ทำความเข้าใจ ทำไมคนพึ่ง “Life Coach” มากกว่า “จิตแพทย์”

ทำความเข้าใจ ทำไมคนพึ่ง “Life Coach” มากกว่า “จิตแพทย์”

ทำความเข้าใจ ทำไมคนพึ่ง “Life Coach” มากกว่า “จิตแพทย์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบัน เราจะได้ยินคนพูดถึง “ไลฟ์โค้ช” อยู่บ่อย ๆ ซึ่งก็มีทั้งเสียงในแง่บวกและแง่ลบ แต่ช่วงหลัง ๆ มา กระแสของ “ไลฟ์โค้ช” ที่เกิดในโซเชียลมีเดียมักจะเป็นแง่ลบ จนเกิดเป็นดราม่าใหญ่โตเสียมากกว่า

เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในช่วงเดียวกัน เกิดเป็นความทุกข์ทรมาน จนทำให้สภาพจิตใจเปราะบางเกินกว่าจะรับมือได้เพียงลำพัง คนจึงต้องหาทางออกด้วยวิธีต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือหาคนที่จะมาช่วยเยียวยา หาคนที่เป็น “ที่พึ่งทางใจ” และเป็น “แรงบันดาลใจ” จากบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “ไลฟ์โค้ช” ให้สามารถดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้โดยเร็ว

อะไรคือ “ไลฟ์โค้ช”

นิยามของ “ไลฟ์โค้ช” (Life Coach) ที่เราเข้าใจว่าเป็นอาชีพในปัจจุบัน คือ ผู้ที่เป็นโค้ชชีวิต กล่าวคือให้คำปรึกษาในการใช้ชีวิต แนะแนวทางแก้ปัญหาชีวิตให้กับผู้อื่น ปลุกไฟในตัวคนด้วยแรงบันดาลใจจากคนที่เคยล้มเหลวมาก่อนแล้วพยายามต่อสู้จนประสบความสำเร็จ จึงไม่แปลกที่ไลฟ์โค้ชจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะใคร ๆ ก็อยากประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่ต้องเจอกับความผิดหวังอีกครั้ง ซึ่งหลายคนก็มีชีวิตดีขึ้นจริง ๆ เมื่อได้รับการชี้แนะจากบุคคลเหล่านี้

จริง ๆ การให้คำปรึกษาของ “ไลฟ์โค้ช” เป็นการวิเคราะห์สภาพจิตใจของคนในเบื้องต้น คนที่เจอปัญหามาอย่างหนักหน่วง จิตใจกำลังเปราะบาง มักจะหลงไปกับคำพูดสวยหรู คำคม เป็นศัพท์ยากร้อยเรียงให้ดูฉลาด และสร้างความน่าเชื่อถือโดยใช้หลัก “ปัญหาใหญ่ แต่แก้ปัญหาเร็ว” ทำให้คนที่จิตใจไม่นิ่งไม่ทันได้คิดว่า คำพูดวนไปวนมานี้จับต้องได้มากน้อยแค่ไหน จะพาไปสู่ทางออก หรือความสำเร็จได้จริงหรือไม่ เพราะบางครั้งแนวทางเหล่านั้นเป็นการ “ชี้นำ” มากกว่า “คำปรึกษา” เหมือนลัทธิล้างสมอง จึงเป็นเส้นบาง ๆ ที่ไม่รู้ว่าตรงไหนคือไลฟ์โค้ช ตรงไหนคือลัทธิ

ไลฟ์โค้ชกับจิตแพทย์

แต่แล้วทำไมคนถึงเลือกที่จะพึ่งไลฟ์โค้ชเยียวยาจิตใจมากกว่าจิตแพทย์ ทำไมไลฟ์โค้ชจึงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของคนยุคนี้ มันเป็นทางออก ทางรอด หรือทางเลือกเวลาที่ประสบปัญหาได้จริงหรือ ไลฟ์โค้ชจึงเป็นปรากฏการณ์น่าจับตามอง ว่าทำไมหลายคนถึงยอมเสียค่าอบรมทีละแพง ๆ เพื่อเข้าไปนั่งฟังใครสักคนพูด ร่วมกับคนอีกนับร้อยนับพันคนในห้อง มากกว่าจะเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์แผนกจิตเวช หรือนักจิตวิทยาตามลำพังโดยตรง

คนที่ต้องหาจิตแพทย์คือคนบ้า

ทัศนคติที่ฝังรากลึก คือ การที่คนเข้าใจว่า “ผู้ป่วยจิตเวชเท่ากับคนบ้า” ทำให้หลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า ๆ กลัวการไปหาจิตแพทย์ จริง ๆ แล้วผู้ป่วยจิตเวชก็คือคนป่วยธรรมดาที่มาหาหมอ เหมือนกับเวลาที่เราไม่สบายก็ต้องไปหาหมอ เพียงแต่เป็นการป่วยทางสุขภาพจิต เมื่อทุกข์ทรมานเกินรับไหวก็ต้องไปรักษา ซึ่งถ้าป่วยจนถึงขั้นเรียกว่าคนบ้าได้นั้น ต้องถึงขั้นประสาทหลอน หรือหลุดโลกไปแล้ว จึงจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หากไม่ถึงขั้นนั้น เราก็เป็นคนปกติที่แค่ป่วยเท่านั้น

ปฏิเสธ “ฉันไม่ใช่คนป่วย” หรือกลัวจะเป็น “คนป่วย”

ความเชื่อของหลายคนคือ “คนไปหาหมอคือคนป่วย ในเมื่อฉันไม่ได้ป่วย ทำไมฉันต้องไปหาหมอ” เมื่อมีความคิดเช่นนี้ ก็จะทำให้คนเหล่านั้นเชื่อว่า ที่ต้องทุกข์ทรมานอยู่เช่นนี้เป็นเพราะตนเองขาดกำลังใจ ขาดแรงบันดาลใจ เครียดมากเกินไป หรือท้อแท้มากเกินไป จึงหาทางเยียวยาในลักษณะปลอบโยน ชี้แนะแนวทาง หรือให้กำลังใจมากกว่าการรักษา ทั้งที่ถ้าไม่ไปหาหมอ ไม่ได้ตรวจ ก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าป่วยจริงหรือแค่ท้อแท้หมดกำลังใจ

เข้าถึงง่าย หาเสพได้ง่ายกว่า

หลักการตลาดง่าย ๆ คือ การปล่อยคำคมสวยหรูที่พอได้อ่านหรือได้ฟัง ทำให้คนรู้สึก “ทัช” ได้มากกว่า กลายเป็นแรงจูงใจที่ทำให้หลายคนเข้าหาไลฟ์โค้ชมากกว่าหาหมอ เพราะจะพบหมอได้ต้องไปโรงพยาบาล ต้องรอคิว ต้องจ่ายเงิน และอาจจะต้องกินยา ในขณะที่การดูคลิปวิดีโอสั้น ๆ ของไลฟ์โค้ชสามารถหาดูได้ฟรีตามสื่อออนไลน์ หรือมีคนชักชวน ซึ่งถ้าหากเกิดสนใจ หรือถูกใจจริง ๆ ก็ไปตามอ่านหนังสือ หรือสมัครคอร์สอบรมจริงจัง ซึ่งก็ง่ายกว่าการไปหาหมออยู่ดี

ไม่ทันคิด “ถ้าอยากช่วย ทำไมต้องมีราคา”

ในมุมของหมอ เราสามารถเข้าใจได้ว่าหมอเป็นอาชีพ ซึ่งต้นทุนกว่าที่จะมาเป็นหมอได้นั้น ต้องมีต้นทุนเป็นเงิน ต้นทุนความพยายาม อาจรวมถึงต้นทุนสถานที่ อุปกรณ์ และยา ดังนั้นการไปหาหมอจึงต้องมีค่าใช้จ่าย แต่หากในมุมของไลฟ์โค้ช ที่มักนำเสนอตัวเองว่าทำไปเพื่ออยากแชร์แนวทาง และช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ แต่ไม่ทันคิดว่า ถ้าอยากช่วย เหตุใดค่าหลักสูตร ค่าอบรมต่าง ๆ จึงมีราคาแพงหูฉี่ ราวกับเลือกปฏิบัติเฉพาะผู้ที่มีเงินจ่ายเท่านั้น

แม้ว่าไลฟ์โค้ชหลายคนจะออกตัวว่ามีหลักสูตรที่สอนฟรีให้กับทุกคนได้ติดตามทั้งทางออนไลน์ และการอบรมฟรีนอกสถานที่ แต่ก็เป็นที่กังขาอยู่ดีว่า หลักสูตรฟรีจะได้รับความช่วยเหลือไม่เท่ากับหลักสูตรเสียเงิน ขณะเดียวกัน คนที่ยอมเสียเงินแพง ๆ ก็อยากได้ความพิเศษมากกว่าคนที่เรียนฟรีอยู่แล้ว ซึ่งก็คงไม่ใช่เพียงพื้นที่ที่ไม่ต้องเบียดเสียดกับคนอื่นในคอร์สฟรีเท่านั้น

ลืมคิด “ใครก็เปลี่ยนเราไม่ได้นอกจากตัวเราเอง”

สิ่งที่ไลฟ์โค้ชและจิตแพทย์ทำคล้ายกันคือ การพูดเพื่อให้กำลังใจ แต่สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง หรือลืมคิดเลยด้วยซ้ำก็คือ “คนที่เปลี่ยนเราได้คือตัวเราเอง” นั่นคือต่อให้เราพึ่งไลฟ์โค้ชอีกสักกี่คน หรือเข้าพบจิตแพทย์เป็นประจำทุกเดือน แต่ถ้าเราไม่พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองเลยก็ไม่มีใครช่วยอะไรเราได้

จริง ๆ หากเป็นคนที่ไม่ได้ป่วยแต่แค่หมดไฟ หมดกำลังใจ ถ้าลองตั้งเป้าหมายว่าจะต้องพัฒนาตัวเองให้ได้ ความจริงอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งทั้งโค้ชและจิตแพทย์ด้วยซ้ำ กำลังใจจากตัวเองและคนใกล้ตัวก็เพียงพอแล้ว แต่หากเป็นคนที่มีอาการป่วย ที่ต้องได้รับยาเพื่อปรับสภาพฮอร์โมนหรือสารต่าง ๆ ให้สมดุล สิ่งที่ต้องปรับต่อไปก็คือความคิดของตัวเราเองอยู่ดี

ดังนั้น หากใครมองว่าไลฟ์โค้ช คือครูที่ช่วยสอนการใช้ชีวิต อาจจะต้องฉุกคิดสักนิดถึงสมัยเรียน ว่าถึงเราจะเรียน แต่ถ้าเราไม่อ่านหนังสือทบทวน ไม่ทำการบ้าน ไม่ทำแบบฝึกหัด เราก็ไม่สามารถที่จะเก่งได้ “ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราจริง ๆ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook