จิตวิทยาของ “สมน้ำหน้า” ความคิดอันตราย ที่แอบมีความสุข

จิตวิทยาของ “สมน้ำหน้า” ความคิดอันตราย ที่แอบมีความสุข

จิตวิทยาของ “สมน้ำหน้า” ความคิดอันตราย ที่แอบมีความสุข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้ง (หรือหลาย ๆ ที) เราก็เองแอบมีความรู้สึก “สะใจ” “สมน้ำหน้า” หรือ “หัวเราะเยาะ” กับคนที่ผิดพลาดล้มเหลวอยู่บ่อยครั้ง เชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่ามันไม่ใช่สิ่งดี รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องผิด แต่…จิตใจ ณ เวลานั้นก็มีความสุขมากเหลือเกิน เวลาที่เห็นคนที่เราไม่ชอบหน้ามีความทุกข์

จิตวิทยาของความสะใจเวลาเห็นคนอื่นเป็นทุกข์นั้น มีชื่อเรียกที่ค่อนข้างอ่านยาก เพราะมันเป็นภาษาเยอรมัน เรียกว่า Schadenfraude (อ่านว่า ชาเดินฟร็อยเดอ) มีที่มาจาก schaden แปลว่า ความเสียหายหรืออันตราย กับ freude ที่แปลว่าความสุข ปรากฏครั้งแรกในงานเขียนภาษาอังกฤษในปี 1853 ใช้พูดถึงอาการที่คนเราแอบดีใจ สะใจ หรือมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น ทั้งที่เราก็รู้ดีว่ามันเป็นความรู้สึกอันตราย เป็นความรู้สึกที่ไม่ดี แต่ก็ถือเป็นความสุขเล็ก ๆ ของเราอยู่ดี

เมื่อสังคมมีประเด็นข่าวดุเด็ดเผ็ดร้อน บรรดาผู้รับสารจะแบ่งเป็น 2 พวกเสมอ คือ พวกที่เห็นใจและพร้อมให้กำลังใจกับอีกพวกคือพวกแอนตี้ คือ พวกที่มาเพื่อเหยียบซ้ำ (แม้จะแค่ในใจ) คนกลุ่มนี้มักจะแอบเหลือบตามองบนแล้วยิ้มอย่างสะใจเหมือนตัวร้ายในละคร เวลาที่เห็นคนที่รู้สึกไม่ชอบหน้า ไม่ถูกชะตา หรือเกลียดขี้หน้าตกที่นั่งลำบาก

ความรู้สึกที่เหมือนเป็นตัวร้ายที่แอบยิ้มเยาะเวลาเห็นคนอื่นตกที่นั่งลำบากนั้น อธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา ที่สำคัญ มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรถ้ามนุษย์ปุถุชนจะมีความรู้สึกแบบนี้ เพียงแต่มันเป็นความคิดและความรู้สึกที่อันตรายมากเท่านั้นเอง หากเราปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ก่อนอื่นอย่าเพิ่งเกลียดตัวเอง หรือตีโพยตีพายว่าตัวเองเป็นคนไม่ดีที่มีความคิดสมน้ำหน้าผู้อื่นเวลาที่เห็นเขาล้มเหลว เพราะมันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติกับทุกคน หากคุณยังเป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีความอิจฉาริษยา รักโลภโกรธหลง โดยเฉพาะกับคนที่คุณรู้สึกไม่ถูกใจ ไม่ชอบหน้า หรือเกลียดขี้หน้า คุณจะรู้สึกมีความสุขมากเมื่อเห็นเขาเป็นทุกข์

จุดเริ่มต้นของความรู้สึกนี้ มันมาจากการที่คุณไม่รู้สึกยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น กับคนที่คุณไม่ได้รู้สึกในทางลบด้วยเป็นพิเศษ คุณก็อาจจะแค่เฉย ๆ ไม่ยินดียินร้ายอะไรกับชีวิตของเขา แต่เมื่อใดก็ตามที่เป็นคนที่คุณเกลียดขี้หน้าอยู่ก่อนแล้ว ความรู้สึก “สมน้ำหน้า” จะตามมาอัตโนมัติ เพราะปกติของมนุษย์ ถ้าเรารู้สึกเกลียด หมั่นไส้ หรือไม่ชอบหน้าใคร เราก็ไม่ได้ปรารถนาดีหรืออยากให้เขาได้ดีเท่าไรนัก ไม่เพียงเท่านั้น ยังแอบปรารถนาให้เขาพลาดพลั้งด้วยโดยที่เราจะรู้สึกว่ามันเป็นความสุขและความสะใจของเรา

เมื่อเขาล้มเหลว เราจะรู้สึกว่าเขาที่เคยอยู่เหนือกว่า กลายเป็นอยู่ต่ำกว่าหรืออยู่ในระดับเดียวกัน ความรู้สึกที่ว่านี้จะเรียกว่าอิจฉาริษยาก็ได้ แตกต่างกันเล็กน้อยคือ อิจฉาริษยา เราไม่เพียงแต่ไม่อยากเห็นเขาได้ดีกว่า หรือเห็นเขาได้ดีแล้วจะไม่พอใจ แต่จะแฝงไปด้วยความรู้สึกอยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง หรือทนนิ่งดูเขาได้ดีกว่าไม่ได้ ในขณะที่ Schadenfraude จะมีเพียงปฏิกิริยามีความสุขจากความทุกข์ของคนอื่นเกิดขึ้นในจิตใจ

Schadenfraude ตรงข้ามกับความเห็นอกเห็นใจโดยสิ้นเชิง และมันยังเป็นความคิดที่ค่อนข้างจะเลวร้ายด้วย Arthur Schopenhauer นักปรัชญาชาวเยอรมันมองว่า Schadenfreude เป็น “สัญญาณที่บ่งบอกถึงจิตใจที่ชั่วร้ายโดยสิ้นเชิงและไร้ค่าทางศีลธรรม” ซึ่งเป็นลักษณะที่เลวร้ายที่สุดในธรรมชาติของมนุษย์ แย่กว่าการโกรธเกลียดเคียดแค้นเสียอีก

เห็นเขาตกต่ำแล้วสะใจ

“มันคือความไม่เท่าเทียม” แน่นอนว่าคนเราไม่อาจทนเห็นคนที่เรารู้สึกเกลียดขี้หน้าได้ดีกว่าได้หรอก เราจะรู้สึกว่ามันไม่เท่าเทียม ไม่ยุติธรรม จากนั้นจะเอามาเปรียบเทียบ ว่าฉันเองก็ทำแบบนี้แบบนั้นแต่ทำไมฉันถึงไม่ได้ดีบ้าง

Simone G. Shamay-Tsoory ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ University of Haifa อธิบายว่าสิ่งนี้คือกลไกการป้องกันตัวเองของมนุษย์ในทางจิตวิทยา เมื่อเห็นคนที่เกลียดพลาด จะทำให้รู้สึกว่าเขาลงมาอยู่ในระดับเดียวกับเรา เราจึงรู้สึกดีที่ได้เห็นเขาได้ลิ้มรสความโชคร้ายเสียบ้าง รสชาติที่เราได้รับมันมาตลอดนั่นเอง

ถึงอย่างนั้น การที่เรารู้สึกสะใจหรือเหยียบย่ำคนที่ผิดพลาดอยู่ในใจ หากมันทำให้ตัวเรารู้สึกดีขึ้นได้ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปร้ายแรงนัก อย่างไรมันก็อยู่แค่ในใจ แต่เมื่อใดก็ตามที่แสดงออกชัดเจนว่ากำลังมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น กรณีนี้เริ่มน่ากลัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราเคยรณรงค์เรื่องความเท่าเทียม ความเป็นมนุษย์กันแทบตาย แต่กลับแสดงออกว่าสะใจคนที่กำลังตกทุกข์ เห็นเป็นเรื่องสนุก มีความสุข ก็อาจต้องหันกลับมาพิจารณาตัวเราอีกครั้ง ว่าหรือตัวเราเองที่ไม่เหลือความเป็นมนุษย์แล้ว

จึงไม่แปลกที่เวลามีคนดังตกเป็นข่าวฉาว แล้วจะมีอีกฝั่งที่แสดงออกชัดเจนว่ากำลังเหยียบซ้ำ ด้วยความที่คนเหล่านี้ไม่มีในสิ่งที่คนดังเหล่านั้นมี ฉะนั้น หากคนดังทำอะไรที่ผิดกติกาของสังคมเพียงนิดเดียว จะมีดราม่าทัวร์ลงตามมามหาศาล เริ่มมาจากความไม่พอใจส่วนตัว ที่รอให้คนดังเหล่านี้ล้มแล้วเหยียบซ้ำ

ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนี้

ขอย้ำอีกครั้งว่าสบายใจได้ คุณไม่ใช่คนเลวร้าย (คนเดียว) อะไรหากจะมีความรู้สึกแบบนี้ ตราบใดที่มันไม่ได้ทำให้คุณกลายเป็นคนที่มีจิตใจด้านชา ชนิดที่ไม่เหลือความเมตตาหรือความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์เลย มันเป็นความรู้สึกปกติ ที่คนธรรมดาจะรู้สึกได้

มีผลวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Science เมื่อปี 2009 ระบุว่าความรู้สึก Schadenfreude มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการทำงานของสมองด้วย จากการทำงานของสมองส่วน Ventral triatum ซึ่งเป็นส่วนที่มักคิดว่าเราควรให้รางวัลตัวเองเมื่อประสบความสำเร็จ ในกรณีนี้ที่สมองสั่งให้เรามีความสุข เพราะเรารู้สึกอยู่เหนือกว่าเขา ทั้งที่เราไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไร แต่มันเป็นเพราะเขาล้มต่างหาก

แต่ Dr. Mina Cikara นักจิตวิทยาจาก Harvard University ก็มองว่า Schadenfreude ไม่ได้เป็นการทำงานของสมองเสียทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากสัญชาตญาณดิบที่อยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ หรือจะเรียกว่าเป็นตัวตนด้านมืดอีกด้านที่มนุษย์ซ่อนไว้ในจิตใต้สำนึก

ไม่เพียงเท่านั้น ผลการวิจัยในปี 2011 ที่ตีพิมพ์ใน Emotion ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่รู้สึกมีความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่นในระดับสูง ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนประเภท Self Esteem ต่ำ เพราะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกตัวเองไม่มีค่า พอเห็นคนที่เขามีในสิ่งที่เราไม่มีเป็นทุกข์ก็เลยรู้สึกสะใจ เพราะไม่สามารถพาตัวเองไปถึงจุดนั้นได้ จึงขอแค่ให้เขาล้มก็พอ ดังนั้น คนที่มีความนับถือตนเองต่ำ จึงรู้สึกเกลียดชังผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงกว่าตนเอง

เรา ๆ อาจมีความรู้สึกสะใจกับความล้มเหลว หรือรู้สึกดีมีความสุขเมื่อเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ก็ได้ แต่อย่าไปให้ความสำคัญกับความรู้สึกนี้นานจนถูกมันเข้าครอบงำ เพราะการเสพติดความรู้สึกเช่นนี้ จะทำให้ต้นไม้แห่งความอิจฉาริษยาถูกปลูกขึ้นจนเติบโตเป็นต้นไม้พิษ และอาจจะทำให้ความเป็นมนุษย์ในตัวเราหายไป คิดให้มาก ๆ ก็ทาจะได้ไม่เป็นตัวร้ายมากจนเกินไป อย่าถึงขั้นขาดความเห็นใจหรือความความเมตตาใคร แล้ว คุณก็น่ากลัวกว่าที่คิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook