ทำไมคนไทยเรียก กรุงเทพฯ แต่ชาวต่างชาติเรียก บางกอก (Bangkok)

ทำไมคนไทยเรียก กรุงเทพฯ แต่ชาวต่างชาติเรียก บางกอก (Bangkok)

ทำไมคนไทยเรียก กรุงเทพฯ แต่ชาวต่างชาติเรียก บางกอก (Bangkok)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บางกอกเป็นชื่อที่เรียกกรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนฝรั่งปัจจุบันเรียก "แบงค็อก" ในหนังสือเรื่อง "เล่าเรื่องบางกอก" ของ ส.พลายน้อย เขียนไว้ว่า "เมื่อได้พูดถึงบางกอกแล้ว ก็ใครจะพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับชื่อบางกอกไว้ด้วย เพราะชื่อนี้เป็นปัญหาที่ตัดสินกันไม่ได้ ว่าคำว่า บางกอกมาจากภาษาอะไรกันแน่ และทำไมเรียกว่าบางกอก

เรื่องนี้มีผู้สันนิษฐานไว้หลายทาง

บางท่านก็ว่า การที่เรียกบางกอกนั้น ก็เข้าใจว่า บริเวณนั้นแต่เดิมจะเป็นป่ามะกอก คือมีต้นมะกอกมากนั่นเอง จึงเอานามของต้นไม้มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ตำบลมะกอก อาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก" หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า "บางมะกอก" โดยคำว่า "บางมะกอก" มาจากวัดอรุณ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัด และต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า "บางกอก"

ด้านหมอสมิธ มัลคอล์ม ซึ่งเป็นแพทย์หลวง กล่าวไว้ในหนังสือ A Phisician at the Court of Siam ว่าชื่อบางกอกมาจากคำว่า บาง คือหมู่บ้านหนึ่ง กอก ซึ่งเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง (Spondias pinnata) อันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวยุโรป และว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในไทยสมัยศตวรรษที่ 16 เป็นผู้ให้กำเนิดคำนี้
แต่ในหนังสือจดหมายรายวันของท่านบาทหลวงเดอ ชวาสี ซึ่งหลวงสันธานวิทยาสิทธิ์ เป็นผู้แปลและเรียบเรียง ได้ให้เหตุผลไว้ว่า บางกอกคือจังหวัดธนบุรี บางแปลว่า "บึง" กอกแปลว่าน้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับเป็นดินหรือที่ลุ่มกลายเป็นดอน แต่ไม่ได้บอกว่ากอกนั้นเป็นภาษาอะไร
สำหรับประเด็นบาทหลวงเดอ ชวาสี ถ้าเพื่อนๆ ได้อ่านเรื่อง เมื่อพันปีที่แล้ว กรุงเทพ เคยอยู่ใต้ทะเล

จะได้เห็นภาพของอ่าวไทยที่กินไปถึงจังหวัด นครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี และสุพรรณบุรี ส่วนกรุงเทพฯ เกิดจากตะกอนทับถมกันเป็นพันปีซี่งน่าจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.1600 เป็นต้นมา ก็ทำให้เรื่องราวสอดคล้องกันอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังมีบางท่านกล่าวว่าน่าจะมาจากคำว่า Benkok ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลตามตัวว่า คดโค้ง หรืองอ อ้างว่าแม่น้ำในบางกอกสมัยก่อนโน้นคดโค้งอ้อมมาก พวกมลายูที่มาพบเห็นจึงพากันเรียกเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวไว้ว่า ความเห็นเหล่านี้คงเป็น "ความเห็น" เท่านั้น

ที่น่าสนใจคือนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งอ่านพบในจดหมายของท้าวเทพสตรีที่มีไปถึงกัปตันไลต์หรือพระยาราชกัปตัน ให้ข้อคิดว่า Bangkok ที่ฝรั่งแต่โบราณเขียนนั้น บางทีเขียนเป็น Bangkoh ซึ่งท่าทางจะอ่านว่าบางเกาะ ซึ่งก็สอดคล้องกับบันทึกหนึ่งที่กล่าวว่า บางกอก หมายถึง พื้นที่ที่เป็นเกาะ ครับ เนื่องจากการขุดคลองลัดในสมัยพระชัยราชาธิราช คือ ขุดจากบริเวณสะพานปิ่นเกล้าลงไปจนถึงหน้าวัดอรุณฯ ทำให้พื้นที่ทางฝั่งธนฯ ในปัจจุบันกลายสภาพ เป็นเกาะ ต่อมาจึงเรียกว่า บางเกาะ

สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ยังเป็นเพียงหมู่บ้านที่เรียกกันว่าบางกอก มีชื่อเสียงทางด้านปลูกผลไม้ และมีหลักฐานจากวัดเก่า ๆ หลายวัด ว่าสร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียอีก

ในแผนที่และเอกสารของชาวตะวันตก ปรากฏชื่อเขียนต่าง ๆ กัน เช่น Bancoc, Bancok, Banckok, Bankoc, Banckock, Bangok, Bancocq, Bancock ส่วนคำว่า Bangkok เป็นคำที่สังฆราชฝรั่งเศสใช้เขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีสเป็นประจำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอักษรไปถึงพวกฝรั่งก็ทรงใช้คำนี้ จึงได้ถือเป็นคำทางการตลอดมา

‘บางกอก’ เคยเป็นที่ตั้งของด่านภาษี ซึ่งพ่อค้าชาวฮอลันดาได้บันทึกไว้เมื่อปี ๒๑๖๐ - ๒๑๖๑ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม กล่าวถึงบางกอกไว้ว่า

“จากปากน้ำเข้าไป ๕ ไมล์ เป็นที่ตั้งของเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงมีชื่อว่า บางกอก ณ ที่นี่เป็นที่ตั้งของด่านภาษีแห่งแรก เรียกว่า ขนอนบางกอก (Canen Bangkok) ซึ่งเรือและสำเภาทุกลำไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม จะต้องหยุดจอดทอดสมอ และแจ้งให้ด่านนี้ทราบก่อนว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อันใด...”

ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่า

“สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่งแม่น้ำ โดยทวนขึ้นไปสู่เมืองสยาม (หมายถึงกรุงศรีอยุธยา) ถึง ๔ ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหารซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา”

บาทหลวงตาชาร์ด ซึ่งเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน บันทึกไว้ว่า

“...และโดยที่บางกอกเป็นเมืองสวนของประเทศสยาม ซึ่งมีผลไม้รสเยี่ยมทั่วราชอาณาจักรมารวมกันอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เขาจึงนำมาให้เป็นของกำนัลแก่เราเข่งหนึ่ง...”

สมัยกรุงธนบุรี สวนผลไม้ของบางกอกได้ขยายไปถึงตำบลบางช้าง สมุทรสงคราม มีคำพูดกันว่า “สวนในเรียกบางกอก สวนนอกเรียกบางช้าง” และยังแบ่งเป็น ‘บางบน’ กับ ‘บางล่าง’ โดยอยู่เหนือพระราชวังก็เรียก ‘บางบน’ อยู่ใต้ลงไปเรียก ‘บางล่าง’ ผลไม้ของบางกอกฝั่งธนบุรี มีรสชาติขึ้นชื่อเป็นย่าน ๆ เช่น ทุเรียนบางบนมีรสมันมากกว่าหวาน ทุเรียนบางล่างมีรสหวานมากกว่ามัน มะปรางท่าอิฐ เงาะบางยี่ขัน ลิ้นจี่บางอ้อ ขนุนบางล่าง ลำไยบางน้ำชน กระท้อนคลองอ้อม ฝรั่งบางเสาธง เงาะ - ลางสาดคลองสาน ละมุดสีดาราษฎร์บูรณะ ส้มเขียวหวานบางมด สวนฝั่งตะวันออกแถวตรอกจันทร์ ถนนตก ก็ขึ้นชื่อเรื่องลิ้นจี่และลำไย

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีชาวตะวันตกเข้ามา หลังจากขาดหายไปตั้งแต่สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สังฆราชปาเลอกัว ซึ่งเข้ามาในปี ๒๓๗๓ ได้บรรยายภาพของกรุงเทพฯ ขณะย่างก้าวเข้ารับวัฒนธรรมตะวันตกไว้ว่า

“กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนที่อุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่มตลอดปี จึงงามเหมือนภาพวาด กลุ่มเรือใบประดับธงจอดเป็นทิวแถวตามสองฝั่งแม่น้ำ ยอดแหลมหุ้มทองของมณฑปและโครงสร้างอันสวยงามของพระปรางค์ ที่มีการประดับอย่างสวยงามด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสี ลอยสูงเด่นอยู่ในอากาศ ยอดเจดีย์หุ้มทองประดับกระเบื้องหลากสีสะท้อนแสงเหมือนสีรุ้ง เบื้องหน้าของท่านจะมองเห็นร้านค้าบนเรือนแพจำนวนนับพันเรียงเป็นสองแถวยาวตามริมฝั่งแม่น้ำ มีเรือสวยงามแล่นตัดข้ามฟากไปมา ตลอดความยาวของลำน้ำอันคดเคี้ยว ป้อมสีขาวคล้ายหิมะ ตัวเมืองซึ่งมีหอคอยแลประตูมากมาย ลำคลองที่ตัดผ่านไปรอบเมือง ยอดแหลมของปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง สามารถมองเห็นได้จากทั้งสี่ทิศ มีอาคารแบบจีน อินเดีย และยุโรป เสื้อผ้าอาภรณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละชาติ เสียงดนตรี เสียงเพลงจากโรงละคร ความเคลื่อนไหวของชีวิตในเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวต่างชาติมองด้วยความชื่นชมและพิศวง...”

ในขณะนั้น กรุงเทพฯ ไม่มีรถยนต์สักคันเดียว ใช้กันแต่การสัญจรทางน้ำ แม่น้ำและลำคลองเป็นเหมือนถนนอันจอแจ มีเพียงใจกลางเมืองและย่านตลาดเท่านั้นที่มีถนนปูด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ๆ แต่ก็เป็นถนนสำหรับคนเดิน ส่วนถนนสำหรับรถสายแรกเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔ ในปี ๒๔๐๐ เมื่อกงสุลอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และนายห้างต่างประเทศได้ร้องว่า เรือสินค้าที่ต้องขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ นั้น เสียเวลามาก เพราะแม่น้ำคดเคี้ยว และไหลเชี่ยวในฤดูน้ำหลาก หากลงไปตั้งห้างแถวปากคลองพระโขนง แล้วขุดคลองลัดมาเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษมจะสะดวกขึ้นมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแยกจากจากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่าทุ่งหัวลำโพงเป็นเส้นตรงไปบรรจบคลองพระโขนงที่ใกล้ปากคลอง นำดินขึ้นมาถมด้านเหนือเพียงด้านเดียว พูนดินเป็นถนนคู่ขนานกันไป เรียกกันว่า ‘คลองตรง’ และ ‘ถนนตรง’ แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘คลองหัวลำโพง’ และ ‘ถนนหัวลำโพง’ ซึ่งนับเป็นถนนสายแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานนามใหม่ให้ถนนหัวลำโพงในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ ว่า ‘ถนนพระรามที่ ๔’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายนี้

เมื่อขุดคลองถนนตรงให้ตามคำขอแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีบริษัทห้างร้านของชาวตะวันตกย้ายไปอยู่ที่ปากคลองพระโขนงตามที่อ้างเลย ต่อมาในปี ๒๔๐๔ ชาวตะวันตกเหล่านั้นก็เข้าชื่อกันกราบบังคมทูลอีกว่า

“ชาวยุโรปเคยขี่รถ ขี่ม้า เที่ยวตากอากาศได้ตามสบาย ไม่มีเจ็บไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพพระมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้า พากันเจ็บไข้เนือง ๆ ...”

ด้วยเหตุนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายใหม่ตามคำขออีก โดยเริ่มจากคลองรอบกรุงตรงสะพานดำรงสถิตที่สามยอดในปัจจุบัน ไปเชื่อมกับถนนตรงที่คลองผดุงกรุงเกษมตรงหัวลำโพง สายหนึ่ง แล้วตัดแยกจากถนนใหม่นี้ที่เหนือวัดสามจีน (วัดไตรมิตร) ตรงไปจนตกแม่น้ำที่บางคอแหลม อีกสายหนึ่ง จุดที่แยกออกเป็น ๒ สายนี้ เรียกกันว่า ‘สามแยก’ การสร้างถนนสายนี้นับเป็นสายแรกที่ใช้วิทยาการตะวันตก เรียกกันว่า ‘ถนนใหม่’ ชาวตะวันตกเรียก ‘นิวโรด’ ต่อมาจึงพระราชทานนามว่า ‘ถนนเจริญกรุง’

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเกิดถนนและสะพานขึ้นมากมายสำหรับรถยนต์ แต่ก็ยังไม่ทิ้งคลอง มีการขุดเชื่อมหัวเมืองใกล้เคียงขึ้นอีกหลายคลอง บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากในรัชกาลนี้

ย่านการค้าที่คึกคักที่สุดในยามนั้น ได้แก่ ย่านเยาวราช ซึ่งเป็นชุมชนของคนจีน มีท่าเรือที่ถนนทรงวาด ย่านบางรักเป็นชุมชนของชาวยุโรป เป็นที่ตั้งของสถานทูต และมีท่าเรือตลอดถนนตก ส่วนบางลำพูเป็นย่านการค้าของคนไทย มีสินค้าที่ข้ามมาจากฝั่งธนบุรีและจากหัวเมืองทางแม่น้ำ

กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งจำนวนประชากรและสภาพบ้านเมือง โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี ๒๕๔๐ ที่ฟองสบู่แตก มองไปทางไหนในกรุงเทพฯ ก็เห็นแค่เครนยักษ์กำลังสร้างตึก ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวหลายทวีปต่างก็ตั้งเป้าหมายปลายทางมาที่กรุงเทพฯ จนเป็นเมืองอันดับ ๒ รองแต่กรุงลอนดอนเท่านั้น ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนมากในรอบปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook