กระแสวายมาแรง เข้าใจ “เพศสภาพ” หรือแค่สนองความฟิน?

กระแสวายมาแรง เข้าใจ “เพศสภาพ” หรือแค่สนองความฟิน?

กระแสวายมาแรง เข้าใจ “เพศสภาพ” หรือแค่สนองความฟิน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากลองสังเกตรายการบันเทิง ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ รวมถึงวรรณกรรมประเภทนิยายในช่วงประมาณ 10 ปีมานี้ จะเห็นได้ชัดว่า “กระแสวาย” กลายเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีให้หลัง ถือว่าพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ผลงานที่ทำออกมาก็ขายได้ เป็นที่นิยม จนโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วิวัฒนาการของ “วงการวาย” ถือว่ามีความน่าสนใจมาก ชนิดพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือเมื่อเทียบกับเมื่อหลายสิบปีก่อน จากที่เคยไม่ได้รับการยอมรับ ขนาดที่ว่าเป็นผลงานที่ผลิตออกมาต้องเป็นงานใต้ดิน ต้องแอบอ่าน แอบขาย หากพ่อแม่จับได้ว่าลูกชายเป็นเกย์ ก็ถึงขั้นตัดญาติขาดมิตร หรือการต้องปิดบังรสนิยมทางเพศของตัวเอง เพราะกลัวจะได้รับความอับอายและหมดที่ยืนในสังคม หากมีคนรู้ว่าไม่ใช่ผู้ชายแท้ เป็นต้น จนก้าวข้ามมายังยุคที่สังคมเปิดใจยอมรับ สามารถเปิดเผยรสนิยมตนเองได้ ผลงานวายจึงถูกนำเสนออย่างเปิดกว้างมากขึ้นในหลากหลายแง่มุม

ประมาณ 4-5 ปีก่อน ซีรีส์วายยังนำเสนอความรักใส ๆ ระหว่างคนเพศเดียวกัน ต่างจากปัจจุบัน ที่การนำเสนอเรื่องความสัมพันธ์นั้นหวือหวา รุนแรง และมีความเรียลมากขึ้น ทั้งเนื้อหาและการแสดง ถึงกับมีฉากล่อแหลมเกินงามออกมาให้เห็นอยู่หลายเรื่อง ทั้งที่ระยะเวลาไม่ได้ห่างกันมาก นั่นเป็นเพราะความวายนี้ “ขายได้” และ “ขายดี” เพราะปัจจุบันสังคมไทยเปิดรับมากขึ้น มีคู่รักเพศเดียวกันที่สังคมรับรู้และไม่ถูกประณาม รวมถึงผู้เสพงานวายก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะวายด้วยรสนิยมส่วนตัว หรือวายตามกระแสก็ตาม
ปัจจัยที่ทำให้ซีรีส์วาย “ขายได้” ในต่างประเทศ

ในกรอบวัฒนธรรมและความเชื่อในบางสังคม ยังไม่เปิดพื้นที่ให้กับคนที่รักเพศเดียวกัน อย่างวัฒนธรรมจีน และเกาหลีใต้ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีอุตสาหกรรมความบันเทิงขนาดใหญ่ที่ส่งขายได้ในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม กลับหาคอนเทนต์สายวายเสพได้ค่อนข้างยากใน 2 ไม่ใช่เพียงสังคมไม่ยอมรับ ไม่สนับสนุน แต่เป็นเรื่องผิดบาป ไปถึงขั้นต่อต้านและปิดกั้น รวมถึงมองคนกลุ่มรักร่วมเพศว่าไม่ใช่คนเลยทีเดียว คอนเทนต์วายจึงไม่ใช่งานที่หาเสพได้ทั่วไปในสังคมจีนและเกาหลีใต้

แม้ว่าวัฒนธรรมและความเชื่อของบางประเทศจะมองความวายว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ผิดบาป ไปจนถึงผิดกฎหมาย แต่กลับนำเข้าซีรีส์วายจากไทย เพราะซีรีส์วายไทยถูกสร้างขึ้นตามกรอบวัฒนธรรมและความเชื่อแบบไทย ไม่ได้เกี่ยวโยงและอิงกับวัฒนธรรมของประเทศของประเทศที่นำเข้า จึงพอจะอนุโลมให้เสพได้เพื่อความบันเทิง

สำหรับในประเทศไทยนั้น จะเห็นได้ว่ามีงานสายวายถูกผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง มีคอนเทนต์เกี่ยวกับความรักแบบชายชาย หญิงหญิงต่อปีเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในเมื่อสังคมอนุญาตให้ทำได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ต่างชาติ เช่น จีนและเกาหลีใต้จะซื้อซีรีส์วายจากไทยไปฉาย แล้วใส่ซับไตเติลหรือพากย์เสียงใหม่เป็นภาษาตัวเอง เช่นเดียวกับที่เราซื้อ (หรือฟรีในเว็บเถื่อน) ซีรีส์จากจีนหรือเกาหลีมาฉายในบ้านเรา

ประเทศไทย ดินแดนเสรีทางเพศ(?) กับอุตสาหกรรมความ “วาย”

เมื่อประเมินด้วยปริมาณผลงานที่ถูกผลิตออกมาและความนิยมแล้ว พอจะเห็นได้ว่าประเทศไทยน่าจะเป็นแหล่งสร้างกระแสและผลงานวายที่น่าจะใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชีย หรืออาจจะใหญ่กว่านั้น แม้ว่าวัฒนธรรมนี้จะเกิดที่ญี่ปุ่นก็ตาม เพราะปัจจุบันฐานแฟนคลับซีรีส์วายไทยไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศเอเชียเท่านั้น แต่ยังมีแฟนกลุ่มใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา เนื่องจากการควบคุมจากภาครัฐของเราไม่ได้เข้มงวดและถูกตรวจสอบเท่ากับประเทศอื่น ทำให้วัฒนธรรมวายในบ้านเราเฟื่องฟูมากพอที่จะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมทำส่งขายต่างประเทศ

ที่สำคัญ กลุ่มแฟนคลับจะเหนียวแน่นมากขึ้นเพราะตามต่อไปถึงตัวนักแสดง โดยเฉพาะแฟนคลับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่แอนตี้และแบนเนื้อหาความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน ทำให้คอนเทนต์วายจากต่างประเทศโดยเฉพาะไทย กลายเป็นทางเลือกในไม่กี่ทางที่ติดตามได้ เมื่อซีรีส์ดังก็ทำให้นักแสดงได้แจ้งเกิดอย่างงดงาม มีงานมีตติ้งในต่างประเทศ มีงานอีเว้น มีงานโฆษณา งานพรีเซนเตอร์ และหากได้รับการสนับสนุนก็อาจไปไกลจนถึงมีผลงานแสดงที่ต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าซีรีส์วายของไทยได้รับการตอบรับอย่างดีในต่างชาติ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังต่อต้านเรื่อง LGBTQ และแฟนคลับต่างชาติเองก็บินมาตามกันถึงที่ไทยด้วย เช่นเดียวกับที่เราบินไปตามศิลปินเกาหลี

“กระแสวาย” กับความเข้าใจเรื่องเพศสภาพ

ปัจจุบัน “กระแสวาย” ถูกผลิตเป็นคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อกลางให้สังคมได้เข้าใจกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ ได้ชัดเจนขึ้น ผ่านทางการแสดง ทัศนคติ และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร สร้างตัวตนสร้างภาพลักษณ์คนกลุ่ม LGBTQ ด้วยการชี้นำสังคม ว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนผิดปกติ ไม่ใช่คนแปลกประหลาด แต่พวกเขายังเป็นคนปกติที่รักคนเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ซีรีส์วายส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่ได้ใช้นักแสดงนำที่เป็นคนกลุ่ม LGBTQ จริง ๆ แต่จะเลือกชายจริงหญิงแท้มารับบท แล้วเอาคนกลุ่ม LGBTQ ไปเป็นตัวประกอบ หรืออยู่ในฐานะตัวตลกแทน ทำให้มีประเด็นให้สังคมได้ถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้ง ว่าจริง ๆ แล้วผู้จัดละครควรยอมรับคน LGBTQ เข้ามารับบทนำตามคาแรคเตอร์ทางเพศสภาพจริง ๆ ของเขา ให้เหมือนกับที่พยายามรณรงค์ให้เลิกกีดกันทางเพศ

มีตัวอย่างประเด็นดราม่าที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อคืนที่ผ่านมา และยังคงติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ข้ามมาจนถึงช่วงบ่ายของวันนี้ เรื่องมีอยู่ว่า มีชาวเน็ตขุดคลิปเก่าของนักแสดงชายคนหนึ่ง ซึ่งรับบทเป็นตัวเอกในซีรีส์วายเรื่องหนึ่งที่โด่งดังมาก ๆ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เมื่อมีคนถามว่า “เป็นเกย์หรือเปล่า?” จากนั้นนักแสดงผู้นี้ได้ตอบปฏิเสธด้วยกิริยาและถ้อยคำที่อาจสื่อไปในเชิง “รังเกียจและเหยียดหยาม” คน LGBTQ อย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีแฟนคลับออกมาช่วยแก้ต่างว่าเป็นการพูดเล่นแบบขำ ๆ แต่หลายคนไม่ตลกด้วย จึงมีประเด็นถกเถียงว่าสมควรหรือไม่ที่จะแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ ทั้งที่ตนเองก็โด่งดังมาจากซีรีส์วาย

นี่จึงกลายเป็นตัวอย่างที่ทำให้ตระหนักได้ว่า การที่ไม่ใช้นักแสดงที่เป็น LGBTQ จริง ๆ ในซีรีส์วาย ตัวนักแสดงจะสามารถเข้า gay community ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีเสียงวิจารณ์ไปในทางลบ ว่าที่ชายจริงหญิงแท้ยอมมารับบทนี้ก็เพราะเงินดีและแจ้งเกิดได้เร็ว ทั้งที่ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อคนกลุ่ม LGBTQ และไม่ช่วยชี้นำให้สังคมเข้าใจเรื่องเพศสภาพของคนกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งขัดแย้งกับการรณรงค์เรื่อง LGBTQ

เพราะหลายคนต้องการให้คอนเทนต์ประเภทวายที่ถูกผลิตออกมามากขึ้นนั้น ช่วยชี้นำให้สังคมเปิดใจยอมรับและได้เข้าถึงสิ่งที่คนกลุ่ม LGBTQ เป็นผ่านความบันเทิงได้ โดยไม่มองคนกลุ่มนี้เป็นแค่ตัวตลก ช่วยสร้างตัวตนและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนกลุ่มนี้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มที่มองว่านี่เป็นเพียงเรื่องของความบันเทิง ไม่จำเป็นต้องชี้นำหรือสอนอะไรสังคมมากขนาดนั้น ทำให้ทุกวันนี้ซีรีส์วาย นิยายวายบางเรื่อง ถูกประเมินว่าไม่มีแก่น เลื่อนลอย ขายแต่คู่จิ้น ขายแต่ความหวือหวา ไม่สร้างคุณค่าให้คนกลุ่ม LGBTQ และไม่ได้มีประโยชน์ต่อสังคม

นี่จึงเป็นข้อคิดให้กลุ่มผู้สร้างคอนเทนต์วายต้องกลับไปทำการบ้าน ว่าคอนเทนต์ที่นำเสนออยู่มีส่วนช่วยให้สังคมเข้าใจและเข้าถึงเพศสภาพคน LGBTQ ได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้สังคมเปิดใจกับสิ่งที่พยายามรณรงค์เพื่อคนกลุ่มนี้ได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้น ตัวตนของคนกลุ่มนี้ก็อาจจะมีที่ยืนได้เพียงในผลงานวาย แต่ยังถูกปฏิเสธในชีวิตจริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook