ภาษีคือหน้าที่ แต่ทำไมหลาย ๆ คนถึงไม่ค่อยเต็มใจอยากจะจ่าย

ภาษีคือหน้าที่ แต่ทำไมหลาย ๆ คนถึงไม่ค่อยเต็มใจอยากจะจ่าย

ภาษีคือหน้าที่ แต่ทำไมหลาย ๆ คนถึงไม่ค่อยเต็มใจอยากจะจ่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่รัฐบาลเปิดโครงการ “คนละครึ่ง เฟสที่ 4” เพื่อเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในประเทศพร้อมกับลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 30 เม.ย. 2565 โดยเป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจากความสำเร็จในเฟสที่ผ่าน ๆ มา โดยมีการเข้าเงินให้ประชาชนใช้จ่ายในโครงการผ่านแอปฯ เป๋าตัง คนละ 1,200 บาท การกลับมาของคนละครึ่งเป็นข่าวดีของใครหลาย ๆ คน เพราะจะได้จ่ายเงินซื้อของอุปโภคบริโภคในราคาที่ถูกลง ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้

แต่ข่าวที่ตามออกมาหลังจากนั้น กลับพบว่าร้านค้าที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งในเฟสที่ผ่านมาจำนวนหลายร้านต่างพากัน “ยกเลิก” การเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ในเนื้อหาข่าวแต่ละสำนักต่างรายงานไปแนวทางเดียวกันว่าที่พ่อค้าแม่ค้าจำนวนหนึ่งยกเลิกการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เนื่องมาจากถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม โดยที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง แต่ในกรณีนี้ กรมสรรพากรได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่ได้มีการตรวจสอบเก็บภาษีย้อนหลังกับร้านค้าที่ร่วมโครงการคนละครึ่งแต่อย่างใด อ้าว! แล้วทำไมภาษีถึงแพงขึ้น

เรื่องนี้ กรมสรรพากรชี้แจงว่าการที่ร้านค้าเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งโดยมีบัญชีถุงเงินซึ่งทางภาครัฐเป็นผู้ดำเนินโครงการ ทำให้ระบบฐานข้อมูลผู้เสียภาษีตรวจสอบรายรับได้ง่ายขึ้น เมื่อร้านค้ามีรายรับเพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็เป็นหน้าที่ของร้านค้าที่จะต้องเสียภาษีตามรายรับที่มีตามกฎหมายเท่านั้นเอง

นั่นหมายความว่าผู้ค้าขาย ไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ล้วนต้องเสียภาษีเข้าภาครัฐกันทั้งนั้น หากรายได้ของร้านค้าถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษีก็ต้องจ่าย เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีรายรับเกินกฎหมายกำหนด โดยรายได้ที่เสียภาษีจะเป็นยอดรวมที่ร้านค้าขายสินค้าได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขายโดยตรงหรือว่าการขายออนไลน์ก็ตาม ซึ่งถ้าหากผู้ค้าตั้งใจหลบเลี่ยงภาษี กรมสรรพากรก็มีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายอยู่แล้ว

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีทางตรงที่ต้องจ่ายหากเป็นผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป โดยเก็บเป็นรายปี ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป นั่นหมายความว่าถ้าคุณเป็นบุคคลผู้มีรายได้ (หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามีงานมีการทำ มีรายได้เป็นของตัวเอง) คุณก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อแสดงรายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปีอย่างตรงไปตรงมา โดยบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เริ่มใช้ปีภาษี 2560 เป็นดังนี้

  • เงินสุทธิ 1 – 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
  • เงินสุทธิ 150,001 – 300,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 5
  • เงินสุทธิ 300,001 – 500,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 10
  • เงินสุทธิ 500,001 – 750,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 15
  • เงินสุทธิ 750,001 – 1,000,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 20
  • เงินสุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 25
  • เงินสุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราเสียภาษีร้อยละ 30
  • เงินสุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราเสียภาษีร้อยละ 35

อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจเรื่อง “การยื่นภาษี” กับ “การเสียภาษี” ให้เข้าใจเสียก่อน เพราะผู้มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ “ยื่นภาษี” แต่ไม่ได้หมายความว่าต้อง “เสียภาษี” กันทุกคน เพราะคนที่จะเสียภาษี คือคนที่ยื่นภาษีแล้วพบว่ามีเงินได้หรือมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น โดยอัตราการเสียภาษีจะคำนวณจากเงินได้สุทธิข้างต้น ที่มีการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากหักลบทุกอย่างแล้ว เงินได้ของคุณอยู่ในขั้นได้รับการยกเว้นภาษี คุณก็ไม่ต้องจ่ายภาษี หรือถ้าคุณจ่ายไปแล้ว คุณก็จะได้เงินคืน

นั่นหมายความว่าตามกฎหมาย แม้แต่บุคคลที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ก็ยังมีหน้าที่ “ยื่นแบบภาษี” เหมือนกับผู้ที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามปกติทุกอย่าง เพื่อเป็นการแสดงตนถึงการเป็นผู้ที่มีรายได้นั่นเอง นอกจากนี้ยังใช้เป็นหลักฐานเวลายื่นทำธุรกรรมในอนาคต เพื่อที่จะแสดงถึงรายได้ของบุคคล

ค้าขาย ก็เป็นผู้มีรายได้ หากรายได้สูงถึงเกณฑ์ก็ต้องจ่ายภาษี

เช่นเดียวกันกับคนที่ทำอาชีพค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นการขายออนไลน์หรือขายโดยตรง คุณจะถือว่าเป็นผู้มีรายได้ที่ต้อง “ยื่นภาษี” แต่คุณจะต้องเสียภาษีหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าเงินสุทธิของคุณถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายหรือไม่ โดยร้านค้าที่มีรายได้ไม่เกิน 1ล้าน 8 แสนบาทต่อปี จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะต้องยื่น 2 รอบ คือ รอบแรกยื่นภาษีช่วงครึ่งปี โดยคำนวณรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน จะยื่นเอกสารได้ไม่เกิน 30 กันยายนของทุกปี ส่วนอีกรอบ คือ ภาษีประจำปี จะคำนวณจากรายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งยื่นเอกสารไม่เกินเดือนมีนาคมในปีถัดไป

ปกติแล้ว ถ้าร้านค้าคำนวณรายได้แล้ว เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทตลอดปี ก็จะไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่หากเกินก็จะเสียเป็นขั้นบันไดตามรายได้สุทธิ อยู่ที่ 5-35% ในกรณีที่มีค่าลดหย่อนต่าง ๆ มาหักลบได้มากก็จะเสียภาษีน้อยลง และในบางกรณีก็อาจจะเลือกการจ่ายภาษีแบบเหมาจ่าย

แต่สำหรับร้านค้าที่มียอดขายเกิน 1 ล้าน 8 แสนบานต่อปี หรือเฉลี่ยเกิน 150,000 บาทต่อเดือน จะต้องยื่นภาษีอีกประเภทด้วย คือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ “vat 7%” โดยจะต้องยื่นชำระทุกเดือน ซึ่งรัฐบาลจะคิดภาษีจากยอดขายที่เกินจาก 1,800,000 บาทขึ้นไปในปีแรก รูปแบบการเสียภาษีทั้ง 2 รูปแบบ เป็นหน้าที่ร้านค้าจะต้องทราบ

ร้านเข้าระบบภาครัฐ รายได้ตรวจสอบง่ายขึ้น ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีแต่ไม่อยากจ่าย

พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยหลายรายไม่เคยต้องเสียภาษีมาก่อน เนื่องจากผู้ค้าไม่ได้แจ้งยอดรายได้จากการค้าขาย ทำให้ทางกรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้จากทางพ่อค้าและแม่ค้าได้ ในขณะที่มนุษย์เงินเดือน ทั้งพนักงานเอกชนหรือข้าราชการ จะมีการแจ้งเสียภาษีเต็มจำนวน เนื่องจากการจ่ายเงินเดือนให้กับมนุษย์เงินเดือนจะมีระบบที่ทางภาครัฐสามารถตรวจสอบได้โดยตรง เพราะบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ล้วนต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย

การที่ร้านค้าต่าง ๆ ทยอยยกเลิกการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เนื่องจากภาครัฐสามารถตรวจสอบรายได้ในระบบได้ง่ายขึ้น ซึ่งพอรายได้สูงขึ้นแล้วต้องเสียภาษีก็ไม่อยากที่จะเสียกัน ดังนั้น ถ้าไม่อยากเสียภาษี (เพิ่ม) ก็ต้องออกจากระบบตรงนี้ คำถามคือ ในเมื่อคุณเองก็เป็นผู้มีรายได้ เหตุใดจึงพยายามหลบเลี่ยงภาษี ทั้งที่มันเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ (ถึงเกณฑ์) ทุกคน

เหตุผลที่ผู้ค้าหลายรายอ้างก็คือ เพราะไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้รับ เนื่องจากต้นทุนสูง กำไรเลยน้อย มันเลยไม่คุ้มหากต้องเสียภาษีที่มากขึ้น จึงจำเป็นต้องต้องยกเลิกการรับเงินจากโครงการคนละครึ่ง ที่เคยทำให้ยอดขายสูงขึ้น แต่นั่นก็ตามมาด้วยความกลัวเรื่องภาษีที่ต้องจ่ายมากขึ้นนั่นเอง เพราะในความเป็นจริง เมื่อมีรายได้มาก ใคร ๆ ก็อยากจะเก็บเงินไว้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า แต่เพราะว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่ในฐานะพลเมือง เพื่อให้รัฐนำเงินไปใช้พัฒนาประเทศ หลายคนจึงเต็มใจที่จะจ่าย หากมีรายได้มากขึ้นก็ต้องเสียภาษีมากขึ้นแบบขั้นบันได นี่เป็นกฎหมาย

แต่หลายคนในสังคมไทยมีพฤติกรรมเช่นนี้จริง ๆ คือ “การไม่อยากจ่ายแต่อยากได้” ถามหาสิ่งนั้นสิ่งนี้จากทางภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันตนเองก็พยายามหลีกเลี่ยง “หน้าที่ในการจ่ายภาษี” ทั้งที่ตนเองเป็นผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีตามหน้าที่ เพื่อให้ “ภาษี” เป็นรายได้ที่นำเข้าภาครัฐเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ นำไปสร้างสาธารณูปโภค จัดทำรัฐสวัสดิการ และอื่น ๆ แต่ในเมื่อยังมีคนบางกลุ่มที่กลัวการเสียภาษีอยู่ และพยายามจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้ภาครัฐไปพร้อม ๆ กับเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ จากรัฐ แบบนี้ก็ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้จะเป็นภาษีที่โดนบังคับว่าต้องจ่ายอยู่แล้ว เนื่องจากมันถูกบวกรวมเข้าไปในสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เราอุปโภคบริโภคกันในชีวิตประจำวัน ในอัตราร้อยละ 7 แต่ถ้าจะพูดกันตรง ๆ การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคาสินค้าทั่วไปตามท้องตลาด กับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5-35% มูลค่าที่เข้ารัฐเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มันก็ต่างกันพอสมควร ดังนั้น ในบุคคลที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ว่าต้องจ่ายภาษีเงินได้แต่กลับไม่ยอมจ่าย แบบนี้ก็ทำให้ภาครัฐขาดรายได้ไปมากเช่นเดียวกัน

จ่ายภาษีก็มาก แต่เงินมันไปไหนหมด

ถึงอย่างนั้น มันก็มีคำถามย้อนกลับเช่นกันจากคนที่จ่ายภาษีทุกปี ว่าเงินที่จ่ายไปปีละหลายบาทนั้น เงินมันไปอยู่ที่ตรงไหน เพราะเราแทบจะไม่เห็นเลยว่าภาครัฐใช้ภาษีในการพัฒนาประเทศอย่างไร แทบไม่เห็นสาธารณูปโภคดี ๆ ที่ใช้งานได้สมกับงบประมาณที่ขอเบิก แทบไม่ได้สัมผัสกับรัฐสวัสดิการที่สมน้ำสมเนื้อจับต้องได้ รายได้สูง เสียภาษีแพง แต่แทบไม่ได้อะไรกลับมา คนเสียภาษีมากก็ไม่ได้มีสิทธิอะไรมากกว่าคนเสียภาษีน้อยหรือไม่เสียภาษีเลย มันเลยดูไม่ค่อยยุติธรรมกับคนที่จ่ายภาษีแพง

นี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คนก็ไม่ค่อยเต็มใจที่จะเสียภาษี โดยรู้สึกว่ารัฐก็ทำหน้าที่ของตัวเองไม่สมบูรณ์เช่นกัน แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้พยายามหาทางเลี่ยงที่จะไม่จ่าย สิ่งที่พอทำได้จึงทำได้แค่หาวิธีลดหย่อนตามกฎหมาย

ส่วนเรื่องที่มีการคอรัปชันในหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ หลายอย่างตรวจสอบไม่ได้ หรือตรวจสอบแล้วได้ข้อมูลที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ไม่ค่อยจะสมเหตุสมผล หรือเมื่อโดนตรวจสอบ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็หลบเลี่ยงได้ตลอด จนเป็นเหตุให้หลายคนคิดว่าเงินภาษีที่จะนำมาพัฒนาประเทศนั้นไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยจริง ๆ นี่จึงน่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่ค่อยเต็มใจจะจ่ายภาษี

แต่วิธีการเลี่ยงก็เท่ากับเราร่วมโกงไปเขาด้วยเช่นกัน หากมีการโกงก็ต้องปราบโกง ไม่ใช่ใช้วิธีไม่จ่ายภาษี แต่สุดท้ายแล้วมันก็ย้อนกลับมาที่เดิมว่าเราจะตรวจสอบการโกงได้มากน้อยแค่ไหน แล้วจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าคนที่อ้างว่าจะปราบโกงจะไม่โกงเสียเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook