ฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกครั้ง สงสัยมั้ยทำไมหน้าหนาวฝุ่นเยอะกว่าปกติ

ฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกครั้ง สงสัยมั้ยทำไมหน้าหนาวฝุ่นเยอะกว่าปกติ

ฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกครั้ง สงสัยมั้ยทำไมหน้าหนาวฝุ่นเยอะกว่าปกติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฝุ่นละอองถือเป็นมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาหลักในกรุงเทพมหานครและชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งฝุ่นละอองที่อยู่ในบรรยากาศรอบ ๆ ตัวเรานั้น มีขนาดตั้งแต่ 0.002 ไมครอน ไปจนถึงขนาดใหญ่กว่า 500 ไมครอน

PM2.5 ขนจมูกไม่สามารถกรองได้

โดยปกติแล้วฝุ่นที่มองเห็นด้วยตาเปล่ามีขนาดตั้งแต่ 50 ไมครอนขึ้นไป แต่ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน จึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และขนจมูกไม่สามารถกรองได้ PM2.5 จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็งได้

ด้วยความที่ฝุ่นมีขนาดเล็กมาก จึงสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นานกว่าฝุ่นขนาดใหญ่ เนื่องจากความเร็วในการตกตัวต่ำ หากมีแรงกระทำจากภายนอกเข้ามีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การไหลเวียนของอากาศ กระแสลม ก็จะแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานมากขึ้น

หากเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น ฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 100 ไมครอน อาจจะแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้เพียง 2-3 นาที แต่ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 ไมครอน อาจจะแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานเป็นปี

ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

เนื่องด้วยฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน จึงสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้มี และฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จะเกาะตัวหรือตกตัวได้ในส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคือง และทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ เช่นเนื้อเยื่อปอด

หากได้รับในปริมาณมากหรือในช่วงเวลานาน จะสามารถสะสมในเนื้อเยื่อปอด เกิดเป็นพังผืดหรือแผลขึ้นได้ และทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลงทำให้หลอดลมอักเสบ เกิดหอบหืดถุงลมโป่งพอง และโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้

ทำไมหน้าหนาวฝุ่นเยอะกว่าปกติ

อากาศเย็นในฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือเคลื่อนตัวลงมาปกคลุมพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้รูปแบบการเคลื่อนตัวของชั้นอากาศเหนือประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงไป เพราะพื้นดินคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินนั้นเย็นตามไปด้วย

เมื่ออากาศร้อนดันขึ้นไปอยู่คั่นกลางระหว่างชั้นอากาศเย็น จึงกลายสภาพเป็นเกราะ หรือที่เรียกกันว่า “อากาศปิด” เนื่องจากไม่มีช่องว่างให้อากาศไหลผ่านไปตามระบบ อากาศ รวมถึงฝุ่นพิษที่สะสมอยู่จึงไหลย้อนกลับลงสู่พื้นดินอีกครั้ง เมื่อเกิดอากาศปิด มลภาวะในอากาศจึงสูงตามไปด้วยนั่นเอง

นอกจากนี้ กรุงเทพเป็นเมืองมีอาคารสูงล้อมรอบจำนวนมาก จึงไม่มีที่ให้ลมถ่ายเท และระบายอากาศได้อย่างสะดวกเพียงพอ ส่งผลให้มลพิษ และฝุ่น ควันต่าง ๆ ไม่สามารถระบายออกไปได้

ขณะที่การเผาขยะ เผาไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะทางภาคเหนือของไทย ก็ส่งให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินกว่ามาตรฐานปกติด้วย

ค่ามาตรฐานในประเทศไทย

ค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีของประเทศไทยซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO) เสนอให้ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพให้มากที่สุด

ขณะที่ค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ ในช่วงฤดูหนาว ค่าฝุ่น PM 2.5 ในไทยจะสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งกรมอนามัยกำหนดค่าฝุ่นสำหรับการดูแลตนเองเบื้องต้นไว้ดังนี้

  • 0-25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร – ทุกคนทำกิจกรรมได้ตามปกติ
  • 26-37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร – กลุ่มเสี่ยง (หญิงมีครรภ์, เด็ก, ผู้สูงวัย, ผู้ป่วย, แม่ค้าริมถนน, ตำรวจจราจร, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง) หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง เฝ้าระวังสุขภาพ
  • 38-50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร – ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรม กลุ่มเสี่ยงควรสวมหน้ากาก เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์
  • 51-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร – ทุกคนลดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกัน เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์
  • 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป – ทุกคนลดกิจกรรมหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกัน เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook