไปโดยปริยาย มันมาจากการที่คนเห็นพิรุธจนจับโป๊ะได้ สังคมก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า “คอนเทนต์หรือเปล่าเนี่ย” ทั้งที่จริง ๆ แล้ว คอนเทนต์มีความหมายแค่เนื้อหาเท่านั้นเอง

พูดดีเป็นศรีแก่ปาก

จริง ๆ แล้วเราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากจะมีสี” มากกว่า อย่างไรก็ดีคำที่เราคุ้นเคยกลับไม่มีอยู่ในพจนานุกรม จะมีก็เพียง “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก” เท่านั้น สำหรับความหมายก็ตรงตัวเลย ว่าการพูดดีก็จะเป็นที่นิยมชมชอบของผู้อื่น ในทางกลับกัน ถ้าเป็นคนปากมาก ชอบที่พูดมาก ๆ พูดไม่เข้าหูคนอื่น หรือชอบไปหาพูดพาดพิงถึงคนอื่นเสีย ๆ หาย ๆ อยู่ดีไม่ว่า ต้องแกว่งปากไปหาเสี้ยนใส่ตัวด้วยอีกเนี่ย ก็อาจจะมีอะไรสักอย่างที่ลอยมาจากไหนที่ไกล ๆ กระแทกปากจนเลือดกบโดยไม่รู้ตัวก็ได้ นี่จึงเป็นอีกสำนวนที่ช่วยเตือนใจเรื่องการพูดของคนยุคนี้สมัยนี้ได้ดีทีเดียว การพูดที่มากเกินขอบเขตและล้ำเส้น เรื่องมันอาจจะจบไม่สวยก็ได้

พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง

“พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง” มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า โดยโบราณเปรียบไว้ว่าในบางครั้ง เมื่อพูดจะได้เงินเพียงสองไพเบี้ย (อัตราเงินสมัยโบราณ) แต่ถ้านิ่งเงียบเสียเราจะได้ถึงหนึ่งตำลึงทองคำ (หนึ่งตำลึงเท่ากับสี่บาท) นัยหนึ่งอาจนำมาใช้เตือนในเชิงที่ว่าพูด (เตือนคนอื่น) ไปก็เท่านั้น เขาไม่ฟังเราหรอก เปลืองน้ำลายเปล่า กับอีกนัยคือ “ปาก” ที่มีเนี่ย ถ้าพูดเรื่องดี ๆ พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ หรือพูดถึงคนอื่นในแง่ดีไม่ได้ ก็จง “สงบปากสงบคำ” ไว้จะดีที่สุด เพราะถ้าพูดสิ่งที่ไม่ดีออกมา ก็จะทำให้คุณค่าและความน่าเชื่อถือของคำพูดเราลดลงได้ แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรนอกจากผลกระทบในแง่ลบต่อตัวเอง เงียบ ๆ ไม่เข้าไปยุ่งตั้งแต่แรกก็จบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook