คนชั้นกลางคือกลุ่มที่เครียดที่สุดในศตวรรษที่ 21

คนชั้นกลางคือกลุ่มที่เครียดที่สุดในศตวรรษที่ 21

คนชั้นกลางคือกลุ่มที่เครียดที่สุดในศตวรรษที่ 21
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตามรายงานของธนาคารโลกเมื่อปี 2020 ได้ระบุถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในช่วงเวลา 4 ทศวรรษหลังสุด (หรือ 40 ปีที่ผ่านมา) ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจ เพราะสามารถปรับจากประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำ ขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ในระดับปานกลาง และเป็นการพัฒนาที่เห็นผลในเพียงแค่หนึ่งชั่วอายุคน”

แน่นอนว่าเมื่อประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ในระดับปานกลางเพิ่มมากขึ้น จำนวนของชนชั้นกลางที่พัฒนามาจากกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ หากแต่ได้โอกาสและสามารถพัฒนาตนเองจนมีรายได้ระดับปานกลางเพียงแค่หนึ่งชั่วอายุคน จำนวนครัวเรือนที่ถูกจัดให้มีรายได้ระดับปานกลาง จะมีอยู่ที่ประมาณ​ 13 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ

โดยจะมีรายได้ทั้งปีอยู่ที่ประมาณ​ 525,001-875,000 บาท โดยเฉลี่ยประมาณ 45,000-72,000 บาท ต่อเดือน (หรืออาจมากกว่านี้แต่ไม่เกิน 150,000 บาทต่อเดือน) ตามรายงานของ Statista.com

จากจำนวนตัวเลขดังกล่าวทำให้ชนชั้นกลางที่มีอยู่ในเมืองไทยเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องเสียภาษีเป็นกลุ่มใหญ่ และเป็นกลุ่มที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปรารถนา สามารถให้การศึกษาที่ดีแก่บุตรหลาน มีบ้านและรถตามค่านิยม มีโอกาสในการเดินทางไปต่างประเทศ และบางกลุ่มรายได้ในฐานะคนชั้นกลางคือเจ้าของกิจการตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางเลยทีเดียว

ชนชั้นกลางถือกำเนิดขึ้นเพราะความไม่เข้าพวก

การเริ่มใช้คำเรียกกลุ่มคนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนชั้นแรงงาน หรือก้าวขึ้นไปหรูหราและมากด้วยอิทธิพลจากคนชั้นสูง อันเป็นเหตุให้คนเหล่านี้ถูกเรียกว่าคนชั้นกลาง โดยลักษณะของคนชั้นกลางส่วนใหญ่คือมีการศึกษาที่ดี อยู่ในเขตตัวเมือง ในอดีตมักทำงานร่วมกับขุนนางและราชวงศ์

ขณะเดียวกันบางกลุ่มของคนชั้นกลางก็เป็นกลุ่มคนที่พัฒนามาจากชนชั้นแรงงาน ด้วยโอกาสที่เข้าถึงการศึกษา และสามารถต่อยอดด้วยการเอาความรู้และแรงงานเข้าแลกจนสามารถยกระดับความเป็นอยู่ขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางได้สำเร็จ

ขณะเดียวกันชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะไม่ยอมหยุดอยู่กับที่เพื่อให้ตนเองก้าวไปสู่จุดที่ประสบความสำเร็จ ด้วยการทำงานกับคนชนชั้นสูงเพื่อการันตีพื้นที่ทางสังคมให้กับตนเอง และอีกนัยหนึ่งคือคนชั้นกลางส่วนใหญ่จะกลัวการลงไปเป็นคนชั้นแรงงาน เพราะไม่เพียงแต่จะไม่สามารถเอาตัวรอดได้ แต่คนชั้นกลางยังไม่สามารถดิ้นรนได้เท่ากับคนชั้นแรงงาน

คนชั้นกลางมีศีลธรรมที่คนจากชนชั้นอื่นรู้สึกว่าซับซ้อนเกินไป

ดังที่อธิบายไปในข้างต้น คนชั้นกลางส่วนใหญ่จะอาศัยในเมืองหลวงหรือเมืองที่มีความเจริญอยู่แล้ว ในอดีตคือพ่อค้า คหบดี ข้าราชการ ปัจจุบันจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง พนักงานบริษัท และข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย เนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะจบในระดับปริญญาตรีหรือเหนือกว่านั้นและมีทั้งที่ศึกษาในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งคนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่มีรายได้อยู่ในระดับปานกลางถึงสูง สามารถซื้อบ้านซื้อรถเป็นของตนเองได้ สามารถส่งเสริมการศึกษาให้กับบุตรหลานได้ ขณะเดียวกันยังมีรายได้ส่วนอื่นที่ใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจหรือท่องเที่ยวได้ด้วยเช่นกัน และคนชั้นกลางรุ่นใหม่ ๆ ก็มักจะวางแผนเกษียณ และการลงทุนเพื่อให้มีชีวิตในวัยชราที่สะดวกสบาย

แม้คนชั้นกลางจะมีชีวิตที่ดีกว่าคนชั้นแรงงาน แต่พวกเขาก็ไปไม่ถึงสถานะของคนชั้นสูงที่ร่ำรวย มิใช่เพียงตัวเลขรายได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่สายสัมพันธ์และความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน นั้นทำให้คนชั้นสูงเกาะกลุ่มกันอยู่แต่พวกตัวเอง หากมีคนชั้นกลางที่มีรายได้สูงเข้าไปรวมในกลุ่ม แม้จะได้รับการต้อนรับ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนชั้นกลางที่มีรายได้สูงมักจะกลายเป็นเหยื่อให้คนชั้นสูงทั้งหลายได้สูบผลประโยชน์

ทั้งนี้สิ่งที่คนชั้นแรงงานและคนชั้นสูงมีเหมือนกันคือ พวกเขาไม่สนใจความเป็นไปนอกสังคมของพวกเขา คนชั้นแรงงานจะทำงานเพื่ออยู่รอดแบบวันต่อวัน พวกเขาไม่สนใจว่าจะต้องหาเงินอย่างไร แต่ขอให้ใช้ชีวิตแล้วรอดได้ก็พอ ขณะที่คนชั้นสูงนั้นพวกเขาจะสนใจที่คนในแวดวงเดียวกัน และจะไม่ยอมให้สิทธิพิเศษของพวกเขาต้องมาถูกแบ่งไปให้คนอื่น

ดังนั้น คนชั้นกลางจำเป็นต้องสร้างรูปแบบศีลธรรมอันดีของตนเองขึ้นมาเพื่อเป็นเกราะป้องกันความรู้สึกไม่เข้าพวกของตนเอง ศีลธรรมอันดีทั้งหลายของชนชั้นกลางนั้นซับซ้อนเสียจนคนชั้นแรงงานรู้สึกอึดอัด ในขณะที่คนชั้นสูงรู้สึกขบขันในบางเรื่อง ที่คนชั้นกลางพยายามจะมีจารีตในแบบที่พวกเขามี ศีลธรรมที่ว่านี้เป็นทั้งกฎระเบียบในลักษณะจารีต ไปจนถึงรสนิยม ทั้งการกินและการแต่งตัว ที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะทำแบบเดียวกันหมด หากมีใครแปลกแยก คนชั้นกลางจะรู้สึกว่าคนคนนั้นไม่เข้าพวกทันที

คนชั้นกลางมีความเครียดมากกว่าคนรวยและคนชั้นแรงงาน

เมื่อคนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่ต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเป็นผลตอบแทนและต่อยอดเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับตนเอง หากแต้มต่อของพวกเขาก็น้อยกว่าคนรวย ที่มีมรดกตกทอดทั้งทรัพย์สินและสายสัมพันธ์ ซึ่งทั้งสองสิ่งเป็นสิ่งที่คนชั้นกลางไม่มี และต้องพยายามอย่างยิ่งยวดในการขวนขวายให้กับตนเอง ขณะที่คนชั้นแรงงานนั้นขอให้มีชีวิตอยู่แบบวันต่อวัน ได้พวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกเครียดอะไรอีกแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้คนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่มีความเครียดมากที่สุด เพราะต้องพะวงกับรายได้ที่จะมาพร้อมกับงานที่ดีหรือไม่ การได้สิทธิพิเศษที่ต้องผ่านคนชั้นสูง พวกเขาก็ต้องควักจ่าย หรือแม้แต่ความพยายามจะมีตัวตนของชนชั้นกลางเพื่อปรับระดับตัวเองให้สูงขึ้นกว่าเดิมทำให้คนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่พบกับความเครียดมากที่สุด ทั้งเงิน งาน และอำนาจ ที่พวกเขาไม่สามารถเอามาอยู่ในมือได้

คนชั้นกลางคือกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

คนชั้นกลางส่วนใหญ่ยังคงรักในระบบทุนนิยม และพวกเขาก็ยินดีที่จะตอบสนองการตลาดในทุกประเภท เนื่องจากสามารถหาเงินมาจับจ่ายได้ทำให้เกิดการซื้อขายในตลาด เหนืออื่นใดความพยายามในการสร้างรสนิยมซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเอง ก็ทำให้คนชั้นกลางส่วนใหญ่ต้องหมดเงินไปกับสิ่งที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ทางกายให้กับตนเอง หากแต่สร้างประโยชน์ทางใจ หรือตอบสนอง “อีโก้” ของตนเองได้

และด้วยลักษณะการจับจ่ายดังกล่าวทำให้คนชั้นกลางเป็นกลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของการสร้างรายได้และจับจ่ายสินค้า ที่สำคัญยังเป็นกลุ่มที่เสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กับสรรพากรทั้งทางตรงและทางอ้อม แตกต่างจากกลุ่มชนชั้นแรงงาน และกลุ่มชนชั้นสูงที่มักจะมีช่องว่างสามารถหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้จำนวนชนชั้นกลางที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง หากกลุ่มคนในชนชั้นนี้มีความแข็งแรงทางความคิดและไม่แตกแยกเหมือนในปัจจุบัน โอกาสที่พวกเขาจะมีอำนาจต่อรองก็จะเพิ่มมากขึ้น

เพราะนั่นหมายความว่าภาษีของคนชั้นกลางไม่ต้องเอาไปอุ้มคนชั้นแรงงานอีกต่อไป ขณะเดียวกันพวกเขาก็จะได้รับความสนใจมากขึ้นจากภาครัฐในการสร้างเครื่องมือที่ทำให้คนชั้นกลางสามารถใช้สิทธิได้เทียบเท่ากับคนชั้นสูง และน่าจะเป็นหนทางที่ดีในการแก้ปัญหารายได้ระหว่างชนชั้น ที่ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะถ่างออกห่างระหว่างกลุ่มคนรวยกับคนจนมากขึ้นเรื่อย ๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook